ถกปัญหาสารปนเปื้อน รับฟังเสียงร่ำไห้ของน้ำสาย

เวลา 13.30 น.วันที่ 16 กรกฎาคม 2568 ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน นำโดยนางสาวเพียรพร ดีเทศ ผู้อำนวยการรณรงค์ภูมิภาค องค์กรอินเตอร์ริเวอร์ ดร.สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ นางเตือนใจ ดีเทศ อดีตสมาชิกวุฒิสภาเชียงราย ด้านภาครัฐนำโดยนายประเสริฐ จิตพลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการนายก เทศบาลตำบลแม่สายนายกเทศบาลตำบลเวียงพางคำ นายกเทศบาลตำบลเกาะช้างและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดประชุมรับฟังปัญหาผลกระทบจากสารพิษปนเปื้อนในแม่น้ำ และหาแนวทางแก้ไขปัญหา ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมี นายภาณุภัทร จิตเที่ยง ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR)  เข้าร่วมสังเกตการณ์

นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า หลังจากที่ปรากฏข่าวเรื่องสารปนเปื้อนในแม่น้ำ ทุกส่วนราชการในจังหวัดเชียงรายไม่ได้นิ่งนอนใจ จังหวัดให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยได้ตรวจแม่น้ำเดือนละ 2 ครั้ง และตรวจคุณภาพน้ำประปา รวมทั้งเกษตรกรรมและปลา แม้แม่น้ำกก สาย น้ำรวก โขง จะมีสารหนู (As) เกินมาตรฐาน แต่น้ำประปา พืชต่างๆ ผลการตรวจออกมายังไม่เกินมาตรฐานทำให้เกิดความเบาใจระดับหนึ่งว่ายังไม่เป็นอันตราย และน้ำประปายังนำมาอุปโภคบริโภคได้
 
“ต้นเหตุไม่ได้เกิดจากในประเทศ แต่มาจากการทำเหมืองแร่ในเมียนมา รายงานวิจัยบอกว่ามาจากเหมืองแรร์เอิร์ธ 70% ดังนั้นจึงต้องคิดว่า เราจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ทั้งแม่น้ำกกและแม่น้ำสายต่างเป็นแหล่งน้ำดิบในการทำประปา จะส่งผลกระทบระยะยาวขนาดไหน หากค่าสารโลหะหนักเกินมาตฐานนานๆ ประชาชนต่างกังวลใจ เรื่องนี้คงไม่จบง่ายๆ เพราะปัญหาในประเทศพม่ามีความซับซ้อนมากมาย” นายประเสริฐ
 
 
ทั้งนี้นส.เพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.) International Rivers และ ดร.สืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ร่วมกันสรุปสถานการณ์ของแม่น้ำสายโดย นส.เพียรพรกล่าวว่า เมื่อดูเกิลเอิร์ทจะพบการทำเหมืองห่างจากพื้นที่ชายแดนแม่สายเพียง 2 กม. ขณะที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ตรวจแม่น้ำโขง พบสารหนูเกินค่ามาตรฐานตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำไปจนถึงเชียงของ หากมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง เขื่อนปากแบง จะทำให้บริเวณนี้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำและน้ำนิ่งทำให้สารพิษตกตะกอนซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงไปอีก
 
ดร.สืบสกุล กล่าวว่า การนำเข้าแร่จากเมียนมาผ่านด่านแม่สายเข้าสู่ประเทศไทย คำถามคือใครได้ประโยชน์และเป็นแหล่งแร่ที่ทำให้เกิดมลพิษในไทยหรือไม่ ตรงนี้เป็นหลุมดำขนาดใหญ่ ตอนนี้เรากำลังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ปีนี้ถ้าน้ำท่วมมากับสารพิษ ยังไม่รู้ว่าหน่วยงานไหนจะเข้าตรวจสอบและประชาชนต้องปฏิบัติตัวอย่างไร โดยผลตรวจครั้งล่าสุดเจอทั้งสารหนู ตะกั่วและแมงกานีสเกินค่ามาตรฐาน เราจึงไม่สามารถพูดเฉพาะสารหนูได้อีกต่อไป
 
