สิ่งล้ำค่าที่ใกล้สูญหาย “เครื่องเขิน” หัตถศิลป์แห่งภูมิปัญญาล้านนา

ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 9 เครื่องเขิน


“…ถ้ามองเครื่องเขินนันทารามต่อไป ก็อาจจะไม่มี หรืออาจจะมีก็ได้
เพราะต้องมีคนต่อยอด แต่ ณ ตอนนี้ดูแล้วมันจะหายไปละ…”

— แม่ประทิน ศรีบุญเรือง –

ชุมชนนันทาราม อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในเส้นทางวัฒนธรรมที่สำคัญ เป็นชุมชนที่รักษามรดกทางวัฒนธรรมล้ำค่าของชาวล้านนาเอาไว้ “เครื่องเขิน” หัตถศิลป์แห่งภูมิปัญญา ในอดีตมีความเจริญรุ่งเรือง และเป็นที่นิยมอย่างมาก แต่ในปัจจุบัน กาลเวลาเปลี่ยน ความนิยมก็เปลี่ยนตาม จากสิ่งล้ำค่า กลายเป็นสิ่งใกล้สูญหาย อดีตมีผู้คนทำเครื่องเขินเป็นจำนวนมาก ตลอดเส้นทางนันทาราม แต่ทุกวันนี้กลับเหลือเพียงสามหลังคาเรือน เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า คุณค่า และความสำคัญของเครื่องเขินไม่เหมือนในอดีตอีกต่อไป

700 ปี แห่งความภาคภูมิใจ “เครื่องเขิน” งานหัตถศิลป์ล้านนา
“ เครื่องเขิน ” หมายถึง ภาชนะ เครื่องมือ หรือ ของใช้ ที่ผลิตขึ้นโดยชาวเชียงใหม่ที่มีเชื้อสายสืบมาจากไทเขินแต่โบราณ เครื่องเขินเป็นภูมิปัญญาที่อยู่คู่กับชาวล้านนามาอย่างยาวนานกว่าหลายร้อยปี เริ่มตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิละ ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง เป็นยุคที่มีการฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ และดินแดนล้านนา ได้มีการกวาดต้อนผู้คนจากหลากหลายที่เข้ามาอยู่รวมกัน ในส่วนของไทเขิน ก็ได้มีการอพยพมาอยู่บริเวณใกล้กับวัดนันทาราม และบริเวณประตูเชียงใหม่ ในอดีตพระเจ้ากาวิละได้มีการยกทัพไปตีหัวเมืองต่าง ๆ ของแคว้น เชียงตุงหลายครั้ง ดังนั้นจึงเชื่อกันว่า กลุ่มไทเขินบ้านนันทารามนั้นคงจะเป็นกลุ่มที่อพยพ เข้ามาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ เมื่อครั้งเจ้าเมืองเชียงตุงได้พาไพร่พลเข้ามาสวามิภักดิ์ในปี พ.ศ. 2347 และกลุ่มชาวไทเขินนั้นถือเป็นไพร่พลเมืองชั้นดี และมีฝีมือในการทำเครื่องฮัก เครื่องหาง กลุ่มไทเขินเหล่านี้ จึงเป็นผู้ที่ได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เครื่องเขิน และที่มาของชื่อเครื่องเขิน ก็เป็นชื่อที่เรียกตามนามของผู้ประดิษฐ์ขึ้น คือ ไทเขินทางเชียงตุง หลังจากนั้นก็ได้มีการถ่ายทอดวิชาหัตถกรรมนี้ให้แก่ชาวเชียงใหม่ ตั้งแต่นั้นมาชุมชนนันทารามจึงกลายเป็นแหล่งกำเนิดเครื่องเขินของไทย และชาวล้านนาก็ได้ร่วมสืบทอดต่อมาจนทุกวันนี้

