สมบัติวัฒนธรรมล้านนา…งานคัวตอง วัดพวกแต้ม

ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 6 สล่าคัวตอง

“…ลายนี้มันควรจะดุนอย่างไรให้มันสวย
แต่ละคนไม่เหมือนกัน ให้นั่งทำไม่เหมือนกันสักชิ้น
จิตวิญญาณของสล่าที่ตอกลงไป งานคัวตอง Handmade งานศิลปะที่หาดูได้ยาก… ”
— นิวัติ เขียวมั่ง –

บอกเล่าผ่านกาลเวลา….งานคัวตองเครื่องหมายสะท้อนวิถีชีวิตชาวล้านนาในอดีต

งานคัวตอง หรือ งานเครื่องทองเหลือง คือ สัญลักษณ์ของความรุ่งเรือง และความยิ่งใหญ่ในงานหัตถกรรมล้านนา “คัว” หมายถึง งานฝีมือ หรือ งานหัตถการ “ตอง” คือ ทองเหลือง “คัวตอง” จึงหมายถึง งานเครื่องทองเหลืองที่ถูกทำขึ้นมาด้วยการตีขึ้นรูป และนำมาฉลุลายด้วยฝีมือของ ‘สล่า’ หรือช่างคัวตอง ที่ทำขึ้นมาด้วยความประณีต

ต้นกำเนิดงานหัตถศิลป์ล้ำค่านี้ มีการสันนิษฐานว่า น่าจะเริ่มจากยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ที่พระเจ้ากาวิละได้ทำการกวาดต้อนผู้คนจากหลายที่มารวมตัวกัน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านั้น ต่างคนต่างมีทักษะเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นช่างหล่อ ช่างแกะสลัก ช่างเงิน ช่างเขิน เป็นต้น จึงมีการคาดการณ์ว่า งานคัวตอง น่าจะถือกำเนิดขึ้นในช่วงนี้ สล่าที่ถูกกวาดต้อนมา ได้ทำการหล่อพระพุทธรูปสำริดขึ้นเป็นจำนวนมาก อยู่ในบริเวณย่านถนนช่างหล่อ ใกล้กับวัดพวกแต้ม พบว่าฉัตรรุ่นแรกที่มีการทำขึ้นในวัดพวกแต้มนั้น ก็ทำขึ้นจากสำริด จึงมีการสันนิษฐานว่าการหล่อแผ่นสำริด น่าจะมาจากย่านช่างหล่อ ก่อนจะส่งต่อมาให้สล่าในวัดพวกแต้มตอกขึ้นรูปเป็นฉัตร ภายหลังเกิดการรวบรวมสล่าฝีมือดีมาไว้ในวัดพวกแต้ม มีการสร้างฉัตร ซ่อมแซมฉัตร ตกแต่งลวดลายตามวัดวาอารามต่างๆ จนถึงขั้นก่อตั้งสมาคมสล่าขึ้นในนาม “คัวตอง”  ชุมชนวัดพวกแต้มจึงกลายเป็นชุมชนที่รวมช่างทำฉัตร ชุมชนที่ร่วมอนุรักษ์งานคัวตอง อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นให้อยู่คู่กับล้านนามาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

งานคัวตอง…หัตถศิลป์อันล้ำค่าของล้านนา

งานคัวตอง หรืองานเครื่องทองเหลือง ในอดีตชาวล้านนานิยมนำมาใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งตามวัดวาอาราม บ้านเรือน หรือตามช่วงเทศกาลต่าง ๆ เพื่อความสวยงาม และยังนำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องแต่งกาย ไม่ว่าจะเป็น ปิ่นปักผม เข็มกลัด สร้อย แหวน กำไล หรือเครื่องประดับฟ้อนรำของชาวล้านนา

“งานคัวตอง มันเป็นการฉลุแผ่นทองเหลือง และดุนขึ้นลายเพื่อประกอบในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งเป็นเครื่องเทียบยศของผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งหลาย แต่ในฉัตรของเรามันเป็นเครื่องเทียบยศของพระพุทธเจ้า พุทธศิลป์ ทำขึ้นเพื่อรับใช้พุทธศาสนา ประดับตกแต่งอาคารให้สวยงาม เช่น งานฉลุโลหะต่าง ๆ ที่นำไปตกแต่งวัดหัตถศิลป์ ทำขึ้นเพื่อประดับตกแต่งร่างกาย เช่น ดอกไม้ไหว เล็บช่างฟ้อน โดยเอกลักษณ์งานคัวตองที่โดดเด่นของวัดพวกแต้ม คือ ฉัตร และสัปทน งานของเราเป็นเอกลักษณ์ในส่วนเล็บฟ้อน และ ดอกไม้ไหวจะอยู่นอกวัดซึ่งมีแม่ครูทำมาหลายชั่วอายุคน” — นิวัติ เขียวมั่ง –

วัดพวกแต้ม เป็นบ้านหลังแรกที่ให้กำเนิดสล่าคัวตองและ เปรียบเสมือนศูนย์กลางของชุมชน ที่คอยให้ความรู้เกี่ยวกับงานคัวตอง ทั้งประวัติความเป็นมาประเภทของคัวตอง และยังมีพิพิธภัณฑ์สำหรับการเก็บรักษางานคัวตองดั้งเดิม ผ่านมาหลายร้อยปี ศิลปะสูงส่งเหล่านี้ ก็ยังถูกเก็บ และจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดพวกแต้มอีกจำนวนมาก เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับคัวตองได้ง่ายขึ้น งานคัวตอง ถือเป็นงานศิลปะล้านนาดั้งเดิมที่หาชมได้ยากในปัจจุบันนี้ มีเพียงชุมชนวัดพวกแต้มเท่านั้น ที่ยังคงสืบสานงานหัตถศิลป์นี้จากรุ่นสู่รุ่น

