ปลุกไม้ที่ตายแล้ว ให้มีชีวิต “ร่มบ่อสร้าง” หัตถกรรมล้ำค่า ที่อยู่คู่ล้านนามากว่า 200 ปี

ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 17 ร่มบ่อสร้าง ชีวิตและสีสัน

“…ร่มบ่อสร้าง เราสืบมากจากหลายชั่วอายุกว่า 200 ปี ย้อนอดีตถึงปัจจุบัน
ร่มบ่อสร้าง คือ ความสามัคคีของคน ไม่สามารถมีเครื่องจักรไหนมาแทนงานฝีมือคนได้… ”
— กัณณิกา บัวจีน

“…ต้นเปาแดนดินถิ่นหัตถกรรม งามล้ำร่มบ่อสร้างกระดาษสา กราบสักการะพระนอนแม่ปูคา ทรงคุณค่าวัฒนธรรมประเพณี…” เส้นทางถนนสู่ ตำบล ต้นเปาอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ มีวิถีชีวิตของคนล้านนาเรียงร้อยต่อกันตลอดสาย ถนนเส้นนี้พาไปสู่แหล่งศิลปหัตถกรรมเลื่องชื่อ ที่อยู่คู่กับชาวเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน “ร่มบ่อสร้าง”  งานหัตถกรรมที่แสดงออกซึ่งสัญลักษณ์ของความเป็นพื้นเมือง แสดงออกถึงความคิด ความสร้างสรรค์ของเหล่านักปราชญ์ล้านนา ความสวยงามด้านศิลปะ สิ่งเหล่านี้ถูกหลอมรวมกลายมาเป็นร่มบ่อสร้าง ภูมิปัญญาอันทรงค่าของชาวล้านนา กว่าจะเป็นร่มบ่อสร้างที่วิจิตรงดงาม และสร้างชื่อเสียงคู่เชียงใหม่มายาวนานกว่า 200 ปี ชุมชนบ่อสร้างได้มีการเตรียมความพร้อม เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ และนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลมาโดยตลอด การสืบสาน ต่อยอด จนทำให้ร่มบ่อสร้างกลายเป็น หนึ่งใน Soft Power ของเชียงใหม่ ที่ทุกคนให้การยอมรับมาจนถึงทุกวันนี้

สร้างไม้ที่ตายแล้ว ให้กลับมามีชีวิต งานหัตถกรรมที่อยู่บนความภาคภูมิใจของชาวล้านนามากว่า 200 ปี

ร่มบ่อสร้าง เป็นสินค้าหัตถกรรมพื้นเมืองของจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นสินค้าที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังเป็นอย่างมากให้กับชาวภาคเหนือ และชาวอำเภอสันกำแพง จุดเริ่มต้นของการทำร่มบ่อสร้างนั้น มาจากการที่ชาวบ้านในชุมชนบ้านบ่อสร้าง นั่งทำร่มกันใต้ถุนบ้าน และลองวาดลวดลายต่าง ๆ ที่สวยงามลงไปบนร่ม ก่อนจะนำไปตากแดดเรียงรายกันไว้กลางลานบ้าน เพื่อให้สีที่ระบายนั้นแห้ง จนไปสะดุดตานักท่องเที่ยวหลาย ๆ คนที่เดินทางมาท่องเที่ยว มีทั้งหมด 3 ชนิดด้วยกัน คือ ร่มที่ทำด้วยผ้าแพร ผ้าฝ้าย และกระดาษสา ตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มโด่งดังจนกลายมาเป็นร่มบ่อสร้าง Soft power สำคัญของเชียงใหม่

ในส่วนความเป็นมาของ “เทศกาลร่มบ่อสร้าง” ที่มีการจัดงานอย่างต่อเนื่องทุกปี ทุกเดือน มกราคม ณ บริเวณศูนย์หัตถกรรมร่มบ่อสร้าง มีการแสดง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ทำจากกระดาษสาโดยเฉพาะร่มบ่อสร้าง มีการแสดงทางวัฒนธรรม ขบวนแห่ ประเพณีพื้นบ้าน และการประกวดต่าง ๆ สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่รู้จักในบรรดานักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ได้รู้จักกันในนามของหมู่บ้านที่มีงานผลิตร่ม อันเป็นเอกลักษณ์ของบ่อสร้างนั้น

