ตำนานน้ำต้น คนปั้นดิน…ภูมิปัญญากว่า 200 ปี

ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 7 สล่าปั้น

“…ถ้าสินค้าไม่ดีจริงคงไม่อยู่ถึง 200 กว่าปี คนปั้นเริ่มสูงอายุ เริ่มสูญหายไปตามกาลเวลา
อยากให้วัฒนธรรมที่มีอยู่ 200 กว่าปี ยังคงอยู่คู่กับบ้านเหมืองกุงของเรา… ”
— วชิระ สีจันทร์ –

ชุมชนบ้านเหมืองกุง ชุมชนที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน และมีการถ่ายทอดการทำเครื่องปั้นดินเผา มาตั้งแต่บรรพบุรุษ กว่า 200 ปี คนโทยักษ์ หรือที่คนภาคเหนือ เรียกกันว่า น้ำต้น สิ่งที่ตั้งตระหง่าน อยู่ ณ ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ คือ สัญลักษณ์ทางเข้าสู่บ้านเหมืองกุง หมู่บ้านที่รวมยอดสล่าเครื่องปั้นดินเผา ที่มีการใช้วิธีปั้นแบบดั้งเดิม ในวันนี้เราแทบจะหาดูจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ตำนานงานช่าง คนปั้นดิน บ้านเหมืองกุง ที่มีการเชื่อมโยงสีสันวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของคนล้านนา จากอดีตสู่ปัจจุบัน

ชุมชนบ้านเหมืองกุง…เส้นทางภูมิปัญญากว่า 200 ปี

หมู่บ้านเหมืองกุงเดิมมีชื่อว่า “บ้านสันดอกคำใต้” เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของเชียงใหม่ มีการปั้นน้ำต้น และหม้อน้ำมานานกว่า 200 ปี เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มี ประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ผ่านหลายยุค หลายสมัย ไม่ว่าจะเป็น “ยุคสร้างบ้านแปงเมือง” ยุคที่ริเริ่มฟื้นฟูอาณาจักรล้านนา สร้างบ้าน สร้างเมือง หลังจากตกอยู่ใต้อำนาจของพม่ามาเป็นเวลานาน ยุคสมัยพระเจ้ากาวิละ “ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ที่มีการเกณฑ์กำลังคนจากพื้นที่อื่น กระจายคนออกไปทั่วเมืองเชียงใหม่ ซึ่งชาวบ้านเหมืองกุง ก็ได้มีการอพยพมาตั้งหลักปักฐานอยู่ในพื้นที่แห่งนี้

บรรพบุรุษที่มาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านเหมืองกุง ในอดีตจะมีการทำนาเป็นหลัก เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ก็จะมีการขุดดินจากที่นาใกล้หมู่บ้านมาทำ น้ำหม้อ และน้ำต้นไว้สำหรับใส่น้ำดื่ม อีกทั้งยังใช้น้ำต้นในการรับแขก หรือใช้เป็นสังฆทานถวายวัดในพิธีทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่สืบต่อกันมาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ทำให้การผลิตเครื่องปั้นดินเผาเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญของหมู่บ้าน

            งานหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุง ในแต่ละครอบครัวก็จะมีลักษณะการทำที่แตกต่างกัน บางครอบครัวทำส่งขายให้กับพ่อค้าคนกลางในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน บางส่วนก็จะนำไปขายเอง ที่ปากทางเข้าหมู่บ้าน ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาในแถบนั้นจึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านน้ำต้น” ตามสิ่งที่ชาวบ้านเหมืองกุงทำขายนั่นเอง ในยุคนั้นเป็นยุคเฟื่องฟูของการทำเครื่องปั้นดินเผา น้ำต้นของบ้านเหมืองกุงมีชื่อเสียง จนเป็นที่เล่าขานกันว่ามีคุณภาพดีที่สุดในอาณาจักรล้านนา เพราะ น้ำต้นที่ทำออกมามีความบางเบา และทนทาน

“ที่เขาเอาคนบ้านเหมืองกุงมาอยู่ตรงนี้ เนื่องจากว่าแหล่งดินแหล่งนี้ เป็นแหล่งดินที่เหมาะสมสำหรับการทำเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในการใส่น้ำ คนบ้านเหมืองกุงสมัยก่อนทำอยู่แค่สองอย่าง หนึ่งก็คือในเรื่องของหม้อน้ำ อีกอย่างหนึ่งก็คือตัวน้ำต้น ทำมา 200 กว่าปี ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ก็ยังทำอยู่ แล้วยังใช้วิธีแบบดั้งเดิม การเคลือบผิว หรือว่าลวดลายของบ้านเหมืองกุงเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นชัดเจน เทคนิคเฉพาะของบ้านเหมืองกุง นอกจากดินพื้นถิ่นที่เหมาะสำหรับการใส่น้ำแล้ว ก็ยังมีเรื่องของการเคลือบผิว การเคลือบผิวด้วยดินแดง เวลาเผาออกมามันก็เลยทำให้อุณหภูมิน้ำที่ใส่ในตัวน้ำต้น มันเย็นกว่าอุณหภูมิที่อยู่ในแก้วน้ำ หรือภาชนะอื่น ก็เลยทำให้คนสมัยก่อนนิยมดื่มน้ำจากตัวน้ำต้น หรือว่าหม้อน้ำ เพราะว่ามันมีความเย็นที่เหมาะสมกับอุณหภูมิของร่างกาย วชิระ สีจันทร์

