เชียงใหม่ เฝ้าระวังแม่น้ำปิงใกล้ชิด อัตราการไหลเริ่มลดลง จับตาฝนเฉพาะจุด

เชียงใหม่ เฝ้าระวังแม่น้ำปิงใกล้ชิด อัตราการไหลเริ่มลดลง จับตาฝนเฉพาะจุด – การรถไฟฯ วางแผนรับมือท่วมราง

นายดุสิต พงศาพิพัฒน์ หัว สนง.ปภ.เชียงใหม่ ลงพื้นที่เกาะติดสถานการณ์น้ำแม่น้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถระบายได้ แต่ยังคงมีการเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีการรายงานว่า การคำนวณอัตราการไหลของน้ำที่สะพานนวรัฐ เริ่มลดลงเมื่อเทียบกับปี 2567 โดยสำนักชลประทานได้แจ้งว่า เมื่อเช้าวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 มีปริมาณน้ำสูงสุดอยู่ที่ 335 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถือเป็นค่าสูงสุดรอบนี้ ขณะเดียวกันมีการคาดการณ์ว่ามวลน้ำจากอำเภอเชียงดาว จะใช้เวลาประมาณ 30 ชั่วโมงไหลลงสู่พื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนล่าง คาดว่าที่จุดสะพานนวรัฐอัตราการไหลจะไม่เกิน 422.5 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งยังอยู่ในระดับที่ระบบคันกั้นน้ำและตลิ่งของเทศบาลนครเชียงใหม่สามารถรองรับได้

เจ้าหน้าที่ชลประทานเชียงใหม่ย้ำว่า มีการคำนวณล่วงหน้า 12 ชั่วโมง ด้วยแบบจำลองที่แม่นยำ แต่แม้ค่าการคาดการณ์จะมีความคลาดเคลื่อนในแง่เวลา แต่ปริมาณน้ำที่ไหลมามีการคำนวณที่แม่นยำและระบบระบายน้ำในเขตเมือง จะยังถูกควบคุมระดับไม่ให้เกิน 4 เมตร ซึ่งเป็นจุดเฝ้าระวังสำคัญ ทั้งนี้พรุ่งนี้เช้าจะมีการอัปเดตตัวเลขเพื่อปรับค่าพยากรณ์ให้แม่นยำยิ่งขึ้น และลดความเคลื่อนไหวทางข้อมูลที่อาจทำให้ประชาชนตื่นตระหนก

“สิ่งสำคัญคือเรายังคาดการณ์ว่าในเขตเมืองเชียงใหม่พรุ่งนี้ ความเสี่ยงน้ำท่วมจะต่ำ ยกเว้นจะเกิดฝนตกหนักเฉพาะจุด หรือที่เรียกว่า rain bomb โดยเฉพาะบริเวณ อ.แม่ริม อ.แม่แตง หากมีปริมาณฝนเกิน 200 มิลลิเมตรขึ้นไปภายในเวลาอันสั้น อาจทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากได้ จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอย่างใกล้ชิด”

ขณะเดียวกัน สำนักชลประทานยังดำเนินมาตรการเสริม เช่น การระบายน้ำตามลำสาขาต่างๆ การผันน้ำจากแม่แตงเข้าสู่คลองส่งน้ำฝั่งขวาประมาณ 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อชะลอและกระจายมวลน้ำ ลดแรงดันน้ำในลำน้ำปิงตอนล่าง และลดโอกาสน้ำล้นตลิ่งในเขตเมือง

ด้านการคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ประกาศเตรียมแผนเฝ้าระวังและรับมือน้ำท่วมทางรถไฟสายเหนืออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเส้นทางเชียงใหม่–ลำพูน–ลำปาง ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงน้ำหลากและดินสไลด์ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบำรุงทางได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแนวทางรถไฟหลายจุด เช่น สถานีแม่ตานน้อย ขุนตาน และทาชมภู ซึ่งเป็นบริเวณที่มักเกิดปัญหาน้ำท่วมขังและดินสไลด์ในฤดูฝน

ร่วมแสดงความคิดเห็น