“สืบ” และ “สาน” ความภาคภูมิใจ การฟ้อนเล็บ ศิลปะแห่งล้านนา

ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 18 การฟ้อนเล็บ

“…การฟ้อนเล็บ อับดับ 1 ในเชียงใหม่ ความภาคภูมิใจมันลดไม่ได้
มันถูกส่งต่อ ๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่น หากไม่มีช่างฟ้อนระดับบรมครู
เป็นผู้ส่งต่อความงดงามนี้ไปยังลูกหลาน ก็อาจทำให้การฟ้อนเล็บสูญสลายไปตามกาลเวลา… ”
— ศรีพรรณ์ เขียวทอง –

ความอ่อนช้อย ความงดงาม ความสามัคคี เป็นเสน่ห์ที่ส่งออกมาจากสตรีล้านนาผ่านการฟ้อนเล็บ ศิลปะที่เป็นอัตลักษณ์แห่งล้านนา เหตุใดศิลปะการแสดงแขนงนี้ จึงอยู่คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่มาอย่างเหนียวแน่น และยาวนาน ชมรมฟ้อนเล็บเชียงใหม่ คือส่วนหนึ่งที่เป็นพลังสำคัญในการอนุรักษ์ และสืบสานความภาคภูมิใจ การรวมตัวกันของเหล่าสตรีที่มีใจรักในการฟ้อนเล็บ มาด้วยใจ และกายที่ต้องการสืบสานวัฒนธรรมอันมีค่า ในวันนี้ฟ้อนเล็บยังคงอยู่คู่แผ่นดินล้านนา ไม่จางหายไปพร้อมกับกาลเวลาที่แปรผัน แต่ความน่ากังวลที่เกิดขึ้น คือ ผู้ที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมนี้ส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้เฒ่า ผู้แก่ ที่ยังรอให้คนรุ่นใหม่ วัยหนุ่มสาวมาช่วยสานต่อความภาคภูมิใจนี้

“ฟ้อนเล็บ” วัฒนธรรมที่เคียงคู่กับชาวล้านนามาอย่างยาวนาน

“…มันมีมาตั้งแต่เดิมจากในคุ้มในวัง มีงาน หรือมีการต้อนรับราชอาคันตุกะ เจ้าดาราก็เป็นคนจัด สมัยแต่ก่อน แม่ยังไม่เกิดเลย อันนี้เราก็มาต่อปลายเขา เพราะฟ้อนเล็บเป็นของพื้นบ้านเชียงใหม่เรา เรียกว่าฟ้อนตึ่งโนง…” — แม่ครู ศุภรัตน์ เกตุบุญเรือง —

การฟ้อนเล็บ เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่อยู่คู่ล้านนามาอย่างยาวนาน เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนา หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฟ้อนแห่ครัวทาน” เนื่องจากในสมัยก่อนจะใช้แสดงสำหรับขบวนแห่ครัวทานของวัด ต่อมาเริ่มมีการสวมเล็บที่ทำจากทองเหลืองทั้ง 8 นิ้ว จะยกเว้นเฉพาะนิ้วโป้ง ที่จะไม่มีการสวมใส่ การเปลี่ยนแปลงนี้ จึงเป็นที่มาของคำว่า ฟ้อนเล็บ ถือเป็นการแสดงที่มีความงดงาม อ่อนช้อยของท่วงท่ารำ นิยมจัดแสดงในงานบุญ งานปอยหลวง และงานประเพณีที่สำคัญของล้านนา

ในสมัยโบราณ การฟ้อนเล็บนั้นจะเป็นการแสดงที่ถือว่าหาชมได้ยาก ถ้าจะชมการแสดงฟ้อนที่มีความงดงาม และอ่อนช้อย จะต้องเป็นฟ้อนของคุ้มเจ้าหลวง เจ้านายเชื้อพระวงศ์ฝ่ายใน ซึ่งการฟ้อนครั้งสำคัญ ที่ทำให้การฟ้อนเล็บเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง คือ เมื่อครั้งพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ทรงฝึกหัดเจ้านาย และหญิงสาวฝ่ายใน ฟ้อนถวายรับเสด็จพระสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งเสด็จประภาสที่ภาคเหนือ เมื่อ ปีพ.ศ. 2469 เมื่อการฟ้อนเล็บเป็นที่รู้จัก และเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ภายหลังก็ได้มีการรวบรวม และจัดทำท่าฟ้อนที่เป็นมาตรฐานขึ้น มีทั้งหมด 17 ท่า โดยมีการบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนของวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ ซึ่งในตอนแรกนั้น การแสดงฟ้อนเล็บ จะมีดนตรีประกอบ โดยเล่นจากกลองตึ่งโนง ฆ้องใหญ่ ฆ้องเล็ก ฉาบใหญ่ กลองตะหลดปด ภายหลังได้มีการเพิ่มปี่แนใหญ่ และปี่แนเล็ก เข้ามาเป็นดนตรีประกอบ

