พาณิชย์แพร่ เข้าเยี่ยมคารวะอัครราชทูตฝ่ายพาณิชย์ ณ สำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายพาณิชย์ ณ กรุงปักกิ่ง สป.จีน
วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม 2568 เวลา 14.30 น. นายศุภสัณห์ ศิลป์ชูศรี พาณิชย์จังหวัดแพร่ พร้อมคณะประกอบด้วยนางสาวพิชญา จีปน นางสาวพิมพ์ชนก เลิศพรหมพันธ์ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ และนายรวินท์ แก้วสุทธิ นักวิชาการพาณิชย์ปฏิบัติการ ได้เข้าเยี่ยมคารวะ นางสาวนลินทิพย์ หอมวิเศษวงศา อัครราชทูตฝ่ายพาณิชย์ นายเจนณรงค์ เพ็ญสมบูรณ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา นายปรก กัศภาคย์ ที่ปรึกษาฝ่ายพาณิชย์ ให้การต้อนรับเยี่ยมชมสำนักงานฯ ณ สำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง ก่อนเข้าร่วมการสัมมนาการพัฒนาชนบทของประเทศไทย ซึ่งจัดโดยศูนย์บริการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ กระทรวงเกษตรและกิจการชนบท และกระทรวงพาณิชย์ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในระหว่างวันที่ 8 – 22 กรกฎาคม 2568 ณ กรุงปักกิ่ง และดูงานการผลิต/แปรรูปชา ณ มณฑลเจียงซี สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้แลกเปลี่ยนหารือข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศไทย-จีน และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

มิตรภาพไทย-จีน มีรากฐานหยั่งรากลึกมายาวนานนับพันปี ดั่งคำกล่าวที่ว่า “จีนไทย ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน“ การสัมมนา/ดูงานในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างสถานกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำจังหวัดเชียงใหม่กับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องภาคเหนือ เพื่อผลักดันความร่วมมือภายใต้กรอบ“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ยกระดับความร่วมมืออย่างรอบด้าน ส่งเสริมความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมต่อเนื่อง เปิดช่องทางการค้าสินค้าเกษตรให้คล่องตัวยิ่งขึ้น ขยายความร่วมมือในสาขาศักยภาพใหม่ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ ยานยนต์พลังงานใหม่ เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานสีเขียว เพื่อเพิ่มเติมพลังใหม่การค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ กระชับสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ในวาระเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 50 ปี (1 กรกฎาคม 2568) ถือเป็นโอกาสสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือในด้านวัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การท่องเที่ยว ด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างอารยธรรมและสร้างความใกล้ชิด เสริมสร้างความร่วมมือในระดับพหุภาคี ยืนหยัดสนับสนุนบทบาทศูนย์กลางของอาเซียน ร่วมปกป้องความยุติธรรมและความเท่าเทียมในเวทีระหว่างประเทศ ร่วมผลักดันการสร้างขั้นพหุที่เป็นธรรม มีระเบียบพร้อมส่งเสริมโลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้างอย่างไร้พรมแดน








ร่วมแสดงความคิดเห็น