(เครื่องเขิน ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

“…สำหรับเครื่องเขินมีการใช้ในวิถีชีวิตของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในช่วง 500 ปีที่ผ่านมาพบว่าแหล่งโบราณคดีได้พบชิ้นส่วนของเครื่องเขินที่ติดไปกับสำเภาในการค้าขาย สำหรับในไทยนั้นภาคเหนือจะใช้ในวิถีชีวิตประจำวันยกตัวอย่างเช่น เครื่องเชี่ยนหมาก หรือของใช้ในพิธีกรรม ในอดีตมีของใช้ที่ทำมาจากเครื่องเขิน ตั้งแต่ของใช้ที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของใช้ในเชิงพิธีกรรม เครื่องเขินถือว่าเป็นของที่ได้จากเมืองเหนือจะเห็นได้ว่าเขาเรียกว่าเครื่องเขินเพราะว่าเรียกตามกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผลิต ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มที่เป็นไทเขินที่อพยพมาอยู่เชียงใหม่ในชุมชนนันทาราม…” – ดร.สราวุธ รูปิน –

(ดร.สราวุธ รูปิน อาจารย์สาขาศิลปะไทย และวัฒนธรรมสร้างสรรค์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

จิตวิญญาณของสล่า…ผู้รักษารากเหง้าให้ยังคงอยู่คู่ล้านนา
“…เครื่องเขินมันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ตั้งแต่สร้างเชียงใหม่ 700 ปีแล้ว มันเป็นงานที่อยู่คู่กับเชียงใหม่ นิยามของเครื่องเขินที่นันทารามนี้เป็นเครื่องเขินเจ้าฟ้า รากเหง้ามันอยู่ตรงนี้ แม่ครูเกิดมา แม่ครูก็เห็น มันซึมซับเข้ามาในจิตวิญญาณของเรา เราก็เลยทำขึ้นมาไม่ต้องมีใครสอน แต่เด็กรุ่นใหม่นี้จะไม่รู้จักเลย อันนี้คืออะไร เครื่องเขินทำมาจากอะไร สมัยก่อนเครื่องเขินในหมู่บ้านแม่ครูเยอะมาก เดี๋ยวนี้มันขึ้นมาเป็นพลาสติก เครื่องเขินเลยหายไป เพราะมันมีสิ่งทดแทน …” – แม่ประทิน ศรีบุญเรือง –

แม่ประทิน ศรีบุญเรือง คือหนึ่งในสล่าเครื่องเขิน ที่ยังคงสานต่องานหัตถกรรมล้ำค่านี้อยู่ในปัจจุบัน แม่ครูได้สอนเราในเรื่องของวิธีการทำเครื่องเขิน ขั้นตอนการทำเครื่องเขินนั้น จะเริ่มจากการเหลาไม้ไผ่เป็นเส้น นำไม้ไผ่ที่เหลาไปขดขึ้นรูป หรือไม้กลึง ตามรูปทรงภาชนะที่ต้องการ นำไปฉาบด้วยยางรัก นำเครื่องเขินไปตากให้แห้ง เมื่อแห้งแล้วนำมาลงพื้นสมุก ขูดให้เรียบ และทำซ้ำก่อนจะนำไปทารัก สลับกับขัดรักให้เรียบ จะทำแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา จนได้ตามที่ต้องการ จะมีการทารักเงา และขูดตามลวดลายที่สล่าได้ออกแบบไว้ มีการลงสีฝุ่นต่าง ๆ หรือจะทำเป็นลายรดน้ำ จะจบขั้นตอนด้วยการเพ้นท์สีตามที่ผู้ออกแบบกำหนด

คุณค่าของภูมิปัญญาที่สะท้อนผ่านเครื่องเขิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ ที่สะท้อนให้เห็นถึงคนล้านนาในสมัยก่อน ที่มีการคิดค้นเครื่องใช้ภาชนะ ที่ทำมาจากธรรมชาติ อย่างการใช้ไผ่ และยางรัก ที่เป็นพืชยืนต้น มีขึ้นเป็นจำนวนมากในบริเวณภาคเหนือ และเลือกทำภาชนะที่มีน้ำหนักเบา ยืดหยุ่น ไม่แตกหักง่าย สอดคล้องกับวิถีชีวิต ที่มีการอพยพย้ายถิ่นฐาน หรือมีการเดินทางบ่อยครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมล้านนา เพราะ เครื่องเขินเป็นภาชนะที่นอกจากจะใช้ภายในครัวเรือนแล้ว ยังถูกใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ด้วยความเชื่อ เครื่องเขินจึงมีการใช้เป็นเครื่องประกอบในพิธีกรรม สะท้อนผ่านเครื่องเขินในเรื่องของเศรษฐกิจ ล้านนาของเรา มีร่องรอยอารยธรรม ฝังไว้อยู่ทั่วทุกมุม ทุกทิศ ชุมชนนันทารามคือหนึ่งในนั้น ที่มีอัตลักษณ์สำคัญ อย่างเครื่องเขิน เป็นสิ่งที่สร้างรายได้ ด้วยการสร้างสรรค์ผลงานอย่างประณีต และใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน สิ่งประดิษฐ์ทั้งหมดที่ทาด้วยยางรักนั้นล้วนแต่เรียกว่าเครื่องเขินทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ภาชนะใส่ของ รูปแบบต่าง ๆ ขันโตก ตุ้มหู แจกัน เป็นต้น เป็นที่นิยมทั้งในหมู่ชาวล้านนา และชาวต่างชาติ