ต่อมาภายหลัง การฟ้อนเล็บก็เผชิญกับสถานการณ์ซบเซา ไม่ค่อยจะมีการแสดงให้ดู แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่ยังคงหัดฟ้อนกันเป็นครั้ง เป็นคราว แต่เป็นการฝึกที่มีการฟ้อน และลีลาต่าง ๆ แตกต่างกันไป เพราะไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับครูฝึกจะทำการสอนแบบใด จนในปี พ.ศ. 2474 เจ้าหญิงบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ ธิดาของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ท่านเป็นผู้รักศิลปะประเภทนี้มาก จึงได้รวบรวมเด็กหญิงในคุ้ม ให้ครูหลวงเป็นผู้ฝึกหัดในแบบต่าง ๆ ช่วงระยะเวลานี้ ใช้เวลาในการปรับปรุงท่าทาง เครื่องแต่งกาย และดนตรี เพื่อความเหมาะสม เป็นระเบียบเรียบร้อย มีแบบอย่างที่เชื่อถือได้ ในระหว่างการฝึกอบรมนี้ ก็ได้มีการจัดการแสดงต้อนรับแขกเมือง และให้ประชาชนได้ชมอยู่เสมอ ต่อมาประมาณปีพ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จประภาสจังหวัดเชียงใหม่ บรรดา ครู นักศึกษา ตลอดจนวัดต่าง ๆ ได้พากันฟื้นฟูการฟ้อนขึ้นมาเพื่อรับเสด็จฯ และต้อนรับพระราชอาคันตุกะที่มาเยือนจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับความสนใจจากพระราชอาคันตุกะเป็นอย่างมาก ปัจจุบันการฟ้อนเล็บ จึงมีการบรรจุเข้าหลักสูตร ให้เด็กนักเรียน นักศึกษา ได้เรียนรู้กระบวนฟ้อนขั้นพื้นฐาน และมีกลุ่ม หรือ ชมรมฟ้อนเล็บ ในการรวมเหล่าสตรีที่มีใจรักในการฟ้อนมาอยู่รวมกัน เพื่อสืบสานวัฒนธรรมที่ดีงามอันนี้ ให้คงอยู่คู่แผ่นดินล้านนา

“…ชมรมฟ้อนเล็บ ที่ตั้งขึ้นมา เพราะ อย่างน้อยมันสืบทอด ของบรรพบุรุษของเรา ที่ตั้งขึ้นมา คือ เพื่อให้ทุกท่าน ทุกคนที่มาอยู่ตรงนี้ ที่ชอบพบปะกัน กลุ่มสตรี กลุ่มแม่บ้าน เยาวชนบางส่วน ที่ชอบในการฟ้อนเล็บ รวมกันเพื่อให้บรรพบุรุษ พี่ ป้า น้า อาของเรา ได้ถ่ายทอดให้ ตอนนี้ก็มีช่างฟ้อนเล็บในจังหวัดเชียงใหม่ รวมก็เป็นหมื่นคนได้…” — ศรีพรรณ์ เขียวทอง –

