ภูมิปัญญากว่า 50 ปี “ผ้าฝ้ายเชิงดอย” ตำนานผ้าย้อมหินโมคคัลลาน

ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 13 ช่างทอผ้าฝ้ายเชิงดอย

“…เด็กสมัยนี้อาจมองว่าเป็นเรื่องที่ล้าสมัย แต่รู้หรือไม่ว่าทุกวันนี้ที่เราคิด เราทำ ก็ทำให้พวกเขา
วันหนึ่งเขากลับมาบ้าน จะได้รู้ว่าคุณค่าจริง ๆ แล้ว ก็คือของในหมู่บ้านเรานี่แหละ… ”
— ทัญกานร์ ยานะโส –

“ผ้าฝ้ายเชิงดอย” การย้อมผ้าด้วยหินโมคคัลลาน เอกลักษณ์หัตถกรรมล้านนา ที่สืบทอดมานานกว่า 50 ปี กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอย ตำบล สบเตี๊ยะ อำเภอ จอมทอง จังหวัด เชียงใหม่ คือ ชุมชนที่มีภูมิปัญญาโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ด้วยการใช้หินเป็นวัตถุดิบในการย้อมผ้า คือ หินโมคคัลลาน เป็นวิธีการทางธรรมชาติ สีที่แปลกตาจากหิน ผสานเป็นหนึ่งเดียวกับผ้าฝ้ายคุณภาพ ก่อเกิดรายได้ และการพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืนให้คนในชุมชนมาอย่างยาวนาน ซึ่งทางชุมชนเองก็เคยเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยมามากมาย จนสามารถปรับตัว และเกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืน อยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้

หนึ่งเดียวในเชียงใหม่ หัตถกรรมผ้าฝ้ายเชิงดอย

ภูมิปัญญาการย้อมผ้าด้วยหินโมคคัลลาน ภูมิปัญญาที่อยู่บนความภาคภูมิใจของชาวจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี คุณทัญกานร์ ยานะโส ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอย ได้บอกเล่าถึงความเป็นมา ต้นกำเนิดของภูมิปัญญาล้ำค่านี้ว่า ประมาณช่วงปีพ.ศ. 2556 มีการตัดถนนเชียงใหม่ ฮอด ผ่านทางหมู่บ้านพอดี จนทำให้ได้ไปเจอกับหินกลุ่มหนึ่ง ที่มาจากดอยโมคคัลลาน ดอยที่เชื่อว่าพระโมคคัลลานะ พระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้าได้เดินทางมาเยือน ทำให้หินที่นำมาจากดอยนี้มีความพิเศษ ทั้งในด้านของความเชื่อ และความงาม นักปราชญ์ของหมู่บ้านที่มีการทำเกี่ยวกับเรื่องการย้อม ได้ลองเอาหินกลุ่มนั้นมาดัดแปลง แล้วลองย้อมเข้ากับผ้าฝ้ายที่มีอยู่ นักปราชญ์ที่เป็นคนสร้างภูมิปัญญาอันล้ำค่านี้ คือ พ่ออินตา นันต๊ะเล

“…ผมเป็นนักปราชญ์ แล้วก็เป็นคนหาวัตถุดิบในการย้อมผ้าของกลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอย พ่อก็คิดว่ามันสีดำ ดำแบบนี้น่าเอามาลองดู พูดกับยาย ยายก็เอามาตำ เอามาร่อน มาย้อม พอย้อมเสร็จ เอามาตากแดด แปปเดียวสีก็มาเลย ส่วนลวดลาย อยู่มาวันหนึ่ง วันออกพรรษา พอดียางกล้วยมันตกใส่ ตกเป็นวงเท่าไหร่ มันก็เป็นวงเท่านั้น เราคิดค้นขึ้นมาในกลุ่มของเรา เรามาลองตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ก็รู้สึกว่าเราได้ประสบความสำเร็จ…” – พ่ออินตา นันต๊ะเล –

ภูมิปัญญาการทอผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ ผลิตด้วยกรรมวิธีธรรมชาติมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นอัตลักษณ์ของผ้าทอในหมู่บ้านแห่งนี้ ผ้าทุกผืนล้วนทอด้วยความประณีต ภายหลังได้มีการพัฒนาต่อยอด มีการผสมผสานการทอจกเข้ามาร่วมด้วย ปักผ้าด้วยลวดลายที่งดงาม มีการสร้างสรรค์ในส่วนของเสื้อ ชุดที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น และด้วยความโดดเด่นนี้ทำให้ผ้าทอของบ้านเชิงดอยกลายมาเป็นที่นิยมของผู้บริโภค รวมถึงยังเป็นแหล่งการเรียนรู้ ที่มีการพัฒนาองค์ความรู้ และเผยแพร่แก่ผู้ที่สนใจอยู่เสมอ

