เชิงช่างสืบศิลป์หัตถกรรม “โคมผัด”แสงสว่างแห่งล้านนา

ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 15 แสงสะท้อนโคมผัดล้านนา

“…โซเชียลมันก้าวไปไกลแล้ว อย่าไปกระโดด ต้องหันมามองข้างหลัง
หันมามองที่มา ที่ไป ของรากเหง้าของเรา ว่าเรามาจากไหน… ”
— พ่อครูจำนงค์ เสมพิพัฒน์ –

โคมผัดล้านนา งานหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวล้านนา เป็นภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษร่วมสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน ชุมชนท่าศาลา จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นต้นกำเนิดของภูมิปัญญาล้ำค่านี้ มีการทำโคมหลากหลายชนิด ที่นี่มีเครือข่ายของสล่าทำโคมในชุมชนประมาณ 400 คน สล่าที่ยังร่วมรักษา และสืบสานการทำโคมให้อยู่คู่ล้านนามาจนถึงปัจจุบัน กว่าจะเป็นโคมที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ โคมที่ประดับตกแต่งตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วภาคเหนือ และนำไปใช้ในช่วงเทศกาลสำคัญ ทุกขั้นตอนล้วนสร้างสรรค์ด้วยมือ ด้วยหัวใจ และจิตวิญญาณของความเป็นสล่าที่ยังยึดมั่นในการรักษามรดกทางวัฒนธรรม เพื่อส่งต่อความรู้ของวิถีชีวิต จารีตประเพณี และวัฒนธรรม สิ่งที่แสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ล้านนา ให้ผู้ที่พบเห็นได้รําลึกหวนคิดถึงวิถีชีวิตของคนยุคเก่า และตระหนักในคุณค่าของความเป็นคนเมืองล้านนา

จุดประกายแสงแห่งล้านนา วัฒนธรรมอันทรงค่า ที่อยู่คู่แผ่นดินล้านนามาจนถึงปัจจุบัน

“…ต้นตอของโคมล้านนาเรา มันมาจากบรรพบุรุษดั้งเดิม ปู่ ย่า ตา ยาย ของเราทำมาก่อน แล้วพ่อครูก็มาสืบทอดต่อ ส่วนใหญ่ก็จะทำไว้ที่วัดเป็นพุทธบูชา คนเมื่อก่อนมีความผูกพันในด้านศาสนา ที่หมู่ 3 เป็นต้นกำเนิดเลย ทำโคมทุกปี ทำโคมกันเกือบจะทุกหลังคาเรือนเลยก็ว่าได้ เราพัฒนา เราคัดสรร เข้าสู่ OTOP เข้าสู่สากล สามารถเพิ่มมูลค่า แล้วก็จําหน่ายสินค้าเราได้หลากหลาย ภายในประเทศ และต่างประเทศ มีกล่องบรรจุภัณฑ์ มีเรื่องราวของมัน โคมล้านนาถ้าไม่มีเรื่องราว เป็นโคมเฉย ๆ แขวนเฉย ๆ มันก็เป็นแค่โคมแบบนั้น…พ่อครูจำนงค์ เสมพิพัฒน์ –

