ชูแผนอมก๋อยโมเดล ช่วยรักษาป่าต้นน้ำ

ชูแผนอมก๋อยโมเดล ช่วยรักษาป่าต้นน้ำ สร้างงาน เสริมชุมชนเข้มแข็ง หนุนคนอยู่กับป่ายั่งยืน

คณะทำงาน โครงการอมก๋อยโมเดล อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือของหลายภาคส่วนทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมป่าไม้ ตลอดจนภาคีเครือข่ายภาคเอกชน เพื่อบริหารจัดการพื้นที่อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ให้เป็นต้นแบบพื้นที่นำร่องการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ป่าต้นน้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี 2564-2568 อมก๋อยโมเดลนั้นจะตั้งเป้าในการปกป้องรักษาป่าต้นน้ำในพื้นที่อ.อมก๋อยซึ่ง 99% เป็นป่าต้นน้ำ เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ ทั้งลำน้ำแม่ต๋อม และลำน้ำแม่ตื่น ที่เคยอุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันกลับมีสภาพที่เสื่อมโทรม ชุมชนมีความเป็นพหุสังคมสูงมากถือเป็นอำเภอที่มีชุมชนกระเหรี่ยงทำไร่หมุนเวียนมากที่สุดในไทย

“เกษตรกรส่วนหนึ่งยังขาดองค์ความรู้ การบริหารจัดการ เทคโนโลยี เงินทุน และการตลาด โดยส่วนนี้จะมีภาคเอกชนเสนอตัวเข้ามามีส่วนร่วม สนับสนุนกิจกรรม โครงการให้ชุมชนเข้าใจ เข้าถึง การพัฒนา และร่วมมือปกป้องรักษาป่าต้นน้ำ การปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่ มีเป้าหมายพื้นที่ปลูกกาแฟรวม 1,000 ไร่ ขณะนี้มีการดำเนินการในบ้านเกียนใหม่ ต.นาเกียน บ้านปิตุคี ต.ยางเปียง และบ้านยางเปียงใต้ ต.ยางเปียง มีเกษตรกรร่วมโครงการ 72 ราย มีแผนสนับสนุนโรงแปรรูปกาแฟชุมชน 1 โรง ในนามโรงแปรรูปวิสาหกิจชุมชน กาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่ อมก๋อยโมเดล มีเป้าหมายสร้างกำไรสุทธิ 10,000 บาท/ไร่

นอกจากนั้นยังมีการส่งเสริมการสร้างอาชีพเสริมด้วยพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง ได้แก่ ฟักทอง ดำเนินการในพื้นที่บ้านผีปานเหนือ ต.นาเกียน สามารถสร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรกร 960,000 บาท หรือประมาณ 64,000 บาท ต่อราย และสร้างชุมชนที่ยั่งยืน ด้วยโครงการข้าวไร่ 1-2-3 ในแปลงไร่หมุนเวียน เพื่อลดการทำไร่เลื่อนลอย ดำเนินการในบ้านปิตุคี ต.ยางเปียง ความพยายามในการชูแผนอมก๋อยโมเดลที่มีการร่วมมือกันหลายภาคส่วนนั้น จะ มุ่งสนับสนุนให้ “คนอยู่ร่วมกับป่า” อย่างสมดุล ผลักดันให้ธรรมชาติและระบบนิเวศน์ได้รับการฟื้นฟูลดการใช้สารเคมีสนับสนุนการเกษตรแบบไม่เผา ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าภาคเหนืออย่างยั่งยืนเป้าหมายในการสร้างอาชีพ ให้ชาวบ้านมีอาชีพรายได้ที่มั่นคง เกิด เศรษฐกิจโดยชุมชน ต้องดำเนินควบคู่กับการ “พัฒนาการศึกษา”

ซึ่งแนวทางนี้ ภาครัฐและเอกชน ภาคีเครือข่ายต่างๆ พยายาม ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง และต้องสร้างแรงจูงใจให้บุคลากร ด้านการศึกษา สนใจที่จะไปทำการสอน ในโรงเรียนประจำชุมชน “เพราะที่ผ่านๆ มาล่าสุดพบว่าสถานศึกษาในที่สูงบางแห่งเช่นโรงเรียนบ้านแม่สะเตมีการเปิดตำแหน่งบรรจุข้าราชการครู ตำแหน่งครู ผู้ช่วย ได้ 4 อัตรา แต่มีครูเลือก เพียงคนเดียวคือคุณครูนันท์นภัส ต้นภู หรือคุณครูฝน อีก 3 คน ที่จะมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนก็คงต้องรอผู้สนใจเลือกไปบรรจุ ซึ่งพื้นที่ อมก๋อย ไม่แตกต่างจาก พื้นที่ทุรกันดารห่างไกลที่บุคลากร ข้าราชการ ผู้มีความรู้ ความสามารถ ไม่ค่อยเลือกที่จะมามีส่วนร่วม พัฒนาพื้นที่อมก๋อย ทำให้ ชุมชน ขาดโอกาส ในการสร้างความรู้ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่ทรงคุณค่าต่อชุมชน”

ร่วมแสดงความคิดเห็น