สานต่อตำนานศิลปหัตถกรรมไม้แกะสลักบ้านถวาย ความภาคภูมิใจของชาวล้านนา

ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 5 สล่าไม้บ้านถวาย

“…อีกไม่เกิน 10 ปี ทุกอย่างจะหายไป การสืบทอดภูมิปัญญาในด้านแกะสลักมันหายไปแล้ว
มาบ้านถวาย มาสัมผัสของจริง สัมผัสด้วยตัวเอง ท่านจะรู้คุณค่าของงาน
คำว่าภูมิปัญญามันมีค่า ต่อไป 10 ปี ใครแกะเก่งใครแกะได้คนนั้นจะรวย… ”
— สวัสดิ์ พันธุศาสตร์ –

ตำนานไม้แกะสลักบ้านถวาย ศิลปหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเชียงใหม่

บ้านถวาย ชุมชนที่อยู่มายาวนานกว่า 100 ปี หมู่บ้านหัตถกรรมไม้แกะสลัก ตั้งอยู่ในอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ จากชุมชนที่ทำการเกษตรกรรม กลายมาเป็นชุมชนที่ทุกคนร่วมใจกันสร้างสรรค์งานหัตถกรรมจากไม้ จนเป็นชุมชนต้นแบบ และยกระดับไม้แกะสลักให้เป็นงานศิลปหัตถกรรมระดับชาติ

ปี 2500 จุดเริ่มต้นของตำนานไม้แกะสลัก เมื่อเกิดภาวะฝนแล้ง นาล่ม ชาวบ้านไม่สามารถทำการเกษตรได้ ต้องดิ้นรนต่อสู้ ออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน จะมีพ่อลุง 3 ท่าน ที่เป็นช่างไม้ของชุมชนบ้านถวาย ได้ไปทำงานเป็นช่างไม้อยู่ที่ประตูเชียงใหม่ ได้ซ่อมแซมโบราณวัตถุ ไม้แกะสลักที่ชำรุด จนตระหนักได้ว่า ไม้เหล่านั้นสามารถซ่อม และแกะสลักมันได้ จึงเริ่มเกิดการเรียนรู้ และสร้างทักษะด้านแกะสลัก แต่ละท่านจะมีความถนัดที่แตกต่างกันไป คนหนึ่งเก่งด้านแกะสลักพระพุทธรูป อีกหนึ่งคนเก่งแกะสลักสิงโต อีกคนเก่งแกะสลักพญาครุฑ เมื่อแกะสลักจนชำนาญ ได้กลับไปแกะสลักที่ชุมชนของตัวเอง หลังจากนั้นก็มีคนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ ศึกษา และพ่อลุงทั้ง 3 ก็ได้มีการถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่สนใจ ความรู้เกิดการแพร่หลาย จนเกิดมาเป็นชุมชนแห่งไม้แกะสลัก

บ้านถวาย มีการพัฒนาทักษะการแกะสลักไม้มาโดยตลอด จากมีแค่ผู้ชายแกะสลัก ผู้หญิงก็เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ช่วยตกแต่ง ทำสี แต่งเส้น ลงลาย ลงรัก ปิดทอง ซึ่งในปัจจุบันกระบวนการเหล่านี้ได้กลายมาเป็นอัตลักษณ์สำคัญของไม้แกะสลักบ้านถวาย ที่หาดูได้ยากจากที่อื่น จากอุตสาหกรรมขนาดย่อม ที่ขายเพียงหน้าบ้าน การค้าขายขนาดเล็ก กลายเป็นขนาดใหญ่ จากวงแคบ กลายเป็นวงกว้าง เริ่มเป็นที่รู้จักของกลุ่มผู้นำเข้า ส่งออก เกิดการซื้อขาย ส่ง ออก เริ่มได้รับงบประมาณมาพัฒนา ศูนย์อาชีพ สร้างความรู้จักเป็นวงกว้างมากขึ้น

