สัญลักษณ์แห่งความศรัทธา “ตุง” วัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวล้านนา

ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 16 ตุงล้านนา

“…เวลาคนมาเที่ยว เราเอาอะไรไปให้เขาดู เรามีวัฒนธรรม มีประเพณีอันดีงาม
ที่จะทำให้เขามารู้ มาเห็น ถ้าไม่ช่วยกันรักษา ไม่ช่วยกันดำรงสืบ
อนาคตข้างหน้า มันจะค่อย ๆ กลืนหายไปทีละนิด ๆ… ”
— พลเทพ บุญหมื่น –

ตุงล้านนา เป็นงานศิลปหัตถกรรม ที่แฝงไปด้วยความเชื่อ ความศรัทธาของชาวล้านนา ตุง เป็นภาษาเหนือ แปลว่า ธง ส่วนหนึ่งของความเชื่อที่ฝังรากลึกอยู่ในวิถีชีวิตของชาวล้านนา ตั้งแต่เกิดจนตาย ชาวล้านนาจะนำตุงมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ และใช้เป็นเครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็นงานมงคล หรืองานอวมงคล ในปัจจุบันเราก็ยังคงเห็นตุงถูกนำมาประดับตามสถานที่ต่าง ๆ และจะพบเห็นได้มากในช่วงเทศกาล สามารถกล่าวได้ว่า ตุง ยังคงอยู่ในชีวิตประจำวันของคนล้านนาสมัยใหม่ แม้รูปแบบการนำมาใช้อาจแตกต่างออกไปจากอดีตบ้างเล็กน้อย ตามยุคสมัย และบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่คุณค่า และความหมายของ ตุง ก็ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

มรดกทางวัฒนธรรม “ตุง” เอกลักษณ์สำคัญที่อยู่คู่ชาวล้านนามาหลายศตวรรษ

ตุงล้านนา ธงที่ใช้สำหรับแขวนประเภทหนึ่ง เป็นศิลปะของล้านนา สามารถพบเห็นได้ทั่วในภาคเหนือของประเทศไทย จะมีการนำตุงมาใช้เป็นเครื่องประดับ หรือประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งทางศาสนา ประเพณี งานเทศกาล หรืองานเฉลิมฉลองต่าง ๆ ลักษณะของตุงแบบดั้งเดิมนั้น จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหน้าแคบ ๆ การใช้งาน จะเป็นการแขวนห้อยทิ้งชายยาวทอดลง จากด้านบนลงสู่ด้านล่าง

“ตุง” เป็นสิ่งที่มีคุณค่า และมีความสำคัญเป็นอย่างมากในวิถีชีวิตชาวล้านนา เป็นสัญลักษณ์ และเครื่องหมายแทนความศรัทธาของชาวล้านนามาอย่างยาวนาน โดยเชื่อกันว่า ตุง เป็นเครื่องหมายแห่งกำลังใจ ทำให้เกิดความกล้าหาญ และสร้างความสามัคคี นิยมสร้างเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ทั้งในงานมงคล และงานอวมงคล จะเห็นได้ว่าวิถีชีวิตของชาวล้านนามีความผูกพันกับตุงมาตั้งแต่เกิดจนสิ้นลมหายใจ ไม่ว่าจะพิธีกรรมทางศาสนา ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต ประเพณีเกี่ยวกับความตาย งานเทศกาล และการเฉลิมฉลอง ล้วนมีตุงเป็นองค์ประกอบ

“…ช่วงระยะเวลาทั้ง 12 เดือน เราก็จะมีการใช้ตุง ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ คนในเมืองก็จะมีแค่ช่วงเทศกาล แต่ถ้ารอบนอก ส่วนใหญ่เขาก็ใช้ตุงในงานประเพณีต่าง ๆ ตั้งแต่การเกิดถึงการตาย ในรอบนอก ชนบท เมื่อจะมีการใช้ตุง เขาก็จะทำขึ้นมาเอง ขึ้นอยู่กับสล่าที่รังสรรค์ ประดิษฐ์ แปลงขึ้นมา ซึ่งถือว่ามีความแตกต่างจากในอดีต…” — พลเทพ บุญหมื่น –

