ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 23 ดนตรีล้านนาร่วมสมัย
“…สุดท้ายมันจะกลายเป็น Soft power ถ้าเรายังมองว่าเล่นแค่พื้นเมือง
หรือพื้นบ้าน เราก็จะเล่นกันแค่นี้ แต่เราจะไม่ได้ทิ้งอะไรไว้ให้คนรุ่นหลังเลย…”
— ภูริทัต อรุณการ —
เสียงดนตรีล้านนาที่บรรเลงอย่างมีเอกลักษณ์มานานกว่าหลายศตวรรษ ในวันนี้ดนตรีล้านนาก็ยังคงความเป็นอัตลักษณ์ล้านนา แต่ท่ามกลางยุคสมัยที่แปรเปลี่ยน ดนตรีล้านนาย่อมมีการปรับเปลี่ยนตาม จากเสียงดนตรีที่มีความเป็นล้านนาดั้งเดิม เริ่มแผ่เสียงของความเป็นดนตรีล้านนาร่วมสมัย เสียงดนตรีที่เกิดจากการนำเครื่องดนตรีสากล และเครื่องดนตรีล้านนาดั้งเดิม มาบรรเลงร่วมด้วยกัน ถือเป็นเสียงดนตรีที่เรามักจะไม่ได้ยินจากที่ไหนมาก่อน เพราะดนตรีล้านนาร่วมสมัยถือยังเป็นการแสดงในประเทศไทย ที่มีพื้นที่โชว์ศักยภาพน้อย ถ้าเทียบกับการแสดงดนตรีด้านอื่น ๆ ในยุคที่เราต่างเห็นดนตรีร่วมสมัยของสัญชาติอื่น ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ทำไมดนตรีล้านนาร่วมสมัยกลับเป็นตรงกันข้าม ถึงแม้ดนตรีล้านนาร่วมสมัยในปัจจุบันอาจถือเป็นการแสดงที่หาดูได้ยากในล้านนา แต่ก็ไม่ได้ยากที่จะทำความเข้าใจ ในความหมาย และคุณค่า ของความเป็นดนตรีล้านนาร่วมสมัย

“ดนตรีล้านนาร่วมสมัย” ดนตรีที่พัฒนาให้สมัยใหม่ขึ้น บนพื้นฐานของความดั้งเดิมทางดนตรี
“…ดนตรีล้านนาร่วมสมัยในทัศนคติของผม เป็นดนตรีที่ถูกนำมาจัดวางใหม่ วางบนแพลตฟอร์มของดนตรีสากล ความร่วมสมัยของผม จะเป็นด้านของวิทยาการ ทฤษฎี รวมถึงการพัฒนา เขาเรียกว่าพัฒนาผู้เล่นเครื่องดนตรี ประพันธ์ เรียบเรียง ฝึกซ้อม มีการคิดหลายขั้นตอน เพื่อที่จะให้เกิดผลงานที่ตั้งใจจะให้เกิดจริง ๆ โดยที่ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ…” — ภูริทัต อรุณการ –
ดนตรีเป็นสิ่งที่ก่อเกิดจากการได้ยินเสียงจากธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวของมนุษย์เรา มีการรับรู้ เกิดการเลียนแบบ ศึกษาจังหวะ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับระดับเสียง ความดัง-เบา ความกลมกลืน และความแตกต่างของเสียงในแต่ละประเภท เมื่อกล่าวถึงความเป็นดนตรีร่วมสมัย ก็จะมีความหมายครอบคลุมไปถึงการแสดงดนตรีทุกประเภทที่เกิดขึ้นในสมัยปัจจุบัน เป็นดนตรีที่เกิดจากการนํามาผสมให้เข้ากัน และสามารถเข้ากับรูปแบบวงดนตรีได้เป็นอย่างดี ก็จะสามารถถือได้ว่าเป็นดนตรีร่วมสมัยได้

