สสจ.เชียงใหม่ ยืนยัน! ผลตรวจสุ่มตรวจชาวแม่อาย 2 ครั้ง ไม่พบสารหนูเกินมาตรฐาน

สสจ.เชียงใหม่ ยืนยันผลตรวจสุ่มตรวจชาวแม่อาย 2 ครั้ง ไม่พบสารหนูเกินมาตรฐาน เผยข้อมูลสุ่มตรวจปัสสาวะ 10 ราย พบสารหนูปนเปื้อน 9 ราย แต่ไม่เกินมาตรฐาน และยังไม่พบผู้ป่วยโดยตรงจากสารหนู

กรณีที่มีสื่อนำเสนอข่าวตรวจพบสารหนูเกินมาตรฐานในเด็กอายุ 6 ขวบและ 2 ขวบ ที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ โดยให้ข้อมูลว่าเด็กทั้งสองคนกินปลาจากแม่น้ำกกเป็นประจำ พร้อมอ้างแหล่งข่าวระบุว่าตรวจพบค่าสารหนูมากผิดปกติในเด็กทั้ง 2 คน มาระยะหนึ่งแล้ว แต่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ยังไม่ต้องการเปิดเผยเรื่องนี้ โดยข่าวดังกล่าวสร้างความกังวลใจให้กับประชาชนในพื้นที่น้ำกกไหลผ่าน

ล่าสุดในวันนี้ ( 8 ก.ค. 68) นายแพทย์กิตติพันธุ์ ฉลอม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ แถลงสื่อมวลชน ระบุว่า หลังจากสํานักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่ เผยผลตรวจคุณภาพน้ำผิวดินแม่นํากกที่พบสารหนูเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจหาสารปนเปื้อนในน้ำผิวดิน น้ำประปา น้ำอุปโภคบริโภค พืช และ สัตว์น้ำ รวมทั้งสุ่มตรวจปัสสาวะประชาชนในพื้นที่หาสารหนูและโลหะหนักที่เป็นพิษ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะปาง ทั้ง เด็ก ผู้สูงอายุ และ หญิงตั้งครรภ์ ตามมาตรการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก

โดยในวันที่ 20 เมษายน สสจ.เชียงใหม่ ได้ร่วมกับศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ สุ่มเก็บตัวอย่างปัสสาวะในประชาชนจํานวน 5 ราย และ สุ่มตรวจอีกครั้งในวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 จำนวน 5 ราย โดยทั้งหมดนี้พบสารหนูปนเปื้อนทั้งหมด 9 ราย สูงสุดที่ 60 ไมโครกรัมต่อลิตร จากค่าปกติที่ไม่ควรเกิน 100 ไมโครกรัมต่อลิตร ส่วนอีก 8 คน พบอยู่ที่ 3-30 ไมโครกรัมต่อลิตร ซึ่งสารปนเปื้อนที่ยังไม่เกินมาตรฐานไม่ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพในระยะเฉียบพลัน

ล่าสุดวันที่ 3 กรกฏาคม ที่ผ่านมา มีการสุ่มเก็บตัวอย่างปัสสาวะประชาชนในพื้นที่อีกครั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลตรวจ

นายแพทย์กิตติพันธุ์ ยืนยันว่าผลการสุ่มตรวจในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่พบประชาชนที่มีค่าสารหนูปนเปื้อนเกินมาตรฐานตามข่าวที่มีการเผยแพร่ และในพื้นที่เฝ้าระวังยังไม่พบผู้ป่วยที่ยืนยันอาการจากการได้รับสารพิษ และยังไม่พบผู้ป่วยจากอาการทางระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร และระบบประสาท ที่สัมพันธ์กับการได้รับสารหนูเกินมาตรฐาน

สำหรับสารหนูที่พบในประชาชนที่มีการสุ่มตรวจ แม้จะยังไม่เกินค่ามาตรฐานที่จะทำให้เกิดอาการป่วยแบบเฉียบพลัน แต่ในระยะยาวยังไม่สรุปได้ว่าปลอดภัย ทำให้ต้องติดตามและเฝ้าระวังและติดตามอย่างต่อเนื่อง พร้อมยืนยันว่า สสจ.เชียงใหม่ ไม่มีการปิดบังข้อมูลเพื่อให้ประชาชนตระหนักและหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพ

ร่วมแสดงความคิดเห็น