“อย่าชะล่าใจ! ไข้เลือดออกเป็นซ้ำ
‼️เสี่ยงอาการรุนแรงกว่าเดิม! อันตรายถึงชีวิต”
ไข้เลือดออก เป็นโรคติดเชื้อที่ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ซึ่งเอื้อต่อการแพร่ระบาดของยุงลาย พาหะหลักของโรค แม้ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะหายได้เอง แต่ในบางรายโรคอาจดำเนินไปสู่ภาวะรุนแรงที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
❇️โรครุนแรงเกิดจากอะไร?
ภาวะแทรกซ้อนที่น่ากังวลที่สุดของไข้เลือดออก คือ “ภาวะช็อก” ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ พลาสมาหรือสารน้ำรั่วออกนอกเส้นเลือด ทำให้ความดันโลหิตต่ำ หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
อีกหนึ่งภาวะอันตราย คือ เกล็ดเลือดต่ำผิดปกติ จนทำให้เลือดออกในอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง ปอด ทางเดินอาหาร หรือช่องท้อง ซึ่งล้วนเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาโดยเร็ว
❓ทำไมการติดเชื้อซ้ำถึงอันตรายมากขึ้น?
ในปัจจุบันไวรัสไข้เลือดออกมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ การติดเชื้อครั้งแรกจะสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะต่อสายพันธุ์นั้น แต่หากติดเชื้อสายพันธุ์อื่นในภายหลัง ภูมิคุ้มกันที่มีอาจ “จับเชื้อได้ แต่ทำลายไม่ได้” ส่งผลให้ไวรัสสามารถเพิ่มจำนวนได้มากขึ้นในเม็ดเลือดขาว และเข้าสู่กระแสเลือดในปริมาณมาก ซึ่งมีความสัมพันธ์กับโรคที่รุนแรงกว่าเดิม
▪️ระยะของโรคไข้เลือดออก
ไข้เลือดออกแบ่งออกเป็น 3 ระยะหลัก ดังนี้:
- ระยะไข้
มีไข้สูงลอย 39–40°C ตลอดวัน ไม่ตอบสนองต่อยาลดไข้ทั่วไป ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง (โดยเฉพาะใต้ชายโครงขวา) บางรายมีผื่น จุดเลือดออก หรือเลือดกำเดาไหล
ลักษณะเด่น : ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการไอหรือมีน้ำมูก (ต่างจากไข้หวัดใหญ่หรือโควิด) - ระยะวิกฤต (ไม่เกิดในทุกราย)
เกิดขึ้นเมื่อไข้เริ่มลดลง แต่กลับมีภาวะรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด ทำให้ความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยอาจเกิดช็อกได้ในช่วงนี้ โดยเฉพาะหากไม่ได้รับสารน้ำอย่างเพียงพอ นอกจากนี้เกล็ดเลือดจะต่ำที่สุดในช่วงนี้ จึงเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่ายผิดปกติ - ระยะฟื้นตัว
เมื่อผ่านช่วงวิกฤต ผู้ป่วยจะเริ่มดีขึ้น ไข้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ความอยากอาหารกลับมา และเกล็ดเลือดค่อย ๆ เพิ่มขึ้น
❇️หลักการรักษา
ขณะนี้ ยังไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะสำหรับไข้เลือดออก การรักษาจึงเป็นแบบประคับประคอง เช่น:
• ให้ยาลดไข้กลุ่ม Paracetamol เท่านั้น
หลีกเลี่ยง NSAIDs เช่น Ibuprofen หรือ Aspirin เพราะเสี่ยงทำให้เลือดออกง่ายขึ้น
• ดูแลเรื่องการให้สารน้ำอย่างเหมาะสม
• ติดตามอาการอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในช่วงที่ไข้เริ่มลด
❇️การป้องกันที่ได้ผลที่สุด: วัคซีนไข้เลือดออก
ประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก 2 ชนิด โดยชนิดที่ใช้แพร่หลายในปัจจุบันคือ วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (live attenuated vaccine) ที่แนะนำ:
• ใช้ได้ตั้งแต่อายุ 4 ปีขึ้นไป ไปจนถึงผู้สูงอายุ
• ฉีด 2 เข็มห่างกัน 3 เดือน
• ไม่จำเป็นต้องตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีด
• ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
งานวิจัยยืนยันว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนแล้วจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่ดียิ่งขึ้นหลังฉีดวัคซีน และลดความรุนแรงของโรคได้
🔸 วิธีป้องกันอื่น ๆ ที่ควรทำร่วมกัน
- ป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด
เช่น ทายากันยุง สวมเสื้อผ้ามิดชิดเวลาออกจากบ้านไปเรียน หรือทำงาน - ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
เช่น เทน้ำขังในภาชนะต่าง ๆ ใช้ทรายอะเบทเพื่อทำลายลูกน้ำยุงลายในภาชนะเก็บน้ำ - ฉีดวัคซีนเมื่อมีข้อบ่งชี้ หากคุณหรือคนในครอบครัวมีไข้สูงผิดปกติในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะหากไม่มีอาการไอหรือน้ำมูก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ และรับการดูแลอย่างเหมาะสม การวินิจฉัยที่รวดเร็ว การรักษาแต่เนิ่น ๆ และการป้องกันโรคด้วยวัคซีน จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกได้อย่างมีนัยสำคัญ
“ไข้เลือดออก ป้องกันได้ รักษาทัน ลดความเสี่ยง เสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน และการดูแลรอบด้าน”
สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกได้ที่
- ศูนย์ศรีพัฒน์(โทร.053-936901)
- ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ มช.(โทร.053-920666)
- คลินิก 108 (โทร.053-935170)
- คลินิกสำหรับฉีดวัคซีนเด็ก โดยตั้งอยู่ในอาคารศรีพัฒน์ ชั้น 6 ห้องตรวจเบอร์ 27 (คลินิกวัคซีน) . (053-935757 หรือ 053-936658)
ขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.
เรียบเรียง: นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ติดตามผ่านทาง Facebook : https://cmu.to/SqxQx
#MedCMU #คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #แพทย์เชียงใหม่ #แพทย์มช. #หมอสวนดอก #โรงพยาบาลสวนดอก #Medcmuในมือคุณ #สื่อสารองค์กรMedcmu#ไข้เลือดออก

ร่วมแสดงความคิดเห็น