“ความเสี่ยงเกิดขึ้นแล้ว ตอนนี้ประชาชนต้องซื้อน้ำ ผู้ประกอบกการริมแม่น้ำและการท่องเที่ยวต่างได้รับผลกระทบ อนาคตเราคงต้องหาแหล่งน้ำดิบทำน้ำประปาใหม่ เพราะทั้งน้ำกกและน้ำสายต่างมีสารโลหะหนักเกินค่ามากมาตฐาน ระยะยาวจะเป็นอย่างไร” ดร.สืบสกุล กล่าว
 
นายทองคำ อินพรม ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ ต.ศรีเมืองชุม กล่าวว่า วิตกว่าเมื่อน้ำมีสารพิษต่อไปผลผลิตการเกษตรจะเป็นอย่างไร และไม่รู้ว่ารัฐบาลจะแก้ไขอย่างไร แต่อยากให้ดำเนินการเร่งด่วน
 
ร.ต.อ.เด่นวุฒิ จันต๊ะขัติ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)เกาะช้าง อ.แม่สาย กล่าวว่า  เกาะช้างเป็นพื้นที่รับน้ำ ทั้งแม่น้ำสายและแม่น้ำรวก รวม โดยมีพื้นที่ 43 ตารางกิโลเมตร  70% เสี่ยงน้ำท่วม ซึ่งพืชที่ปลูกมีทั้งข้าว และข้าวโพดต้องที่ใช้น้ำจำนวนมาก ดังนั้นหากมีสารตกค้างจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไรให้ยั่งยืน ที่เป็นห่วงสุดคือน้ำเพื่อการเกษตรและน้ำอุปโภคบริโภค ตอนนี้ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลชัดเจนว่าจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง
 
นายพรเจตย์ หาญเจริญกิจวานิช นายกเทศมนตรีตำบลแม่สายมิตรภาพ กล่าวว่า อยากรู้ว่าถึงแนวทางการแก้ไข ทั้งการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการหาแหล่งน้ำใหม่
 
น.ส.น้ำใจ พันธุ์เจริญ ชาวบ้านชุมชนหัวฝายริมแม่น้ำสาย กล่าวว่า ภาคประชาชนสนใจอยากทราบผลของการประปาภูมิภาค อยากให้เอาขึ้นเพจทุกสัปดาห์หรือทุกวัน 
 
นางผกากานท์ รังประชารัตน์ ตัวแทนสภาสตรีชนเผ่ากล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่มีการแก้ปัญหาทำให้สถานการณ์ดีขึ้น การท่องเที่ยวยิ่งมีปัญหามาก อยากให้หลายหน่วยงานโดยเฉพาะภาคประชาชนร่วมกันออกมาต่อสู้
 
น.ส.ชมภูนุฒ ชิดเกิดสุข อสม.บ้านปิยะพร อ.แม่สาย กล่าวกล่าวว่า อสม.ได้พบกับชาวบ้าน ได้เห็นผลกระทบ เช่น ผื่นคันหลังน้ำท่วม ชาวบ้านเกิดอาการนี้บ่อยมาก เป็นแล้วเป็นอีก วันนี้ตนเองก็มือลอกเป็นแผ่นๆโดยไม่ทราบสาเหตุ การสอบถามชาวบ้านผู้สูงอายุเมื่อเขาทราบข่าวว่ากินปลาไม่ได้ ใช้น้ำไม่ได้ ทำให้เกิดความวิตกกังวล ทำให้นอนไม่หลับกลายเป็นเรื่องของจิตเวช เราพยายามแนะนำชาวบ้าน อยากให้มีการวิจัยที่มีความแน่นอนถึงผลกระทบต่อสุขภาพ
 