ในอดีตหมู่บ้าน บ่อสร้าง อ.สันกำแพง เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ท่ามกลางธรรมชาติแบบชนบท ประชาชนส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา ยามว่างเว้นจากการทำการเกษตรมักจะผลิตร่มเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นร่มที่มีกระดาษสาเป็นส่วนประกอบ มีการแต่งลวดลาย กลายเป็นร่มที่สวยงาม สามารถนำไปใช้งานได้จริง และทำเป็นของที่ระลึกได้ เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ท่านอินศวร ไชยซาววงศ์ ลูกพ่อขุนเปา ซึ่งเป็นคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ มีอาชีพเป็นพ่อค้า ได้เล็งเห็นว่าหมู่บ้านบ่อสร้าง เป็นหมู่บ้านที่รวมคนมีฝีมือมาอยู่ด้วยกัน สามารถผลิตร่มออกมาขาย ได้เงิน ได้ทองกันเป็นจำนวนมาก จึงเกิดการชักชวนชาวบ้าน และผู้นำท้องถิ่นในสมัยนั้น ริเริ่มจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรก มีผู้คนหลั่งไหลกันเข้ามาเที่ยวชมงาน ภายในงานมีกิจกรรมนานาชนิด และการละเล่นพื้นบ้าน ด้วยมนต์ขลังของงานร่มบ่อสร้าง ตั้งแต่นั้นมาก็ได้กลายเป็นภูมิปัญญาที่อยู่คู่กับเมืองเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน

คุณกัณณิกา บัวจีน ผู้ดูแลศูนย์หัตถกรรมทำร่ม ได้บอกกับเราเกี่ยวกับการทำร่มบ่อสร้างในสมัยก่อน ก่อนจะพัฒนามาเป็นร่มบ่อสร้างอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน“…ร่มบ่อสร้างเราสืบมาหลานชั่วอายุกว่า 200 ปี น่าจะฟื้นมาในสมัยพระเจ้ากาวิละ ในร่มบ่อสร้าง 1 คันจะมีการกระจายแต่ละสิ้นส่วนของร่มในเขต อำเภอ สันกําแพง ดอยสะเก็ด แต่ละบ้านเขาก็จะทำร่มแต่ละชิ้นส่วน แล้วเอามาประกอบรวมกันที่วัดบ่อสร้าง ศูนย์รวมจิตใจของชาวสองอำเภอ เพื่อเป็นพุทธบูชา ที่นี่แต่ก่อนเป็นโรงเลี้ยงหมู พ่อเขาเห็นว่าควรฟื้นอาชีพการทำร่มนี้ขึ้นมา เป็นการดีที่สุดที่จะให้ชาวต่างชาติได้เห็น แล้วชาวบ้านสามารถอยู่ได้ด้วยการเป็นช่างฝีมือ ก็เลยสร้างศูนย์อุตสาหกรรมทำร่ม แต่พอเราเริ่มทำเป็นหัตถอุตสาหกรรมในครัวเรือน ไม้ไผ่กับมอดเป็นของคู่กัน เพราะฉะนั้นทำไปแล้วก็ขาดทุน ทำไปก็คือเป็นมอดไป ต้องทิ้ง แล้วการทำร่มสมัยก่อน กว่าจะรวมตัวกันก็ยาก เพราะเดี๋ยวก็ไปทำนาบ้าง ทัศนคติของพ่อแม่ก็อยากส่งลูกไปเป็นเจ้าคน นายคน ไปทำงานในเมือง ค่อย ๆ หายไป ไม่ได้เห็นคุณค่าในตัวเอง แล้วก็ไม่ได้เห็นคุณค่าของงานหัตถกรรมเท่าที่ควร สิ่งที่เราเห็น คือการหายไปของช่างฝีมือ ต่างชาติเขาเข้ามาเขาตื่นตาตื่นใจ ว่ามันมีจริงเหรอในโลกนี้…”

“สืบทอด” ภูมิปัญญาอันทรงค่า “ส่งต่อ” องค์ความรู้จากบรรพบุรุษ “รักษา” สิ่งมหัศจรรย์ให้ยังคงอยู่คู่ล้านนา