จุดกำเนิดโคมล้านนา ภูมิปัญญาสิ่งประดิษฐ์ ที่เป็นเครื่องหมายความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ที่สามารถใช้ประดับตกแต่งให้เกิดความสวยงามได้ในตอนกลางวัน และสามารถใส่เทียนเพื่อให้ส่องสว่างได้ในตอนกลางคืน ในสมัยก่อนนับเป็นสิ่งประดิษฐ์สำหรับเป็นที่กำบัง เพื่อไม่ให้ไฟดับเมื่อถูกลมพัด เป็นภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของบรรพชนชาวล้านนา ซึ่งได้ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และเกิดการพัฒนา สร้างสรรค์โคมล้านนาออกมาในหลากหลายรูปแบบ เมื่อชาวล้านนาเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา วิถีชีวิตผูกพันกับศาสนา แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะ โดยเฉพาะโคม จึงมาจากหลักคำสอนทางศาสนา ในสมัยก่อนการใช้โคม จะไม่ใช้โดยทั่วไป จะมีใช้แต่ในราชสำนัก วัดวาอาราม และบ้านของผู้มีฐานะ แต่ในปัจจุบันนี้ชาวล้านนาได้นำมาใช้เป็นเครื่องบูชา เครื่องประดับ มีลักษณะหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่การสร้างสรรค์ตามภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น ใช้ตกแต่งสถานที่ต่าง ๆ และใช้ในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะงานประเพณียี่เป็ง นิยมจุดโคมค้าง หรือติดโคมแขวนไว้บนที่สูง โคมที่ทำด้วยไม้ไผ่ และกระดาษ สร้างเป็นทรงกลมหักมุม เรียกว่า โคมแปดเหลี่ยม เพื่อให้แสงสว่างยามค่ำคืน และเพื่อใช้สำหรับบูชาพระพุทธเจ้า ซึ่งเชื่อว่าเป็นการบวงสรวงพระเกษแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์

…สมัยก่อนเขาทำไว้ที่วัดเป็นพุทธบูชา เป็นกุศโลบายที่ทำให้ชาวบ้านไปรวมกัน แล้วก็มีความรัก ความผูกพัน ความสามัคคี ซึ่งกันและกัน ตานขันข้าวเสร็จแล้ว ก็ไปนั่งกินข้าวด้วยกัน เมื่อพระฉันเสร็จแล้ว ถึงจับกลุ่มนั่งด้วยกันแล้วก็ฟังธรรมะ สิ่งที่เขาติดในโคมผัด คือเทียนไข หรือ ผางประทีป มันก็จะหมุน เป็นกลศาสตร์ของคนสมัยก่อน…” — พ่อครูจำนงค์ เสมพิพัฒน์ –

โคมล้านนาสมัยก่อนเป็นเครื่องหมายของความศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อพระพุทธศาสนา วัดจึงกลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวล้านนา เพราะว่าในสมัยก่อนตอนที่พระเทศน์พระธรรมคำสอนให้ชาวบ้านฟัง ก็มีการประดิษฐ์โคมผัดขึ้นมาประกอบการเทศน์ เหมือนเป็นสไลด์ประกอบให้ชาวบ้านเห็น ได้เข้าใจหลักธรรมอย่างลึกซึ้งมากขึ้น และยังได้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับเด็ก ๆ ที่ได้เห็นการหมุนของภาพ ชาวล้านนาสมัยนั้นจึงมีความผูกพันกับวัดเป็นอย่างมาก เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่านมาจนถึงยุคปัจจุบัน วิถีชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนไป แต่วัฒนธรรมโคมล้านนาก็ยังคงอยู่คู่กับดินแดนล้านนา ถึงแม้หลักการใช้งานอาจจะแตกต่างไปจากอดีตอยู่บ้าง แต่ก็ยังคงซึ่งเอกลักษณ์สำคัญ เมื่อใครที่พบเห็นโคมประดับในที่ต่าง ๆ ก็จะรู้สึกถึงความเป็นล้านนาไปด้วย