นางผกายมาศ กล่าวว่า กล่าวว่า ส่วนใหญ่เราพูดถึงปลายเหตุ ทั้งที่เราส่งออกสินค้าเข้าพม่าเดือนละกว่า 1 หมื่นล้านบาท ปีละแสนล้านบาท เรื่องนี้ต้องคุยกันระหว่างประเทศ โดยวันที่ 18 กค.มีประชุม TBC จะนำเรื่องนี้ไปหารือ แต่อย่าปัญหาโดยโทษกันไปโทษกันมา
 
นายชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลแม่สาย กล่าวถ้าเป็นไปได้อยากให้ท้องถิ่นเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปตรวจสอบได้เอง เมื่อเก็บข้อมูลได้ระดับหนึ่งถึงนำไปวิเคราะห์ กลไกของรัฐที่จะไปเจรจากับพื้นที่ที่ไม่ได้การรับรองจากรัฐเพื่อนบ้าน เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นต้องมีหน่วยงานหลังบ้านมาคุยกับภาคประชาชนหรือสื่อมวลชน เราต้องวิเคราะห์ว่าทำไมว้า (United Wa State Army-UWSA) ถึงมาเอาพื้นที่ตรงนี้ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเป็นของไทใหญ่ เป็นเพราะว้าต้องการแร่หรือไม่
 
“เราไม่รู้ว่าตุ่มหรือผื่นที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านเกิดจากอะไร เราอยากมีฐานข้อมูลตรงนี้ อยากขอความกรุณา เพราะแม่สายเป็นเมืองภัยพิบัติ เราควรทำให้เป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหานี้” นายกเทศมนตรีตำบลสาย กล่าว
 
นางสุสนี วรศรีโสทร ชาวบ้านชุมชนไม้ลุงขน กล่าวว่าmujสำคัญคือเรื่องสภาพจิตใจเพราะชาวบ้านจิตตกหนัก บางคนต้องไปหาจิตเวช ยิ่งในตอนฝนตกกลัวน้ำท่วมมาก อยากให้มีการเยียวยาจิตใจด้วย คนๆหนึ่งเครียด คนในครอบครัวก็เครียดตามไปด้วย ที่ผ่านมาสนใจแต่เรื่องภายนอก แต่ไม่ได้สนใจเรื่องเยียวยาจิตใจ
 
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวว่า วิกฤตจากสารปนเปื้อนในแม่น้ำครั้งนี้ หากยังปล่อยให้เป็นไปจะเป็นหายนะครั้งใหญ่ และตอนนี้กำลังเป็นหายนะของคนอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง เพราะสารพิษไปถึงแม่น้ำโขงแล้ว สถานการณ์ยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อมีเขื่อนปากแบงเพราะน้ำจะเท้อ ตรงนี้กลายเป็นอ่างน้ำพิษ นอกจากนี้น้ำจะเท้อเข้าไปในแม่น้ำสาขา
 
“ตอนนี้ นอกจากเหมืองต้นน้ำกก สาย มียังเหมืองแร่ตอนบนเหนือสามเหลี่ยมทองคำที่ปล่อยสารพิษลงมาแม่น้ำโขง สารพิษกระจายเพิ่มขึ้น กลายเป็นหายนะของประชาชน การจัดการปัญหาที่ต้นเหตุยังขับเคลื่อนช้ามาก ยิ่งการแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดนยังไม่ชัดเจน การเจรจาพูดคุยกับใคร หากคุยแล้วต้องให้ชาวบ้านรู้ด้วย ส่วนในบ้านเราต้องมีความชัดเจนเรื่องข้อมูล ควรสร้างวิทยาศาสตร์พลเมือง รัฐควรส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันในการช่วยรัฐแก้ไขปัญหา ควรยกระดับเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องใหญ่เพื่อให้มีพลัง” นายนิวัฒน์ กล่าว
 
นางเตือนใจ กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่ทุ่มเทกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามากนัก ทั้งๆที่ท้องถิ่นทำงานอย่างหนัก แต่รัฐบาลไม่ได้ให้งบประมาณ ควรมีการทุ่มเทศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง ส่วนเขตอิทธิพลของว้า จะปล่อยให้เป็นพื้นที่สีดำ ผลิตทั้งยาเสพติดและทำเหมืองแร่เถื่อนได้อย่างไร ประชาคมโลกต้องเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา
 