“…พอเราเจอก้อนหินที่ดอยโมคคัลลาน เราก็ได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณของพระโมคคัลลานะ ในชื่อสีที่เราย้อมคือ สีหินโมคคัลลาน เป็นสีที่เป็นอัตลักษณ์ของหมู่บ้านเรา ซึ่งตรงนี้เรามีปราชญ์ชุมชน มีพี่น้องชาวบ้าน ช่างทอ ช่างย้อม ที่มาช่วยกัน เพื่อที่จะทำให้งานเหล่านี้ เป็นที่สืบทอด ให้เด็ก ๆ ได้มาแวะเวียนดู และมีการกระจายงานออกไป สร้างรายได้สู่ชุมชนของเรา เราพัฒนาฝีมือจากผ้าทอธรรมดา มาเป็นผ้าจก แปรรูปเป็นเสื้อผ้า แล้วก็ยังมีการปักผ้าอีกด้วย…” — ทัญกานร์ ยานะโส –

ฟื้นฟูภูมิปัญญาทอผ้า ที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวเชียงใหม่มากว่า 50 ปี

ผ้าฝ้ายเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ที่อยู่คู่มนุษย์เรามานานกว่าหลายพันปี และเป็นวัตถุดิบที่ถูกค้นพบการใช้ในหลากหลายวัฒนธรรม ชาวล้านนาเองก็มีการผลิตผ้าฝ้ายมาใช้เหมือนกัน ผ้าฝ้ายทอของล้านนาถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งในเรื่องของลวดลาย เช่น ลายผ้าสีเงิน และทอง ที่มักจะถูกทอขึ้นสำหรับเจ้านาย หรือคนชั้นสูง หรือจะเป็นผ้าพื้นบ้าน ที่ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ผ้าซิ่น ในส่วนของผ้าฝ้ายเชิงดอยของชาวชุมชนบ้านสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นผลิตภัณฑ์ที่นอกจากรักษ์วัฒนธรรมแล้ว ยังรักษ์โลกอีกด้วย

ท่ามกลางกระแสสังคมที่เปลี่ยนไป พร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด สิ่งแวดล้อมถูกทำลายไปอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของมนุษย์ อุตสาหกรรมต่าง ๆ ล้วนเติบโตขึ้น ในขณะที่สิ่งแวดล้อมย่ำแย่ลง ไม่เว้นแต่อุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่เราทุกคนต่างสวมใส่กันอยู่ในทุก ๆ วัน แต่กลุ่มวิสาหกิจผ้าฝ้ายเชิงดอย เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์วัฒนธรรม ไปพร้อมกับการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปด้วย ก่อให้เกิดสายใยเชื่อมโยงระหว่างชาวบ้านผู้ทอผ้ากับธรรมชาติเข้าด้วยกัน ทุกกระบวนการผลิตผ้าฝ้ายเชิงดอยนั้นล้วนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามหลัก 4R ไม่ว่าจะเป็นการ Reduce, Reuse, Recycle และ Repair ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตที่ปล่อยมลพิษน้อยที่สุด ด้วยแนวคิดเหล่านี้ ทำให้ผ้าฝ้ายเชิงดอยได้รับรางวัล Green Product มาอย่างต่อเนื่อง

บ้านเชิงดอย ได้มีการก่อตั้งโดยการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอยอย่างจริงจัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ สร้างงาน สร้างรายได้แก่สมาชิกกลุ่ม เพื่อส่งเสริม อัตลักษณ์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรมท้องถิ่น และยังได้สร้างความภูมิใจให้แก่ชาวจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยคุณภาพของสินค้าที่ได้รับการการันตีจากหลายรางวัล ไม่ว่าจะเป็นการที่ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอย ได้รับการยกย่องเป็นสินค้า OTOP 5 ดาวจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอจอมทอง รับรางวัลผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระดับดีเยี่ยม ประจำปี 2558 และระดับดีมาก ประจำปี 2562  จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

กลุ่มวิสาหกิจผ้าฝ้ายเชิงดอย ตั้งแต่ค้นพบสิ่งล้ำค่า และมีการกำเนิดภูมิปัญญาขึ้นมา ก็ร่วมสืบสานผลิตภัณฑ์นี้ อยู่ได้มาโดยตลอดบนความภาคภูมิใจของชาวเชียงใหม่ เคยเฟื่องฟูชนิดที่ผลิตสินค้าไม่ทันต่อความต้องการของตลาด จนมาเจอกับพายุคลื่นลูกใหญ่ เผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้ที่เคยมีกลับกลายเป็นศูนย์ และย่ำแย่ถึงขั้นติดลบ

