จีน-ไทยร่วมมือการเกษตร ส่งเสริม ‘เทคโนโลยีสีเขียว’ งอกงามข้ามพรมแดน

กุ้ยหยาง, 7 ก.ค. (ซินหัว) — ณ ไร่กีวีแห่งหนึ่งในเมืองลิ่วผานสุ่ย มณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน “ชาฎา หน่อปันปวน” นักวิจัยหลังปริญญาเอกชาวไทยจากมหาวิทยาลัยกุ้ยโจว กำลังตั้งใจจดบันทึกข้อมูลการแบ่งปันผลประโยชน์ภายใต้โมเดล “รัฐบาล+บริษัท+เกษตรกร+มหาวิทยาลัย”
ชาฎาที่เติบโตในพื้นที่ชนบทและเรียนจบปริญญาตรีและปริญญาโทในไทยรู้สึกประทับใจกับโมเดลรัฐบาลเป็นผู้ประสานงาน บริษัทเป็นผู้ออกเงินทุน มหาวิทยาลัยเป็นผู้มอบเทคโนโลยี และชาวบ้านเป็นผู้จัดสรรที่ดิน ซึ่งส่งผลให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน

ประสบการณ์ของชาฎาถือเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนของความร่วมมือทางการเกษตรระหว่างจีนกับไทย ซึ่งใช้การแบ่งปันเทคโนโลยี นวัตกรรม และผู้มีความรู้ความสามารถเป็นสะพานเชื่อมโยงส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ชาฎาเคยเดินทางมาแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) กุ้ยโจว และกว่างตง (กวางตุ้ง) ของจีน ก่อนจะเริ่มต้นทำวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยกุ้ยโจวในเดือนธันวาคม 2023 โดยชาฎากล่าวอย่างซื่อตรงว่าหากอยากเพิ่มพูนความรู้ การมาจีนเป็นตัวเลือกที่ดี

ณ เขตสาธิตการเกษตรเชิงนิเวศประสิทธิภาพสูงสมัยใหม่ในอำเภอหลงหลี่ของมณฑลกุ้ยโจว เทคโนโลยีควบคุมโรงเรือนอัจฉริยะและกล้องวงจรปิดสำหรับเฝ้าติดตามแบบเรียลไทม์ ทำให้เขตสาธิตฯ สามารถเพาะปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีและบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งนี้สร้างความประทับใจแก่ชาฎาอย่างมาก

การแลกเปลี่ยนบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถได้เพิ่มพลังขับเคลื่อนความร่วมมือทางการเกษตรระหว่างจีนกับไทย โดยนักศึกษาชาวไทยมาจีนพร้อมปัญหาทางการเกษตรในท้องถิ่นของตนเอง และสามารถแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้นผ่านการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ

เมื่อเดือนมิถุนายน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรังสิต 15 คน ได้เยือนคณะเกษตรศาสตร์ของมหาวิทยาลัยกุ้ยโจวเพื่อเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยน ระยะ 2 เดือน ซึ่งประกอบด้วยการปฏิบัติงานร่วมกันในห้องปฏิบัติการ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การวิจัยภาคสนาม รวมถึงเรียนรู้เทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืช และการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี

ศิวกร นพคุณ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งสนใจแนวทาง “แมลงควบคุมแมลง” ในไทย ได้เรียนรู้เทคโนโลยีชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชด้วยแตนเบียนไข่ทริโคแกรมมา (Trichogramma) ซึ่งพัฒนาโดยจีน ไม่ก่อมลพิษ และใช้ต้นทุนต่ำ พร้อมหวังว่าจะมีส่วนส่งเสริมเทคโนโลยีนี้ในไทยเพื่อเปลี่ยนการใช้สารเคมีสู่วิธีทางชีวภาพ

ทั้งนี้ สภาพภูมิอากาศอันเป็นเอกลักษณ์ของมณฑลกุ้ยโจวเอื้อต่อการเจริญเติบโตของทรัพยากรเห็ดราที่หลากหลาย ซึ่งดึงดูดเหล่านักวิชาการชาวไทย รวมถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิตที่เคยค้นพบเห็ดราหลายพันธุ์ใหม่ในสวนสาธารณะฮวาซี และจำแนกจุลชีพชนิดใหม่สำเร็จ โดยผลวิจัยเหล่านี้ได้เผยแพร่ในรูปแบบบทความวิชาการแล้ว

ชาฎาทิ้งท้ายว่าตั้งใจจะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากจีนกลับไปส่งเสริมการพัฒนาอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่บ้านเกิด โดยความร่วมมือทางการเกษตรระหว่างสองประเทศไม่เพียงสร้างผลลัพธ์อันดีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ยังบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งมิตรภาพและผลประโยชน์ร่วมในใจของประชาชนสองประเทศด้วย

(แฟ้มภาพซินหัว : ชาฎา หน่อปันปวน (ขวา) นักวิจัยหลังปริญญาเอกชาวไทยจากมหาวิทยาลัยกุ้ยโจว กำลังตรวจสอบตัวอย่างที่ห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยฯ ในมณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 2 ก.ค. 2025)

(แฟ้มภาพซินหัว : นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรังสิตเข้าร่วมการสำรวจภาคสนามที่เขตสาธิตการเกษตรเชิงนิเวศประสิทธิภาพสูงสมัยใหม่ในอำเภอหลงหลี่ มณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 15 มิ.ย. 2024)

ร่วมแสดงความคิดเห็น