ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 10 เครื่องจักสาน 1 : จักสานบ้านป่าบง
“…ผมภูมิใจ ที่ได้เกิดเป็นคนป่าบง จะทำต่อไป จนทำไม่ได้ จนวินาทีสุดท้าย
จะนอนเสียไปกับตะกร้าเลย เกิดกับจักสาน ตายกับจักสาน
สัญญา จะอยู่ตรงนี้ จะอยู่กับสิ่งนี้ จะอยู่อนุรักษ์จักสานป่าบงนี่แหละ…”
— อำนวย แก้วสมุทร์ –
ไม้ไผ่ที่ถูกนำมาตอก นำมาสานร้อยเรียงกัน จนเกิดเป็นรูปทรงต่าง ๆ นิยมนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ดำรงชีพของชาวล้านนาในอดีต สิ่งที่เรียกว่า “เครื่องจักสาน” ภูมิปัญญาที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวล้านนา จะสานต่อความภาคภูมิใจนี้ไปยังคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร ความน่ากังวลใจที่เหล่าสล่าจักสานกำลังเผชิญ ที่ในทุกวันนี้เครื่องจักสาน ได้มีสิ่งมาทดแทนมากมาย ความนิยมที่ลดน้อยถอยลง และสล่าผู้สืบสานภูมิปัญญาล้ำค่านี้เริ่มแก่เฒ่า และจากเราไปตามกาลเวลา
สานสายใยแห่งชีวิต หัตถกรรมพื้นบ้านอันล้ำค่า “เครื่องจักสานบ้านป่าบง”
ป่าบง หมายถึง ป่าไผ่ วิถีชีวิตของชาวบ้านป่าบงส่วนใหญ่นั้นจะมีความผูกพันกับไม้ไผ่กันมาอย่างยาวนาน ในสมัยที่เทคโนโลยียังไม่เจริญ เครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิตก็ล้วนทำมาจากไม้ไผ่ ในยามว่างจากทำไร่ไถนา ผู้เฒ่าผู้แก่สมัยนั้นก็จะมีการเหลาตอก สานกระด้ง กระบุง และตะกร้าไว้ใช้เอง หรือไม่ก็นำไปขายยังหมู่บ้านอื่น ทำให้เครื่องจักสานบ้านป่าบง เป็นเครื่องจักสานที่มีชื่อเสียง และได้รับการยกย่องเป็นสินค้า OTOP หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ของอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนในหมู่บ้าน บรรดาลูกหลานก็ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านจักสานสืบต่อกันมา
บ้านป่าบงในอดีตนั้น เคยมีชื่อเสียง โดดเด่นเป็นอย่างมาก เป็นแหล่งผลิตเครื่องจักสานจากไม้ไผ่ แหล่งสะสมภูมิปัญญาที่ส่งทอดมารุ่นสู่รุ่น จากความเจริญรุ่งเรืองในอดีต สู่การรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน ในชื่อกลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่ ในปีพ.ศ. 2549 โดยมีคุณแม่ “ทองสุข แก้วสมุทร์” เป็นแกนสำคัญ เริ่มมีการเรียนรู้ และพัฒนางานจักสานบ้านป่าบง มีการประยุกต์ใช้กับหลายสิ่งหลายอย่างเพิ่มมากขึ้น จนงานจักสานบ้านป่าบงนับวันยิ่งทวีความนิยมเพิ่มมากขึ้น ได้รับการยอมรับจากผู้คน ว่างานจักสานนั้นมีความเป็นเอกลักษณ์ โดดเด่น แต่ละชิ้นงานต้องผ่านหลากหลายขั้นตอน เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ
ยิ่งนาน ยิ่งทรงคุณค่า ภูมิปัญญาจักสานบ้านป่าบง
การจักสานไม้ไผ่ จะมีอุปกรณ์การทำ คือ มีด สำหรับผ่า และ ตัดไม้ไผ่ มีดจักตอก ที่มีปลายด้ามงอนเป็นพิเศษ ส่วนด้ามจะสอดรับระหว่างแขน ทำให้เวลาจักตอก จะมีความกระชับ สะดวกต่อการทำของสล่า เพิ่มความรวดเร็วยิ่งขึ้น เหล็กหมาดปลายแหลม และปลายหอก จะช่วยเจาะรูเครื่องจักสาน เลื่อย จะใช้สำหรับแบ่งไม้ไผ่ให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ ถังน้ำ ใช้สำหรับแช่ไม้ไผ่
