ระวัง! เยลลี่กัญชา แม้หน้าตาจะน่ารัก แต่อันตรายต่อเด็กมากกว่าที่คิด
แพทย์ มช.ชี้ เสี่ยงพัฒนาการถดถอย-สมองถูกทำลาย
หลังมีข่าวเด็กเล็กเผลอกินเยลลี่ที่มีส่วนผสมของกัญชาโดยไม่รู้ตัว ผศ.พญ.ภาวิตา เลาหกุล อาจารย์ประจำหน่วยพิษวิทยาคลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มช. ออกมาเตือนผู้ปกครองว่า ขนมที่ผสมสารสกัดจากกัญชาอาจมีหน้าตาน่ารัก แต่แฝงด้วยอันตรายที่ร้ายแรงโดยเฉพาะต่อเด็กเล็กและวัยรุ่น
“สาร THC ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ในกัญชา มีผลกระทบต่อสมองเด็กอย่างมาก โดยเฉพาะสมองส่วนหน้าที่ควบคุมความคิด ความจำ สมาธิ และพฤติกรรม หากได้รับเข้าไปจะขัดขวางการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาท ส่งผลให้ไอคิวต่ำลง และกระทบต่อการพัฒนา EF (Executive Function) ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการใช้ชีวิต” ผศ.พญ.ภาวิตา กล่าว
รูปแบบขนมที่เด็กเข้าใจผิดได้ง่าย ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากกัญชามักมาในรูปแบบเยลลี่รูปหมี คุกกี้ หรือช็อกโกแลต ที่ดูไม่ต่างจากขนมทั่วไป โดยจะมีสัญลักษณ์คำว่า THC หรือ CBD ติดอยู่บนซอง หรือบางครั้งอาจมีรูปใบกัญชาเล็ก ๆ ซึ่งผู้ใหญ่บางคนอาจไม่ทันสังเกต และเด็กเล็กก็ไม่สามารถแยกแยะได้ ตรงข้างซอง อาจจะมีคำว่า infused ,stoned ,delta-9 ที่บ่งบอกถึงการใส่สารสกัดจากกัญชาลงไปด้วย
เด็กที่ได้รับสาร THC เข้าไปอาจแสดงอาการแตกต่างกัน ขึ้นกับปริมาณที่ได้รับ เช่น ง่วงซึม เดินโซเซ ควบคุมกล้ามเนื้อไม่ได้ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว กระวนกระวาย หากได้รับมาก อาจถึงขั้นหมดสติหรือโคม่า
“การพยายามกระตุ้นให้อาเจียนไม่ใช่วิธีที่ปลอดภัย เพราะอาจทำให้เด็กสำลัก ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลให้แพทย์ประเมิน และให้การรักษาตามอาการ” แพทย์หญิงภาวิตาแนะนำ
แม้กัญชาจะถูกปลดล็อกจากบัญชียาเสพติด แต่ยังมีกฎหมายห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีบริโภค อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติยังมีช่องว่างที่ทำให้เด็กเข้าถึงได้โดยไม่ได้ตั้งใจ
“ทางที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงการนำอาหารหรือขนมที่มีส่วนผสมของกัญชาเข้าบ้าน แม้จะใช้กับผู้ใหญ่ แต่เด็กอาจเผลอหยิบกินเพราะไม่รู้ และไม่สามารถแยกความแตกต่างได้” แพทย์หญิงภาวิตากล่าว
นอกจากเด็กเล็ก วัยรุ่นเองก็มีความเสี่ยงสูงจากการใช้กัญชาในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะสูบ กิน หรือใช้ในรูปแบบ vape เพราะสมองยังไม่พัฒนาเต็มที่จนกว่าจะอายุประมาณ 20 ปี หากใช้ต่อเนื่องอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า หรือโรคจิตเวชได้
แม้ขนมจะดูปลอดภัย แต่หากมีส่วนผสมของกัญชา ย่อมไม่ใช่เรื่องเล็ก โดยเฉพาะสำหรับเด็ก “หน้าที่ของพ่อแม่ไม่ใช่แค่ป้องกัน แต่ควรให้ความรู้ พูดคุยกับลูก และสังเกตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างรอบคอบ” แพทย์หญิงภาวิตาทิ้งท้าย
เรียบเรียง: นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ติดตามผ่านทาง Facebook : https://cmu.to/NDBHd
#เยลลี่กัญชา #MedCMU #คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #แพทย์เชียงใหม่ #แพทย์มช. #หมอสวนดอก #โรงพยาบาลสวนดอก #Medcmuในมือคุณ #สื่อสารองค์กรMedcmu

ร่วมแสดงความคิดเห็น