รมช.กลาโหม ลงพื้นที่แม่สาย ติดตามความคืบหน้าโครงการป้องกันดินโคลนถล่มและน้ำหลาก – แนวป้องกันคืบหน้าเกือบสมบูรณ์
วันที่ 8 กรกฎาคม 2568 พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ ลงพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามความคืบหน้า “โครงการป้องกันและลดผลกระทบจากดินโคลนถล่มและน้ำหลาก” บริเวณหัวฝาย โดยมีประชาชนในชุมชนถ้ำผาจม บ้านไม้ลุงขน และเกาะลอย ร่วมให้การต้อนรับ และมอบดอกไม้แสดงความขอบคุณเจ้าหน้าที่ทหารที่ดำเนินการสร้างแนวป้องกันน้ำหลากแบบชั่วคราวกึ่งถาวร เพื่อป้องกันภัยพิบัติช่วงฤดูฝน
ภายหลังรับฟังบรรยายสรุปจาก พลโท สิรภพ ศุภวานิช เจ้ากรมทหารช่าง พลเอก ณัฐพล ได้ตรวจเยี่ยมพื้นที่ดำเนินงานตามภารกิจหลัก 2 ด้านที่กองทัพบกได้รับมอบหมาย ได้แก่
- ขุดลอกแม่น้ำรวกฝั่งไทย ดำเนินการตั้งแต่บ้านสบสาย ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย ถึงบ้านวังลาว ต.เวียง อ.เชียงแสน รวมระยะทางกว่า 32 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ช่วงความรับผิดชอบ โดยหน่วยทหารช่างจากกองทัพภาคที่ 3 รับผิดชอบ 14 กิโลเมตรแรก และกรมการทหารช่างรับผิดชอบอีก 18 กิโลเมตร ปัจจุบันคืบหน้าแล้วกว่า 81.67% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้
- เสริมพนังชั่วคราวกึ่งถาวรตลอดแนวแม่น้ำสายครอบคลุมระยะทาง 2.3 กิโลเมตร ครอบคลุม 6 ชุมชนในเขตแม่สาย โดยใช้วิธีเสริมโครงสร้างเดิมด้วยแนวกันน้ำผสมผสาน ปัจจุบันดำเนินการคืบหน้าแล้ว 93.63% และคาดว่าจะสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพภายในกลางเดือนกรกฎาคม 2568
ในการนี้ พลเอก ณัฐพล พร้อมด้วยนายประสงค์ หล้าอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และนายวรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอแม่สาย ได้ลงพื้นที่สำรวจแนวป้องกัน รวมถึงลงเรือดูสภาพภูมิประเทศบริเวณลำน้ำสายอย่างใกล้ชิด
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่เน้นการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในพื้นที่เสี่ยงสูง โดยเฉพาะแม่สายที่เคยประสบอุทกภัยใหญ่เมื่อปี 2567 จึงมีแผนเร่งด่วนในการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำหลากแบบกึ่งถาวร เพื่อรองรับสถานการณ์ระยะสั้น ก่อนดำเนินการก่อสร้างพนังถาวรซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2572
จากความคืบหน้าขณะนี้ถือว่ามีความพร้อมสูง สามารถรองรับน้ำหลากในระดับใกล้เคียงเหตุการณ์ปีที่ผ่านมา สร้างความมั่นใจให้ประชาชน และลดความเสียหายได้อย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ การลงพื้นที่ของ รมช.กลาโหม ยังสะท้อนถึงความห่วงใยประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยของรัฐบาล และเป็นตัวอย่างของการบูรณาการหน่วยงานทหารและท้องถิ่นเพื่อสร้างความปลอดภัยอย่างยั่งยืน










ร่วมแสดงความคิดเห็น