หัตถศิลป์ “เครื่องเงิน” อันล้ำค่าที่อยู่คู่ชาวล้านนามากว่า 700 ปี

ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 4 สล่าเงิน วัดศรีสุพรรณ

“…ถ้าใช้จิตวิญญาณตอกลงไปในเครื่องเงิน ชิ้นงานจะมีความเป็นอมตะ
ต่อให้ตัวตาย แต่จิตวิญญาณที่ฝังอยู่ในเครื่องเงิน ก็ยังคงอยู่นิจนิรันดร์… ”
— พ่อครูดิเรก สิทธิการ —

ยอดสล่า ผู้อุทิศทั้งชีวิตเพื่อสืบสานวัฒนธรรมล้านนา เครื่องเงินอันทรงคุณค่าให้อยู่คู่แผ่นดินไทย ไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา

พ่อครูดิเรก สิทธิการ ผู้เกิด และเติบโตมาในครอบครัวช่างดุนโลหะ สลักเงิน ในชุมชนบ้านวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นยอดสล่าพื้นบ้านดุนลายเครื่องเงิน ผู้มีความเชี่ยวชาญ เฉพาะด้าน ในเรื่องของการดุนโลหะ เปลี่ยนจากแผ่นโลหะเรียบ ๆ ไร้ลวดลาย ให้กลายเป็นลวดลายสุดวิจิตร มีการออกแบบทั้งลวดลายไทย และลวดลายร่วมสมัย

“สิ่งที่ภูมิใจมาก ๆ เมื่อไม่นานมานี้ ทางกระทรวงวัฒนธรรม เขาเลือกสินค้าชุมชนวัวลายเรา มอบให้เป็นของที่ระลึกผู้นำเอเปค ถ้าพูดถึงมูลค่าไม่นับว่าแพงหรอก แต่คุณค่ามันอยู่ที่ว่า สกุลช่างบ้านเรา ได้รับเกียรติ ได้เป็นตัวแทนในการทำ นับเป็นสตางค์มันไม่แพง แต่มันอยู่ที่จิตใจ” — พ่อครูดิเรก สิทธิการ —

สล่าที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวล้านนา พ่อครูดิเรก สิทธิการ ผู้ได้รับรางวัลภูมิแผ่นดินปิ่นล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปี 2552 และในปีพ.ศ. 2565 ได้รับการยกย่อง เชิดชูเกียรติให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขา ทัศนศิลป์ และได้เป็นหนึ่งในตัวแทนของประเทศไทย ที่เป็นผู้ทำของที่ระลึก มอบให้กับผู้นำในเอเปค 2022 เนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย – แปซิฟิก (APEC 2022) ที่เป็นการประชุมพบหน้ากันระหว่างผู้นำจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่น้อยกว่า 21 ประเทศ

“ชุมชนวัวลาย” แหล่งสะสมภูมิปัญญาเครื่องเงินเก่าแก่ ที่อยู่คู่ชาวล้านนามานานกว่า 700 ปี

ชุมชนที่สืบสานการทำเครื่องเงิน ในปัจจุบันมี 2 ชุมชน คือ วัวลายหมื่นสาร กับวัวลายศรีสุพรรณ ตั้งอยู่บริเวณถนนวัวลาย ตําบลหายยา อําเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สมัยพญามังราย สร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 1839 ได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนมีอาชีพที่หลากหลายนอกเหนือจากอาชีพเกษตรกรรม พระองค์ได้ทรงสร้างสัมพันธ์อันดีกับหัวเมืองอื่น เพื่อจะนําไปสู่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมความรู้ มีการนำช่างฝีมือเข้ามาในเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ช่างเงิน ช่างทอง ช่างฆ้อง ช่างต้อง ช่างแต้ม หรือช่างเขิน จนเมืองเชียงใหม่มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางด้านการเมือง การปกครอง และวัฒนธรรม มีช่างหัตถกรรมพื้นบ้าน ที่ได้รับการฝึกฝน และ ทำสืบเนื่องนับตั้งแต่นั้นมา

