สธ.เผย โอมิครอน ระบาดแล้ว 106 ประเทศ มี 3 สายพันธุ์ย่อย แพร่เร็วแต่รุนแรงน้อยกว่าเดลตา

(24 ธันวาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงสถานการณ์โรคโอโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนว่า ขณะนี้สายพันธุ์โอมิครอน มีสายพันธุ์ย่อยอยู่ 3 สายพันธุ์ ที่แพร่ระบาดทั่วไปในโลกถึง 106 ประเทศแล้ว ส่วนใหญ่เป็น BA.1 คือสายพันธุ์เดิมที่กลายพันธุ์ตั้งแต่เริ่มแรก ส่วนสายพันธุ์ย่อย BA.2 กับ BA.3 มีจำนวนเล็กน้อย ซึ่งกระบวนการการตรวจของห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่เป็นการตรวจเบื้องต้น (SNP) รู้ผลใน 1 วัน ยังสามารถตรวจจับสายพันธุ์นี้ได้ครบทุกสายพันธุ์ย่อย

สำหรับประเด็นการแพร่ของสายพันธุ์โอมิครอนนั้น จากการติดตามข้อมูลรายงานการศึกษาในห้องทดลองของมหาวิทยาลัยฮ่องกง พบว่าสายพันธุ์โอมิครอนติดเชื้อและเพิ่มจำนวนในเซลล์ทางเดินหายใจในระดับหลอดลม โดยเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตาประมาณ 70 เท่า แต่ที่เซลล์เนื้อปอดกลับเพิ่มจำนวนได้ช้ากว่า เป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายได้ว่าทำไมสายพันธุ์โอมิครอน ถึงแพร่เร็ว เพราะมันชุกชุมในทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งแพร่กระจายไปยังผู้คนรอบข้างได้ง่าย แต่ไม่ค่อยมีอันตรายอะไรมาก และที่อังกฤษมีการวิเคราะห์ข้อมูลการแพร่เชื้อของสายพันธุ์โอมิครอน เทียบกับสายพันธุ์เดลตาว่า ผู้ที่ติดเชื้อจะแพร่เชื้อให้คนใกล้ชิดที่อยู่ในครัวเรือนเดียวกันได้มากน้อยแค่ไหน ปรากฏว่าสายพันธุ์เดลตาแพร่ได้ร้อยละ 10.3 แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์โอมิครอนจะเพิ่มขึ้นไปเป็น ร้อยละ 15.8 หมายความ ถ้าคนในครอบครัว 1 คน ติดสายพันธุ์โอมิครอนจะติดต่อไปยังคนที่ใกล้ชิดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา

ส่วนการแพร่ในชุมชน พบว่าสายพันธุ์เดลตาแพร่ได้ประมาณ ร้อยละ 3 ถ้าเป็นสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นไปเป็น ร้อยละ 8.7 คือเกือบ 3 เท่าของสายพันธุ์เดลตา นั่นหมายความว่าถ้ามีใครติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว ไปทำกิจกรรมในชุมชนที่มีการพบปะใกล้ชิด ก็อาจจะทำให้เกิดการระบาดได้ค่อนข้างเร็ว ในสหรัฐอเมริกา เดิมเป็นสายพันธุ์เดลตาเกือบทั้งหมด ล่าสุดสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นไปประมาณ ร้อยละ 70 เหลือสายพันธุ์เดลตา ร้อยละ 26 เป็นหลักฐานว่าสัดส่วนเปลี่ยนค่อนข้างเร็ว

สำหรับประเด็นความรุนแรงนั้น จากข้อมูลในอังกฤษ พบว่า ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา ประมาณ ร้อยละ 50 มีอาการต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล และร้อยละ 61 ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 1 วันขึ้นไป แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์โอมิครอนจะลดลงเหลือประมาณ ร้อยละ 20 – 25 ที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล และร้อยละ 40-50 ที่ต้องพักรักษา 1 วันขึ้นไป แสดงว่าสายพันธุ์โอมิครอนน่าจะทำให้เกิดอาการรุนแรงน้อย เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตา

นอกจากนี้ มีหลายการศึกษาพบว่า ถ้าเราฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น จะทำให้มีภูมิสูงขึ้น และช่วยลดเรื่องการติดเชื้อ อาการป่วยหนักรุนแรงได้ จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่า สายพันธุ์โอมิครอนแพร่ค่อนข้างเร็ว แต่ไม่รุนแรงเท่าเดลตา เพราะฉะนั้นมาตรการสวมหน้ากาก เลี่ยงกิจกรรมที่อาจจะเสี่ยงต่อการรับเชื้อทั้งหลายยังจำเป็น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเมื่อถึงเวลา จะยกระดับภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ทั้งคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และสุ่มตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อภายในประเทศ ระหว่างวันที่ 20 ธ.ค. – 23 ธ.ค. 2564 จำนวน 874 ราย พบสายพันธุ์เดลตา 732 ราย
สายพันธุ์โอมิครอน 142 ราย รวมการตรวจพบสายพันธุ์โอมิครอน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. – 23 ธ.ค. 2564 มีทั้งหมด 205 ราย เป็นกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ จำนวน 180 ราย และเป็นผู้ที่อยู่ภายในประเทศ แต่ติดเชื้อจากผู้เดินทางจากต่างประเทศ จำนวน 25 ราย

ร่วมแสดงความคิดเห็น