2 ทศวรรษ OTOP ยกระดับสินค้าชุมชนเชียงใหม่ ทะลุหมื่นล้าน

เป็นระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษแล้ว ที่โครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” หรือ OTOP ยกระดับสินค้าชุมชนไทย พร้อมสร้างรายได้กลับคืนสู่ท้องถิ่นอย่างมหาศาล ซึ่งวันนี้ เราจะย้อนดูจุดกำเนิดของโครงการสำคัญที่ช่วยพัฒนาชุมชน พร้อมภาพรวมสินค้า OTOP เชียงใหม่ในปัจจุบัน ว่าเป็นอย่างไรบ้าง
OTOP หรือ โครงการหนึ่งตำบล  หนึ่งผลิตภัณฑ์ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบล  หนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ  ประกาศ ณ วันที่ 7 กันยายน 2544  ให้มีคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบล  หนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ  หรือเรียกโดยย่อว่า  “กอ.นตผ.”  และกำหนดให้  กอ.นตผ.  มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์  และแผนแม่บทการดำเนินงาน  “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์”  

โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ สร้างงานและเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนให้สามารถคิดเอง ทำเองในการพัฒนาท้องถิ่น ส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์  โดยสอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในท้องถิ่น
โดย OTOP มีจุดเริ่มต้นจากโครงการ OVOP (One Village, One Product หรือหนึ่งชุมชนหนึ่งผลิต ภัณฑ์) ที่เมือง Oito ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนโยบายผลักดันให้ชุมชนต่างๆในพื้นที่ พัฒนาสินค้าท้องถิ่นให้มีคุณภาพ จุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์อันสอดคล้องกับวัฒนธรรมพื้นเมือง เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้ดีขึ้น แม้จะใช้ระยะเวลากว่า 50 ปี แต่โครงการดังกล่าวก็ประสบความสำเร็จ ก่อนที่จะขยายไปสู่ระดับประเทศในเวลาต่อมา รวมถึงได้เป็นแนวทางให้หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย นำไปเป็นแนวทางในการสร้างนโยบาย OTOP ในภายหลัง

ปัจจุบันสินค้า OTOP ของไทยได้แบ่งเป็น 5 กลุ่มได้แก่ สินค้าอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องแต่งกาย กลุ่มสินค้าประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก และผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ผู้ประกอบการสินค้า OTOP ไม่ได้มีแค่กลุ่มผู้ผลิตชุมชนเพียงอย่างเดียว ยังมีผู้ประกอบการทั่วไปรายเดียว และ SME ที่เข้าร่วมโครงการนี้อีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการสินค้า OTOP ในจังหวัดเชียงใหม่ สามารถทำรายได้จากการขายสินค้าชุมชนสูงถึง 13,773,055,668 บาท มีผู้ประกอบการทั้งหมด 2,475 ราย และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอีกกว่า 7,324 รายการ โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย กลุ่มสินค้าประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก และอาหารตามลำดับ

ตลอดระยะเวลา 20 ปี OTOP ประสบความสำเร็จในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน และประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ และก่อให้เกิดผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เป็นการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง  โดยหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้านความรู้ เทคโนโลยี ทุน การบริหารจัดการ เชื่อมโยงสินค้าจากชุมชนไปสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ที่มา : กรมการพัฒนาชุมชน , Urban Creature , สำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน

ร่วมแสดงความคิดเห็น