“…ถ้าพูดถึงดนตรีล้านนาร่วมสมัยก่อน ผมว่าดนตรีล้านนาร่วมสมัย มันสามารถจะร่วมสมัยด้วยคนคนเดียวก็ได้ ผมนิยามว่า คืออะไรก็ได้ ล้านนาล้วน ๆ ก็ได้ ซึ่งมันยังมีชีวิตอยู่ก็ร่วมสมัย มันมีวิธีการเล่นซึ่งมันทันสมัยอยู่เสมอ ในอดีตเขาเล่นแบบนั้น แต่ฉันอย่างเล่นแบบนี้ แล้วเราก็เล่นมันออกมา แล้วเราชื่นชอบมัน อันนี้มันก็พัฒนาแล้ว มันก็คือสิ่งที่เราคิดค้นวันนี้ แล้วมันก็ยังมีชีวิตอยู่ในวันนี้…” — บฤงคพ วรอุไร –
ดนตรีพื้นเมือง การบรรเลงเครื่องดนตรี และการขับขานในล้านนา ถือเป็นสิ่งที่มีบทบาทในชีวิตของชาวล้านนาเป็นอย่างมาก เป็นสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตตั้งแต่เกิด จนถึงวันที่ลาจาก ทั้งในด้านความบันเทิง และการประกอบพิธีกรรม

– บทบาทด้านการประกอบพิธีกรรม มี 2 แนวทาง ตามความเชื่อของชาวล้านนา คือ พิธีกรรมเชิงพุทธศาสนา และพิธีกรรมเกี่ยวกับผี ซึ่งทั้งสองแนวทางดังกล่าว ดนตรีถือว่ามีบทบาทเป็นส่วนประกอบในการทำพิธีกรรม อย่างเช่น ในงานฉลองรื่นเริง ที่จะพบว่าดนตรีเป็นส่วนที่ช่วยให้งานมีความคึกคักมากขึ้น หรือะเป็นงานอวมงคล งานศพซึ่งมีพิธีทางพุทธศาสนา ดนตรีก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบ ในพิธีกรรมต่าง ๆ หากไม่มีดนตรีสามารถดำเนินต่อไปได้ไหม ซึ่งก็ถือว่าได้ แต่การมีดนตรีย่อมเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ทำให้พิธีกรรมต่าง ๆ มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น มีการสื่อสารผ่านการขับร้อง และการบรรเลง ที่ถือเป็นอัตลักษณ์โดดเด่นของล้านนา
– บทบาทด้านการประกอบการแสดง ดนตรีจะมีบทบาทสำคัญต่อการแสดงหลากหลายอย่าง ที่เป็นทั้งการแสดงเพื่อประกอบในงานประเพณี หรือเพื่อความบันเทิง จะเห็นได้จากประเพณีสำคัญต่าง ๆ ของล้านนา อย่างการฟ้อนรำ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนดาบ หรือการฟ้อนในรูปแบบต่าง ๆ ที่ต้องมีดนตรีในการให้จังหวะ การขับซอ ก็จะต้องมีดนตรีประกอบเสมอ หรือการแสดงคอนเสิร์ต เพื่อความบันเทิง
ดนตรีล้านนาจึงกลายเป็นหนึ่งวัฒนธรรมสำคัญที่อยู่คู่ชาวล้านนามาอย่างยาวนาน จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในทุกวันนี้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงมากมาย ดนตรีล้านนาจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัว เพื่อให้วัฒนธรรมล้ำค่านี้ยังคงอยู่ ก่อเกิดคำว่า “ดนตรีล้านนาร่วมสมัย”