ในส่วนของประวัติความเป็นมาของตุงนั้น มีการสันนิษฐานว่า เมื่อครั้งสมัยหริภุญชัย ช่วงศตวรรษที่17 พบว่าชาวหริภุญชัย เคยมีโรคอหิวาตกโรคระบาด ผู้คนต่างพากันหนีไปอาศัยอยู่ที่เมืองสะเทิง เมื่ออหิวาตกโรคหายไปก็พากันกลับมาบ้านเมืองเดิม จึงมีการคาดการณ์ว่า ได้มีการรับวัฒนธรรมการถวายตุง ที่มีเสาหงส์มาจากชาวมอญกลับมาด้วย เพราะมีการพบหงส์ล้านนาที่เป็นสิ่งสำคัญของชาวรามัญ ในส่วนประกอบของตุงล้านนา อย่าง “ตุงกระด้าง” และลักษณะของธงตะขาบของชาวรามัญก็มีความคล้ายคลึงกับ “ตุงไชย” ของล้านนาด้วยเช่นกัน

ในช่วงประมาณปี พ.ศ.1839 พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในดินแดนล้านนา เกิดการผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิม เรื่องการนับถือผี ผสานเข้ากับคติความเชื่อทางศาสนา จึงเกิดวิวัฒนาการที่เกี่ยวกับคติความเชื่อต่าง ๆ เกิดการผสมปนเปกัน ในด้านของความสัมพันธ์กับดินแดนต่าง ๆ ก็มีการส่งต่อ แลกเปลี่ยน อิทธิพลทางวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน จึงเป็นการยากที่จะคาดการณ์ว่า ประเพณีถวายทานตุงของชาวล้านนานั้นมีต้นกำเนิดมาจากที่ใด และได้รับอิทธิพลความเชื่อ และรูปแบบต่าง ๆ มาจากแหล่งใดบ้าง ได้เพียงแต่สันนิษฐานในบางกรณีว่า วิวัฒนาการเริ่มแรกเดิมทีนั้น ก่อนที่จะมีการรวบรวมดินแดนเป็นอาณาจักรล้านนา พระยามังรายมหาราชทรงเคยปกครองอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำกกมาก่อน ซึ่งได้แก่ เมืองเชียงแสน เชียงราย และดอยตุง จึงเชื่อว่า ความเป็นมาของตุง น่าจะมีจุดกำเนิดมาจากดอยตุง ดังปรากฏหลักฐานจากเรื่องราวโบราณสถาน ที่เกี่ยวกับประวัติพระธาตุดอยตุง

ซึ่งกล่าวถึงการสร้างพระธาตุไว้ว่า พระมหากัสสปะเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุ พระรากขวัญเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า มาถวายแด่พระเจ้าอรุตราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ พระองค์ได้ทรงขอที่ดินจากพญาลาวจก (ราชวงศ์ลวจังคราช) ในหมู่เขาสามเส้าเป็นที่ก่อสร้างพระมหาสถูป มีตุงตะขาบยาวถึงพันวา ปักไว้บนยอดดอยปู่เจ้า ถ้าหางตุงปลิวไปจุดไหน กำหนดให้เป็นรากฐานสถูป ในช่วงเวลาต่อมาคติความเชื่อดังกล่าวได้มีการกระจัดกระจายทั่วไปในดินแดนล้านนา เนื่องจากชาวล้านนามีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผีบรรพบุรุษ เป็นความเชื่อดั้งเดิมอยู่แล้ว จึงเห็นได้ชัดว่า ชาวบ้านในสมัยก่อนมีความผูกพันอยู่กับผีมาก และเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาในท้องถิ่น ภายหลังจึงผสานแนวความคิดเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะเรื่องของวิญญาณ และชีวิตหลังความตาย ด้วยการถวายตุงให้เป็นทานแก่ผีบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อให้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีขึ้น ช่วยให้พ้นจากทุกขเวทนาในนรก และในขณะเดียวกันก็ถวายให้กับตนเองด้วย เพื่อหวังอานิสงส์ เกื้อกูล ให้ไปสู่ชีวิตที่ดีในภายภาคหน้า ทำให้ประเพณีการถวายทานตุงมีบทบาทมากขึ้นในชุมชน เป็นที่นิยม และยึดถือศรัทธาสืบกันมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