ชาวบ่อสร้างทั้งตำบล รวมไปถึงอีก 8 หมู่บ้าน ในตำบลใกล้เคียงของพื้นที่อำเภอสันกำแพง และอำเภอดอยสะเก็ด ล้วนแต่เป็นแหล่งผลิตร่ม ชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีความถนัดในการทำร่มแตกต่างกันไป เพราะแต่ละพื้นที่ก็จะมีการทำชิ้นส่วนที่ต่างกัน ตามสิ่งที่ได้รับมอบหมายในการผลิต เช่น หมู่บ้านสันพระเจ้างาม ผลิตหัวร่มและตุ้มร่ม บ้านออน ทำโครงร่ม บ้านหนองโค้ง ทำหุ้มร่ม และลงสี บ้านแม่ฮ้อยเงิน อำเภอดอยสะเก็ดผลิตด้ามร่ม บ้านต้นเปา ผลิตกระดาษสา แต่การประกอบชิ้นส่วนของร่มทั้งหมดจะมารวมกันอยู่ที่บ่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบายลวดลาย และสีสันบนผืนร่มที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์อันเลื่องชื่อของร่มบ่อสร้าง

โดยมีกลเม็ดเคล็ดลับในการทำร่ม อยู่ที่การใช้แป้งเปียกผสมน้ำมะโก้ติดผ้า หรือกระดาษเข้ากับร่ม ทำให้ติดทนนาน ไม่หลุดร่อนง่าย และเวลาที่ลงสีน้ำมันจะต้องผสมกับน้ำมันมะมื้อ หรือน้ำมันตังอิ๊วที่ทำให้ร่มทนแดด ทนฝน และใช้งานได้จริงไม่ว่าหน้าฝน หรือหน้าร้อน เพราะฉะนั้น ร่มบ่อสร้างจึงเป็นร่มที่สามารถใช้งานได้จริง และการันตีในเรื่องความทนทาน หรือใครชอบในส่วนของที่ระลึก ร่มบ่อสร้างก็เป็นของที่ระลึก ที่มีความงดงาม และเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนกับที่ไหน ร่มบ่อสร้างจึงเป็นสินค้าที่สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดเชียงใหม่มาช้านานหลายชั่วอายุคน เป็นสินค้า OTOP ที่สร้างมูลค่ารายได้ให้แก่ชาวบ้าน องค์ความรู้ที่ส่งต่อมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สืบทอดกันรุ่นสู่รุ่น จนในวันนี้กลายมาเป็นองค์ความรู้ที่สร้างงานหัตถกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของล้านนา

ขั้นตอนการทำร่มบ่อสร้าง

– กระบวนการทำร่มบ่อสร้าง จะเริ่มจากการทำซี่ร่ม หลังจากได้ไม้ไผ่มาแล้ว ก็นำเอามาตัดออกเป็นท่อน ๆ ถ้าเป็นไม้ไผ่ที่มีปล้องยาวก็จะต้องตัดระหว่างข้อ แต่ถ้าเป็นไม้ปล้องสั้น ตัดให้ข้อไม้อยู่ตรงกลางความยาวของท่อนไม้ที่ตัด เท่ากับขนาดของร่มที่จะทำ อย่างเช่น เราจะทำร่ม ขนาด 20 นิ้ว ก็ตัดไม้ไผ่ยาว 20 นิ้ว เมื่อตัดไม้ไผ่เป็นท่อนยาวแล้ว ก็ใช้มีดขูดผิวไม้ออกให้หมด แล้วทำเครื่องหมาย สำหรับการเจาะรู เมื่อเจาะรูแล้ว ก็นำมาร้อยติดเรียงกัน

– จากนั้นก็นำมาประกอบเป็นโครงร่ม

– ทากาว และ เอากระดาษสีขาวบุลงไป ตามด้วยกระดาษสี วางทิ้งไว้ให้แห้ง เคล็ดลับของร่มบ่อสร้าง อยู่ที่การใช้แป้งเปียก ผสมน้ำมะโก้ติดผ้า หรือกระดาษเข้ากับร่มทำให้ติดทนนาน

– นำมาวาดลวดลาย และสีสันบนผืนร่มให้สวยงาม ลวดลายตามการรังสรรค์ของสล่าทำร่ม เคล็ดลับของการลงสีให้ติดทนนาน คือ เวลาลงสีน้ำมัน ต้องผสมกับน้ำมันมะมื้อ หรือน้ำมันตังอิ๊ว ที่ทำให้ร่มทนแดด ทนฝน และใช้งานได้จริงในทุกสภาพอากาศ ตอบโจทย์ทุกการใช้งานของทุกคน ไม่ว่าจะสำหรับบังแดด หรือบังฝน