วงดนตรีล้านนาร่วมสมัย เป็นการผสมผสานระหว่างเครื่องดนตรีล้านนา และเครื่องดนตรีสากลได้อย่างลงตัว ด้วยความรัก และความสนใจของคนที่มีความรักในเสียงเพลง และต้องการอนุรักษ์ความเป็นล้านนาดั้งเดิมให้ยังคงอยู่ ไม่เลือนหาย อย่างเครื่องดนตรีท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น สะล้อ ซึง ขลุ่ยน้ำเต้า พิณเปี๊ยะ ล้วนเป็นเครื่องดนตรีที่มีมนต์เสน่ห์ และเป็นตัวบอกเล่าเรื่องราวในอดีตของดินแดนล้านนาได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นในเชิงความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้จึงรวมเป็นการสร้างสรรค์ขับบรรเลงออกมาเป็นเพลงล้านนาร่วมสมัย ออกแบบโน้ตเพลง และหาจังหวะ ความลงตัวระหว่างเครื่องดนตรีล้านนา และสากล เพลงที่บรรเลงออกมา ถือเป็นบทเพลงที่มีคุณค่า ที่สะท้อนความหมายเชิงวัฒนธรรม และประเพณี เป็นเพลงที่มีกลิ่นอายของความเป็นล้านนา และความเป็นสมัยใหม่ ความแตกต่างที่ลงตัว เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกอารมณ์เพลงที่บ่งบอกความเป็นล้านนา บอกเล่าเรื่องราว สร้างแรงบันดาลใจ ร่วมกับการสืบสานประเพณี เครื่องดนตรีอันดีงามของชาวล้านนาเอาไว้

สะพานเชื่อมแห่งดนตรี จากดนตรีล้านนาดั้งเดิมไปสู่ดนตรีล้านนาร่วมสมัย
“…มีหลาย ๆ ครั้ง ผมเอาวัตถุดิบจากล้านนามาแต่งเพลง ในแบบที่ผมอยากให้มันถูกได้ยิน การผสมล้านนากับสากล ในปัจจุบันนั้นไม่ยาก แต่อยู่ที่ไอเดียของคนผสมว่าจะให้เป็นยังไง ผมว่าความกลมกล่อม คือทำยังไงให้ความเป็นล้านนามันยังอยู่ ในขณะที่ปะปนกับความเป็นสากลด้วย…” — บฤงคพ วรอุไร –
“ดนตรีเป็นศิลปะของเสียง ที่เกิดจากความพากเพียรของมนุษย์ ในการสร้างเสียง ให้อยู่ในระเบียบของ จังหวะ ทำนอง สีสันของเสียง และคีตลักษณ์” ดนตรีไม่ว่าจะเป็นของชนชาติใด ภาษาใด ล้วนมีพื้นฐานมาจากสิ่งที่อยู่รอบตัวในการใช้ชีวิตของคนพื้นที่นั้น ๆ ความแตกต่างที่เกิดจากวัฒนธรรมที่ต่างกัน กรอบของแต่ละสังคม ถือเป็นปัจจัยกำหนดในเรื่องของรสนิยมทางวัฒนธรรม จนเป็นผลให้สามารถแยกแยะดนตรีของชาติหนึ่งแตกต่างจากดนตรีของอีกชาติหนึ่งได้ ในที่นี้จะขอกล่าวถึงความเป็นดนตรีล้านนาร่วมสมัย ที่มีการนำเครื่องดนตรีล้านนา และ เครื่องดนตรีสากล มาบรรเลงร่วมกัน จนกลายเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมสำคัญ

ประเภทเครื่องดนตรีพื้นเมืองล้านนา ถือเป็นเครื่องดนตรีที่ประกอบขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีพื้นบ้าน ประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุในธรรมชาติ เครื่องดนตรีล้านนามีครบทุกประเภทตามวิธีการปฏิบัติที่ทำให้เกิดเสียงดนตรี ได้แก่ เครื่องดีด สี ตี และเป่า ยกตัวอย่างเครื่องดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ และมีชื่อเสียงในล้านนา ประเภทเครื่องเป่า อย่าง ปี่ แน และขลุ่ย ประเภทเครื่องดีด เครื่องดนตรีของล้านนาที่อาศัยการดีดที่สาย เพื่อให้เกิดเสียง คือ เพียะ และ ซึง ประเภทเครื่องสี เสียงดนตรี เกิดจากการเสียดสีระหว่างสายคันชักกับสายเส้นลวดทองเหลืองที่ขึงตึง เครื่องสีของล้านนา ได้แก่ สะล้อ ประเภทเครื่องตี ล้านนามีทั้งเครื่องตีที่ทำด้วยไม้ เครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ และ เครื่องตีที่ทำด้วยการขึงหนังสัตว์ให้ตึงเป็นแผ่น ตัวอย่าง กลองหลวง กลองตึ่งโนง กลองปูเจ่ กลองบูชา (กลองปู่จา) กลองสะบัดชัย กลองตะหลดปด เป็นต้น