(ร้านแม่ประทิน เครื่องเขิน)

“…บทบาทของเครื่องเขิน มีความสำคัญก็คือเป็นของที่จำหน่าย เป็นของที่ระลึกจากภาคเหนือ เป็นบทบาทหนึ่งที่ทำให้เครื่องเขินนั้นได้มีคนรู้จักมากขึ้น พอในระยะหลังเป็นต้นมา หน้าที่การใช้สอยของเครื่องเขินนั้นลดบทบาทลง มีพลาสติกเข้ามา ซึ่งก็ทำให้การผลิตเครื่องเขินนั้นซบเซาลง อีกหนึ่งอุปสรรคของเครื่องเขินนั้น เวลาทาลงไปในภาชนะต่าง ๆ ใช้เวลาในการแห้งอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 15 วัน บางชิ้นก็ต้องเป็นเดือน…” – ดร.สราวุธ รูปิน –

(เครื่องเขิน แม่ครูดวงกมล ใจคำปัน)

เครื่องเขิน เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากสำหรับชาวล้านนาในอดีต แต่ปัจจุบันนี้ กลับถูกลดทอนความสำคัญลงไปเป็นอย่างมาก วัฒนธรรมการใช้เครื่องเขินลดน้อยลง ถูกแทนที่ด้วยพลาสติก และสังกะสี ที่นำมาผลิตภาชนะใช้สอย และมีราคาถูกกว่า เมื่อเทียบกับการผลิตเครื่องเขินที่มีกรรมวิธีการผลิตที่ประณีต แต่ใช้เวลาการผลิตที่นาน ผู้คนสมัยใหม่ส่วนใหญ่จึงเลิกใช้ น้อยคนนักที่จะยังคงใช้เครื่องเขินที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมอยู่ สล่าชุมชนนันทาราม ในปัจจุบันนี้ ยังคงตั้งมั่นในการผลิตเครื่องเขิน ด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิมกว่าหลายร้อยปี เพื่อยังรักษาภูมิปัญญานี้ให้ยังคงอยู่คู่ล้านนา

สานต่อลมหายใจเครื่องเขิน…ไม่ให้ดับสิ้นไปตามกาลเวลา
“…อย่างของแม่ครูเป็นงานชิ้นใหญ่ ซื้อไปเขาก็เอาไปตั้งโชว์ แจกบ้าง เราก็เจ็บปวด เราก็ไม่รู้จะทำยังไง เมื่อก่อนคุณค่าต้องเอาไปให้เจ้านายฝ่ายเหนือใช้ แต่ตอนนี้มันไม่มีแล้ว ถ้ามันมีลวดลายปรับตัว เราก็ปรับตัวไปตามยุคสมัย อย่างเทคนิคของแม่ครูเทคนิคการเขียนลายทองเดี๋ยวนี้เทคนิคใหม่เขามาแม่ครูก็ต้องยอมรับว่าคนเขียนมันก็แก่ลงไป เดี๋ยวนี้เขาก็ปรับมาใหม่ละ การสกรีนเอย หนึ่งชิ้นสามเดือนถึงจะแห้ง 100 ชิ้นก็สามเดือน เราก็ทำเรื่อย ๆ ทาชิ้นหนึ่ง เราก็ทิ้งไว้ เดี๋ยวก็ออกมาเป็น 100 ชิ้น…” – แม่ประทิน ศรีบุญเรือง –