“ตุงล้านนา” ศรัทธาบนธงทิว ภูมิปัญญาท้องถิ่นแห่งแผ่นดินล้านนา

ตุงล้านนา วัฒนธรรมล้ำค่า ที่สะท้อนความเชื่อ และความศรัทธาของชาวล้านนาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวล้านนามีความเชื่อมาตั้งแต่โบราณ เกี่ยวกับอานิสงส์ การตานตุง หรือการให้ทานด้วยตุง ด้วยมีคติความเชื่อที่ว่า การได้ถวายตุงเป็นการสร้างกุศลให้กับตนเอง ใช้ในการสะเดาะเคราะห์ ขจัดภัยพิบัติต่าง ๆ ให้หมดไป และยังมีคติความเชื่อเกี่ยวกับความตาย สักการะ แผ่กุศลไปยังผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เพราะ เชื่อว่าดวงวิญญาณเมื่อดับออกจากร่างแล้ว จะสามารถยึด หรือปีนป่ายตุง เพื่อไต่ขึ้นไปสู่สวรรค์ได้ และในอีกความเชื่อ ถ้าเรามีเจ้ากรรมนายเวร หรือภูตผี จะมาทำอันตราย จองล้างจองผลาญแก่ตัวเรานั้น การถวายตุง จะเป็นเสมือนบันไดให้เราได้ใช้ เป็นเครื่องไต่ไปสู่สวรรค์ และหลุดพ้นจากการจองเวรได้ นอกจากนี้ตุง ยังใช้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคล ใช้เพื่อการเฉลิมฉลองศาสนสถาน ศาสนวัตถุ หรือสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์อีกด้วย

อีกหนึ่งความเชื่อ คือ ตุงที่สร้างขึ้นเพื่อพิธีกรรม มักเป็นตุงใช้สืบชะตาสำหรับผู้ป่วย หรือผู้ที่ประสบเคราะห์ร้าย นิยมทอให้ตุงมีความยาว เท่ากับความสูงของตัวผู้ป่วย หรือผู้ที่ต้องการสะเดาะเคราะห์ เมื่อทำพิธีแล้วจะนำไปมัด หรือพันรวมกับไม้ง่ามสามขา ที่ทำเป็นซุ้มสืบชะตา เพื่อนำไปวางพิงไว้กับต้นโพธิ์ใหญ่ของวัด

ตุงที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีมงคลอื่น ๆ เช่น ตุงไชย เป็นตุงประเภทที่พบเห็นมากที่สุดในแถบภาคเหนือ เป็นเครื่องหมายบอกถึงความเป็นสิริมงคล เป็นตุงที่ใช้ถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง รวมทั้งใช้ถวายเป็นกุศลทานแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีการออกแบบ ความกว้าง และความยาวตามกำลังศรัทธาของผู้สร้าง นิยมทอด้วยฝ้ายหลากสี เป็นผืนยาว เช่น สีขาว สีแดง สีเหลือง สีเขียว มีไม้ไผ่สอดคั่นเป็นช่วง ๆ อาจมีการตกแต่งด้วยการห้อยประดับด้วยพู่หลากสี ตุงชนิดนี้นิยมใช้ปักไว้ในบริเวณวัด หรือเส้นทางเข้าสู่วัดในงานพิธี และงานเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานปอยหลวง งานกฐิน ในส่วนลวดลายที่ปรากฏอยู่บนตุง ก็นิยมใช้ลวดลายที่มีความหมายไปในทางมงคล เช่น ลายนาค ลายหงส์ ลายนก ลายช้างแก้ว ลายม้า ลายแก้ว ลายสิงห์ ลายสิบ สองนักษัตร ลายปราสาท เป็นต้น

ตุงสำหรับใช้ประกอบการเทศน์ จะใช้ประกอบในพิธีงานเทศกาล ตั้งธรรมหลวง ในเดือนยี่เป็ง (วันเพ็ญเดือนสิบสอง) หรืองานตั้งธรรมหลวงเดือนสี่เป็ง (วันเพ็ญเดือนยี่) โดยการปักตุงในกัณฑ์เทศน์ หรือประดับอาคารที่มีเทศน์ เช่น โบสถ์ วิหาร หรือศาลาบาตร เป็นต้น โดยมีความเชื่อเกี่ยวกับตุงประกอบการเทศน์ว่า ทำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และเชื่อว่าจะได้อานิสงส์จากตุงที่ใช้ประกอบการเทศน์สอดคล้องกับการเทศน์ธรรมเรื่องต่าง ๆ ในทศชาติ เช่น ตุงทราย ใช้ประกอบการเทศน์กัณฑ์ที่ 2 คือ ชนกกุมาร ตุงเหล็ก ใช้ประกอบการเทศน์กัณฑ์ที่ 6 คือ ภูริทัต ตุงตอง ใช้ประกอบการเทศน์กัณฑ์ที่ 7 คือ จันทกุมารชาดก ตุงเงิน ใช้ประกอบการเทศน์กัณฑ์ที่ 10 คือ เวสสันดร เป็นต้น โดยอานิสงส์ของการสร้างตุง ผู้ที่สร้างตุงถวายเป็นพุทธบูชา จะไม่ตกนรก ได้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ถ้ากลับมาเกิดในโลกมนุษย์ก็จะได้เป็นใหญ่เป็นโต ถ้าอุทิศให้ผู้ตาย ผู้ตายก็จะพ้นจากการไปเป็นเปรต หลุดพ้นจากบาปกรรมที่ทำไว้ จากอานิสงส์ดังกล่าวนี้ จึงทำให้ชาวล้านนานิยมสร้างตุงกันทุกชั้นวรรณะ ซึ่งรูปแบบของตุงก็จะแตกต่างกันไปตามฐานะสังคมของผู้ถวาย