ในส่วนของดนตรีสากล หรือดนตรีตะวันตก มีพื้นฐานการเกิดขึ้นของดนตรีจากความมุ่งหวังที่ไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า มาจากหลักปรัชญากรีกโบราณในราวช่วงปี 800 ก่อนคริสตกาล ที่เน้นความสำคัญของการสร้างร่างกายให้แข็งแรงด้วยการเล่นกีฬา และสร้างความงดงามของจิตใจด้วยศิลปะ บทกวี ดนตรี การละคร และระบำรำฟ้อน เพื่อสร้างสรรค์ให้มนุษย์นั้นมีความสมบูรณ์ มีการบอกเล่าประวัติความเป็นมาว่า ในช่วงปี 585-479 ก่อนคริสตกาล ชาวกรีกชื่อ ปิธากอรัส ได้คิดค้นทฤษฎีการเกิดเสียงขึ้นจากการคำนวณรอบการสั่นสะเทือนของสายเสียง จึงได้ข้อสรุปว่า “ถ้าสายสั้นกว่าจะได้เสียงที่สูงกว่า ถ้าสายยาวกว่าจะได้เสียงที่ต่ำกว่า” องค์ความรู้ และแนวคิดนี้ได้มีการกระจายแพร่หลายออกไปจนเลื่องลือทั่วยุโรป และได้มีการจำแนกเครื่องดนตรีเป็น 4 ประเภท ที่มีความคล้ายคลึงกับดนตรีล้านนาบ้านเรา
ประเภทของเครื่องเป่า อย่าง เครื่องเป่าลมไม้ แซกโซโฟน คลาริเน็ต ฟลูต เครื่องเป่าทองเหลือง เช่น ทรัมเป็ต คอร์เนท ทูบา เครื่องกระทบ ถ้าเปรียบเทียบกับประเภทของดนตรีล้านนา ก็คือ ประเภทของเครื่องตี อย่าง กลองเล็ก กลองใหญ่ กลองเทเนอร์ กลองทิมปานี และประเภทสุดท้าย คือ เครื่องสาย ที่มีวิธีการเล่น ใกล้เคียงกับเครื่องสีของดนตรีล้านนา อาทิ ไวโอลิน วิโอลา ดับเบิลเบส กีตาร์ เป็นต้น

ความใกล้เคียงของประเภทดนตรี ไม่ว่าจะของดนตรีล้านนา และดนตรีสากล เมื่อนำมาบรรเลงเข้าด้วยกัน จึงมีความลงตัวเป็นอย่างมาก เกิดความสมบูรณ์แบบของบทเพลง และการแสดงทางดนตรี จึงเป็นสิ่งที่ตอกย้ำในความชัดเจนว่า ดนตรีดั้งเดิมเป็นสิ่งที่แสดงอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมต่าง ๆ แต่ดนตรีร่วมสมัยก็เป็นความแปลกใหม่ ที่สามารถนำเสนอความร่วมสมัย บนพื้นฐานความดั้งเดิมได้เช่นเดียวกัน ถือเป็นอีกหนึ่งหนทางรอด ที่จะสามารถเป็นสะพานให้ดนตรีพื้นเมืองที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวล้านนานั้น ได้มีหนทางไปต่อ ไม่สูญหายไป แม้กาลเวลา และยุคสมัย จะเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหนก็ตาม
“…ผมว่าโดยศักยภาพของนักดนตรี โดยศักยภาพของเครื่องดนตรี โดยทุกสิ่งทุกอย่าง มันไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย แต่ทำยังไงให้เราไปเจอกับคนที่อยากฟังเรา การผสมล้านนากับสากลปัจจุบันไม่ยาก เราสามารถจะบอกได้เลย เราอยากได้เพลงคีย์อะไร เสียงขลุ่ยคีย์อะไร ปี่จุ่มคีย์อะไร ซึ่งคนรุ่นใหม่สร้างของพวกนี้มาแล้ว เพราะฉะนั้นปัจจุบันไม่ยาก ในการที่จะเอามาผสมกัน แต่มันอยู่ที่ไอเดียของคนผสมว่าเราอยากจะผสมให้มันเป็นยังไง…” — บฤงคพ วรอุไร –