แสงสว่างแห่งความเชื่อ และศรัทธา ที่ยังเปล่งประกาย ไม่ดับหายไปตามกาลเวลา

…การบูชาโคม เขาบูชายังไง ไม่ใช่แค่ซื้อมาแล้วใส่ไฟประดับ แขวนเพื่อความสวยงามเฉย ๆ มันจะมีความหมายในตัวของมันเอง อย่างโคมเงี้ยว จะมีเหลี่ยมเยอะ เราก็อธิษฐานว่าถ้าเรามีลูก ก็ขอให้ลูกเกิดมาครบ 32 ประการ เพราะโคมเงี้ยว ถ้านับดูดี ๆ มันจะมี 32 เหลี่ยม แขวนโคมก็เหมือนกัน ถ้าเราแขวน อย่าแขวนต่ำ ต้องแขวนเหนือศีรษะ อธิษฐานจิต เอาตัวโคมแตะตรงหัว และอธิษฐาน เวลาเขาจะออกบ้านไปสอบ ไปทำงาน หรือจะเดินทางไกล ก็อธิษฐานให้แคล้วคลาด ปลอดภัย เราถึงต้องเอาแขวนไว้ตรงประตู เหนือศีรษะที่เราจะลอดเข้าประตูบ้าน ลวดลายต่าง ๆ ทำด้วยมือทั้งหมด การที่เราจะทำสิ่งต่าง ๆ ทำไปแล้ว เราต้องรู้ความหมายของมัน…พ่อครูจำนงค์ เสมพิพัฒน์ –

โคมล้านนา ถึงแม้จะมีหลากหลายประเภท แต่ทุกประเภทนั้นล้วนแฝงไปด้วยความเชื่อ และความศรัทธาของผู้บูชา การบูชาโคม จะมีการชักโคมขึ้นแขวนที่ค้างโคม (ค้างโคม คือเสาไม้ไผ่ขนาดใหญ่ ส่วนปลายเสามีค้างไม้ และรอกสำหรับชักโคมขึ้นแขวน) อธิษฐานบูชาพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ในภัทรกัปนี้ ได้แก่ พระกกุสันธพุทธเจ้า, พระโกนาคมพุทธเจ้า, พระกัสสปพุทธเจ้า, พระศากยมุนีโคตมพุทธเจ้า และพระอริยเมตตรัยพุทธเจ้า และอธิษฐานให้ความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง เช่น “ขอหื้อแจ้งดั่งไฟ ขอหื้อใสดั่งน้ำ สัพพะเคราะห์ สัพพะภัย สัพพะเสนียดจัญไร วินาสสันตุ”

ตัวอย่างความเชื่อที่แฝงอยู่ในโคม งานหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวล้านนา อย่าง โคมถือ ชาวล้านนาจะถือโคมเพื่อเข้าร่วมในงานแห่ประเพณียี่เป็ง เพื่อให้เกิดบรรยากาศของความสว่างไสว สวยงาม นำโคมไปประดับประดาที่วัด เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้บูชา โคมดอกบัว ดอกบัวกับพุทธศาสนาเป็นสองสิ่งที่มีเรื่องราวผูกพันกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ตามที่ปรากฏในพุทธประวัติ การที่พุทธศาสนิกชนชาวล้านนาประดิษฐ์โคมไฟเป็นรูปดอกบัวเพื่อบูชานั้น ก็เปรียบได้กับจิตใจของผู้ถวายที่ไม่เปียกน้ำ หรือแปดเปื้อน เมื่อโผล่พ้นน้ำขึ้นมารับแสงสว่าง ถึงแม้จะเกิดในโคลนตม เปรียบได้กับคนที่เกิดมาแล้วหากเข้าถึงหลักธรรมก็สามารถเป็นผู้หลุดพ้นจากกิเลส และความทุกข์ทั้งปวงได้

โคมล้านนา มีการออกแบบมาเพื่อให้ส่องแสงสว่างยามกลางคืน สำหรับจุดมุ่งหมายนั้น ในการบูชาโคมล้านนา มีความเชื่อว่าจะนำความสว่างไสวให้เกิดแก่ชีวิต สร้างความเป็นสิริมงคล ความเจริญ ความสุข แสงของโคมนำทางสู่สติปัญญาให้แก่เจ้าของบ้าน และคนในครอบครัว เปรียบเสมือนแสงส่องทางแห่งชีวิต ต่ออายุของผู้ถวายโคมไฟเพื่อเป็นพุทธบูชา และถ้าหากเกิดมาชาติหน้าจะเป็นบุคคลที่มีความฉลาดเฉลียว เปรียบดั่งแสงของเปลวไฟที่ลุกโชนท่ามกลางความมืดมิด