การทำเครื่องจักสานของบ้านป่าบงนั้น จะเริ่มจากการเตรียมวัตถุดิบไม้ไผ่ เข้าสู่ขั้นตอนการ “จัก” ผ่าให้แตกเป็นซี่บาง ๆ จากนั้นเหลาให้เรียบเพื่อลดความคมของไม้ แล้วนำเส้นมาตอก สานขึ้นรูปตามที่ต้องการ เมื่อขึ้นรูปเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะทำการตกแต่ง อาจมีการประยุกต์ลวดลายต่าง ๆ เพื่อความสวยงาม และทำการเคลือบผิวเป็นสิ่งสุดท้าย
การสานลวดลายก็มีหลากหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ลายขัด ที่มีวิธีการ “ยก” ขึ้นเส้นหนึ่ง แล้ว “ข่ม” ลงเส้นหนึ่ง สลับกันไปมา หรือการสอด และขัดแปลกออกไป ก็จะเป็นลายที่ยากขึ้น ลายที่มีลักษณะพิเศษกว่าลายอื่นๆ ที่ช่วยให้งานจักสาน มีจังหวะ ชั้นเชิง ความสวยงาม เป็นคุณค่า และภูมิปัญญาที่สั่งสมมา เป็นสิ่งล้ำค่าที่บรรพบุรุษได้ช่วยกันสานต่อยอดให้ยังคงอยู่คู่แผ่นดินล้านนาสืบมาจนปัจจุบัน
ของดีป่าบง เป็นกระบุงของป่าบง คือลาย 2มีดี ตัวนี้ เป็นสัญลักษณ์ของป่าบงเลยนะ มีเป็นร้อยเป็นพันใบ แต่ไม่พอขาย ทุกวันนี้ ร้านค้าบอกได้เลยว่าแย่งกันมาก แล้วมันเป็นงาน ที่เป็นงานศิลปะ มันจะมีลวดลายขึ้นมา ลวดลายนี่บ่งบอกเลยนะ ว่ามาจากป่าบง เมื่อก่อนนี้ ตำบลป่าบงนี่คือ ไผ่บงเยอะ เป็นไผ่ที่ทำแล้วสวยมาก ทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมาแล้วมันจะทน แข็ง มอดจะไม่กิน สวยงาม ตัวนี้เป็นงานที่ละเอียดนะ เป็นตัวที่กลัวจะสูญหาย เพราะเป็นงานที่ละเอียด มีคนที่ทำน้อยที่สุด แทบจะไม่มีเลย เหลือแต่ผม — อำนวย แก้วสมุทร์ –
งานจักสาน ศิลปหัตถกรรมสะท้อนภูมิปัญญาอันล้ำค่า งานหัตถกรรมทำมือ ที่ใส่ใจของสล่าลงไปเต็มร้อย
“…ที่ทำทุกวันนี้ก็มีอายุ 70 – 80 มีประมาณสัก 40 กว่าคนได้ ทำไงล่ะ หาคนหนุ่ม ๆ มันยาก แรงจูงใจเขาไม่ค่อยมี งานนี้มันอยู่ที่ใจรักด้วย ถ้าเป็นงานแบบนี้ จะใช้เครื่องจักรไม่ได้ จะอยู่ที่การใช้…ใช้มืออย่างเดียว…” — อำนวย แก้วสมุทร์ –
สล่าอำนวย แก้วสมุทร์ หรือ สล่าแดง เป็นตัวแทนของสล่าจักสานบ้านป่าบง ที่ยังคงทุ่มแรงกาย แรงใจ ในการอนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญาล้ำค่านี้ไม่ให้สูญหายไปจากบ้านป่าบง สล่าแดงเป็นหนึ่งคนที่โตมากับบ้านป่าบง โตมากับสภาพแวดล้อมที่มีครอบครัวจักสานไม้ไผ่ สล่าบอกกับเราว่า ในสมัยก่อน การจักสานมีอยู่ไม่กี่อย่าง จักสานเพียงแค่หาเงินทุน สำหรับส่งลูก ส่งหลานเรียนหนังสือ จักสานเฉพาะของใช้ที่ตอบโจทย์กับการใช้งานเมื่อไปทุ่งนา หรือไปตลาด สล่าแดงก็ได้มีการเรียนรู้ และนำมาประยุกต์เข้ากับสิ่งใหม่ ๆ ทำให้สินค้ามีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพิ่มความทันสมัย ทำให้งานจักสานเป็นที่รู้จักมากขึ้น นอกจากการใช้งานเดิม ๆ อย่าง ข้องสำหรับจับปลา กระเช้าสีดาไว้สำหรับใส่ของ ก็ได้มีการขยายนำไปเป็นของที่ระลึก ของโชว์ในงานสำคัญต่าง ๆ ของเชียงใหม่ อย่างเช่น งานอำ งานฤดูหนาว หรือออแกไนซ์ต่าง ๆ