สล่าผู้สืบสานการทำคัวตองพุทธศิลป์

สล่านิวัติ เขียวมั่ง เป็นหนึ่งในสล่าคัวตองแห่งวัดพวกแต้ม ที่ยังคงสืบสาน อนุรักษ์งานหัตถกรรมล้ำค่านี้อยู่ สล่าบอกกับเราว่า งานคัวตอง ถือเป็นศิลปะประจำถิ่นเป็นการทำที่ต้องใช้ทั้งแรงกาย แรงใจ และสติปัญญา สล่าทุกคนล้วนได้รับการปลูกฝังมาแล้วว่าให้เป็นการทำเพื่อการอนุรักษ์ ไม่ได้ทำเพื่อการค้า งานคัวตองเป็นหัตถกรรมที่อยู่คู่ชาวล้านนามาอย่างยาวนาน แต่ในวันนี้วัดพวกแต้มกำลังประสบปัญหา ที่เหลือสล่าอยู่เพียง 2-3 คน ยังไม่มีผู้สืบทอดต่อ น้อยคนนักที่จะรู้จักงานคัวตอง เด็กสมัยนี้ศึกษาในเรื่องของรากเหง้าของวิถีคนเมืองเราน้อยลง

“ฉัตรหลังหนึ่ง สัปดนหลังหนึ่งอยู่ได้ 20 ปีเป็นอย่างน้อย อย่างมากอยู่ได้เป็น 100 ปี ส่งเสริมศิลปะแผ่นทองเหลือง หรือว่าคัวตองให้มันได้หลากหลาย มันจะได้ไม่ตาย แตกสาขาออกไปมันไม่ได้ประดับในวัด ไม่ได้ประดับในโบราณสถาน เลือนหายในคุณค่า ลดลงไปบ้าง แต่ศิลปะมันยังอยู่ มันยังเก็บงานศิลปะนี้ไว้ให้คนอื่นๆได้มาเสพได้มาศึกษา เสพศิลป์รูปแบบใหม่” — นิวัติ เขียวมั่ง –

งานคัวตองวัดพวกแต้ม จะมี 2 ประเภท คือ ฉัตร ที่แบ่งออกเป็น 2 แบบ แบบแรก เป็นแบบพื้นเมืองของล้านนา มีเอกลักษณ์อยู่ที่ลวดลายที่หยาบ และใหญ่ประดับอยู่ระหว่างชั้น มีชื่อลายหลากหลาย โดยส่วนประกอบหลัก ๆ ของฉัตรพื้นเมือง จะมีกระจัง ดอกคอ และกาบ ในส่วนของแบบที่สอง เป็นแบบประยุกต์ เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนา กับพม่าเงี้ยว โดยกระจังจะยื่นออกมาเหมือนมือที่ฟ้อนหงาย นิ้วงอโค้งออกมา เรียกว่า “ลายฟ้อน” ส่วนปลายดูอ่อนช้อย ส่วนกาบจะยกสันขึ้น ทำให้ดูมีเหลี่ยมเงาได้สัดส่วน

ขั้นตอนการทำฉัตรคัวตอง จะเริ่มจากการออกแบบตามที่สล่าต้องการ จากนั้นทำโครงสร้างด้วยโลหะตามขนาดความสูง และความกว้างที่ออกแบบไว้ เมื่อได้โครงสร้างแล้ว จะทำการเจาะดุนลายบนแผ่นทองเหลือง แล้วนำไปประกอบกับตัวโครงสร้าง และทำการปิดทอง

ความงดงาม ความประณีตจากงานของสล่าวัดพวกแต้ม ส่งผลให้ “คัวตอง” มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ ควรค่าแก่การมีไว้ประดับ หรือเก็บรักษา เพราะ สำหรับชาวล้านนาแล้ว งานคัวตองยังคงมีความสำคัญต่อจิตใจของผู้คน และชาวเมืองที่พบเห็น คัวตอง ยังคงเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่น และยังแสดงถึงความเป็นตัวตนของชาวล้านนาเมืองเก่าได้อย่างสมบูรณ์มากที่สุด ควรให้ความสำคัญกับงานฝีมือล้านนาดั้งเดิมที่อาจจะสูญหายไปในไม่ช้า ไม่ปล่อยให้เลือนหายไปตามกาลเวลา ให้คงอยู่กับชุมชนต่อไป วัดพวกแต้มในวันนี้มีความพร้อมที่จะเปิดประตูเพื่อต้อนรับทุก ๆ คน ให้มาสัมผัสกับงานคัวตองที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็นความภาคภูมิใจของชาวล้านนา ที่พิพิธภัณฑ์วัดพวกแต้มแห่งนี้

“…ถ้าถามคุณค่าของคัวตองในด้านพุทธศิลป์ผมว่ายังอยู่ ยังไม่ตาย มันไม่จบ
มันน่าจะมีคนต่อ แต่ตอนนี้ยัง… อยากจะให้ลูก ๆ หลาน ๆ คนเมือง ช่วยกันอนุรักษ์งานคัวตอง
ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของล้านนาเรา มาศึกษา จะรู้ว่ามันมีคุณค่ามาก ๆ สำหรับศิลปะชิ้นนี้… ”
— นิวัติ เขียวมั่ง –

ร่วมแสดงความคิดเห็น