…ประวัติความเป็นมาจะมีความหมายในตัวของมัน จากเหลี่ยมของโคม ลวดลายของโคม เช่นโคมเงี้ยว ผู้แก่ ผู้เฒ่า แต่ก่อนเขาจะล่องสะเปา จะทำโคมอันเล็ก ๆ แล้วอธิษฐาน เหมือนกับวันสังขารล่อง หรือ เหมือนเราลอยกระทง เราจะอธิษฐาน เขาก็มีโคมเงี้ยวไปบูชา บูชาเพื่อขอให้ครอบครัวมีลูกมีหลานเกิดมาครบสมบูรณ์ ส่วนคนไม่รู้เขาก็ว่าโคมเงี้ยวก็คือโคมเงี้ยว แต่ไม่รู้ว่าความหมายที่เขาบูชาเพื่ออะไร…พ่อครูจำนงค์ เสมพิพัฒน์ –

นักปราชญ์หัตถกรรม ผู้คงอัตลักษณ์ สืบสานภูมิปัญญาส่งต่อสู่ลูกหลาน

โคมล้านนาหัตถกรรมล้ำค่า ภูมิปัญญาที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวล้านนา ร่วมส่งต่อ สืบสานกันมาอย่างยาวนาน โดยชาวล้านนาจะประดิษฐ์โคมล้านนาในรูปลักษณะต่าง ๆ เช่น โคมดาว โคมผัด โคมแปดเหลี่ยม โคมหูกระต่าย โคมไห โคมรังมดส้ม หรือโคมเสมาธรรมจักร

พ่อครูจำนงค์ เสมพิพัฒน์ หนึ่งในสล่าโคมแห่งชุมชนท่าศาลา ได้บอกวิธีการทำโคมล้านนากับเราว่า กระบวนวิธีการทำโคมล้านนานั้น จะใช้ไม้ไผ่เฮียะ และไผ่ข้าวหลามมาสาน เริ่มที่การผ่าไม้ไผ่ ให้มีความหนา และความยาวที่เหมาะสม เหลาไม้ให้เรียบเนียน ขึ้นโครง เป็นตะกร้า หรือชะลอม ดัด ตัด และต่อไม้ ให้ได้ตามรูปแบบที่ต้องการ จากนั้นนำกระดาษสา กระดาษแก้ว หรือผ้าดิบมาปิดทับโครงนั้น แล้วจึงตัดกระดาษสีเงิน สีทอง เป็นลวดลายลายสไตล์ล้านนาประดับตกแต่งลงไปอย่างสวยงาม แล้วจุดไฟลงไปในผางประทีป หรือน้ำมันไข เพื่อให้เกิดแสงสว่างในยามค่ำคืน สายตาสองคู่ และมือสองข้างของพ่อครู ทำงานประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงทำให้เวลาตัดไม้ ตัดลวด และตกแต่งลวดลาย มีความสมดุลสวยงาม เพราะการทำโคมแต่ละใบไม่ได้ใช้แค่อุปกรณ์ แต่ใช้ทั้งหัวใจ และจิตวิญญาณแห่งความศรัทธาในการลงมือทำ

“…เขาถึงบอกว่า การบูชาโคม เพื่อส่องสว่างนำทางไปสู่ความสำเร็จ เราภูมิใจ ภูมิใจ เพราะอะไร คือ หนึ่ง มันมีความหมายในตัวเอง และเราสามารถทำด้วยมือของเรา อาจจะเป็นใบเดียวในโลก คือมันมีความผูกพัน สื่อสารกันได้ นี่คือความหมายของพ่อครูในทุกวันนี้ ทำด้วยใจรัก ทุกใบต้องทำด้วยใจรัก แล้วมันก็จะอยู่กับเรา…” — พ่อครูจำนงค์ เสมพิพัฒน์ –

