งานหัตถกรรมล้ำค่า “ผ้าเขียนเทียน” ศิลปะบนผืนผ้า ความภาคภูมิใจของชนเผ่าม้ง

ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 12 ผ้าเขียนเทียน ม้งดอยปุย

“…เราภูมิใจที่เราเกิดเป็นคนม้ง ทำลวดลายที่คนอื่นเขาทำไม่ได้
อนาคตไม่รู้ แต่ปัจจุบันสูญหายไม่ได้ ถ้าผ้าเขียนขี้ผึ้ง กับกัญชงหายไป
เอกลักษณ์ของม้งก็คงไม่มี… ”
— ธัญพร ถนอมวรกุล –

ศูนย์วิสาหกิจชุมชนดาวม่าง บ้านแม่สาน้อย ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นสถานที่ที่มีสภาพทางกายภาพทั่วไปเป็นภูเขา บางส่วนเป็นที่ราบเชิงเขา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ และเป็นพื้นที่ราบเพาะปลูก เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โดยมีคำขวัญประจำตำบลโป่งแยงว่า ต้นน้ำแม่สา ตระการตาไม้ดอก ส่งออกพริกหวาน บ้านพักโฮมสเตย์ ประเพณีไทยม้ง ถิ่นดงมะระหวาน ตำนานขุนหลวง บวงสรวงพญาแสน ดินแดนมะแขว่นหอม หลอมรวมวัฒนธรรม หนึ่งในวัฒนธรรมโดดเด่น ก็คือ งานหัตถกรรม “ผ้าเขียนเทียน” เป็นภูมิปัญญาล้ำค่า ที่ส่งต่อจากบรรพบุรุษมาอย่างยาวนาน เป็นความภาคภูมิใจของชนเผ่าม้ง ดาวม่างมีความหมายมาจากคำว่า ดาว ที่แปลว่าผ้า ม่าง ที่แปลว่ากัญชง แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการทอผ้าด้วยเส้นใยของกัญชงของชาวม้ง เส้นใยจากกัญชงที่เหนียวแน่น เชื่อมต่อกับวิถีชีวิตของชาวม้ง เป็นมรดกทางศิลปะ ที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ผ้าเขียนเทียน ไม่ใช่เพียงสินค้า แต่คือวัฒนธรรมที่ฝังรากแน่นอยู่ในเส้นใยทุกเส้น จากอดีตสู่ปัจจุบัน

งานหัตถกรรมล้ำค่า ผืนผ้าที่เชื่อมร้อยโยงใยวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน

ผ้าเขียนเทียน ถือเป็นภูมิปัญญา และศิลปะดั้งเดิมที่เป็นมรดกของชนเผ่าม้ง ภูมิปัญญาที่สืบสานมานานกว่าหลายศตวรรษ สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบันนี้ ถือเป็นศิลปะการสร้างลวดลายบนผืนผ้าที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น เพราะแฝงไปด้วยความเชื่อ และความศรัทธาต่อบรรพบุรุษ

เริ่มตั้งแต่ชาวม้งอาศัยอยู่ในแผ่นดินจีน จนต่อมาเกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง มีสงครามรบกันในประเทศ ชนเผ่าม้งจำนวนมากได้อพยพหนีภัยออกจากประเทศจีน มีกระจายไปอาศัยอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั้งในพม่า ลาว เวียดนาม และ ก็มีบางกลุ่มที่เดินทางมายังประเทศไทย โดยเริ่มตั้งรกรากบริเวณเทือกเขาสูงชายแดนภาคเหนือของไทย ซึ่งในยุคนั้น ทุกอย่างขาดแคลน เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ชาวม้งที่อพยพมามีข้าวของติดตัวมาเพียงเล็กน้อย บางคนมีเมล็ดกัญชงติดตัวมา ก็อาศัยเมล็ดกัญชงนี้ในการแก้ปัญหาขาดแคลน โดยการนำมาปลูก และ ลอกเอาใยจากต้นกัญชง มาตำให้นิ่ม แล้วมามัดต่อกันเป็นเส้นยาว แช่น้ำทำขี้เถ้าเพื่อฟอกให้ขาวก่อนจะเอาไปทอเป็นผืนผ้า ผ้าที่ได้จากใยกัญชงนี้ จึงกลายเป็นที่นิยม สำหรับนำไปทำเครื่องนุ่มห่ม ด้วยคุณสมบัติของเปลือกของกัญชง ที่มีความคงทน แข็งแรง ของมีคม กรีดไม่เข้า เวลาทำเป็นเสื้อผ้าก็ไม่เกิดเชื้อรา สามารถป้องกันไรฝุ่น ระบายกลิ่น ระบายความชื้น และกันน้ำได้ดี