ปราชญ์ล้านนาผู้ยืนหยัดรักษา และร่วมพัฒนาให้ดนตรีล้านนายังคงอยู่ ท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนไป
ดนตรีล้านนาร่วมสมัย จะได้รับการพัฒนา ต่อยอด และส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ได้ บุคลากร นักดนตรี ถือเป็นพลังสำคัญ ที่จะทำให้วัฒนธรรมทางดนตรีนี้ ได้มีเส้นทางไปต่อในอนาคต
บุคลากร ที่คอยสอน คอยเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่เหล่านักศึกษา เด็กรุ่นใหม่ ที่มีความสนใจในด้านดนตรี อาจารย์ ภูริทัต อรุณการ อาจารย์พิเศษวิทยาลัยดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม อาจารย์บอม ผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านดนตรีล้านนา ผู้ที่นำอัตลักษณ์ของดนตรีล้านนาดั้งเดิม มาร่วมกับ ดนตรีสากล ที่เป็นที่นิยมในยุคสมัยปัจจุบันนี้
อาจารย์บอมเป็นอาจารย์รุ่นใหม่ ที่คลุกคลีกับดนตรีไทย ดนตรีสากล และดนตรีล้านนามาตั้งแต่เด็ก ๆ นอกจากจะเป็นครูสอนดนตรีแล้ว อาจารย์บอมยังเป็นศิลปินดนตรีล้านนาร่วมสมัย ที่มีงานแสดงดนตรีในประเทศ และต่างประเทศอยู่เป็นประจำ

“…ดนตรีล้านนามันคือดนตรีที่อ่อนหวาน ถ่อมตน แต่ร่วมสมัย มันสร้างอารมณ์อื่นได้ ทั้งอารมณ์เศร้า รัก โกรธ หลง สนุก และตื่นเต้น ทำได้หมดเลย เราเป็นครู ทุกครั้งที่มีการเตรียมการสอน เราก็เหมือนได้ทบทวน ได้ทำความเข้าใจดนตรีล้านนาอันซับซ้อน เข้าใจมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ มันถูกพัฒนาได้แน่นอน จากที่เล่นในงานวัด มันอาจจะไม่ต้องเล่นแค่ในงานวัด ถ้าเราสลัดคำว่า วัฒนธรรมออกไป ถ้าเมื่อไหร่เราศึกษาองค์ความรู้ด้านทฤษฎีดนตรี เราก็จะสามารถเอากลับมาพัฒนาดนตรีล้านนาได้ การพัฒนาดนตรีล้านนาร่วมสมัย จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ด้านทฤษฎีดนตรีล้านนา และดนตรีสากลมาขับเคลื่อน ถ้าเรายังขาดคนสนับสนุน อาจจะไปไม่ถึงในรุ่นของผม…” — ภูริทัต อรุณการ —
บุคลากรสำคัญทางด้านดนตรีอีกหนึ่งท่าน คุณ บฤงคพ วรอุไร หรือ คุณโจ ผู้ที่เป็นทั้งนักดนตรี และผู้ดูแลวงดนตรีในล้านนาอีกหลากหลายวง อย่างวงดนตรีล้านนาร่วมสมัย Nimman Street Orchestra ที่ได้มีการบรรเลงเสียงดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์ให้ดังไปทั่วเมืองเชียงใหม่แห่งนี้ ไม่ว่าผู้ใดที่ผ่านไป ผ่านมา คนในท้องถิ่น หรือนักท่องเที่ยว เมื่อเข้ามาเยือนเมืองเชียงใหม่ และได้ยินเสียงดนตรีล้านนาร่วมสมัย ล้วนประทับใจ และตราตรึงอยู่ในมนต์เสน่ห์แห่งดนตรีล้านนา