บ้านถวายได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมาโดยตลอด เป็นหนึ่งในศิลปหัตถกรรมที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวล้านนา การันตีด้วยรางวัลยกย่องระดับชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็น หมู่บ้านที่ได้รับดาวจากคณะกรรมการมากที่สุดในประเทศไทยจากการประกวดดาว OTOP, หมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP ต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย , Thailand Tourism Awards ชุมชนดีเด่นด้านการท่องเที่ยว ปี2550 รวมไปถึงชนะเลิศย่านการค้า ที่ 1 ของประเทศไทย

จิตวิญญาณของสล่าไม้แห่งบ้านถวาย

คุณ สวัสดิ์ พันธุศาสตร์ ผู้ใหญ่บ้าน และสล่าไม้บ้านถวาย ได้บอกว่า  อัตลักษณ์งานหัตถกรรมไม้บ้านถวายนั้นจะเริ่มที่การวาดแบบที่ต้องการก่อน จากนั้นจึงจะเลือกไม้ ตัดให้ได้ตามขนาดที่เราต้องการ แล้วลงมือแกะสลักด้วยวิธีการเฉพาะตัว บ้านถวายจะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองในด้านแกะสลัก แกะลวดลายที่ละเอียด มีความอ่อนช้อย เป็นงานที่มีมิติ แต่ต้องใช้เวลา และใช้ความสามารถเฉพาะตัวของช่าง

การทำมือเหมือนการทำงานชิ้นเดียว ทำแล้วก็จะทำไม่ได้อีก ถ้าเป็นเครื่องจักรสามารถระบุได้เลยจะอัดมาพันชิ้นก็เหมือนเป๊ะ แต่ถ้างานแกะสลักคุณจะเอาพันชิ้นเหมือนเป๊ะก็ไม่สามารถจะทำให้คุณได้ เครื่องจักรถูกป้อนโปรแกรม แต่งานแกะสลัก คือ ใช้จิตวิญญาณ — สวัสดิ์ พันธุศาสตร์

บ้านถวายผ่านจุดเปลี่ยนมาหลายยุค หลายสมัย ทั้งยุคที่ซบเซา และยุคที่รุ่งเรือง แต่ก็ยังคงเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง รักษาเอกลักษณ์มาจนถึงทุกวันนี้ บ้านถวายเคยรุ่งเรืองถึงจุดที่มีการซื้อขาย ส่งออก มีตัวเลขรายได้สูงถึง 500 700 ล้านบาท และเคยขึ้นไปสูงสุดถึง 1,300 ล้านบาท บ้านถวายมีความพร้อมทุกด้าน ส่งสินค้าได้ทั่วทั้งประเทศไทย และส่งออกได้ทั่วโลก แต่ทุกอย่างต้องหยุดชะงัก เมื่อต้องเจอกับคลื่นพายุลูกใหญ่ อย่าง โรคระบาดโควิด 19

คุณวสันต์ เดชะกัน นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจสินค้าหัตถกรรมบ้านถวาย และ ประธานเครือข่ายหัตถกรรมเชียงใหม่ บอกกับเราว่า ทางบ้านถวายนั้นเคยมีความกังวลว่าวัตถุดิบไม้จะหมด กลัวจะไม่เพียงพอ แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ กลัวว่าสล่า คนทำจะหายไป เพราะในตอนนี้คนที่เคยทำมาตลอด เริ่มล้มหายตายจาก แล้วใครจะมาสานต่อ ยิ่งกาลเวลาเปลี่ยน จำนานสล่ายิ่งลดลง

หวังว่าสักวันมันจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง…Soft power ของเชียงใหม่