ความอ่อนช้อย ความพร้อมเพรียง “ฟ้อนเล็บ” ศิลปะแห่งล้านนา

ฟ้อนเล็บ เป็นศิลปะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ทางภาคเหนือโดยเฉพาะ ด้วยท่ารำที่อ่อนช้อย การเคลื่อนไหวที่เนิบช้า พลิ้วไหว สอดประสานอย่างกลมกลืน กับท่วงทำนองดนตรีที่ใช้บรรเลงจนกลายเป็นอัตลักษณ์นาฎศิลป์อย่างหนึ่งของล้านนา โดยกระบวนท่ารำเป็นลีลาท่าฟ้อนที่มีความงดงาม มีเอกลักษณ์สำคัญ คือ ผู้แสดงจะสวมเล็บยาวสีทองทุกนิ้ว ยกเว้นนิ้วโป้ง ซึ่งรูปแบบของการฟ้อนจะมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบพื้นเมือง หรือฟ้อนเมือง และแบบคุ้มเจ้าหลวง เป็นฟ้อนเล็บที่นิยมฟ้อนนำขบวนแห่ครัวทาน จำนวนผู้ฟ้อนต่อหนึ่งการแสดง ก็จะแตกต่างกันไป

ความงดงามของการรำฟ้อนเล็บจะอยู่ที่กระบวนท่ารำในลักษณะต่าง ๆ ที่มีความหมายแสดงถึงการบวงสรวง หรือเชื้อเชิญ ต้อนรับแขกผู้มาเยือน เพื่อให้เกิดความประทับใจ นอกจากนี้ในการฟ้อนจะมีการแปรแถวในลักษณะต่าง ๆ ท่าฟ้อนเล็บดั้งเดิม คือ ท่าพายเรือ ท่าบิดบัวบาน ท่าหย่อน เมื่อนาฏศิลป์ทางภาคกลางแพร่มาสู่ภาคเหนือ เกิดอิทธิพลทางวัฒนธรรม มีการผสานเข้าด้วยกัน การฟ้อนเล็บจึงมีการปรับท่ารำมากขึ้น สร้างความหลากหลาย และมีความแตกต่างกันไป

“…แต่ละที่ไม่เหมือนกัน ท่าจะมีเหมือนกัน แต่คําพูดจะไม่เหมือนกัน อย่างของแม่จะเป็น ยอดตองต้องลมรับของอัตลักษณ์เชียงใหม่ ลมพัดยอดตอง จะเปลี่ยนกันไป แต่ละที่จะไม่เหมือนกัน…” — แม่ครู ศุภรัตน์ เกตุบุญเรือง –

รูปแบบกระบวนการฟ้อน และลีลาไม่ได้มีการกำหนดตายตัว ครูแต่ละท่าน หรือแต่ละสำนัก อาจแตกต่างกันไป ในสมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้มีการปรับปรุง และประดิษฐ์ท่าฟ้อนให้ดูอ่อนช้อย งดงามมากยิ่งขึ้น มีการบรรจุท่ารำมาตรฐานไว้ในหลักสูตรทั้งหมด 17 ท่า คือ ท่าจีบส่งหลัง , กลางอัมพร , บิดบัวบาน ,จีบสูงส่งหลัง , บัวชูฝัก , สะบัดจีบ , กราย , ผาลาเพียงไหล่ , สอดสร้อย , ยอดตอง , กินนรรำ , พรหมสี่หน้า , กระต่ายต้องแร้ว , หย่อนมือ , จีบคู่งอแขน , ตากปีก และท่าวันทาบัวบาน ซึ่งท่ารำต่าง ๆ ดังกล่าว อาจมีการเพิ่มเติมท่วงท่า ตัดตอน หรือลำดับท่าก่อนหลังตามที่ครูผู้สอนจะกำหนด

การแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะล้านนา อย่างฟ้อนเล็บ จะสวมเสื้อคอกลม แขนกระบอกปล่อยชายอยู่ด้านนอก ผ่าอกติดกระดุม ห่มผ้าสไบทับเสื้อ นุ่งผ้าซิ่นลายขวาง ป้ายข้างยาวกรอมเท้า สวมเล็บที่ทำด้วยโลหะทองเหลือง 8 นิ้ว ยกเว้นนิ้วโป้ง ลักษณะเล็บจะมีปลายเรียวแหลม เกล้ามวยผม โดยขมวดมวยด้านท้ายทอย ทัดดอกไม้ประเภทดอกเอื้อง จำปา กระดังงา หางหงส์ หรือลีลาวดี และห้อยอุบะ ภายหลังได้มีการดัดแปลงให้สวยงามมากยิ่งขึ้น โดยการประดับลูกไม้ที่คอเสื้อ ห่มสไบเฉียงจากบ่าซ้ายไปเอวขวาทับด้วยสังวาล ติดเข็มกลัด สวมกำไลข้อมือ กำไลเท้า เกล้าผมแบบญี่ปุ่น ทัดดอกไม้ หรืออาจเพิ่มอุบะห้อยเพื่อความสวยงาม

เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบจังหวะในการฟ้อน จะใช้วงกลอง “ตึ่งโนง” ซึ่งประกอบด้วย กลองแอว , กลองตะหลดปด , ฆ้องอุ้ย(ขนาดใหญ่) , ฆ้องโหย้ง(ขนาดกลาง) , ฉาบใหญ่ , แนหน้อย และ แนหลวง ในส่วนของเพลงสำหรับใช้บรรเลง ก็แล้วแต่ผู้เป่าแนจะกำหนด อาจใช้เพลงแหย่ง เพลงเชียงแสน เพลงหริภุญชัย หรือลาวเสี่ยงเทียน แต่ส่วนใหญ่จะใช้เพลงแหย่ง เพราะช่างฟ้อนคุ้นกับเพลงนี้มากกว่าเพลงอื่น

“สืบ” และ “สาน” ความภาคภูมิใจ ฟ้อนเล็บ สมบัติแห่งวัฒนธรรม ที่ส่งต่อจากบรรพบุรุษมาจวบจนถึงปัจจุบัน

ชมรมฟ้อนเล็บ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชมรมที่มีความสามัคคี  มีการรวมตัวกันของช่างฟ้อนทั่วสารทิศในเชียงใหม่ ทุกคนที่เข้ามาฟ้อน ล้วนเข้ามาด้วยความรัก เพราะ การเข้ามาฟ้อนไม่ใช่แค่กิจกรรมทางวัฒนธรรม ประเพณี เพียงอย่างเดียว แต่การฟ้อนเล็บเป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจ ทำให้ทุกคนได้มีโอกาสพบปะ พูดคุยกัน เกิดความสามัคคี สร้างความเป็นปึกแผ่นของหมู่คณะที่มีใจรักในสิ่งเดียวกัน

บุคคลสำคัญที่ทำให้ชมรมฟ้อนเล็บในวันนี้ยังคงมีความเหนียวแน่น นอกจากช่างฟ้อนทุก ๆ คนแล้ว ยังมีผู้นำอีกหนึ่งท่าน ที่ถือเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการอนุรักษ์วัฒนธรรมล้ำค่านี้ นายกศรีพรรณ์ เขียวทอง ช่างฟ้อนเล็บ และนายกชมรมฟ้อนเล็บ

นายกศรีพรรณ์บอกเล่าถึงความเป็นมาของชมรมฟ้อนเล็บ ว่ามาการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อต้องการสืบทอดต่อจากบรรพบุรุษ ช่างฟ้อนทุก ๆ ท่านที่เข้ามาในชมรม มาด้วยใจที่รักโดยเฉพาะ มาเพื่ออนุรักษ์อัตลักษณ์ของล้านนา แต่ละครั้งที่ไปฟ้อน แทบจะไม่ได้ค่าตอบแทน ไปด้วยใจ ไปด้วยความเป็นคนล้านนา ที่อยากให้สิ่งล้ำค่านี้อยู่คงเดิม ตอนนี้สามารถกล่าวได้ว่า ช่างฟ้อนทั่วเชียงใหม่ มีจำนวนนับหมื่นคน วัฒนธรรมนี้ไม่ได้ใกล้ที่จะสูญหาย ยังคงอยู่ เพียงแต่ต้องส่งต่อ เปลี่ยนผ่านรุ่น สืบทอดต่อไปยังรุ่นลูก รุ่นหลาน เนื่องจากตอนนี้มีช่างฟ้อนจำนวนมาก ที่เป็นผู้เฒ่า ผู้แก่ เขามีใจรัก เขาก็ยังฟ้อนต่อไป แต่การสืบสานจำเป็นต้องพึ่งพลังของคนรุ่นใหม่