“…กัญชงนี้คำเล่าของ ปู่ ย่า ตา ยาย เขาก็บอกว่าสมัยก่อนเขาก็อยู่ในป่า ในเขา ถ้าเขาไม่มีกัญชงเขาก็อยู่ไม่ได้ต้องปลูกกัญชงเพื่อมาทำเสื้อผ้า เขาไปที่ไหนก็ต้องเอาไปด้วย ม้งเขาก็ทำกัญชงมาตั้งแต่โบราณ เมื่อก่อนที่มีสงคราม ม้งก็หนีสงคราม ไม่รู้จะเอาตัวหนังสือไปไว้ที่ไหน ก็เลยเอามาเขียนไว้ที่กระโปรงของม้ง เมล็ดพันธุ์ข้าวไปหาที่ไหนก็ได้แต่ถ้าเป็นกัญชงไปหาที่ไหนก็ไม่ได้หนีไปที่ไหน อพยพยังไง ไกลยังไงก็ต้องเอากัญชงไปเพราะฉะนั้นกัญชงเขาก็นำมาจากบรรพบุรุษ จะมีม้งอยู่ 2 อย่าง คือม้งขาว กระโปรงจะเป็นสีขาวหมดเลย แต่ถ้าเป็นม้งเขียว หรือม้งลาย กระโปรงต้องมีลวดลาย ถ้าเรามีกระโปรงสิบผืน ก็ต้องมีลวดลายทั้งสิบผืน…” — ธัญพร ถนอมวรกุล–

กัญชง ด้วยความที่มีลักษณะคล้ายกัญชา ที่เป็นพืชต้องห้าม เพราะเป็นพืชที่มีสารเสพติด จึงทำให้ต้นกัญชงนั้นถูกรื้อถอนในหลายต่อหลายครั้ง ต้นกัญชงนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับต้นกัญชาในทางพฤกษศาสตร์เท่านั้น ไม่ใช่พืชที่เป็นสารเสพติดเหมือนกัญชา แต่เพื่อเป็นการแก้ปัญหา ชาวม้งจึงเริ่มเปลี่ยนจากนำกัญชงมาทำเป็นผ้า ก็เริ่มนำฝ้ายมาทดแทนวัตถุดิบดั้งเดิม และภายหลังเมื่อโลกเปลี่ยนแปลง เจริญขึ้น มีการติดต่อสื่อสารทั่วถึงกันมากยิ่งขึ้น ชาวม้งเริ่มมีการปรับเปลี่ยนการทำผ้า เริ่มอยากให้เสื้อผ้าที่สวมใส่ มีสีสันลวดลายสวยงาม แปลกตาขึ้น มีการนำสมุนไพรที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน อย่าง ต้นคราม ที่ให้สีที่สดใส สวยงาม และเป็นสีที่ติดมือแล้วล้างไม่ออก มาใช้ในการย้อมผ้า เพื่อความสวยงาม และความคงทนของสีที่จะไม่ลอก หรือจางออกไปได้ง่าย

