สร้างป่าในเมือง หวังช่วยลดมลพิษฝุ่นในเชียงใหม่

เครือข่ายสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองจากการเผาป่าในเชียงใหม่ และมลพิษฝุ่นขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน พีเอ็ม 2.5 ที่เกิดขึ้นในเขตชุมชนเมือง เป็นปัญหาสะสมมานานหลายปี ซึ่งภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวะ จุฬา (รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล) ตลอดจนภาควิชาสถาปัตยกรรมและการออกแบบสิ่งแวดล้อม ม.แม่โจ้ มีข้อมูลการศึกษาชัดเจน ปมปัญหาหลัก ๆ ของฝุ่นละอองขนาดเล็ก คือ เกิดการการเผาไหม้, ฝนตกน้อย ภาวะความแห้งแล้ง ภาวะอากาศร้อนกดทับชั้นบรรยากาศ ทำให้ฝุ่นขนาดเล็กสะสม

ซึ่งสภาพพื้นที่เมืองมีแนวเขาโอบล้อม และพื้นที่สีเขียวลดน้อยลงจากหลายปัจจัย เครือข่าย เขียว สวย หอม ระบุว่า แนวทางการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ในชุมชนเมือง ทุกภาคส่วน ตระหนักรู้ เล็งเห็นอรรถประโยชน์ว่า ต้นไม้มีส่วนสำคัญในการช่วยซับดักจับ และฟอกอากาศจากฝุ่นละออง โดยเฉพาะพืชประเภทใบ ตามเกณฑ์มาตรฐานองค์การอนามัยโลกยืนยันชัดว่า เมืองควรมีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียว 1 คน ต่อ 9 ตร.ม. แต่เชียงใหม่ มีเพียง 2 ตร.ม. ถือว่าน้อยกว่าเกณฑ์ด้วยพื้นที่เขตนคร ราว ๆ 40.22 ตร.กม มีสวนสาธารณะ มีพื้นที่สีเขียวหลักรวมกันไม่ถึง 162 ไร่ พื้นที่สวนสาธารณะ เพียงร้อยละ 0.65 ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 1.8 ไร่ ต่อประชากร 1,000 คน

ที่ผ่าน ๆ มา มีความพยายามของภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม ตื่นตัวในการร่วมกันปลูกต้นไม้ ผ่านกิจกรรรมโครงการต่าง ๆ เพื่อให้ชุมชนร่มรื่น ร่มเย็น อาศัยต้นไม้เป็นส่วนช่วยจัดการซับฝุ่นละออง มลพิษจากยานพาหนะและสภาพอากาศตามฤดูกาล ในช่วงแล้งร้อนที่มีปัญหาหมอกควันด้วย
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสภาพพื้นที่ทั้ง 25 อำเภอของเชียงใหม่ จะพบว่า มีสภาพแหล่งธรรมชาติ กระจายในพื้นที่อุทยาน, ป่าสงวน, เขตชุมชน พื้นที่เกษตร โดยสภาพฝุ่นละอองหมอกควันในเชียงใหม่ มีต้นตอจากกิจกรรมการเผาในที่โล่งเป็นหลัก อาจจะมาจากพื้นที่ใกล้เคียง การเผาไหม้ของป่าในพื้นที่ และประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน

ดังนั้น การแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นตอ แต่ขณะเดียวกันการบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง อาจเริ่มต้นด้วยการดูแลรักษาต้นไม้ บริเวณคูเมือง, สวนสาธารณะรูปแบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ อาทิ สวนหนองบวกหาด, สวนกาญจนาภิเษก, สวนตามรายทางหลัก ๆ ในเขตเมืองเชียงใหม่ ทั้งเกาะกลาง, สวนหย่อม, ต้นไม้ตามแนวถนน “ต้องไม่ให้ลดน้อยลงไป จากข้ออ้างการพัฒนาหรือกิจกรรมการก่อสร้าง เพียงข้ออ้างบดบังทัศนียภาพ ความจำเป็นในการเบียดบังสายสื่อสาร สายไฟ อาจก่ออันตรายได้ พื้นที่สีเขียว ไม่ใช่แค่สวนสาธารณะ บรรดาต้นไม้ข้างถนน ต้นไม้ในบ้าน วัด โรงเรียน สถานที่เอกชน ส่วนราชการต่าง ๆ ฯลฯ และพื้นที่ป่าไม้ คือพื้นที่ต้องช่วยกันดูแล รักษา “
คณะทำงาน มูลนิธฺพัฒนาภาคเหนือ ย้ำว่า พื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับการพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียว ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ของเอกชน สถานศึกษา ศาสนสถาน, หน่วยงานราชการ ริมน้ำ ริมถนน หรือแม้แต่การปลูกต้นไม้ในกระถางหน้าบ้าน ความตื่นตัวของชุมชน อาทิ เชียงมั่น ป้านปิง พวกแต้ม, ล่ามช้าง, พันอ้น ร่วมกันฟื้นฟูดูแลต้นไม้ใหญ่ ยิ่งตามวัด ที่มีส่วนร่วม จัดแต่งภูมิทัศน์ให้สวยงามตัดแต่งต้นไม้ ด้วยการประสานความร่วมมือหมอต้นไม้

“สิ่งเหล่านี้ อยู่ที่กระบวนทัศน์ และความตั้งใจที่จะปกป้อง ดูแล เสริมสร้างพื้นที่สีเขียวร่วมกัน รวมถึง ท้องถิ่นต้องเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะให้เป็นสถานที่พักผ่อน เป็นปอดของชุมชนอย่างต่อเนื่อง ป่าในเมืองจะเป็นทั้งปอดและแหล่งสันทนาการ ทั้งนี้มีผลวิจัยมากมายที่ระบุว่า การได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีพื้นที่สีเขียว อยู่กับธรรมชาติ มีผลต่อสภาพจิตใจ ลดความเครียด พัฒนาคุณภาพชีวิต ลดมลพิษ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวอยู่ที่วิสัยทัศน์ และการจัดการของท้องถิ่น บนพื้นฐานความร่วมมือ ตระหนักรู้ว่าต้นไม้คือธรรมชาติที่เกื้อกูลสรรพชีวิต”
กลุ่มหมอต้นไม้ คณะสถาปัตย์ ม.แม่โจ้ กล่าวว่า อยากเห็นถนนสายต้นไม้ ที่สวย ๆ แบบ ถนนสายยางนา สารภี เมืองเชียงใหม่ หรือถนนต้นไผ่ ทางเข้าโรงแรมแห่งหนึ่งแถวๆถนนราชดำเนิน ซึ่งรายรอบคูเมืองนั้น การดูแลต้นไม้ที่มีอยู่ รวมทั้งปลูกเสริม ให้แต่ละแนวคูเมืองแต่ละทิศ มีพืชพรรณไม้ที่หลากหลาย จะช่วยฟอกอากาศ ขจัดมลพิษเมือง และสร้างทัศนียภาพที่สวยงามของนครเชียงใหม่ ได้อีกรูปแบบ

ร่วมแสดงความคิดเห็น