ประเภทของโคมนั้นมีหลากหลายอย่างด้วยกัน ทุกประเภทล้วนมีวิธีการทำที่เป็นเอกลักษณ์ แตกต่างกัน และแฝงไปด้วยความเชื่อที่ต่างกัน ตัวอย่างประเภทของโคม

– โคมถือ ชาวล้านนาจะถือโคมเพื่อเข้าร่วมในงานแห่ประเพณียี่เป็ง เพื่อให้เกิดบรรยากาศของความสว่างไสว สวยงาม อีกทั้งยังนำโคมไปประดับประดาที่วัด เพื่อความเป็นสิริมงคล และทำให้เกิดความสวยงาม

– โคมเงี้ยว

โคมเงี้ยว เป็นโคมที่มีรูปทรงที่ได้มาจากชาวไทใหญ่ ทำค่อนข้างยากกว่าโคมชนิดอื่น ๆ เนื่องจากตัวโครงโคมมีลักษณะหักมุมละเอียดซับซ้อน เป็นเหลี่ยมคล้ายเพชร จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โคมเพชร โคมชนิดนี้แม้ไม่ได้ใส่หางประดับก็มีความงดงาม และเมื่อจุดผางประทีปไว้ข้างใน แสงสว่างที่ออกตามเหลี่ยมมุมมีความงดงามมาก

– โคมรังมดส้ม / โคมเสมาธรรมจักร

มีรูปทรงที่เหมือนรังมดส้ม (มดแดง) และรูปทรงเป็นแปดเหลี่ยมจึงเรียกว่า ธรรมจักร จะใช้ไม้ไผ่เฮียะเหลาให้เป็นเส้น กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร หนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร นำมาหักเป็น 16 หรือ 24 เหลี่ยมหรือตามต้องการ นำไม้เฮียะที่เตรียมไว้มาหักมุม เพื่อทำหูโคมเป็นรูปสามเหลี่ยม ติดกระดาษรอบโครง ตัดลวดลาย สำหรับประดับตกแต่ง โคมรังมดส้มใช้จุดเป็นพุทธบูชา

– โคมร่ม / โคมจ้อง

เป็นรูปแบบของโคมธรรมจักรที่มีการประดับประดาให้เหมือนรูปแบบของร่ม โคมล้านนาในสมัยโบราณหากผ่านการตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจงงดงาม หรือมีขนาดโคมที่ใหญ่นั้น มักนิยมใช้ในบ้านเรือนของเจ้านาย หรือผู้มีฐานะ

– โคมดาว

เป็นโคมรูปดาวมีห้าแฉก ตัวโคมทำจากไม้ไผ่เฮียะ หักมุมเป็นห้ามุม เจาะช่องตรงกลางเป็นปล่องสำหรับใส่ผางประทีป เพื่อจุดเป็นพุทธบูชา

– โคมผัด

โคมผัด เป็นโคมลักษณะพิเศษ เพราะหมุนได้ ด้านในจะเป็นโครงโคมที่มีเส้นด้ายเวียนไปตามเสาโครงด้านในเป็นวงกลม ติดรูปภาพที่ตัดจากกระดาษสีดำ เป็นรูปพุทธประวัติ รูปพระเวสสันดรชาดก รูปนักษัตรปีเกิด รูปวิถีชีวิตต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ส่วนด้านบน ติดกระดาษสา เจาะเป็นใบพัดช่องระบายอากาศ จุดเทียน หรือผางประทีปไว้ข้างในตัวโคม ความร้อนจะดันใบพัดทำให้โคมมีการผัด หรือ หมุนฉายภาพ เรื่องราวที่ประดับตกแต่งภายใน

– โคมไห / โคมเพชร

มีการนำโคมไห หรือ โคมเพชรไปประยุกต์ในรูปแบบต่าง ๆ ให้เกิดความสวยงามมากขึ้น …ชิ้นนี้เป็นโคมเพชร ทำด้วยมือ ตัดด้วยมือ มันจะมีอยู่ 8 แฉก ความหมายคือ มรรค 8 ความแข็งแกร่ง ความคงทนถาวร มันจะคงทนกว่า เหมือนกับเราทำงาน หรือทำอะไร ก็จะมีความอดทน มีความแข็งแกร่ง มีความมานะ พยายาม มักจะประสบความสำเร็จ…พ่อครูจำนงค์ เสมพิพัฒน์ –