“ผ้าเขียนเทียน” ศิลปะบนผืนผ้า ความภาคภูมิใจของชนเผ่าม้ง

“…กระโปรงยังไงก็ต้องมีลวดลาย ถ้าไม่มีลวดลายก็ถือว่าเราไม่ใช่ม้งลาย ถ้าเราไม่มีกัญชง เวลาเราจากโลกนี้ไป เราจะไม่เจอบรรพบุรุษของเรา ถ้าเราไม่มีกระโปรงของแม่ไว้สักผืนหนึ่ง เวลาเราตายไปก็จะหาแม่ตัวเองไม่เจอ เราใช้กัญชงตั้งแต่แรกเกิด จนชีวิตสุดท้ายของเรา เพราะเราไม่มีกัญชงเราก็ทำพิธีกรรมไม่ได้ แล้วคนที่ตายระหว่างที่เขาทำงานศพอยู่ ก็ต้องมีกัญชงเพื่อทำรองเท้า และเชือก เขาถือว่าจะเป็นเชือกสำหรับคนตายเขาจะไปจูงม้า เพราะฉะนั้นความผูกพันของม้งก็คือยังไงเราก็ต้องมีกัญชง…”
— ธัญพร ถนอมวรกุล –

ผ้าเขียนเทียน ผืนผ้าที่แฝงไปด้วยความเชื่อ และเรื่องราว วิถีชีวิตของความเป็นม้ง การเย็บปักถักร้อยเป็นประเพณีวัฒนธรรมของชาวชนเผ่าม้ง ผู้หญิงม้งทุกคนจะถูกสอนให้ทอผ้าเย็บผ้า จนชำนาญตั้งแต่เล็ก เพราะสำหรับชนเผ่าม้งนั้นงานในไร่นา และการตีเหล็ก ถือเป็นหน้าที่ของผู้ชาย ในขณะที่ผู้หญิงต้องรับผิดชอบเรื่องอาหาร และเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มของคนทั้งบ้าน ดังที่มีคํากล่าวถึงวิถีชีวิตชาวม้งตั้งแต่โบราณกาลว่า “ผู้หญิงปักผ้า ผู้ชายตีมีด” ชาวม้งมองว่า ผู้หญิงที่ทำผ้าไม่ได้ ทอผ้าเย็บผ้าไม่เป็น จะไม่มีผู้ชายมาสนใจ เพราะประเพณีม้งถือว่า ผู้หญิงที่ทำสิ่งเหล่านี้ไม่เป็น ถือเป็นผู้หญิงที่ไม่มีประโยชน์ จะทำให้ครอบครัวลำบากในภายภาคหน้า ผู้หญิงคนนั้นจะลงเอยด้วยการไม่ได้แต่งงาน และกลายเป็นหญิงที่มีสถานภาพต่ำต้อยในชุมชน แต่ถ้าหญิงสาวม้งคนใด เก่งเรื่องงานผ้า ทั้งการทอ การปักผ้า และการเขียนผ้า ก็จะได้รับการนับหน้าถือตา ได้รับการยกย่อง มองว่าสามี และลูกในอนาคตจะมีเสื้อผ้า เครื่องนุ่มห่มใช้สอยไม่ขาดมือ ทำให้หญิงคนนั้นจะมีมูลค่าที่สูง เราจึงมักจะพบเห็นภาพหญิงสาวที่กำลังเย็บปักผ้า หรือถักทอเสื้อผ้าเพื่อคนในครอบครัว อีกหนึ่งความเชื่อของชาวม้งในอดีต คือ เมื่อหญิงสาวใดให้กำเนิดลูก ผู้ที่เป็นแม่จะต้องทอเสื้อของลูกให้เสร็จภายใน 1 วัน โดยมีนัยสำคัญก็คือ ผ้าผืนแรก คือ การสวมจิต และวิญญาณ ของชาวม้งให้อยู่ในตัวเด็ก นับจากวันนี้จนถึงวันตาย เพื่อให้เด็กก้าวเดินได้อย่างมั่นคงไปตลอดชีวิต และก้าวเดินในทางเดินที่ถูกที่ควร

