ลำพูนออกมาตรการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหมูแพง ห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักร 3 เดือน

วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม 2565 นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วย นายชาตรี กิตติธนดิตถ์ ปลัดจังหวัดลำพูน นางกนกรัตน์ ยุกติรัตน์ พาณิชย์จังหวัดลำพูน นายบุญส่ง ไชยมณี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำพูน นายโยธิน ประสงค์ความดี นายอำเภอเมืองลำพูน นางยอดขวัญ วิภาคกิจ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำพูน สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำพูน สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดลำพูน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การตลาดและการจำหน่ายเนื้อสุกร จังหวัดลำพูน จำนวน 2 แห่ง ณ ตลาดลำพูนจตุจักร ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน และร้านหมูอินเตอร์สาขาลำพูน ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน พบว่า สถานการณ์ราคาและการจำหน่ายสุกรในจังหวัดลำพูนแบ่ง 2 ลักษณะ 1.) เขียงหมูในตลาดสด ราคาหมูเนื้อแดง (ไหล่และสะโพก) ราคา 165 – 200 บาท/กิโลกรัม และ 2.) ร้านจำหน่าย เช่น ซีพี เบทาโกร หมูอินเตอร์ ยิ่งเจริญ วีพีเอฟ และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ราคาหมูเนื้อแดง (ไหล่และสะโพก) ราคา 160 – 179 บาท/กิโลกรัม ซึ่งราคาจำหน่ายในร้านต่ำกว่าราคาที่จำหน่ายในตลาดสด และปริมาณมีเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

ด้านกระทรวงพาณิชย์ ได้มีมาตรการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาสุกรของภาครัฐ เป็นกรณีเร่งด่วน ดังนี้

1) โครงการธงฟ้าราคาประหยัดลดค่าครองชีพประชาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2565 เพื่อดำเนินการ “โครงการหมูพาณิชย์…ลดราคา ช่วยประชาชนในส่วนภูมิภาค” เพื่อลดค่าครองชีพและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้บริโภค โดยจำหน่ายหมูเนื้อแดง (ไหล่และสะโพก) ปริมาณ 100 กิโลกรัม/วัน/จุด ในราคา 130 บาท/กิโลกรัม ตามโครงการหมูพาณิชย์…ลดราคา! ช่วยประชาชน ระหว่างวันที่ 27 – 31 ธันวาคม 2564 จุดจำหน่าย 4 จุด (อำเภอเมืองลำพูน 1 จุด อำเภอป่าซาง 1 จุด อำเภอบ้านโฮ่ง 1 จุด และอำเภอลี้ 1 จุด)

2) โครงการธงฟ้าราคาประหยัดลดค่าครองชีพประชาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2565 เพื่อดำเนินการ “โครงการหมูพาณิชย์…ลดราคา ช่วยประชาชนในส่วนภูมิภาค ครั้งที่ 2” เพื่อลดค่าครองชีพและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้บริโภค โดยจำหน่ายหมูเนื้อแดง (ไหล่และสะโพก) ปริมาณ 50 กิโลกรัม/วัน/จุด ในราคา 150 บาท/กิโลกรัม ตามโครงการหมูพาณิชย์…ลดราคา! ช่วยประชาชน ระหว่างวันที่ 5 – 14 มกราคม 2565 (จำนวน 10 วัน) จุดจำหน่าย 7 จุด (อำเภอเมืองลำพูน 5 จุด อำเภอป่าซาง 1 จุด และอำเภอบ้านโฮ่ง 1 จุด) 3) ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2565 เรื่องห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักร โดยกำหนดห้ามมิให้ส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักรทุกกรณี เป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลา 3 เดือนตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป เว้นแต่จะมีการออกประกาศใหม่

4) ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2565 เรื่อง การแจ้งปริมาณ ราคา สถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีคุมสินค้าสุกร เนื้อสุกร โดยกำหนดให้ผู้เลี้ยง ผู้จำหน่าย ผู้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งครอบครองสุกรมีชีวิตที่มีปริมาณตั้งแต่ห้าร้อยตัวขึ้นไป และผู้ครอบครองสุกรชำแหละผ่าซีก เนื้อสุกรชำแหละแยกชิ้นส่วนซึ่งประกอบด้วย เนื้อไหล่ เนื้อสะโพก เนื้อสันนอก เนื้อสันใน และเนื้อหมูสามชั้น ที่มีปริมาณรวมกันตั้งแต่ห้าพันกิโลกรัมขึ้นไป ไม่ว่าจะครอบครองในฐานะผู้มีกรรมสิทธิ์ หรือครอบครองแทนผู้อื่น แจ้งปริมาณการเลี้ยง ปริมาณการซื้อ ปริมาณการจำหน่าย ปริมาณการใช้ ปริมาณการส่งออก ปริมาณการรับฝาก ปริมาณคงเหลือ ราคาจำหน่าย สถานที่เก็บ สถานที่เลี้ยง และจัดทำบัญชีคุมสินค้า เพื่อให้การกำกับดูแลสุกรและเนื้อสุกรมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของประชาชนในราคาที่เหมาะสม
และเป็นธรรมต่อผู้บริโภค

5) รัฐบาลส่งเสริมเกษตรกรรายเล็ก และรายย่อยเดิม ในพื้นที่ ที่มีความเหมาะสม โดยขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ให้ผลิตลูกหมูเพิ่ม เพื่อส่งให้เกษตรกรรายเล็ก และรายย่อยเลี้ยง โดยจะใช้เงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ภายใต้ “โครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร” เข้ามาสนับสนุน เพื่อใช้เป็นต้นทุนในการดำเนินการ

ร่วมแสดงความคิดเห็น