งานหัตถกรรม “โคมผัดล้านนา” ภูมิปัญญาล้ำค่า นิรันดร์สืบ อยู่ชั่วกาล

“…โคมพัฒนาเรื่อย ๆ แต่ยังต้องคงอนุรักษ์ เอาของเก่ามาผสมกับของใหม่ มันเพิ่มมูลค่าได้ เล่าเรื่องราวรากเหง้าของมัน โคมจะมี โคมผัด โคมเงี้ยว โคมตุง โคมดาว โคมฟักแก้ว โคมด้วง มีคล้ายโคมญี่ปุ่นบ้าง โคมจีนบ้าง คุณค่าของโคมล้านนาที่จะให้วัยรุ่น และดึงเยาวชนเข้ามาสนใจ ต้องบรรจุอยู่ในการศึกษา ต้องมีวิทยากร มีพ่อครูไปให้ความรู้ ไปสอน มือไม้ต้องประสานกัน คือมันต้องสมดุลกันหมด สอนเรื่องนี้จะทำให้เด็กใจเย็นลง ไม่ใจร้อน มีสติ เราได้ทำ เราสบายใจ…พ่อครูจำนงค์ เสมพิพัฒน์ –

ใครที่เป็นคนท้องถิ่น หรือเป็นนักท่องเที่ยวที่มีโอกาสได้มาเที่ยวเชียงใหม่ และเห็นถึงความสวยงามของโคมผัดล้านนา ไม่ว่าจะที่ประดับอยู่ทั่ว ๆ ไป หรือตามช่วงเทศกาลต่าง ๆ อย่าง ลอยกระทง เมื่อได้สัมผัสกับวัฒนธรรมล้านนาแล้วเกิดความสนใจ อยากจะลองเรียนรู้ ศึกษาภูมิปัญญาการประดิษฐ์โคมล้านนาแบบดั้งเดิมเพื่อนำไปต่อยอด หรือต้องการคำปรึกษาด้านการทำโคม ก็สามารถเข้ามาหาพ่อครูจำนงค์ได้ที่ชุมชนท่าศาลา พ่อครูยินดีที่จะส่งต่อจิตวิญญาณ และภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษให้กับทุกคนที่มีใจรัก ร่วมกันนำไปต่อยอด ประยุกต์ และสร้างแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลาย ๆ คน ร่วมสืบสานงานศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวล้านนานี้ให้คงอยู่ต่อไปอีกยาวนาน

การปรับเปลี่ยนพัฒนาลวดลาย และวิธีการทำให้ทันสมัยขึ้น โดยไม่ยึดติดกับความเป็นล้านนายุคเก่า ทำให้โคมล้านนาเป็นงานศิลปะที่ยืนยาว สืบทอดความงดงามอย่างเป็นอมตะมาจนถึงทุกวันนี้ งานเทศกาล และประเพณีดั้งเดิมของล้านนายังคงอนุรักษ์สืบสานไว้โดยคนรุ่นใหม่ โคมล้านนาที่สล่าทุกคนบรรจงทำด้วยหัวใจ ก็จะถูกประดับประดาทั่วแคว้นแดนนครพิงค์ตลอดกาล

“…บูชาโคม เพื่อส่องสว่างนำทางไปสู่ความสำเร็จ เราภูมิใจ เราทำด้วยมือของเรา
เป็นใบเดียวในโลก ทำด้วยใจรัก ทุกใบต้องทำด้วยใจรัก แล้วมันก็จะอยู่กับเรา…”
— พ่อครูจำนงค์ เสมพิพัฒน์ –

ร่วมแสดงความคิดเห็น