“ผ้าเขียนเทียน” มรดกทางศิลปะ เอกลักษณ์ที่สะท้อนภูมิปัญญา และทักษะเชิงช่าง

กระบวนการทำผ้าเขียนเทียน จะมีเอกลักษณ์เป็นสิ่งที่ชาวม้งทำมาตั้งแต่ดั้งเดิม และในปัจจุบันก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ โดยจะมีอุปกรณ์ คือ แท่งเล็ก ๆ ที่ทำมาจากไม้กับทองแดง การทำผ้าเขียนเทียนนั้น มีกระบวนการที่ค่อนข้างเยอะ และซับซ้อน“…ถ้าเราทอได้ผ้า 1 ผืน 1 ผืนคือ 4 วา เราใช้เวลาเขียน 2 อาทิตย์ ย้อมสีอีก 2 อาทิตย์ แล้วก็กระโปรงผืนหนึ่งคือ ไม่ใช่ว่าเราเขียนแค่พื้นเสร็จ แล้วเราจะได้ใช้ คือเราต้องปักชายกระโปรงให้เป็นลวดลายตรงข้างล่างนี้อีก การปักลวดลายตัวนี้ก็ใช้เวลาหลายเดือน ใช้เวลาเป็นปีเลยค่ะ กว่าจะได้ผ้าผืนหนึ่ง เพราะกระบวนการทำนั้นมีกว่า 20 ขั้นตอน เมื่อครบทุกขั้นตอนแล้วจึงนำมาเขียนด้วยขี้ผึ้ง ในการเขียนเทียนลวดลายจะอยู่ในจินตนาการของผู้เขียน ลวดลายนี้จะเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของชาวม้งลาย…” — ธัญพร ถนอมวรกุล –

โดยในขั้นตอนแรกนั้น จะเป็นการเตรียมเส้นใยกัญชงสำหรับทอผ้า ตัดลำต้นกัญชง แล้วนำมามัดรวมกันเป็นกำ ตากแดดให้แห้งประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นลอกเปลือกออกจากลำต้นที่ผ่านการตากแห้งมาแล้ว นำเปลือกที่ลอกมามัดรวมกันเป็นมัดใหญ่ ไปตำให้นิ่มในครก จนได้เส้นที่นิ่มตามที่ต้องการ ก็จะมีการนำเส้นใยที่นิ่มมามัดต่อกันเป็นเส้นยาว โดยขยี้ปลายเส้นใยทั้งสองเส้น ให้เส้นใยแยกออกจากกัน เมื่อได้แล้วก็นำมาทาบติดกัน แล้วใช้มือริ้วให้เป็นเส้นเดียวกันโดยไม่มีปม นำเอาเส้นใยที่ต่อกันแล้วพันกับตีนตั่ว เพื่อทำเป็นก้อน นำมาปั่นให้เป็นเกลียว แล้วเข้าหลอดกรอ นำไปวนรอบไม้กากบาท เพื่อวัดความยาว และทำเป็นไจ นำไปต้มกับขี้เถ้าเพื่อฟอกให้ขาว แล้วไปวักในน้ำสะอาด นำเส้นใยที่ฟอก และล้างแล้วไปทำให้นิ่มอีกครั้งหนึ่ง โดยการรีด เมื่อรีดจนนิ่มแล้ว นำไปวนรอบไม้กากบาทเพื่อตากลม ให้แห้ง สำหรับนำไปทอเป็นผืนผ้าต่อไป

เมื่อได้ผ้ามาหนึ่งผืน จะเข้าสู่กระบวนการวาดลาย นำผ้ามาร่างภาพโดยใช้ดินสอ หรือ ปากกาขีดเขียนลายเส้น ออกแบบตามที่ต้องการโดยส่วนมากจะนิยมนำผ้ามาตีช่องขนาดเท่า ๆ กัน เพื่อเตรียมสำหรับการวาดลวดลายด้วยเทียน เตรียมขี้ผึ้ง หรือเทียน โดยการนำไปใส่ในภาชนะ ตั้งเตา ต้มให้ละลาย การต้มจะต้องคอยระวัง ไม่ให้มีความร้อนสูงเกินไป หรือต่ำเกินไป เพราะจะมีผลต่อลวดลายที่คมชัด ความสม่ำเสมอ นำผ้ามาวางทาบลงบนไม้กระดานรองเขียน และจัดให้ผ้าตึงพอดี จุ่มขี้ผึ้งหรือ เทียนมาวาดลวดลายบนผืนผ้าให้ทั่ว