(ร้านแม่ประทิน เครื่องเขิน)

ดร.สราวุธ รูปิน บอกกับเราว่า จะให้ภูมิปัญญากว่าหลายร้อยปีนี้ยังคงอยู่ จะต้องควบคู่ ต้องขนานไปกับกระแสอนุรักษ์ และของใช้ร่วมสมัย ปรับตัวตามความชื่นชอบของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการชื่นชอบในเรื่องสะสมของที่ระลึก หรือทำการกระตุ้น สร้างกระแสในเรื่องของการรักษาภูมิปัญญาช่างร่วมกับชุมชน การท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ ก็ต้องเข้ามามีบทบาทในการสร้าง อย่างน้อยก็ร่วมกันสร้างให้ทุกคนรู้จักกับชุมชนหัตถกรรมแห่งนี้ ทั้งการปรับตัว และการคอยกระตุ้นความสนใจจากคนสมัยใหม่ สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวที่ทำให้ตัวเครื่องเขินนั้นยังคงมีลมหายใจอยู่

“…เด็กยุคใหม่นี่ต้องมาฝึกก่อน มาทำ มาเรียนรู้ที่นี่ไม่มีค่าใช้จ่าย อยากรู้มา อยากบอกให้เด็กรุ่นใหม่มองลึก ๆ เครื่องเขินทำยาก แต่เราก็ต้องดูคุณค่าของเครื่องเขินว่าทำมาจากอะไร ให้เด็กเขาใส่ใจ …” – แม่ประทิน ศรีบุญเรือง –

(เครื่องเขิน ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

เส้นทางสายวัฒนธรรมของชุมชนนันทารามที่เคยทำเครื่องเขินกันเกือบทุกหลังคาเรือน ในปัจจุบันมีเพียง 3 หลังเท่านั้นที่ยังคงสืบสานการทำเครื่องเขินเนื่องจากการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป และการที่มีสิ่งอื่นเข้ามาทดแทน ทางชุมชนจึงเห็นความสำคัญของการช่วยกันอนุรักษ์สืบสานการทำเครื่องเขินด้วยการจัด workshop ให้คนที่สนใจสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

“…ทางคณะวิจิตรศิลป์สืบทอดในเรื่องของภูมิปัญญาการผลิต และการทำงานเหมือนครูช่าง นำมาสร้างสรรค์เป็นศิลปะร่วมสมัย ลมหายใจนี้จะต้องคงอยู่เพราะว่าสิ่งที่เป็นความสำคัญของงานพื้นบ้าน ที่จะหดหายไปในสถานะปัจจุบัน อย่างน้อยเราก็มีศิลปะร่วมสมัยเข้ามาร่วมทำให้งานประเพณีในเชิงพื้นบ้านได้มีลมหายใจอยู่…” – ดร.สราวุธ รูปิน —

(ร้านแม่ประทิน เครื่องเขิน)

ชุมชนบ้านนันทารามยังคงเป็นเส้นทางวัฒนธรรมการทำเครื่องเขินที่สำคัญของเชียงใหม่ เป็นสินค้า OTOP ที่ควรค่าแก่การเก็บรักษา และทางชุมชนพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้สู่คนรุ่นใหม่ต่อไป คุณค่าของงานภูมิปัญญาเครื่องเขินไม่ได้มีแค่ความงามเพียงอย่างเดียว แต่มีคุณค่าตั้งแต่การเลือกวัสดุที่ใช้ และความใส่ใจในขั้นตอนการทำ งานที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ที่แสดงถึงความประณีตในศิลปวัฒนธรรมของล้านนา ไม่ว่าจะตกแต่งลวดลายแบบใด เครื่องเขินก็จะมีความงามอันเป็นนิรันดร์

“…ให้ครูภูมิปัญญาได้มีกำลังใจ มีลมหายใจที่จะถ่ายทอดให้กับคนในปัจจุบัน
และคนที่นำไปสืบทอด หรือนำไปใช้ใหม่ จะเป็นกระแส
ทำให้การเครื่องเขินหายใจคู่เคียงกับคำว่าล้านนาต่อไป…”

– ดร.สราวุธ รูปิน —

ร่วมแสดงความคิดเห็น