ด้วยความไม่ย่อท้อ ไม่ละทิ้งภูมิปัญญา ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอย อยู่ด้วยความหวังที่จะสามารถพลิก ‘วิกฤต’ เป็น ‘โอกาส’ ต่อเติมความหวังให้กับคนในชุมชนได้  มีการเข้าร่วมกลุ่มมากมาย เพื่อพัฒนายกระดับคุณภาพการทอ และส่งเสริมให้กลุ่มคนเปราะบางได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอาชีพ ทั้งผู้สูงอายุ คนว่างงาน ถือเป็นการยกระดับทักษะของคนในชุมชน ให้พร้อมสำหรับโอกาสใหม่ ๆ เดิมทีปัญหาของกลุ่มคือต้องซื้อวัตถุดิบ โดยเฉพาะฝ้ายจากแหล่งอื่น เพราะในพื้นที่ผลิตไม่เพียงพอ ก็ได้มีการแก้ปัญหา ส่งเสริมการปลูก เพื่อซื้อวัตถุดิบในพื้นที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอย เริ่มสืบค้นเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องผ้ามากยิ่งขึ้น อาทิ ผ้าทอจกล้านนา ซึ่งเคยเป็นลวดลายในวิถีชีวิต เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เริ่มหายไป ได้รื้อฟื้น และนำเทคนิคการทอ การสร้างลวดลายกลับมาอีกครั้ง รวมถึงมีโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกด้วย

ในที่สุดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอยก็สามารถเอาชนะคลื่นพายุลูกนั้นมาได้ หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย หลาย ๆ อย่าง เริ่มกลับคืนสู่สภาวะปกติ ผลลัพธ์จากความร่วมแรงร่วมใจนี้ทำให้กลุ่มกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง สามารถกระจายสินค้า และผลิตภัณฑ์ไปได้อย่างทั่วถึงมากขึ้นกว่าเดิม ด้วยศักยภาพที่เพิ่มขึ้น ทั้งการผลิตวัตถุดิบ ทักษะการทอผ้า ในเชิงปริมาณ และคุณภาพ ได้มีการทำการตลาด มีการเชื่อมโยงกับหลายๆหน่วยงาน เพื่อทำการส่งออกผลิตภัณฑ์ เกิดความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอย และยังสามารถสืบสานสิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวเชียงใหม่ได้มาอย่างยาวนานจนมีอายุกว่า 50 ปี

หัวใจในลายผ้า เรียนรู้งานหัตถกรรมล้ำค่า ร่วมสานต่อตำนาน “ผ้าฝ้ายเชิงดอย” ให้คงอยู่

จุดเด่นสำคัญของผ้าฝ้ายเชิงดอย คือ เป็นผ้าย้อมหินสีจากธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นสีโทนพาสเทล ได้แก่ สีเทาอมฟ้า สีชมพู ม่วงอมขาว และมีการใช้เทคนิคการทอสี่ตะกอ หรือการทอยกดอกเป็นลายดอกกวัก ดอกแก้ว ทำให้มีเสน่ห์เฉพาะตัวที่สวยงาม ทุกกระบวนการบรรจงอย่างสร้างสรรค์ด้วยภูมิปัญญาของผู้เฒ่า ผู้แก่ กว่าจะเป็นผ้าฝ้ายหนึ่งผืน มีกระบวนการทำที่ละเอียด ประณีต โดยจะเริ่มตั้งแต่วัสดุที่นำมาใช้อย่างฝ้าย เป็นฝ้ายพื้นเมืองที่ชาวบ้านปลูกเอง และรับซื้อจากที่อื่นมาบางส่วน เอกลักษณ์ของผ้าฝ้ายเชิงดอย คือ กระบวนการย้อมสีธรรมชาติแบบเย็นจากหินโมคคัลลาน ที่ทำให้ผ้าแต่ละผืนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง สีที่ได้จากการย้อม เป็นสีชนิดเดียวที่มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับสีเคมี เพียงแต่เป็นสีจากธรรมชาติ มีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ด้าน คือ ทนต่อการออกแดด ทนต่อการซัก ทำให้สีอยู่ได้นาน

