รมว.เกษตรฯ ป้ายแดงยืดอกรับ สานต่อแนวทาง Ignite Thailand

“ผมได้รับโอกาสจาก ร.อ.ธรรมนัส” รมว.เกษตรฯ ป้ายแดงยืดอกรับ สานต่อแนวทาง Ignite Thailand สมัยธรรมนัส ใช้เป็นนโยบายหลักในการบริหาร พร้อมนโยบายเพิ่ม “ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และเสริมแกร่งเกษตรกร” ขับเคลื่อนกระทรวงเกษตรฯ เน้นแผนระยะสั้น ระยะกลาง เนื่องจากเวลารัฐบาลเหลือน้อย

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายขับเคลื่อนงานให้แก่ผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในวาระการเข้าทำงานวันแรก ณ ห้องประชุมธารทิพย์ 01 ชั้น 4 อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพฯ

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “เวลารัฐบาลเหลือไม่มาก 1 ปี เศษ ปีครึ่ง ก็จะเป็นนโยบายระยะสั้น ระยะกลาง ที่จะเน้นทำ ส่วนยโยบายระยะยาวขอให้ทุกท่านช่วยกันคิด ช่วยกันวางแผน”

“ผมยืนยัน ไม่อายใครด้วย และจะทำให้ชัดเจนว่า ผมได้รับโอกาสจากผู้ชายที่ชื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นี่คือความจริงที่ผมหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทุกท่านทราบดีอยู่แล้ว”

“ดังนั้นแนวทางการทำงานของผมมีความจำเป็นที่ต้องนำแนวทางของท่านธรรมนัส พรหมเผ่า ที่เคยมอบเป็นแนวทางไว้ให้กระทรวงเกษตรฯ กลับมาทำใหม่ ในส่วนของผมก็จะมีการเพิ่มที่อยากให้เน้นเพิ่มเป็นพิเศศ”

แนวทางเดิม ยุคที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผา เป็น รมว.เกษตรฯ คือ แนวทาง Ignite Thailand ซึ่งจะถูกนำำกลับมาทำต่อ มี 9 นโยบาย ประกอบด้วย…..
.

  1. เน้นการสร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ 2. เร่งรัดการจัดที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร 3. บริหารจัดการน้ำทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และการเติมน้ำในเขื่อน 4. ยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 5. ยกระดับศักยภาพของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง 6. จัดการทรัพยากรทางการเกษตร 7. รับมือกับภัยธรรมชาติ 8. สานต่อการทำสงครามสินค้าเกษตรเถื่อนอย่างต่อเนื่อง และ 9. อำนวยความสะดวกด้านการเกษตร
    .
    ในจำนวนนโยบายทั้ง 9 ข้อนี้ เน้นย้ำให้ความสำคัญสูงสุดกับ 3 นโยบายที่จะเดินหน้าอย่างเข้มข้น ได้แก่ นโยบายที่ 4 การยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ซึ่งถือเป็นทางรอดของเกษตรกรไทยในยุคการแข่งขันสูง โดยมุ่งเน้นการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และตรงกับความต้องการของตลาด พร้อมส่งเสริมการสร้าง แบรนด์สินค้าและเรื่องราว (Story) ของจังหวัดหรืออำเภอให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง รวมถึงการสนับสนุนอาชีพเสริมในช่วงหลังฤดู การผลิตเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

นโยบายที่ 5 การยกระดับศักยภาพของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง โดยส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรสามารถให้บริการทางการเกษตรแบบครบวงจร สนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan)  เพื่อจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตร และเป็นทางเลือกในการเพิ่มรายได้ พร้อมทั้งส่งเสริมการดำเนินธุรกิจสหกรณ์การเกษตร ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน และพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นระบบการประเมินผลที่โปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นต่อสมาชิก