“…ดนตรีล้านนาร่วมสมัย มันคือดนตรีล้านนาที่ยังมีชีวิตอยู่ มันยังมีการขยับปรับเนื้อ ปรับตัวไปตามสภาพสังคม คนยังฟังอยู่ ยังสนุกกับมันได้อยู่ ไม่ใช่ดนตรีที่ถูกบังคับว่าจะต้องเป็นแบบนี้ เราไม่ได้เล่น เพราะเราอยากให้มันร่วมสมัย แต่เราเล่น เพราะเราสนุกกับมัน จริง ๆ แล้ว ดนตรีมันไม่เชย มันยังให้ความสุขกับคนดู คนฟังได้เสมอมา เพียงแต่ว่าโอกาสที่จะให้คนได้เห็นบ่อย ๆ มันไม่ค่อยมี มันไม่มีเวทีของมัน…” — บฤงคพ วรอุไร –
ดนตรีล้านนาร่วมสมัย จะเป็นที่รู้จักมากขึ้นได้นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับศิลปิน หรืออาจารย์สอนดนตรีเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องฝากความหวัง และอนาคตไว้กับบุคลากรทางดนตรีทุกแขนง ผู้ฟัง และแหล่งทุนที่มีศักยภาพในการจ้างงาน หากทุกคนเปิดใจให้กับดนตรีล้านนาทั้งดั้งเดิม และร่วมสมัย ก็จะทำให้ดนตรีล้านนาเหล่านี้ถูกเล่นในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น แพร่หลายขึ้น และได้รับความเข้าใจมากขึ้น หากทุกฝ่ายมีความเข้าใจในความเป็นดนตรีล้านนาร่วมสมัย เราก็จะได้เห็นงานศิลปะที่สร้างสรรค์จากจินตนาการนี้ ปรากฏบนสื่อยุคใหม่มากขึ้น และกระจายไปทั่วโลก เหมือนดนตรีร่วมสมัยของนานาประเทศ

สืบสานดนตรีล้านนาร่วมสมัย ส่งต่อวัฒนธรรมสมัยใหม่ ให้คงซึมซับอยู่ในใจของคนรุ่นใหม่ต่อไป
“…ผมว่ากลุ่มผู้ฟังของผมยังน้อยอยู่ ถ้าเทียบกับดนตรีอย่างอื่น กลุ่มผู้ฟังดนตรีล้านนาแบบนี้ยังน้อย รู้สึกว่าดนตรีเหมือนกับอาหารก็ต้องชิม ชอบหรือไม่ชอบ ก็บังคับไม่ได้…” — บฤงคพ วรอุไร –

ดนตรีล้านนาร่วมสมัย ในปัจจุบันนี้ ยังคงรักษาความดั้งเดิม ทั้งด้านรูปแบบ และเนื้อหา แต่เพิ่มความร่วมสมัยในเรื่องของทำนอง ท่วงท่า และการผสมผสานร่วมกับดนตรีอื่น ๆ ถึงแม้จะเกิดความเปลี่ยนแปลงไป แต่เพื่อทำให้เพลงพื้นบ้าน และดนตรีล้านนา ที่เป็นความภาคภูมิใจยังคงยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางกระแสโลก ที่ผ่านมา การปรับตัวของวัฒนธรรมนั้น ไร้ซึ่งทิศทางที่แน่ชัด และมีขอบเขตจํากัดในหลาย ๆ ด้าน และความไม่เพียงพอของผู้สืบทอด ทำให้วัฒนธรรมล้านนาทางด้านดนตรี มีความน่าเป็นห่วง ว่าจะสูญหายไป ภายหลังจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ และการปรับประยุกต์ การผสมผสานกับสิ่งใหม่ ๆ โดยยังยึดถือ ตั้งมั่นในแก่นแท้ดั้งเดิม รักษาบทบาทหน้าที่เดิม แต่เพิ่มบทบาทหน้าที่ใหม่ให้สอดรับกับสังคมในปัจจุบัน และการใช้สื่อในยุคที่มีความหลากหลาย เพื่อความยั่งยืนของวัฒนธรรมพื้นเมือง