“…ของเราจะต่าง จะเด่นตรงที่ว่ามีการพัฒนาต่อยอดมันเริ่มมาจากวัตถุดิบพื้นบ้านที่เราใช้ อย่างฝ้าย เขาใช้เป็นวัตถุดิบในการทอผ้าเราก็ใช้เส้นฝ้ายจากที่นั่นมาทำ นอกนั้นก็คือจิตวิญญาณของช่างฝีมือที่ถ่ายทอดลงไป และความตั้งใจที่ใส่ลงไปในรูปแบบของร่มบ่อสร้างโดยเฉพาะเรื่องการส่งออก เราจะมีทั้งการตรวจเข้มกระบวนการผลิต ตรวจคุณภาพสินค้า เขาจะจ้างคนข้างนอกมาตรวจซึ่งตรงนี้เรามองย้อนกลับมาว่า มันทำให้เราได้พัฒนาตนเองต่างชาติที่เขามาหาเรา เขามาด้วยประวัติของเราเขาเห็นคุณค่าของงานหัตถกรรมเรา เห็นความมหัศจรรย์ของการเอาไม้เปล่า ๆ เป็นไม้ที่ตายแล้ว มาเป็นไม้มีชีวิตที่สำคัญที่สุดที่ต่างชาติเขาชอบ และทึ่ง คือ สามารถกันฝนได้แล้วมันสื่อสารถึงความเป็นวัฒนธรรมได้ชัดเจนเขาก็จะมองว่ามัน คือการเชื่อมโยงของชุมชนเป็นหนึ่งใน soft power ที่ดึงแขกได้มากพอสมควรอย่างเมื่อต้นปีก็มีช่างเขียน เขาไปเขียนที่นิวยอร์ก เอาไปสร้างให้คนรู้จักประเทศไทย รู้จักเชียงใหม่โดยใช้ร่มบ่อสร้างเป็นการดึงแขก…” — กัณณิกา บัวจีน —

สัมผัสกับหัตถกรรมสร้างสรรค์ “ร่มบ่อสร้าง” มรดกทางวัฒนธรรม เป็นภูมิปัญญาที่ยังคงมีลมหายใจ

“ร่มบ่อสร้าง” สินค้าพื้นเมืองของไทย ที่โด่งดังไปไกลถึงต่างประเทศ เป็นหัตถกรรมพื้นถิ่นที่อยู่คู่บ้านบ่อสร้างมาอย่างยาวนาน จวบจนปัจจุบันนี้ สิ่งที่ทำให้ร่มบ่อสร้าง ภูมิปัญญาของชาวล้านนา ยังคงอยู่ ไม่ดับสิ้นไปตามกาลเวลา คือ การสนับสนุน และการผลักดันของชาวล้านนาทุก ๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ “ศูนย์อุตสาหกรรมทำร่มบ่อสร้าง” ที่ตั้งอยู่ ตำบล ต้นเปา อำเภอ สันกำแพง จังหวัด เชียงใหม่ โดยในปัจจุบันมีคุณกัณณิกา บัวจีน (คุณนก) เป็นผู้ดูแลอยู่ เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ได้สานต่อหัตถกรรมอันทรงคุณค่านี้ จนกลายเป็นหนึ่งในผลงานสร้างสรรค์ที่ได้รับการยอมรับในความประณีตจากทั่วโลก

(คุณกัณณิกา บัวจีน ผู้ดูแลศูนย์หัตถกรรมทำร่ม)

ร่มบ่อสร้างยังคงตั้งมั่นที่จะผลิตร่มด้วยกำลังแรงจากคน อนุรักษ์งานฝีมือ ด้วยความเชื่อที่ว่า ไม่สามารถมีเครื่องจักรไหน มาแทนงานฝีมือของคนได้ และยังคงสร้างร่มบ่อสร้าง ด้วยวัตถุดิบไม้ ไม่มีการเปลี่ยนเป็นโครงเหล็กเช่นเดียวกับร่มสมัยใหม่ เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นครั้งแรกที่บ้านบ่อสร้าง ที่เคยมีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาปักกลดที่บ้านบ่อสร้าง แต่ได้เกิดลมพัดแรง จนกลดนั้นปลิวเสียหายใช้การไม่ได้ และได้มีชาวบ้านช่วยทำการซ่อมกลดให้กับพระธุดงค์องค์นั้น โดยได้ทำการเพิ่มไม้ดามเข้าไป เพื่อให้พระธุดงค์องค์นั้น สามารถถือได้สะดวกมากกว่า ตั้งแต่นั้นมาก็เกิดความคิดริเริ่มในการผลิตร่มครั้งแรก จนกลายมาเป็นสินค้าพื้นเมืองของจังหวัดเชียงใหม่ และชาวบ้านในพื้นที่เองก็ต้องการรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของร่มบ่อสร้างนี้ไว้ จึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงวัสดุที่ใช้ ถึงแม้ว่าการใช้เหล็กทำโครงร่มจะมีความแข็งแรงทนทานมากกว่าก็ตาม แต่ร่มบ่อสร้างก็ยังคงยืนหยัดที่จะรักษาความเป็นเอกลักษณ์นี้ สิ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวชื่นชอบ และสะดุดตาจนกลายเป็นสินค้า OTOP ประจำจังหวัดเชียงใหม่มาจนถึงปัจจุบันนี้