ในส่วนของความเชื่อเกี่ยวกับอวมงคล เช่น ตุงขอนนางผาน จะมีลักษณะเป็นตุงขนาดเล็ก ประดับอยู่ที่ปลายทั้งสองข้างของก้นไม้เล็ก ๆ ที่ติดขวางบนตุงผืนใหญ่เป็นระยะ ๆ บางครั้งก็ทำเป็นรูปทรงคล้ายพู่ห้อย ตุงนี้ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายที่มีฐานะยากจน หรือไร้ญาติ

ชาวล้านนาจึงนิยมนำตุงมาใช้ในประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งทางศาสนา ประเพณี งานเทศกาล หรือเฉลิมฉลองต่าง ๆ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้ มีแนวโน้มการใช้ตุงที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากสร้างตุงด้วยความเชื่อเพียงอย่างเดียว ก็เริ่มที่จะมีความนิยมใช้ตุง สำหรับประดับตามสถานที่จัดงาน เพื่อความสวยงาม โดยไม่ได้รู้ถึงความหมาย และวัตถุประสงค์ของการนำตุงมาใช้อย่างแท้จริง ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป หลักความคิด ความเชื่อก็เปลี่ยนตาม เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตของชาวล้านนามากขึ้น จากเดิมในอดีตบรรพบุรุษของชาวล้านนาได้ประดิษฐ์ตุงขึ้นมา เพื่อไว้ใช้ในงาน หรือประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นการแสดงออกถึงการอนุรักษ์ศิลปะ ภูมิปัญญาของชาวล้านนาตามคติความเชื่อ แต่ในวันนี้ใครหลายคนอาจหลงลืมคุณค่าในส่วนนี้ไป

“ตุงล้านนา” ภูมิปัญญาสะท้อนทักษะเชิงช่าง องค์ความรู้ที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

ตุงมีหลากหลายชนิด หลากหลายลักษณะ วัตถุที่นิยมใช้ในการสร้างตุงนั้น ก็มีหลายชนิด เช่น ผ้า ไม้ โลหะ ด้าย ฝ้าย ไหม หรือกระดาษ แต่ที่เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก และพบเห็นอยู่เสมอ คือ ตุงที่สร้างขึ้นจากเส้นฝ้าย ผ้า กระดาษ และตุงแต่ละชนิด จะมีลักษณะรูปแบบ มีชื่อเรียก และการใช้ในโอกาสที่แตกต่างกันไป

“…ตุง หมายถึงธง ชาวล้านนาจะทำขึ้นมาเพื่อใช้เป็นพุทธบูชา เป็นสื่อสัญลักษณ์ ระหว่างคนกับคน คนกับเทพ คนกับผี เช่น ตุงไชย จะใช้ในพิธีงานปอยหลวง ตุง 12 ราศี จะมีในของบ้านเรา จะเป็นสัญลักษณ์ของปีเกิด ตุงสืบชะตา ช่อนำทาง ก็คือ ตุงชนิดหนึ่ง ที่จะใช้ปักต้นผ้าป่า ต้นเงิน ขนาดเล็กลง จะใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ จะใช้ในพิธีสะเดาะเคราะห์ วันปีใหม่ ตุงช่อร้อยแปด ที่เขาเอาใส่ในพิธีสืบชะตา ตุงบางประเภทก็จะใช้ในพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ และก็จะมีตุงแพ ตุงไส้หมู ตุงทุกอย่าง จะมีความหมายทั้งหมด…” – แม่ครูสายสุนีย์ ไชยวงศ์ญาติ –