ผศ.ดร.ภาณุภัทร กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นภาพใหญ่ที่เชื่อมโยงกับหลายกลุ่มที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์ เราจะทำอย่างไรในการลดความตระหนกของประชาชน สิ่งที่ AICHR ทำได้ หากท้องถิ่นสนใจทำพื้นที่ต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมในกรอบของอาเซียน เราพร้อมที่จะสนับสนุน
 
น.ส.สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน กล่าวว่า ระหว่างนี้ประชาชนจะอยู่ในพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษอย่างปลอดภัยได้อย่างไร โดยควรส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังตัวเอง เรายังโชคดีเพราะตอนนี้ยังมีเวลา 1-2 ปีในการรับมือ แต่ถ้าเราไม่ทำอะไร อีก 3-4 ปีเมื่อความเจ็บป่วยจะลำบาก ดังนั้นจำเป็นต้องรู้เท่าทันมลพิษทั้งในน้ำและตะกอนดิน
 
“ถ้าพวกเราช่วยกันตรวจและบันทึกจะทำให้เห็น hot spot เตรียมระบบข้อมูล เพื่อให้หน่วยงานรัฐเข้าไปแก้ปัญหาได้อย่างแม่นยำ และลดปัญหาการเจ็บป่วย ในทางวิชาการ หากบันทึกอย่างต่อเนื่องจะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลง เราสามารถดึงข้อมูลไปใช้และเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนัก เราต้องเปลี่ยนบทบาทการเฝ้าระวังที่นำโดยรัฐมาเป็นประชาชน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ยาวแน่ๆ ดังนั้นจำเป็นต้องยกระดับระบบการตรวจ”น.ส.สมพร กล่าว
 
นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ กล่าวภายหลังการรับฟังว่า ทุกครั้งที่มีการตรวจผลต่างๆจะนำเสนอผ่านเพจโดยไม่มีการปิดบัง อยากให้เชื่อมั่นในข้อมูลของราชการ เพราะมีมาตรฐาน “ทางการพม่าได้มาตรวจน้ำแม่สาย 3 จุด ผลของเขาค่าสารหนู 0.021 มก./ล.และมีสารเหล็กเกิน แต่เขาบอกว่าเขาใช้มาตฐาน 0.05 มก./ล.ดังนั้นความหมายของเขาคือไม่เกินมาตรฐาน ทำให้เราต้องคิดเรื่องนี้ อยากให้พี่น้องไม่ตระหนก แต่ตระหนัก เรายังมีเวลาแก้ปัญหา ยังไม่ถึงกับหายนะ”นายประเสริฐ กล่าว
 
นายอภิศักดิ์ ผู้จัดการประปาภูมิภาคแม่สาย กล่าวว่า ตั้งแต่พบสารโลหะหนักในน้ำดิบก็ได้ปรับกระบวนการผลิต โดยใช้คลอรีนแยกโลหะหนักออกจากน้ำ เราควบคุมความขุ่นก่อนเข้าสู่กระบวนการกรอง ส่วนการตรวจสอบคุณภาพน้ำ เมื่อก่อนเราส่งเดือนละ 2 ครั้งเป็น 2 ครั้ง
 
ก่อนเสร็จสิ้นเวทีรับฟัง ผู้แทนชาวบ้านแม่สายได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) โดยผ่านนายภาณุภัทร เพื่อให้ขอ AICHR หยิบยกการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนในครั้งนี้ไปตรวจสอบ
 
ทั้งนี้ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ได้โทรศัพท์แจ้งทางเวทีว่า รัฐบาลได้รับหนังสือตอบจาก ทางการเมียนมา ให้ไปหารือที่กรุงเนปิดอว์ระหว่างวันที่  4-8 สิงหาคมนี้ โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งจะพยายายามที่จะเข้าไปในพื้นที่ที่ทำเหมือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น