นำผ้าเขียนเทียนที่ลวดลายแห้งดีแล้ว ไปแช่น้ำ 1 คืน เมื่อเสร็จแล้วก็จะนําผ้าไปย้อมเย็นด้วยสีน้ำเงิน ต้มน้ำร้อน และน้ำสีครามมาละลายในน้ำต้ม ผสมให้เข้ากัน ทิ้งให้เย็น และเทลงไปในโอ่ง หรือถังที่เตรียมไว้ นำผ้าที่ทำการเขียนเทียนแล้วมาแช่ คนให้ทั่ว แช่ไว้ประมาณ 30 นาที แล้วบีบน้ำออก ผึ่งในที่ร่ม ห้ามนำผึ่งแดด เพราะจะทำให้เส้นเทียนละลายออกได้ นำผ้าที่แห้งแล้ว มาย้อมซ้ำตามขั้นตอนเดิมหลาย ๆ รอบจะทำให้สีเข้มขึ้นตามต้องการ ถ้าทำซ้ำมากกว่า 5 รอบ จะทำให้ลวดลายเทียนติดทนนาน แม้เวลาผ่านไปหลายสิบปีก็ยังมีลายเทียนติดคงทนอยู่บนผ้าอย่างสวยงาม

ซึ่งในเรื่องของลวดลายบนผืนผ้า แต่ละผืนนั้นก็จะมีความแตกต่างกันไป ตามแต่ความชํานาญ และความคิดสร้างสรรค์ของผู้วาด ลวดลายจะมีทั้งลายดั้งเดิมที่สืบทอดต่อ ๆ กันมา และลวดลายที่เกิดจากจินตนาการ การสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ของแต่ละคน แต่ไม่ว่าลวดลายจะมีการออกแบบอย่างไร ทุกลวดลายก็จะสะท้อนถึงความเป็นชนเผ่าม้ง ที่เป็นเอกลักษณ์ โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็น ลายกากบาท ลายก้นหอย

พลังแห่งศรัทธา จิตวิญญาณที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ภูมิปัญญาที่ต้องอยู่คู่กับชนเผ่าม้งไปตลอดกาล

เทคนิคการทำผ้าเขียนเทียนนั้น ถือได้ว่ามีขั้นตอนที่ยุ่งยาก และซับซ้อน และต้องใช้ทักษะฝีมือเป็นอย่างมากในการวาดลวดลาย เมื่อในยุคสมัยปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และรสนิยมความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ชาวม้งเองก็ต้องปรับตัวตามยุคสมัยที่เปลี่ยน วิธีการทำผ้าเขียนเทียน จากทำเพื่อใช้ในกลุ่ม หรือคนในครอบครัว ก็ทำเพื่อการค้ามากขึ้น มีการพัฒนาคิด ผลิตอุปกรณ์แม่พิมพ์ปั๊มลวดลายต่าง ๆ แทนการเขียนด้วยมือ เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ใช้วิธีการปั๊มลวดลายที่เกิดจากการใช้กราฟฟิกสมัยใหม่ เพิ่มความรวดเร็ว สร้างความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ถึงแม้จะเป็นการปรับตัวที่เข้ากับยุคสมัยใหม่ได้ดี แต่ก็ต้องยอมรับว่า การปรับตัวแบบนี้ อาจทำให้อนาคตของศิลปะการเขียนเทียนอันสะท้อนถึงภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เป็นมรดกตกทอดมาแต่บรรพบุรุษของชนเผ่าม้ง อาจจะสูญหายไปด้วยเช่นกัน ความสมัยใหม่ ที่เข้ามาแทนความดั้งเดิม

