พายุหมุนเขตร้อนเป็นภัยที่เกิดครอบคลุมในพื้นที่เป็นวงกว้าง ทำให้เกิดฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง คลื่นลมแรง และคลื่นซัดชายฝั่ง สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติเพื่อลดผลกระทบจากพายุหมุนเขตร้อน ดังนี้
รู้จักพายุหมุนเขตร้อน
เป็นพายุขนาดใหญ่ที่ก่อตัวขึ้นในทะเลและมหาสมุทรแถบเส้นศูนย์สูตร มีลักษณะลมพัดรุนแรง ฝนตกหนักมาก และพายุฝนฟ้าคะนอง โดยพายุหมุนเขตร้อนที่มีอิทธิพลต่อสภาพอากาศในประเทศไทย แบ่งเกณฑ์ความรุนแรงตามความเร็วลม
ใกล้ศูนย์กลางพายุ ดังนี้
– พายุดีเปรสชั่น (Depression) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองหรือฝนตกหนัก
– พายุโซนร้อน (Tropical Storm) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 63 -118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เกิด
ฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง และทะเลมีคลื่นลมกำลังแรง
– พายุไต้ฝุ่น (Typhoon) มีความเร็วลมตั้งแต่ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป บริเวณจุดศูนย์กลางของพายุหรือ
ตาพายุจะมีสภาพอากาศโปร่งใส อาจมีฝนตกเพียงเล็กน้อยและลมสงบ บริเวณรอบนอกของตาพายุจะมีลมพัดแรงมาก ฝนตกหนัก และคลื่นซัดชายฝั่ง
ฤดูกาลการเกิดพายุหมุนเขตร้อนในประเทศไทย
- เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม พายุมีแนวโน้มเคลื่อนผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
- เดือนกันยายนถึงตุลาคม มีโอกาสเกิดพายุในทุกพื้นที่
- เดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม มีโอกาสเกิดพายุในพื้นที่ภาคใต้
รู้รับมือพายุหมุนเขตร้อน - ติดตามพยากรณ์อากาศอย่างต่อเนื่อง หากมีประกาศเตือนภัยพายุหมุนเขตร้อน ให้ปฏิบัติตามคำเตือนและคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
- ตรวจสอบบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพแข็งแรง โดยเฉพาะหลังคาบ้าน หน้าต่าง ช่องลม เพื่อป้องกันลมแรงพัดบ้านเรือนเสียหาย
- ดูแลสภาพแวดล้อมรอบบ้าน โดยตัดแต่งต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการหักโค่น จัดเก็บสิ่งของที่ปลิวลมได้ ในที่มิดชิดหรือผูกยึดไว้ให้มั่นคง กำจัดขยะสิ่งกีดขวางทางน้ำในร่องน้ำ คูน้ำ เพื่อเปิดทางระบายน้ำกรณีฝนตกหนัก
- สำรวจสิ่งปลูกสร้างที่เสี่ยงต่อการล้มทับ อาทิ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา หากอยู่ในสภาพที่ไม่แข็งแรงให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแก้ไขให้ปลอดภัย
- เตรียมสิ่งของจำเป็นไว้ก่อนเกิดภัย อาทิ เครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่ม เครื่องนุ่มห่ม ยารักษาโรค ไฟฉาย
รู้วิธีปฏิบัติตนปลอดภัยเมื่อเกิดพายุหมุนเขตร้อน - หลบพายุในพื้นที่ปลอดภัย โดยอยู่ในอาคารบ้านเรือนที่แข็งแรงและปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด รวมถึงไม่อยู่ใกล้ประตูหน้าต่างกระจก หากกระจกแตกจะเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ
- ไม่หลบพายุในจุดเสี่ยงอันตราย อาทิ ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง เพราะเสี่ยงต่อการโค่นล้มและล้มทับ
- ห้ามอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง เพราะอาจได้รับอันตรายจากลมพัดสิ่งของปลิวมากระแทก รวมถึงเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง
- ไม่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเลและงดกิจกรรมทางทะเล โดยเฉพาะการเล่นน้ำ เดินเรือ เพราะคลื่นลมในทะเลมีกำลังแรง
และอาจเกิดคลื่นซัดชายฝั่ง จะทำให้ได้รับอันตราย



ร่วมแสดงความคิดเห็น