บ้านถวายพร้อมแล้วที่จะเปิดต้อนรับให้ทุกคนได้เข้ามาสัมผัสกับศิลปหัตถกรรมระดับชาติ ที่อยู่คู่กับเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน ชุมชนบ้านถวาย ชุมชนหนึ่งเดียวที่ยังคงเอกลักษณ์ของเส้นทางแห่งไม้แกะสลักนี้ไว้ เมื่อมาที่นี่ คุณจะถูกรายล้อมไปด้วยไม้แกะสลัก สุดวิจิตร ตลอดเส้นทางชุมชน และในตอนนี้บ้านถวายยังได้เปิดโครงการดีฮบ ที่สามารถมาอยู่กินกับช่าง มาสัมผัส และทำการแกะสลักไม้กับช่างตลอดหนึ่งวัน สล่าทุกคนจะมีการสาธิตในทุกขั้นตอน เมื่อแกะสลักด้วยฝีมือของตัวเองเสร็จแล้ว ก็สามารถนำงานกลับได้เลย

บ้านทิพย์มณี ที่เปรียบเสมือนห้องรับแขกของบ้านถวาย แหล่งรวมผลงานไม้แกะสลักชิ้นเอกนับพันชิ้นของสล่าแกะไม้สลัก ฝีมือระดับบรมครู ร้านค้าไม้แกะสลัก ในชุมชนบ้านถวาย แต่ละร้านจะมีเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่จะเหมือนกัน คือทุกชิ้น ล้วนทำด้วยมือของสล่าทุกขั้นตอน ทุกความตั้งใจ ทุกความประณีต หัตถศิลป์ล้ำค่าเหล่านี้ ในวันนี้ยังรอให้ทุก ๆ ท่าน ทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ ได้เข้ามาเยี่ยมชม และสัมผัสกับความงดงามนี้ด้วยตัวเอง

วัดถวาย ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านถวาย ศูนย์รวมจิตใจ และความศรัทธาของผู้คนในชุมชน งานพุทธศิลป์ ที่เป็นอีกหนึ่งความงดงามของศิลปะแกะสลักไม้ ใช้เวลาบรรจงสร้างอย่างยาวนาน เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านในชุมชน เรื่องราวที่ถูกแกะสลักลงบนไม้ทั้งในส่วนของโบสถ์ วิหาร อาคารสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ภายในวัด เสารวมช่าง ใช้ช่างแกะสลักถึง 30-40 คน เสาที่เคยมีนายกรัฐมนตรีของไทย และรัฐมนตรี 16 ประเทศ มาลงสีเจิม กู่ และเจดีย์โบราณ รวมถึงโขงโบราณพระเจ้าหกนิ้ว ที่มีอายุกว่า 200 ปี ถือเป็นโบราณสถานที่สำคัญของบ้านถวาย และเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ย้ำเตือนให้เห็นว่าบ้านถวายเคยรุ่งเรืองในด้านไม้แกะสลักเพียงใด

บ้านถวายในวันนี้ เตรียมที่จะผลักดันงานหัตถกรรมไม้แกะสลักอันล้ำค่าให้เป็นมรดกโลก สล่าทุกคนพร้อมใจกันปรับตัวตามยุคสมัย ควบคู่ไปกับการพัฒนางานฝีมืออันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมอนุรักษ์ ผลักดัน ให้งานฝีมืออันทรงคุณค่านี้ยังคงอยู่ ไม่ให้สิ่งที่มีอยู่หายไป หรือหมดเสน่ห์ ส่งเสียงออกไปให้ดังที่สุด เพื่อสักวันหนึ่งมันจะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งเหมือนที่เคยเป็นมา

“…มาบ้านถวายนะครับ มาแล้วได้ครบ บ้านคุณจะแต่งอะไรคุณมาบ้านถวายได้เลย
มีทุกอย่างให้คุณ และก็มาสัมผัสกับชีวิตของชุมชน เจาะให้ถึง เข้าให้ลึก จะได้เจอของดี… ”
–สวัสดิ์ พันธุศาสตร์–

ร่วมแสดงความคิดเห็น