แต่ในปัจจุบันนี้ เครื่องปั้นดินเผา จำพวกน้ำต้นมีความนิยมที่ลดน้อยลงเป็นอย่างมาก เพราะคนหันไปนิยมใช้ภาชนะอลูมิเนียม แก้ว หรือพลาสติก ในการใส่น้ำดื่มแทนน้ำต้น จากภาชนะที่ใช้จริงในชีวิตประจำวัน กลายเป็นสิ่งของที่ใช้แสดงอัตลักษณ์ วิถีชีวิตของชาวล้านนาในอดีต ความนิยมลดลง คนทำก็ลดลง จนในปี พ.ศ. 2548 ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยกบ้านเหมือนกุง ให้เป็นหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว ทำให้ชาวบ้านหันมาให้ความสำคัญ และรวมตัวกันมากขึ้น มีการทำอาชีพเครื่องปั้นดินเผาอย่างจริงจัง

ตำนานน้ำต้น คนปั้นดิน

บ้านเหมืองกุง เป็นแหล่งผลิตน้ำต้น หรือคนโทใส่น้ำตั้งแต่ 200 กว่าปีก่อน จวบจนถึงในปัจจุบันนี้ บ้านเหมืองกุงก็ยังคงเป็นแหล่งผลิตน้ำต้นที่สำคัญ และเป็นแหล่งที่ยังคงวิธีการปั้นแบบดั้งเดิม มีเตาเผาเก่าแก่ ที่เรียกว่า “เตาปุง” อยู่ตามบ้านเรือน ที่ผ่านการซ่อมแซม และใช้งานอยู่จนถึงปัจจุบัน

ประเภทของน้ำต้น และน้ำหม้อ ที่มีความนิยมในอดีต จะมี น้ำต้นแก้ว หรือน้ำต้นดอกหลวง จะมีลักษณะเหมือนน้ำหม้อแบบดั้งเดิม แต่มีขนาดที่ใหญ่กว่า มีการใส่ลวดลายดอกไม้เพิ่มความสวยงาม น้ำต้นสังข์ หรือ น้ำต้นธรรมดา มีการวาดลวดลาย ดอกไม้คล้ายน้ำต้นดอกหลวง น้ำต้นปอม ตรงคอของน้ำต้น จะมีลักษณะนูนออกมาเป็นลูก ๆ คล้ายกับลูกน้ำเต้า น้ำต้นกลีบมะเฟือง ลำตัวจะมีการขึ้นรูปทรงคล้ายกลีบมะเฟือง น้ำต้นหน้อย (น้ำต้นน้อย) มีขนาดเล็ก ใช้สำหรับใส่เครื่องเซ่นไว้เจ้าที่เจ้าทาง เนื่องจากคนล้านนาสมัยก่อนมีความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา ในส่วนของน้ำหม้อก็จะเป็นประเภทเดียวกับน้ำต้น ทั้งในส่วนของลวดลาย และขนาดที่มีการออกแบบเฉพาะต่อการใช้งาน ส่วนที่เพิ่มเติม จะมีในส่วนของน้ำหม้อเกลี้ยง ผิวของน้ำหม้อจะเป็นผิวเรียบทั่วทั้งใบ ไม่มีการตกแต่งลายใด ๆ มีเพียงการเติมแต่งด้วยสีน้ำดินแดง และน้ำหม้อก๊อก เป็นน้ำหม้อที่เจาะรูไว้สำหรับใส่ก๊อกน้ำ เวลาใช้ไม่ต้องเปิดฝาหม้อ ทำให้สะดวกเวลาใช้ดื่มกิน