ตัวอย่าง ประเภทของตุงล้านนา

“…อันนี้จะเป็นชุดตุงปีใหม่ เราจะเอาไปปักกองเจดีย์ทรายวันที่ 15 ซึ่งเป็นวันมหาสงกรานต์ เป็นวันพญาวันของคนทางเหนือ วันที่ 14 ก็จะเริ่มขนทรายเข้าวัด เพราะมีความเชื่อว่า เราเดินเข้าวัดไป แล้วเราก็จะไปเหยียบย่ำทรายออกจากวัด เพราะฉะนั้นเราจะต้องเอาทรายมาคืนวัด – แม่ครูสายสุนีย์ ไชยวงศ์ญาติ –

ตุง 12 ราศี หรือตุง 12 นักษัตร

จะใช้ในช่วงปีใหม่ หรือที่ชาวล้านนาเรียกว่า ตุงปี๋ใหม่เมือง ใช้ถวายเป็นพุทธบูชา พร้อมกับเจดีย์ทรายในประเพณีปีใหม่เมือง วัสดุที่ทำส่วนใหญ่มักจะทำด้วยกระดาษว่าว หรือกระดาษสา มีหลากหลายสี บางคนเลือกสีตามวันเกิด แต่ที่สำคัญจะต้องมีรูป 12 นักษัตร อยู่บนตุงทั้งสองด้านเหมือนกันทั้งหมด เพื่อสะเดาะเคราะห์ให้เป็นสิริมงคลกับตนเอง

ตุงไส้หมู

ใช้ถวายเป็นพุทธบูชา พร้อมกับเจดีย์ทรายในประเพณีปีใหม่เมือง หรือใช้ในการประดับตกแต่งงานพิธีบุญต่าง ๆ วัสดุที่ทำส่วนใหญ่ มักจะทำด้วยกระดาษว่าว หรือกระดาษสา มักทำเป็นพวงประดิษฐ์รูปร่างคล้ายจอมแห หรือปรางค์ ตัดเป็นรูปลวดลายสวยงาม

ตุงทราย

ใช้ถวายเป็นพุทธบูชา ที่ใช้ปักเจดีย์ทราย ช่วงในประเพณีปีใหม่เมือง มีหลากหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่ทำเป็นรูปเทวดา โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อทำบุญถวายเทพเทวดา ที่คอยดูแล ปกปักรักษาตัวเรา และเพื่อขอขมาสิ่งที่เคยได้ล่วงเกินไป และนำไปไปปักบนเจดีย์ทรายพร้อมกับตุงอื่น ๆ เช่น ตุงช่อน้อย ซึ่งเมื่อโดนลมก็จะปลิวไสวสวยงามอยู่บนเจดีย์ทราย

ตุงช่อน้อย หรือตุงจ้อน้อย

ใช้ถวายเป็นพุทธบูชาในงานปอยหลวง งานกฐิน หรือพิธีสืบชะตา วัสดุที่ทำมักเป็นกระดาษสา กระดาษว่าว หลากหลายสีสัน และตัดให้มีลายต่าง ๆ ตามความต้องการ เพื่อเพิ่มความสวยงามของตุง ส่วนมากจะมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก และนิยมตัดขอบตุงเป็นขั้นบันได เปรียบเสมือนการสั่งสมความดีไปเรื่อย ๆ เพื่อก้าวขึ้นสู่สวรรค์ โดยหากมีขนาดใหญ่หน่อยก็เรียกว่า ตุงช่อจ๊าง หรือตุงจ้อช้าง

ตุงไชย หรือตุงไจย

ตุง ที่มีความหมายว่า ธงชัย เป็นสัญลักษณ์แห่งการรบของทหาร เมื่อไหร่ที่รบชนะข้าศึก ก็จะทำการปักตุง เพื่อแสดงว่าได้รับชัยชนะจากข้าศึก ทำให้เกิดขวัญ และกำลังใจ แต่ในปัจจุบันนี้ ไม่ได้มีการรบ หรือทำสงคราม จึงมีการนำมาใช้ประกอบงานพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นส่วนหนึ่งในงานบุญกฐิน โดยทำการปักเรียงรายตามสองข้างทางเข้าสู่วัด หรือหน้าพระประธานในวิหาร หรือโบสถ์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระพุทธเจ้า มีความเชื่อ เพื่อให้เจ้าของตุงได้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เข้าสู่พระนิพพาน วัสดุที่ทำส่วนใหญ่มักจะทอจากเส้นด้าย เส้นไหม หรือผ้าชนิดต่าง ๆ ลวดลายที่ใช้จะเป็นลวดลายที่มีความเป็นมงคล