นอกจากนี้แล้ว ร่มบ่อสร้างนั้น ยังเป็นสินค้าที่ช่วยในการดำรงชีพของกลุ่มชาวบ้านมากมายในบ้านบ่อสร้าง เป็นทั้งการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น การสร้างรายได้ การรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นล้านนา และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งของได้อีกด้วย จากไม้ที่ตายแล้ว ทำให้ไม้กลับมามีชีวิต ทุกวันนี้ร่มบ่อสร้างจึงยังคงเป็นสินค้าที่มีการพูดถึง และถามหาจากชาวต่างชาติที่มาเยี่ยมชมประเทศไทยอยู่อย่างไม่ขาดสาย

ร่มบ่อสร้าง ไม่มีความน่ากังวลในเรื่องของความนิยม เพราะตลอด 200 ปีที่ผ่านมา ร่มบ่อสร้างก็ยังคงเป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่มาเยือนจังหวัดเชียงใหม่แห่งนี้ แต่ความน่ากังวลที่เกิดขึ้น คือ สล่าผู้ทำร่มบ่อสร้าง ที่ในทุกวันนี้มีเพียงผู้เฒ่า ผู้แก่ที่ยังคงยืนหยัดทำอยู่ แต่ไร้ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ที่จะสนใจในการสืบทอดองค์ความรู้นี้

“…ถ้าน้องไปเห็นการทำร่มทุกวันนี้ เห็นป้า ๆ ทำร่ม อาจเป็นภาพจำว่าอาจจะเป็นรุ่นสุดท้ายของประเทศไทย หรืออาจ เป็นรุ่นสุดท้ายของโลกใบนี้แล้ว เพราะว่า คนทำต่อไปไม่มีแล้ว ถ้าน้องไปดูช่วงอายุ ไม่ต้องนับคนเขียน หัวใจของร่มคือ คนเหลาร่ม ซึ่งอายุเกิน 60 ปีทั้งนั้นเลย ร่มบ่อสร้างยังต้องการพลังจากเด็กเจนใหม่ เราพยายามทำมากว่า 30 ปี ไม่ว่าร่วมโครงการของ GTZ ไทย-เยอรมัน โครงการของทรัมป์ ไทย-เนเธอร์แลนด์ โครงการไจก้าเจโทร ของญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นความท้าทายของเด็กเจนใหม่ ในเมื่อคุณมีความรู้ ความสามารถ มาช่วยคนรุ่นเก่า ในการต่อยอดลมหายใจของงานหัตถกรรม เชื่อว่าน้อง ๆ เจนใหม่อาจคิดได้ไกลกว่าที่พี่คิด พี่ก็ขอฝากความหวังไว้กับน้อง ๆ… กัณณิกา บัวจีน –

ร่มบ่อสร้างได้ขึ้นเป็นมรดกทรัพย์สินทางปัญญาว่าด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งมาตรฐานที่ต้องมีคือ ตำรา ตอนนี้ร่มบ่อสร้างมีตำราการทำร่มที่สมบูรณ์ พร้อมแล้วที่จะส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษา เรียนรู้ เพื่อช่วยกันพัฒนาการทำร่มบ่อสร้างให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ให้ร่มบ่อสร้าง แผ่ขยายร่มเงา บังแดดบังฝนให้ชาวเชียงใหม่ และล้านนาทุกจังหวัด ร่วมรักษามรดกทางวัฒนธรรมนี้ให้ยังคงอยู่ และร่วมผลักดันให้กลายเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัย สู่ความเป็นสากลในโลกยุคใหม่ได้อย่างภาคภูมิ

“…ร่มบ่อสร้างยังต้องการพลังจากเด็กเจนใหม่ มาช่วย หาเทคโนโลยีต่อยอด
เป็นสิ่งที่เราพยายามทำมากว่า 30 ปี  นำความรู้ความสามารถ
มาช่วยคนรุ่นเก่า ต่อยอดลมหายใจของงานหัตถกรรม…”
— กัณณิกา บัวจีน

ร่วมแสดงความคิดเห็น