ผอ.ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน เผย หยุดบินยังไม่กระทบต่อการท่องเที่ยว

แม่ฮ่องสอน บางกอกแอร์เวย์ (Bangkok Airways ) หยุดบิน ไม่ส่งผลกระทบท่องเที่ยวมากนัก เนื่องอยากอยู่ในช่วงหน้าฝน ส่วนฤดูท่องเที่ยวก็มีบ้าง การเดินทางโดยเครื่องบิน มีอัตราส่วนอยู่ที่ประมาณเกือบ 1 เปอร์เซ็นต์ จากสถิติผู้ที่เดินทางเข้าสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนในปี 2568 อยู่ที่ประมาณ 700,000 คน มีผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบินเข้าสู่แม่ฮ่องสอนประมาณกว่า 3,000 คน

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรีภานุวัฒน์ ขัดนาค ผอ.ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีอัตราขยายตัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นปีละ 3-5 เปอร์เซ็นต์ ปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านคน มีรายได้กว่า 7,000 ล้านบาท มีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่อง และในปี 2568 นี้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากอาจมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางเศรษฐกิจและปัจจัยต่าง ๆ แต่ในเชิงของการท่องเที่ยวไม่ได้มีการลดลงมากขึ้น ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในช่วงของฤดูหนาว ตั้งแต่เดือน ต.ค.- ก.พ. สำหรับช่วงโลซีซั่นหรือช่วงฤดูร้อนประมาณ 2-3 เดือน จะมีนักท่องเที่ยวอยู่บ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนคนไทยมีเบาบางโดยลักษณะของพฤติกรรมลูกค้าหรือนักท่องเที่ยว ส่วนหน้าฝนเป็นช่วงที่เราได้มีการโปรโมทหรือส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มากขึ้น เพื่อให้ตอบสนองกับเรื่องของพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงกรีนซีซั่นก็นำเสนอขายแหล่งเที่ยวหรือสินค้าใหม่ๆ ในช่วงฤดูฝน เช่น ทุ่งนาขั้นบันใดหรือความสวยงามทางธรรมชาติ ป่าเขา ทะเลหมอก ทัศนียภาพ เป็นจุดที่ทำให้ขยายตัวในเชิงของการท่องเที่ยว ทำให้สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทั้งปี ซึ่งตัวเลขไม่ได้กระจุกเฉพาะในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น ดังนั้นจังหวัดแม่ฮ่องสอนสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทั้งปี แต่ว่าจะมีนักท่องเที่ยวน้อยในช่วงฤดูร้อนเท่านั้นเอง แต่ว่าในช่วงฤดูร้อนจะมีชาวต่างชาติมาพักอาศัยอยู่และมาท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนโดยเฉพาะอำเภอปาย และกระจายตัวไปยังอำเภอต่าง ๆ ด้วย

ว่าที่ร้อยตรีภานุวัฒน์ ขัดนาค ผอ.ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน กล่าวต่อไปว่า พฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว ส่วนที่เหลือเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง รถจักรยานยนต์โดยเฉพาะกลุ่มบิกไบร์ สำหรับการเดินทางโดยเครื่องบิน มีอัตราส่วนอยู่ที่ประมาณเกือบ 1 เปอร์เซ็นต์ จากสถิติผู้ที่เดินทางเข้าสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนในปี 2568 อยู่ที่ประมาณ 700,000 คน โดยมีผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบินเข้าสู่แม่ฮ่องสอนประมาณกว่า 3,000 คน ถ้าเทียบสัดส่วนแล้วถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่เยอะมาก เนื่องจากเครื่องบินมีข้อจำกัดจำนวนที่นั่งประมาณ 70 ที่นั่ง ดังนั้นการเดินทางโดยเครื่องบินยังไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อการท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน แต่จะมีผลกระทบในการใช้ชีวิตของประชาชน หน่วยงาน หรือนักท่องเที่ยวบางส่วนที่ใช้ชีวิตในการเร่งรีบ เช่นการเข้าถึงด้านการแพทย์ การเดินทางไปประชุมที่มีเวลาเร่งด่วน

สาเหตุที่เครื่องบินหลายสายการบินที่มาบินเส้นทางแม่ฮ่องสอน ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาของเครื่องบินที่มาให้บริการ สายการบินมีเครื่องบินไม่เพียงพอ รวมถึงช่วงเวลาที่ทำการบิน ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะช่วงบินของแม่ฮ่องสอนมาถึงก็เป็นช่วงเย็น ทำให้นักท่องเที่ยวขาดโอกาสที่จะไปท่องเที่ยวในช่วงตลอดวันที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวสะท้อนว่าไม่เกิดความค้ำค่าในการเดินทางมาท่องเที่ยว จึงเลือกแผนการเดินทางท่องเที่ยวทางบกมากกว่า

อย่าไรก็ตาม ททท.แม่ฮ่องสอน ก็ได้หารือกับทีมท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอนพลัส ถ้ามีการเดินทางโดยเครื่องบินก็จะทำให้มีโอกาสขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวมากขึ้น จึงได้ร่วมหารือกันเพื่อเชื่อมโยงเส้นทางอื่น เช่น เส้นทางสุโขทัย แม่ฮ่องสอน หรือมีสายการบินอื่นที่สนใจสามารถที่จะมาทำการบินที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้หรือไม่

นายภานุเดช ไชยสกูล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ช่วงนี้เป็นช่วงโลซีซั่น มีนักท่องเที่ยวน้อยอยู่แล้ว หลังจากสายการบินบางกอกแอร์เวย์(Bangkok Airways ) หยุดบินเส้นทางสุวรรณภูมิ -ลำปาง – แม่ฮ่องสอน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2568 เป็นต้นมานั้น แต่มีข่าวว่าจะกลับมาบินอีกครั้งในช่วงฮายซีซั่น ต.ค.-พ.ย.68 แต่จริงเท็จอย่างไรก็ต้องดูกันต่อไป แต่ว่าอนาคตข้างหน้า สายการบินในประเทศไทยที่มีเครื่องบินแบบบางกอกแอร์เวย์(Bangkok Airways ) หรือเครื่อง ATR เครื่องใบพัดเท่าที่ทราบไม่มีเลย มีแต่บางบางกอกแอร์เวย์(Bangkok Airways ) ที่มาบินให้จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขอฝากไปถึงรัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไรเกี่ยวกับสนามบินขนาดเล็กที่มีหลายจังหวัด เพราะในประเทศไทยมีแต่สายการบินที่มีเครื่องบินลำใหญ่ ไม่สามารถมาลงที่สนามบินแม่ฮ่องสอนได้ และแม่ฮ่องสอนเป็นเมืองรองที่ต้องใช้เครื่องบินขนาดเล็ก อนาคตผมคิดว่าหลายสายการบินจะไม่ใช้เครื่องบินใบพัด จะต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ได้ เพื่อสนับสนุนจังหวัดขนาดเล็กที่เป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างเช่นจังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งมี 3 สนามบินเมืองแม่ฮ่องสอน ปาย แม่สะเรียง ทำให้แม่ฮ่องสอนมีผลกระทบ โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่นจะมีนักท่องเที่ยวเข้าสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันแม่ฮ่องสอนแม้จะไม่มีเครื่องบินมาบินก็ไม่ส่งผลกระทบมากนักในช่วงโลซีซั่น แต่จะกระทบในช่วงฮายซีซั่นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว พ.ย.-ม.ค. ที่จะถึง แต่ในอนาคตไม่แน่ใจว่าสายการบินบางกอกแอร์เวย์(Bangkok Airways ) จะมาบินให้แม่ฮ่องสอนอีกหรือไม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น