ภูมิปัญญาแห่งความศรัทธาในพระพุทธศาสนา…สล่าปิดทอง

ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 8 สล่าปิดทอง


“…มีความซื่อสัตย์ และมีใจรักในศาสนา ถ้าเรามีจิตตั้งมั่น มันก็มีความสุขในการทำ
มันไม่ใช่แค่รุ่นเราที่ทำมา มันตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่

กี่ร้อยกี่พันปีเขาก็ทำดีมา เราทำให้ดีที่สุด ก็โอเคแล้ว… ”
ภานุชิต พรหมเมือง

งานลงรักปิดทอง ถือเป็นงานที่แสดงถึงภูมิปัญญา และความรู้ด้านศิลปะของเหล่าสล่าปิดทอง โดยมีวัสดุสำคัญ คือยางรัก ปิดทับด้วยทองคำเปลว เพื่อตกแต่งสถาปัตยกรรม และประติมากรรมให้มีสีทองอร่าม เป็นงานศิลปะที่ผสมผสานระหว่างงานฝีมือ และเทคนิคการสร้างสรรค์อันซับซ้อน เป็นความวิจิตร งดงามที่อยู่คู่กับศาสนามาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ความรัก และ ความศรัทธาของชาวล้านนากับพระพุทธศาสนานั้นถือเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาอย่างยาวนาน และจากความรัก ความศรัทธา ก็ได้ทำให้เกิดศิลปะคู่บ้านคู่เมือง ตราบใดที่พระพุทธศาสนายังเจริญรุ่งเรืองคู่ดินแดนล้านนา และประเทศไทย งานศิลปกรรมชั้นสูง หัตถกรรมการปิดทองนี้ ก็จะยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องได้รับการสืบทอด และคงไว้ซึ่งการดำรงอยู่ของช่างหัตถศิลป์

ตำนานเล่าขาน…งานปิดทอง
งานลงรักปิดทอง ถือเป็นงานศิลปหัตถกรรมไทย แขนงหนึ่งที่จัดอยู่ในงานช่างสิบหมู่ประเภทช่างรัก คนไทยรู้จักการลงรักปิดทองพระพุทธรูป และลวดลายต่าง ๆ มาอย่างยาวนาน ไม่น้อยกว่าสมัยสุโขทัย มีการค้นพบหลักฐานการลงรักปิดทอง ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปที่หล่อด้วยโลหะ ปั้นปูนสด หรือจักสานด้วยไม้ไผ่ และการลงรักปิดทองคำเปลว แม้หลักฐานของการปิดทองจะยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด แต่มีการกล่าวถึงอานิสงส์ของการทำบุญด้วยทอง ที่ปรากฏในประวัติของพระมหากัจจายนะ ว่า “ท่านมีผิวพรรณ สดใสดุจทองคำ เนื่องจากอดีตชาติได้ทำบุญถวายแผ่นอิฐทองคำสร้างเจดีย์” ตั้งแต่ในสมัยทวารวดี มีการค้นพบพระพุทธรูปปิดทอง ซึ่งถือเป็นหลักฐานเก่าแก่ จวบจนในปัจจุบันก็ยังคงมีการปิดทองอยู่ เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวไทยมาโดยตลอด

(ประตูอุโบสถของวัดพระสิงห์)

นอกจากความสวยงามแล้ว การปิดทองถือเป็นการบูชาอย่างหนึ่ง โดยนำสิ่งมีค่ามาเป็นส่วนหนึ่ง อันหมายถึง การปล่อยละซึ่งทางโลก ความฟุ้งเฟ้อรอบกาย หรือแม้กระทั่งการทำบุญเพื่อบุญกุศลในโลกหน้า อาจกล่าวได้ว่า การปิดทอง เป็นสิ่งจำเป็นที่อยู่คู่กับพระพุทธศาสนา และไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ตราบเท่าที่พุทธศาสนิกชน ยังคงศรัทธา ให้ความเคารพบูชาซึ่งพระพุทธศาสนาอยู่เสมอ

ช่างศิลป์แห่งล้านนา…สล่าลงรักปิดทอง
สล่าภานุชิต พรหมเมือง เป็นหนึ่งในสล่าปิดทองที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในภาคเหนือ เป็นผู้ที่ยึดมั่นในการสืบสานภูมิปัญญาการปิดทองนี้ไว้ สล่าผู้สร้างสรรค์งานปิดทองทั้งใน และต่างประเทศมาแล้วนับไม่ถ้วน

หนึ่งในผลงานสำคัญของสล่าภานุชิต คือการปิดทองพระเจ้าทันใจ ที่วัดพระสิงห์ วัดชื่อดังของเชียงใหม่ และการปิดทองหลวงพ่อเมตตา ที่อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดพุทธธัมมธโร (Wat Concord) เมืองคอนคอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

(พระเจ้าทันใจ วัดพระสิงห์)
(หลวงพ่อเมตตา ประดิษฐาน ณ วัดพุทธธัมมธโร)

“…ดีนะ ถือว่าความเป็นล้านนา ได้ไปเผยแพร่ที่นู่น บางทีฝรั่งก็อาจจะไม่รู้ ว่าองค์นี้ชุบทองมา ความจริงบ้านเราก็ทำมาหลายรุ่นแล้ว ตั้งแต่ยุคที่รู้จักกัน ก็น่าจะหลายร้อยปีแล้ว เราก็ทำกันขึ้นมา บางทีอาจจะเป็นความแปลกของฝรั่งก็ได้ในงานช่าง ก็พยายามจะสืบทอดให้มันได้ต่อยอดไป…” — ภานุชิต พรหมเมือง –