และ นโยบายที่ 7 การรับมือกับภัยธรรมชาติ ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยจะมีการวางแผนและดำเนินมาตรการเชิงรุกภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจน ครอบคลุมทั้งการป้องกัน การแก้ไข และการฟื้นฟูผลกระทบจากภัยแล้งและภัยพิบัติต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างอาชีพใหม่ให้เกษตรกรสามารถยืนหยัดได้แม้เผชิญกับสถานการณ์ธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ การเดินหน้ายกระดับสินค้าเกษตรและเสริมศักยภาพเกษตรกร เป็นกลไกหลักในการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ขณะที่การรับมือกับภัยธรรมชาติเป็นภารกิจที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปอย่างจริงจัง ไม่เพียงแค่ช่วยเหลือและเยียวยาเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างโอกาสใหม่ เช่น การส่งเสริมอาชีพเสริม เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้อย่างมั่นคงในทุกสถานการณ์ นอกเหนือจากการสานต่อ 9 นโยบายหลัก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้เน้นย้ำถึงมาตรการเพิ่มเติมเพื่อ “ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และเสริมแกร่งเกษตรกร” ดังนี้

  1. การลดต้นทุน เพิ่มรายได้…..
    1) การจัดหาพันธุ์ดี สนับสนุนพันธุ์พืช ประมง และปศุสัตว์คุณภาพได้มาตรฐานที่ ตลาดต้องการ ไม่เน้นความหลากหลาย แต่เน้นคุณภาพที่เกษตรกรสามารถผลิตและขายได้ในราคาที่ดี
    2) ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จะกำกับดูแลในมิติของการแปรรูปขั้นต้น รวมถึงการบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อน
    3) บริหารจัดการด้านการตลาดสินค้าเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จะดูแลทั้งระบบตั้งแต่ข้อมูลการผลิต การส่งเสริมการผลิต การแปรรูป และการตลาด โดยส่งเสริมให้เกษตรกรหาตลาดได้ด้วยตนเอง สนับสนุนการสร้างแบรนด์ชุมชน และสร้างเรื่องราว (Story telling) ของสินค้าเกษตรในชุมชน องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรจะต้องปรับตัวเป็นตลาดรองรับผลผลิต ช่วยเกษตรกรผลิตได้ ขายเป็น ลดการพึ่งพาจากพ่อค้าคนกลาง
  2. เสริมแกร่งเกษตรกรให้สามารถแข่งขันได้…..
    1) ผลักดันเรื่องการสร้างโอกาสขยายระยะเวลาการชำระหนี้ของเกษตรกร และสร้างวินัยทางการเงินเพื่อบรรเทาภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสให้เกษตรกรมีเงินลงทุนทำการเกษตรในระยะต่อไป
    2) สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกร ใช้กลไกต่างๆ เช่น กองทุน ประสานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพาณิชย์อื่นที่มีความพร้อม รวมถึงความร่วมมือของภาคเอกชน  มาสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเกษตรกรในรูปแบบ Soft Loan
    3) ปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยให้เป็นปัจจุบัน เพื่อลดขั้นตอนและกระบวนการที่เป็นอุปสรรค รวมถึงการสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยให้เข้มแข็ง และป้องกันสินค้าเกษตรที่ทะลักเข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมาย โดยให้ทุกหน่วยงานทบทวนและปรับปรุงกฎหมายกฎหมายที่ใช้อยู่ พร้อมทั้งกำหนดแนวทางแก้ไขพร้อม Timeline ที่ชัดเจนเพื่อผลักดันให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม

“นโยบายทั้งหมดนี้ เป็นการสานต่อนโยบายเดิมของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดคือ การทำให้เกษตรกรลดต้นทุน มีรายได้ และมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น และการดำเนินงานนับจากนี้จะมีการติดตามผลความก้าวหน้าในทุกนโยบายอย่างต่อเนื่อง โดยต้องอาศัยความร่วมมืออย่างแข็งขันของทุกภาคส่วน และขอขอบคุณครอบครัวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับความร่วมมือในการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญนี้” นายอรรถกร กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น