นอกจากนั้น ยังมีตุงที่ใช้ในพิธีอวมงคล ได้แก่ ตุงสามหาง ใช้นำหน้าขบวนศพไปสุสาน โดยให้คนแบกคันตุงสามหางนำหน้า ซึ่งลักษณะรูปร่างคล้ายกับคน จากเอวลงไป แยกออกเป็น 3 แฉก เรียกว่า 3 หาง ตัดด้วยกระดาษสา หรือผ้าขาว ที่ต้องทำเป็นรูป 3 หาง เพราะ หมายถึง กุศลมูล 3 บ้าง อกุศลมูล 3 บ้าง อันหมายถึง กิเลส กรรม วิบาก ตุงแดง ตุงค้างแดง หรือตุงผีตายโหง มีลักษณะคล้ายกับตุงไชย แต่เป็นตุงสีแดง บางครั้งก็ให้ยาวเท่ากับความสูงของผู้ตาย และปักให้ปลายหางแตะพื้นดิน ใช้ในพิธีสูตรถอนวิญญาณผู้ตายจากอุบัติเหตุตามท้องถนน จะปักไว้บริเวณที่คนตาย และก่อเจดีย์ทรายกองเล็ก ๆ เท่ากับอายุของคนตาย เพื่อให้ดวงวิญญาณของผู้ตายได้ใช้ตุงในการไต่ เกาะเกี่ยวหลุดพ้นไปจากสถานที่นั้นๆ ที่ตนถึงแก่ชีวิต

ครูช่างหัตถศิลป์ ผู้ยืนหยัดจะอนุรักษ์ และสืบสานให้ “ตุง” ยังคงโบกสะพัดอยู่บนความภาคภูมิใจของชาวล้านนาต่อไป

ปัจจุบันตุงยังคงมีบทบาทสำคัญในวิถีชีวิตของชาวล้านนา ถึงแม้จะมีการปรับเปลี่ยนการใช้ มีการรังสรรค์ตุงในรูปแบบใหม่ ๆ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป แต่คุณค่า และความหมายของตุงนั้นยังคงเดิม ตุงยังคงอยู่คู่แผ่นดินล้านนา เพราะยังคงมีชาวล้านนาที่ศรัทธาในความเป็นตุง และยังมีผู้ที่สืบสานองค์ความรู้ของหัตถศิลป์ล้ำค่านี้อยู่

พ่อครูพลเทพ บุญหมื่น ครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2561 และเป็นผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเวียงกุมกามศิริศิลป์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบล ท่าวังตาล อำเภอ สารภีจังหวัด เชียงใหม่ พ่อครูเป็นหนึ่งในสล่าที่ยังคงยึดมั่นในการดำรงรักษาวัฒนธรรมในด้านตุง ให้ยังคงอยู่ในวิถีชีวิตของชาวล้านนา ครูภูมิปัญญาที่คอยสอนกระบวนการทำตุง บอกเล่า ส่งต่อองค์ความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ที่สนใจ พ่อครูบอกกับเราว่า การทำตุงนั้น จะเริ่มจากการตัด หรือใช้สิ่วตอกลงบนวัตถุดิบ เพื่อให้ได้ลวดลายที่เราออกแบบไว้ สิ่วจำเป็นจะต้องลับให้คมอยู่เสมอ จึงจะสามารถทะลุความหนาของวัตถุดิบไปได้ ซึ่งสิ่งที่สำคัญในการทำตุงนั้น คือ ความใจเย็น และความแม่นยำ

แม่ครู สายสุนีย์ ไชยวงศ์ญาติ ครูภูมิปัญญาด้านการทำตุง ผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้ ภูมิปัญญาตุงล้านนา ตั้งอยู่ที่ถนนวัวลาย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งที่แห่งนี้ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเส้นทางวัฒนธรรมสำคัญของเชียงใหม่ แม่ครูเป็นผู้ที่คอยทำการสอน เปิด Workshop ให้กับนักเรียน นักศึกษา หรือนักท่องเที่ยวที่สนใจในการทำตุง ผู้ที่เล็งเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมล้ำค่านี้ แล้วอยากที่จะร่วมสานต่อ แต่แม่ครูได้บอกกับเราว่า การทำตุงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จึงทำให้เด็ก ๆ รุ่นใหม่บางคน ที่ได้ลองทำแล้ว ก็ต่างถอยห่างออกไป