โดยมีหัวใจหลักของการย้อมผ้าให้สีติดทนได้ดี คือ ‘หยวกกล้วย’ หลังจากย้อมสีเสร็จแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการทอผ้า ซึ่งก็เป็นชาวบ้านที่มีการเรียนรู้ และฝึกฝนทักษะการทอผ้า ส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ใช้กรรมวิธีทอมือ เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาลายผ้าล้านนาดั้งเดิมไว้ มักเป็นลวดลายที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา และวิถีชีวิตของชาวบ้าน

“…เราก็เริ่มผสมสี เราตำหิน แล้วก็ร่อน แล้วก็เอาน้ำใส่ จากนั้นเอาไปเทใส่ถัง ตำต้นกล้วย แล้วเอามากรอง เอาน้ำมาผสมกัน แล้วใส่เกลือครึ่งช้อน จากนั้นย้อมทิ้งไว้หนึ่งคืน แล้วเอาไปล้างน้ำสะอาด เสร็จแล้วก็เอามาปรับนุ่ม แล้วก็ตาก เพราะสีหินมันตากแดดได้ค่ะ สีมันไม่ซีด ไม่ตาย…” — สมพร นันต๊ะเล –

นอกจากการนำผ้าฝ้ายมาทอ และพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า ชุดกระโปรง กระเป๋า ผ้าพันคอ ยังมีการนำเศษผ้าที่เหลือมาประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้ในทุกกระบวนการผลิตผ้าฝ้ายเชิงดอยของที่นี่ แทบจะไม่มีขยะเหลือใช้เลย ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ช่วยลดปัญหาจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าได้เป็นอย่างดี และทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอย ก็ได้มีการวางเป้าหมายในอนาคตว่าจะมีการขยับขยายกลยุทธ์ธุรกิจให้ครอบคลุมทั้งต้นทางจนถึงปลายทาง เพื่อให้กลายเป็นชุมชนผ้าฝ้ายออร์แกนิกที่สมบูรณ์

ตำนานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ปลุกเสียงกี่ทอผ้า ให้กลับขึ้นมาดังอีกครั้ง

“…เรามีตั้งแต่การพัฒนาทักษะฝีมือในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการย้อม ย้อมเย็น มีความเป็นล้านนา โบร่ำโบราณ ในเรื่องของการทอผ้า ปักผ้า และเรื่องของการแปรรูปเป็นเสื้อผ้า พัฒนากลุ่มขึ้นมาเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน มีอยู่ 2 แหล่งด้วยกัน ก็คือแหล่งย้อมผ้าสีหินโมคคัลลาน ส่วนอีกแหล่งหนึ่งจะเป็นแหล่งเรียนรู้การทำผ้าจกล้านนา ตามลวดลายต่าง ๆ อยากจะเชิญชวนนะคะ ลองเข้าไปดูในเพจผ้าฝ้ายเชิงดอย เข้ามาเที่ยว มาลองทำผ้ามัดย้อม หินย้อมผ้า ความสำเร็จของผ้าฝ้าย ก็คือความสำเร็จของหมู่บ้าน และชุมชนเรา หลังจากที่เราได้ช่วยกันคิดค้นหาคุณค่าของตัวเอง เราพยายามที่จะให้ทุกพื้นที่ ทุกคน และทุกสิ่งในหมู่บ้าน ของเราได้รู้จักตัวเอง…” — ทัญกานร์ ยานะโส –

จากวิสัยทัศน์อันแหลมคมของผู้นำในชุมชน นักปราชญ์ และเหล่าชาวบ้าน ที่ช่วยกันขับเคลื่อนด้วยความสามัคคี ความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของคนในชุมชน วันนี้สล่าผ้าฝ้ายเชิงดอยแห่งบ้านสบเตี๊ยะ มีความพร้อมทุก ๆ ด้านในการเปิดวิถีการเรียนรู้ทางภูมิปัญญา ให้คนยุคใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้ และร่วมสานต่อภูมิปัญญาล้ำค่านี้ เพราะทุกคนที่นี่เชื่อมั่นว่า หากมีการส่งต่อความรู้อย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้สืบสานจะทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ อย่างยั่งยืน เหมือนหินโมคคัลลาน ที่อยู่ยืนยงคงทนคู่ชุมชนแห่งนี้ตลอดไป

“…เรารักษาสิ่งแวดล้อม เรารักษาภูมิปัญญา แล้วความสุขมันก็จะเกิดขึ้นในอกในใจเรา
ความภาคภูมิใจเหล่านี้ หามาด้วยเงินทองไม่ได้ คุณค่าคือการลงมือทำ
แล้ววันหนึ่งมันก็จะเกิดรายได้ที่ยั่งยืน เกิดชุมชนที่ยั่งยืน…”
— ทัญกานร์ ยานะโส –

ร่วมแสดงความคิดเห็น