“…สุดท้ายมันจะกลายเป็น Soft power ใหม่ก็เอา เก่าก็บ่ละอะไรที่เข้ามาใหม่ ๆ ก็รับไว้ สิ่งเก่า ๆ ก็อย่าไปทิ้งมันอย่าง ครูแอ๊ด ศึกษาทฤษฎีดนตรีสากล ผมชื่นชมแกมากแกทำซึงคอร์ด แกมีความรู้แกเลยสามารถผสมผสานได้ดนตรีจะต้องพัฒนาอยู่ 5 ส่วนส่วนที่ 1 คือ ทฤษฎี ส่วนที่ 2 คือ ผู้เล่นส่วนที่ 3 คือ บทเพลง ส่วนที่ 4 คือ เครื่องดนตรี ส่วนสุดท้ายคือ Marketing อย่าเพิ่งไปติดลูปกับอะไรเดิม ๆ มากเกินไป เพราะเดี๋ยวนี้การประกอบอาชีพไม่จำเป็นต้องทำเหมือนคนรุ่นเก่าแล้ว…” — ภูริทัต อรุณการ –

เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมอย่างหลากหลาย ดนตรีจึงสามารถเติบโต และปรับตัวเข้ากับสังคมสมัยใหม่ไปด้วยกันได้อย่างกลมกลืน สำหรับดนตรีล้านนาร่วมสมัย อาจเป็นเสียงที่หลายคนไม่คุ้นหู เพราะดนตรีล้านนายังต้องการให้คนหันมาดู มาฟัง และเห็นศักยภาพเพื่อนําไปสู่จุดสูงสุดของวงการดนตรี คนที่จะสามารถพัฒนาดนตรีล้านนาร่วมสมัยได้ จะต้องเข้าใจทั้งดนตรีล้านนา และดนตรีตะวันตกได้อย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีดนตรี และรากเหง้าของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด ในวันนี้ถือว่าเรายังมีคนที่พร้อมจะนำพาดนตรีล้านนาร่วมสมัยให้ไปได้ไกลกว่าเดิมน้อยยิ่งนัก จำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือ ความเข้าใจ และความรักในดนตรี ทั้งตัวผู้เล่น และผู้ฟัง เพื่อการพัฒนาดนตรีร่วมสมัยอย่างยั่งยืน สามารถเข้าไปอยู่ในใจของผู้ฟังได้หลากหลายขึ้น และกลายมาเป็น Soft power ของเมืองล้านนาได้ในที่สุด ร่วมสัมผัส และส่งต่อเสน่ห์แห่งดนตรีล้านนา นำพาความดั้งเดิม เดินทางไปพร้อมกับความร่วมสมัย

“…ใหม่ก็เอา เก่าก็บ่ละ คําโบราณที่สืบทอดกันมา อะไรที่เข้ามาใหม่
ก็รับไว้ เก่าก็บ่ละ สิ่งเก่าก็อย่าไปทิ้งมัน ถ้าเรามองในด้านศิลปะยั่งยืน
ดนตรีไม่ได้ถูกสร้างด้วยความบังเอิญ มันถูกจัดการมาอย่างดี แล้วถึงสืบทอดต่อได้อย่างมั่นคง…”
— ภูริทัต อรุณการ —
ร่วมแสดงความคิดเห็น