แผ่นสีทองที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งศรัทธา
สล่าภานุชิต พรหมเมือง ได้บอกกับเราว่า ของที่จะใช้ในการปิดทอง จะมีตัวขัดเงา กับตัวกิมซัว ตัวขัดเงาจะเป็นทอง 96.5 ซื้อมาจากร้านทอง ทองแท่ง แต่ทองที่จะนำมาปิดพระ ถ้าคัดก็จะเป็นทอง 99.99 เป็นทองสวิสทอง 24k นำทองที่ซื้อมาตี ก็จะได้ตัวแผ่นทองนี้ออกมา สล่าได้มีการสอนวิธีปิดทอง เผยแพร่องค์ความรู้ ที่มาจากการศึกษา และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ตลอดที่ผ่านมาของการเป็นสล่าปิดทองล้านนา

โดยมีการบอกเล่าถึงวิธีการทำ จะเริ่มจาก การนำทองแผ่นแรกปิดเข้าไป แล้วนำทองแผ่นที่สอง มาปิดทับแผ่นแรก แผ่นที่สามก็นำมาทับต่อ ๆ กัน หลังจากนั้นก็จะใช้ตัวพู่กันอัดเข้าไป เพราะว่าตามในซอก หรือรอยต่อ มือของเราจะไม่สามารถเข้าไปได้ จึงต้องใช้อุปกรณ์ในการช่วยเปิดทอง และอัดเข้าไป ให้ฝังอยู่ในแต่ละซอก แต่ละมุม จุดสำคัญ จะอยู่ตรงที่ การใช้สำลีถู เพราะในขั้นตอนก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการนำแผ่นทองมาติดซ้อนทับกัน หรือการอัดแผ่นทอง มันจะยังไม่มีความเรียบ มีร่องรอยของการซ้อนทับ จึงต้องใช้สำลีถู เพื่อทำให้แผ่นทองนั้นเรียบ

“…ถ้าสมมุติว่าคนทำไม่เป็นถูไปเรื่อย ถ้าเราปิดด้านล่างทับมาด้านบนแล้วสำลีไปถูสวนขึ้นมา มันจะเหมือนเกร็ดปลา แล้วเวลาสำลีอัดเข้าไป มันเปิดก็จะเห็นรอยต่อ ถ้าเกิดว่าเราปิดจากล่างขึ้นบน แผ่นที่สองทับแผ่นแรก ต้องเอาสำลีถูวนจากข้างล่างที่มันทับกัน ทองมันจะอัดเข้าไปตรงรอยต่อ มันจะได้ไม่เห็นรอยต่อ…” — ภานุชิต พรหมเมือง –

ขั้นตอนหลังจากการถูสำลีจนแผ่นทองเรียบนั้น ก็จะเป็นการสร้างสรรค์ชิ้นงานของตัวสล่าเอง ในสมัยโบราณก็จะมีการลงรัก ลงชาด แต่ว่ายุคสมัยใหม่นี้ก็จะมีการใช้จำพวกสี มาทับหน้า และปิดทองอีกครั้ง การเลือกใช้วัสดุเหล่านี้ ถือเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เราได้เห็นถึงความแตกต่างของยุคสมัยที่เปลี่ยนไป อย่างวัสดุอย่างรัก ถือเป็นวัสดุโบราณ ในการจะนำมาใช้แต่ละครั้งนั้น จะต้องใช้เวลากรอง เวลาตากที่นาน แต่วัสดุจำพวกสี ที่คนสมัยนี้นิยมใช้กัน ก็จะเป็นวัสดุที่แห้งไวขึ้น ยึดเกาะได้ดีขึ้น และหาซื้อได้ง่าย ถึงแม้สล่าแต่ละท่าน จะมีการรังสรรค์งานที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และการตั้งจิตที่มั่น ในการลงรักปิดทอง เพื่อให้งานทุกชิ้นงาน ออกมาดี และสมบูรณ์แบบมากที่สุด

“…รายละเอียดในการทำก็ต้องค่อย ๆ ไปที่ละจุด กว่าจะนิ่งแบบนี้ก็ต้องใช้เวลา พอถึงเวลา สมาธิมันก็อยู่ตรงนี้เลย เป็นการฝึกสมาธิในตัว มีความซื่อสัตย์ และก็มีใจรักในศาสนา บางงานมันต้องใช้เวลา ถ้าเรามีจิตตั้งมั่นมันก็มีความสุขในการทำ…” — ภานุชิต พรหมเมือง –

สล่าภานุชิต มองว่า สิ่งแรกที่จะสามารถทำงานปิดทองได้ คือต้องมีใจรัก เพราะการที่เราต้องอยู่ปิดทองวันละหลายชั่วโมง หากไม่มีใจรัก ก็จะไม่สามารถที่จะทำอยู่ได้นาน การปิดทองต้องใช้ความเชี่ยวชาญ และการฝึกฝน เพราะทองทุกแผ่นที่ติดนั้นล้วนมีมูลค่ามาก หากติดผิดพลาดก็จะต้องติดใหม่

งานลงรักปิดทองจึงถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความศรัทธา เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงภูมิปัญญากับความรู้ด้านศิลปะอันโดดเด่น ประณีต มีเอกลักษณ์ ตราบใดที่เรายังเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็ต้องร่วมสืบสานงานศิลปกรรมชั้นสูงนี้ ร่วมส่งเสริมช่างหัตถศิลป์ให้มีการดำรงอยู่คู่แผ่นดินเราตลอดไป


“…คนรุ่นใหม่มีโทรศัพท์ทุกคน แต่เดี๋ยวนี้เราอ่านเยอะ เราฟังเยอะ
แต่เราไม่ได้ลงมือทำสักคน มาเพื่อมาฝึกจิตใจก็ดี สำคัญนะครับ… ”
— ภานุชิต พรหมเมือง —

ร่วมแสดงความคิดเห็น