“…การทำจะต้องมีสมาธิ ถ้าใจเราวอกแวก จะทำไม่ได้ หนึ่ง ต้องมาจากจิตใจที่บริสุทธิ์ สอง จะต้องมีความรัก ความชอบ เคยมีคนมาเรียนรู้ไม่กี่คน แล้วเขาก็ท้อแท้ ยอมแพ้ไป เพราะว่ามันค่อนข้างที่จะทำยาก มีความละเอียด ถ้าเราตัดพลาดก็คือขาดไปเลย…” – แม่ครูสายสุนีย์ ไชยวงศ์ญาติ –

ร่วมสืบสานภูมิปัญญาล้ำค่า ตุงโบราณ” แห่งวิถีล้านนา ที่อาจจะสูญหายไปตามยุคสมัยที่ผันเปลี่ยน

อาณาจักรล้านนา เป็นอาณาจักรที่เปี่ยมไปด้วยวัฒนธรรมที่ดีงาม เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ไม่ว่าใครได้เดินทางมาเห็น มาสัมผัสด้วยตัวเอง ล้วนเกิดความประทับใจ สิ่งล้ำค่าที่หาจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว วัฒนธรรมที่อยู่บนความภาคภูมิใจของชาวล้านนามาหลายชั่วอายุคน ในวันนี้หนึ่งในวัฒนธรรมอันทรงค่า อย่าง ตุงล้านนา ยังรอให้ผู้คนยุคใหม่ มาร่วมสานต่อ ร่วมทำให้ตุงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ยังมีศูนย์การเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมมากมายที่รอต้อนรับทุกคนให้เข้ามาลองเรียนรู้ แล้วจะพบกับความแปลกใหม่ และสัมผัสได้ถึงความเก่งกาจของเหล่านักปราชญ์ล้านนา ที่สามารถคิดค้น ประดิษฐ์สิ่งล้ำค่าเหล่านี้มาได้

…ถ้าพูดถึงตุงสมัยก่อน กับตอนนี้ มันก็มีความแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ เราก็ยังมีอันเก่าอยู่ แล้วก็มีอันใหม่มา สามารถรองรับความต้องการของลูกค้า ใครที่จะเอาแบบเดิม หรือเอาแบบใหม่ หรือว่าแบบผสมผสานทั้งใหม่ทั้งเก่า ก็สามารถที่จะผลิตให้เขาได้ เพื่อให้ตุงยังอยู่ควบคู่ในสังคมคนล้านนาต่อไป ร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยไม่ให้ของทางบ้านเราหายไป ทำให้คนล้านนา ให้เขาได้รู้ ได้เห็น คนต่างชาติ คนต่างจังหวัด ก็ยังสามารถที่จะได้รู้ ได้เห็นอยู่ ถ้าเรายังคงมีประเพณีที่ดีงาม… พลเทพ บุญหมื่น –

ปณิธานที่เหล่าสล่าตั้งมั่นไว้ คือ การไม่หวงวิชาไว้กับตนเอง แต่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ไปยังลูกหลาน และผู้ที่สนใจศึกษา รวมถึงยอมรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ปิดกั้น ไม่ยึดติดกับกรอบค่านิยมเดิม ๆ ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนไป แต่จะยังคงคุณค่า และไม่หลงลืมความหมายเดิม เพื่อที่จะทำให้ตุงยังคงประดับทั่วแผ่นดินล้านนาอย่างเป็นอมตะ และพร้อมจะโบกสะพัด ต้านสายลมแห่งกาลเวลาอย่างแข็งแกร่งตลอดไป

“…ปัจจุบันนี้ก็คงยังไม่หายไป แต่ถ้าสัก 10-20 ปีไปข้างหน้า มันอาจจะลดถอยลงไป
สิ่งสำคัญที่สุด ถ้าไม่อยากให้มันหายจากแผ่นดินล้านนา ต้องส่งต่อองค์ความรู้
เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ ให้มันสืบไปข้างหน้าได้ไกล ๆ…”
— พลเทพ บุญหมื่น –

ร่วมแสดงความคิดเห็น