แต่ในทุกวันนี้ปัญหาที่เหล่าสล่าจักสาน กำลังเผชิญอยู่ คือ ปัญหาวัตถุดิบไม่เพียงพอต่อการใช้งาน และอีกหนึ่งปัญหา คือ คนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสำคัญน้อยลง จำนวนผู้ผลิตงานฝีมือมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด ด้วยความที่เป็นงานละเอียด มีการใช้เวลาทำที่นาน เป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบันของคนสมัยใหม่ จนกลายเป็นตอนนี้ มีเพียงผู้เฒ่า ผู้แก่ ที่ยังคงเห็นความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมสิ่งนี้
“…ใจเนี่ย ใจ อย่างน้อยต้องเกินร้อยที่เอาใส่ในตะกร้าตัวนี้ แค่มืออย่างเดียวไม่สำเร็จ ใจเนี่ย อย่างผมว่า มีร้อยต้องใส่ให้ไปเกินร้อยเลย…”– อำนวย แก้วสมุทร์ –
สืบ “สาน” ภูมิปัญญาดั้งเดิมสู่ความร่วมสมัย “สาน” ต่อ ความภาคภูมิใจของชาวป่าบง
การสานไม้ไผ่ เป็นการสาน ที่ต้องใช้ทั้งสมาธิ และสติที่สูงมาก ยิ่งลายที่มีความยากในการสาน ก็ต้องใช้ประสบการณ์ และความละเอียดเพิ่มขึ้น บ้านป่าบงแห่งนี้ ก็เปรียบเสมือนแหล่งเรียนรู้ มีสถาบันศึกษาจากหลากหลายแห่ง ที่ได้นำนักศึกษา เด็กรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้ภูมิปัญญา ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยพายัพ หรือจะเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นความน่ายินดีที่ทุกวันนี้สถาบันการศึกษายังไม่หลงลืม นำความร่วมสมัยเข้ามาร่วมกับสิ่งที่ล้านนาของเรามีอยู่ สำหรับใครที่สนใจ อยากจะฝึกฝนการสาน ที่นี่ก็มีให้ลองหลายอย่าง เพราะ สล่าแต่ละคนก็จะมีความถนัดแตกต่างกัน เช่น การขึ้นรูป หรือ งานละเอียดต่างๆ ชิ้นเล็ก ชิ้นใหญ่ ก็สามารถเข้ามาที่นี่ได้
“…อยากให้วัยรุ่นเข้ามาสนใจ ขอให้เข้ามาดูก่อน เข้ามาดูวิธีการทำ มาบ้านลุงแดง จะรับสอน เอาแต่ตัวกับใจเข้ามา เอาสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาประยุกต์ ทำให้มีสินค้าหลากหลายขึ้นมา จะสอนฟรีไม่หวงวิชา วัสดุมีให้ แต่ต้องให้ใจรัก การอนุรักษ์งานจักสานป่าบงอยากให้มันอยู่ต่อไป มันจะสูญนะ อยากให้เขาได้รู้จักกันทั่ว ๆ สูงสุดของเราเลย คือ เขาต้องรู้เลยจักสานป่าบงขึ้นเป็นอันดับหนึ่งเลย จิ้มมาปุ๊ปรู้เลยนี่เครื่องจักสานป่าบง…” — อำนวย แก้วสมุทร์ –
การเรียนรู้ การทำเครื่องจักสาน ไม่ใช่เพียงการเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์ของดั้งเดิมให้คงอยู่เพียงอย่างเดียว แต่องค์ความรู้สามารถนำไปต่อยอด ประยุกต์เข้ากับการใช้งานของวิถีชีวิตคนในปัจจุบันได้อีกด้วย เป็นความคาดหวังว่าที่จะให้งานฝีมือที่เคยเป็นอาชีพดั้งเดิมยังอยู่ได้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม บ้านป่าบงยินดีต้อนรับผู้ที่สนใจศึกษาทำเครื่องจักสาน ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว หรือ นักศึกษา เพื่อให้นำองค์ความรู้ไปต่อยอดได้ต่อไป แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไป วิถีชีวิตจะเปลี่ยนไป แต่ชุมชนบ้านป่าบง ยังคงมีมนต์เสน่ห์ให้ผู้คนเข้าไปเยี่ยมชม งานจักสานยังคงคุณค่าในฝีมือของสล่า ที่บรรจงเรียงร้อยเส้นตอก ส่งผ่านจิตวิญญาณ และความตั้งใจ ออกมาเป็นรูปร่าง ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
“…ใจผมขอบคุณมาก ๆ ที่คนเฒ่าคนแก่ เขายังอนุรักษ์ร่วมกันอยู่ กลัวจะไม่มีคนสืบ
ไม่อยากจะเดาเหตุการณ์ข้างหน้า กลัวมันสูญหายไปจริงๆ…”
— อำนวย แก้วสมุทร์ –
ร่วมแสดงความคิดเห็น