เครื่องปั้นดินเผา แห่งบ้านเหมืองกุง จะมีเอกลักษณ์โดดเด่นทั้งในขั้นตอนการปั้น การออกแบบ และรวมไปถึงเทคนิค การทำลวดลายการปั้นที่เป็นเอกลักษณ์ จะเริ่มจากการเตรียมวัตถุดิบ จากนั้นนำไปปั่นให้ละเอียด ต่อด้วยการร่อน และนำไปผสมน้ำหมักทิ้งไว้ให้ดินเหนียวมากขึ้น หลังจากนั้นนำมาปั้นขึ้นรูปทรง ด้วยเทคนิคเฉพาะตัว เมื่อได้เป็นรูปทรง จะนำไปตากให้แห้ง เมื่อแห้งก็จะเข้าสู่กระบวนการตกแต่งลวดลายขัดผิว และรอคอยเวลา เพื่อจะได้เวลาที่เหมาะสมสำหรับการเข้าเตาเผา บ้านเหมืองกุงมีเทคนิคในการขัดเงาเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งไม่สามารถทำได้ในหมู่บ้านอื่น คือการใช้หินจากลำธารก้อนขนาดพอประมาณขัดบนเครื่องปั้นดินเผา ทำให้ผิวของเครื่องปั้นดินเผาขึ้นเงาได้อย่างรวดเร็ว วิธีการเหล่านี้ ต้องใช้ความพิถีพิถันเป็นอย่างมาก ต้องพึ่งพาความเชี่ยวชาญของสล่า เพื่อจะให้ได้งานปั้นที่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง ทนทานต่อการใช้งานจริง  และยังมีลวดลายที่มีความวิจิตร งดงาม เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นยากจะเลียนแบบ

สล่าปั้น…ประติมากรแห่งล้านนา ผู้สืบทอดวัฒนธรรมอันล้ำค่าจากรุ่นสู่รุ่น

“ต้องบอกว่าตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาในส่วนของคนบ้านเหมืองกุงจะทำตามเชิงช่างของใครของมัน ช่างแต่ละคนมีเทคนิคต่างกัน บ้านแรกจะเป็นของชิ้นใหญ่ บ้านที่สองเก่งในเรื่องของกระถาง บ้านที่สามเก่งเกี่ยวกับของชิ้นเล็ก เป็นการรวมเชิงช่างของงานปั้นมาอยู่ที่บ้านเหมืองกุงนี้ที่เดียว เป็นหมู่บ้านที่น่าจะมีช่างทำเกี่ยวกับ เครื่องปั้นดินเผาที่ใช้แท่นหมุนเยอะสุด แล้วก็ต้องบอกว่าคุณภาพการันตีด้วยอายุของช่างที่ทำสืบทอดกันมา 200 กว่าปี ต้องบอกว่าซื้อที่นี่ไม่ผิดหวัง แตกต่างจากที่อื่นแน่นอน วชิระ สีจันทร์

            พ่อหลวงวชิระ สีจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านแห่งบ้านเหมืองกุง หนึ่งในสล่าปั้น ที่ยังคงสืบสานภูมิปัญญาล้านนากว่า 200 ปีให้ยังคงอยู่คู่ล้านนา พ่อหลวงได้บอกกับเราว่า ที่นี่ยังมีการเผา และใช้เตาแบบดั้งเดิม ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ในเรื่องของภูมิปัญญา 200 กว่าปีนี้ได้ และยังสามารถที่จะมาทดลองเรียนรู้กับครูช่างได้ ทุกคนพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ สอนเทคนิคให้กับทุก ๆ คน ท่านใดสนใจ สามารถเยี่ยมชมบ้านเหมืองกุง ได้ผ่านทาง Fanpage Bann Muangkung pottery handicraft บ้านเหมืองกุง ตำนานน้ำต้น คนปั้นดิน มาเรียนรู้ที่ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาบ้านเหมืองกุง ทำกิจกรรม workshop  มาลองปั้น ชิ้นงานที่ปั้นออกมา จะเป็นผลงานของเรา ที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลกเท่านั้น

ณ ปัจจุบันตัวน้ำต้น หรือหม้อน้ำไม่ได้ถูกนำไปใช้งานในชีวิตประจำวันของผู้คนอีกต่อไป แต่ในเรื่องของประเพณี วัฒนธรรม ของชาวล้านนา ก็ยังต้องใช้เครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุงอยู่ ทุกวันนี้บ้านเหมืองกุงมีการปรับตัวให้ทันสมัย และสล่าทุกคนยังมีการพัฒนาองค์ความรู้ในการผลิต เพื่อให้ตอบโจทย์กับคนรุ่นใหม่ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะปลุกปั้นอนาคตอันสดใสทางภูมิปัญญาให้แก่ลูกหลานได้สืบทอดต่อไป ภูมิปัญญาล้านนานี้ กลายเป็นร่องรอยอารยธรรมสะท้อนอดีตของชาวล้านนา ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แต่วัฒนธรรม รากเหง้าของชาวล้านนายังต้องคงอยู่

“…ในเรื่องของภูมิปัญญาไม่ใช่แค่ความรู้ที่ล้าหลัง ยังเป็นความรู้ที่สามารถจะขาย
หรือสามารถบอกต่อได้ ถ้าเป็นปั้นแท่นหมุนไฟฟ้าคุณไปดูที่ไหนก็ได้
แต่ถ้าปั้นแบบแท่นหมุนมือ เหลือบ้านเหมืองกุงที่เดียว… ”
— วชิระ สีจันทร์ –

ร่วมแสดงความคิดเห็น