“พระครูอ๊อด” ผู้จุดประกายเมตตาธรรมผ่านภารกิจช่วยชีวิตสัตว์ทุกชนิด

“พระครูอ๊อด” วัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่ ผู้จุดประกายเมตตาธรรมผ่านภารกิจช่วยชีวิตสัตว์ทุกชนิด

ท่ามกลางกระแสสังคมที่เคลื่อนไหวด้วยความเร่งรีบและผลประโยชน์“พระครูอ๊อด วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่” กลายเป็นบุคคลหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้คนมากมาย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้รักสัตว์และนักอนุรักษ์ ด้วยภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่ท่านได้อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นช้าง วัว ควาย หรือแม้แต่สุนัขจรจัดและแมวไร้บ้าน

สิ่งที่เริ่มจากแรงเมตตา กลับงอกงามเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่และต่อเนื่อง นับตั้งแต่การให้ความช่วยเหลือ “ช้าง” สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของชาติไทย ซึ่งพระครูอ๊อดได้มีส่วนสำคัญในการไถ่ชีวิตและดูแลช้างที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงกว่า 23 เชือก โดยช้าง 12 เชือกได้ส่งมอบให้เป็น “ช้างของแผ่นดิน” ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ส่วนอีก 11 เชือกยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ “บ้านช้างตระกูลแสน” อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดในพื้นที่ที่จัดสรรเพื่อให้ช้างได้ใช้ชีวิตตามวิถีธรรมชาติ

นอกเหนือจากการดูแลช้าง ท่านยังขยายเมตตาจิตไปถึง “วัวควาย” สัตว์ใช้งานที่มักถูกทอดทิ้งเมื่อหมดประโยชน์หรือกำลังจะเข้าสู่โรงฆ่าสัตว์ โดยได้เดินทางไปทำพิธีไถ่ชีวิตในหลายพื้นที่ และน้อมนำสัตว์เหล่านั้นเข้าสู่ระบบ “ธนาคารวัวควาย” ร่วมกับวัดป่าดาราภิรมย์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งต่อให้เกษตรกรที่ขาดแคลน เป็นการต่อชีวิตสัตว์และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากควบคู่กัน

ภารกิจอีกหนึ่งด้านที่พระครูอ๊อดให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ การดูแล “สุนัขและแมวจรจัด” ทั้งในและนอกเขตวัด ภายในวัดเจดีย์หลวง มี “เด็กก้นกุฏิ” หรือสุนัขที่ได้รับการช่วยเหลือจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาอาศัยภายใต้การดูแลอย่างอบอุ่น ขณะเดียวกัน ท่านยังจัดโครงการ “ผ้าป่าอาหารหมาแมว” เพื่อนำสิ่งของจำเป็นและอาหารสัตว์ไปแจกจ่ายให้กับสัตว์จรจัดในพื้นที่เขตเมืองเชียงใหม่ และบริเวณใกล้เคียง

กิจกรรมเล็ก ๆ อย่างการผลิตข้าวกล่องในวันพระ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับหมาแมวไร้บ้านในพื้นที่ ก็สะท้อนถึงแนวคิด “เมตตาธรรม” ที่พระครูอ๊อดยึดมั่นและปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นเพียงมื้ออาหารหนึ่งมื้อ แต่สำหรับสัตว์ที่อดอยาก นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่

ในหลายกรณี ท่านยังมีบทบาทสำคัญในการประสานงานเพื่อการกู้ภัยสัตว์ เช่น กรณีสุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์ 4 ตัวที่ถูกทอดทิ้งกลางป่า หรือล่าสุดกับการช่วยเหลือสุนัขพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี้ ที่ถูกปล่อยปละละเลยให้อยู่กับแรงงานต่างด้าวจนสุขภาพทรุดโทรม ท่านได้เข้าช่วยเหลือ และวางแผนการฟื้นฟูทั้งสุขภาพกายและใจอย่างเป็นระบบ

แนวทางการทำงานของพระครูอ๊อดไม่ได้อิงเพียงหลักเมตตาเท่านั้น แต่ยังแฝงด้วยแนวคิดเชิงระบบ และการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม หรือภาคเอกชน

ชีวิตของสรรพสัตว์เหล่านี้อาจไร้เสียงในสังคม แต่ด้วยความเมตตาที่ไม่มีประมาณของพระครูอ๊อด วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้สัตว์หลายชีวิตได้รับโอกาสอีกครั้งในการมีชีวิตที่สงบ ปลอดภัย และมีศักดิ์ศรี

นี่คือความธรรมดาที่ยิ่งใหญ่ คือการใช้ “ศีลธรรม” เป็นแสงนำทาง และการลงมือกระทำเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้อื่น ทั้งที่พูดไม่ได้ ร้องขอไม่ได้ และกำลังรอใครสักคนให้โอกาสอยู่เงียบ ๆ ในมุมหนึ่งของโลก.

ร่วมแสดงความคิดเห็น