“…ถ้าเราเขียน แต่ละลวดลายทุกอย่างจะอยู่ในสมอง หรืออยู่ในใจเรา เพราะฉะนั้น เมื่อเราจะเขียนลาย เราต้องตั้งสมาธิให้ดี แล้วก็ต้องเก็บลวดลายของเราไว้ให้ดีที่สุด เมื่อสมัยก่อน ทำกระโปรงใช้อย่างเดียว สมัยนี้ ทำเสื้อ ทำอะไรก็ได้ คนรุ่นใหม่เขาจะใช้ตัวปั๊มเอา ตัวปั๊มก็จะเป็นลวดลายของม้งเหมือนกัน แต่อยู่ที่คน บางคนถ้าเขาทำได้จริง ๆ เขาจะไม่เอาตัวปั๊ม ต้องเขียนเอา อยากให้มาสัมผัส มาเรียนรู้ว่าการทำกัญชงยากขนาดไหน การเขียนยากขนาดไหน ทำเอง เราปลูกเอง ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ การย้อม ก็ย้อมเป็นสีธรรมชาติ การเขียนก็ไม่ใช่ว่าเอาตัวปั๊มมาปั๊ม เราเขียนทีละเส้น…” — ธัญพร ถนอมวรกุล –

ผ้าเขียนเทียนเป็นดั่งงานศิลปะอันทรงคุณค่าที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวม้ง มรดกทางศิลปะ ที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ความพิเศษของผ้าเขียนเทียน ไม่ใช่เพียงเพราะทำมาจากกัญชง มีความเหนียวแน่น และทนทาน แต่ความพิเศษของผ้าผืนนี้ คือ ผ้าที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของชนเผ่าม้ง ในทุกวันนี้ชาวม้งทุกคนพยายามที่จะรักษากรรมวิธีดั้งเดิมเอาไว้ ถึงแม้ปัจจุบันนี้จะมีการผลิตด้วยวิธีการใหม่ ๆ โดยการใช้แม่พิมพ์ เครื่องปั๊มลายลงบนผ้า เพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนยุคใหม่มากขึ้น แต่การทำผ้าเขียนเทียนด้วยวิธีการดั้งเดิมยังเป็นสิ่งเดียว ที่จะรักษาคุณค่าทางจิตใจของผู้สร้างสรรค์ และ ผู้สวมใส่ ให้รู้สึกภูมิใจในความเป็นตัวตน

ผ้าหนึ่งผืนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อ ความศรัทธาต่อภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ งานหัตถกรรมล้ำค่า ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้วัตถุดิบที่ใช้นั้น เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าของผ้าเขียนเทียนลดน้อยลง เรายังคงเห็นชาวม้งสวมใส่ผ้าพื้นเมือง จนกลายเป็นอัตลักษณ์อันโดดเด่น รวมถึงยังได้มีการผลิตเพื่อจำหน่าย สร้างรายได้ให้กับตนเอง และสร้างชื่อเสียงให้ผลงานเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย หากชาติพันธุ์ที่มีประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่อย่างชนเผ่าม้ง ยังยืนหยัดที่จะรักษา และสืบทอดงานหัตถกรรมโบราณมาจนถึงยุคสมัยนี้ได้ การส่งต่อมรดกให้ลูกหลานม้งอีกหลายศตวรรษข้างหน้าก็คงไม่ใช่เรื่องยาก เพียงต้องการให้ผู้คนได้รู้จัก และมาสัมผัสกับอีกหนึ่งวัฒนธรรม ที่ในวันนี้ยังต้องการ การสนับสนุนจากทุกคน มารับรู้ถึงเรื่องราวความเชื่อ วัฒนธรรมที่ฝังแน่น ด้วยจิตวิญญาณเหล่านี้ ให้ได้ดำรงอยู่เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของตนเองต่อไป

“…อยากฝากให้คนรุ่นหลังเราว่า อย่าลืมว่า…ถึงเราจะอยู่จุดไหนของประเทศ
หรือว่าจุดไหนของโลก เราไม่ควรลืมเชื้อสายของเรา เราไม่ควรลืมลวดลายของเรา…”
— ธัญพร ถนอมวรกุล –

ร่วมแสดงความคิดเห็น