เมื่อเข้าสู่ช่วงปี พ.ศ. 2317 ในยุคของพระเจ้ากาวิละ ช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูเมือง ยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” พระเจ้ากาวิละได้ให้ชาวบ้าน และกลุ่มสล่า (ช่างฝีมือ) เข้ามาอยู่ในบริเวณรอบกําแพงเมืองเชียงใหม่ ในชุมชนวัวลาย ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นช่างฝีมือที่มีความรู้ และทักษะในการทำเครื่องเงิน มีองค์ความรู้ที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และยึดถือเป็นอาชีพจนมาถึงปัจจุบัน

ในส่วนของขั้นตอนการทำเครื่องเงินจะเริ่มต้นด้วยการออกแบบ จากนั้นตัดแผ่นเงินให้มีขนาดพอดีกับชิ้นงาน ต่อด้วยการดุนนอกให้ชิ้นงานนูนเป็นรูปร่าง เมื่อได้เครื่องเงินเป็นรูปร่างที่ต้องการแล้ว สล่าจะทำการดุนนอกให้เกิดลวดลายซึ่งมีความซับซ้อน ต่อด้วยการขัดเครื่องเงินเก็บรายละเอียด จบด้วยการทาสีลงบนชิ้นงาน มูลค่าของชิ้นงานเครื่องเงินขึ้นอยู่กับฝีมือ ความละเอียดของเนื้องาน เทคนิค และประสบการณ์ของสล่า สล่าต้องใช้ความอดทน ความเอาใจใส่ในรายละเอียด จนสามารถถ่ายทอด ออกมาในรูปแบบชิ้นงานที่มีความวิจิตรสวยงาม เสมือนการถ่ายทอดออกมาจากจิตวิญญาณที่แท้จริง

“การทำงาน เราจะต้องนำจิตใจเข้าไปอยู่ในงาน
งานผมจะเป็นงานที่ช้าที่สุด แต่จะทำออกมาดีที่สุด”
— พ่อครูดิเรก สิทธิการ –

ผลงานชิ้นเอก ตอกด้วยมือของยอดสล่า วัดศรีสุพรรณ อุโบสถเงินหลังแรก และหลังเดียวของโลก

วัดศรีสุพรรณ ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2043 วัดเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 500 ปี ตั้งอยู่ในชุมชนวัวลาย เชียงใหม่ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีการบูรณะอุโบสถถึง 3 ครั้ง และอุโบสถหลังปัจจุบันนี้ ได้ถูกบูรณะโดยพ่อครูดิเรก และคนในชุมชน ที่เป็นช่างเงินแต่เดิมอยู่แล้ว ตอกเครื่องเงินด้วยมือตนเอง ใช้เวลาสร้างประมาณ 12 ปี อุโบสถหลังนี้ คือ ศูนย์รวมจิตใจที่เหล่าสล่าร่วมมือกันสร้างขึ้นเป็นพุทธบูชา ถวายเป็นงานพุทธศิลป์แก่แผ่นดินล้านนา จนกลายมาเป็นอุโบสถเงินแห่งแรกของโลก สถาปัตยกรรมล้านนาที่ตกแต่งลวดลายภายนอก และภายใน ด้วยงานเครื่องเงินบริสุทธิ์ ใช้เทคนิคการตอก ดุนลายจากภูมิปัญญาท้องถิ่น มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันวิจิตรงดงาม ภายในวัดยังมีงานศิลปะที่สร้างสรรค์จากเงินอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ท้าวเวสสุวรรณ พระพุทธรูป องค์พระพิฆเนศทันใจ รูปปั้นหนูมุสิกะ สะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชน และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีผู้คนจากทั่วสารทิศ เดินทางมากราบไหว้ขอพรอย่างไม่ขาดสาย

ผลงานที่ถ่ายทอดออกมาใช้ทั้งแรงกายแรงใจ และพลังศรัทธาของชาวชุมชนวัวลาย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์งานหัตถกรรมล้ำค่า เครื่องเงินที่อยู่คู่กับชาวล้านนามาอย่างยาวนาน ไม่เคยหายสาบสูญไปตามกาลเวลา

ขอให้ลูกหลานเนี่ยสืบทอดงานนี้ต่อไป อย่าไปทิ้งมัน อย่าไปลืมมัน ทำ
สิ่งที่มันดีที่สุดในชีวิต ชีวิตสั้นแต่ศิลปะยืนยาว…มันจะอยู่ไปอีกนาน
— พ่อครูดิเรก สิทธิการ —

ร่วมแสดงความคิดเห็น