“…เด็กรุ่นใหม่ มีไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ ข้าพเจ้าอยากให้ทางสื่อมวลชนของเรา ทุกหน่วยงาน ประชาสัมพันธ์ให้น้อง ๆ เราคนเชียงใหม่ เราอนุรักษ์ เรื่องนี้เป็นประเพณีของเรา อันดับ 1 ของเชียงใหม่ การฟ้อนเล็บที่อ่อนช้อย อยากให้สืบทอดต่อไป รุ่นลูกรุ่นหลาน การฟ้อนเล็บ มันทำให้ผู้หญิงเราแข็งแกร่ง ถือว่าเป็นประเพณีของเรา รักด้วยใจ รักการฟ้อนเล็บ คนมาที่นี่ มาด้วยใจหมด

อีกหนึ่งบุคคลสำคัญ ที่ในทุกวันนี้ยังคงยืนหยัดที่จะส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมนี้สู่รุ่นลูก รุ่นหลาน ยังคงมีความมุ่งมานะ ในการสอนองค์ความรู้ด้านการฟ้อนเล็บให้แก่เด็กรุ่นใหม่ เหล่านักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจ แม่ครู ศุภรัตน์ เกตุบุญเรือง ครูนาฏศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟ้อนเล็บ

“…ความสามัคคีไงลูก เขาชอบ เขารักทางนี้ แม่สอนพวกนักเรียน ในแต่ละโรงเรียน แล้วก็สอนแม่บ้าน แม่บ้านที่ไปฟ้อน หลาย ๆ พันคน ถ้าสมมติเขาให้แม่ครูไปสอน ไม่ว่าจะตอนไหน ไปสอนตอนค่ำ แม่ก็ไป อันนี้เราสอนมานานแล้วนะลูก ลูกหลานเขาบอกว่า แก่แล้ว หยุดนะ มันหยุดไม่ได้ เพราะว่ามันใจรัก

“ฟ้อนเล็บ” เอกลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นล้านนา สิ่งล้ำค่า ที่ไม่ควรให้สูญหาย

“…การฟ้อนเล็บคืออับดับ 1 ในเชียงใหม่ ของคนล้านนาเรา ความภาคภูมิใจมันลดไม่ได้ แล้วก็เป็นที่ชื่นชมยินดี คนที่เขามาดู เขาก็ประทับใจ ฟ้อนเล็บมันไม่ยาก มันอยู่ที่ใจเรารัก อยากเชิญชวนน้อง ๆ หรือว่าพี่ ป้า น้า อา ที่อยากฟ้อน ข้าพเจ้ายินดีรับทุกคน ไม่ใช่ว่าแค่อายุ 70-80 นะ 90 เขาก็ฟ้อน แข็งแรงอีกด้วยซ้ำ ขอบคุณมาก ๆ ที่มาด้วยใจ และรักการอนุรักษ์ ร่วมอนุรักษ์ให้มันคงเดิม ยังไงมันก็สืบทอดต่อไป ไม่ต้องกลัวว่ามันจะหาย อันนี้ข้าพเจ้ารับประกัน เราจะพยายามให้เด็ก คนรุ่นหลัง เข้ามาอนุรักษ์การฟ้อนเล็บของเรา…” — ศรีพรรณ์ เขียวทอง –

ความเป็นผู้นำที่จะดูแลชมรมฟ้อนเล็บให้แข็งแกร่งของนายกศรีพรรณ์ ความตั้งมั่นที่จะส่งต่อองค์ความรู้แก่เด็กรุ่นใหม่ของแม่ครูศุภรัตน์ และความรักในการฟ้อนเล็บของเหล่าช่างฟ้อนทุกคน เป็นพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้การฟ้อนเล็บยังคงสามารถอยู่ร่วมกับทุก ๆ วัฒนธรรม ในยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนไป พลังที่จะทำให้มรดกล้ำค่า ที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนาน ไม่เลือนหายไป

ช่างฟ้อนระดับบรมครูในทุกวันนี้แม้จะอายุมากแล้ว แต่หัวใจยังเบ่งบาน สดใหม่ ด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นช่างฟ้อน ยังสามารถฟ้อนได้อย่างงดงาม อ่อนช้อย เป็นแรงบันดาลใจให้แก่ช่างฟ้อนรุ่นหลัง การฟ้อนเล็บไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นอาชีพ แต่เป็นวิถีชีวิต และสายเลือดของสตรีล้านนา แม้ว่าทุกวันนี้การฟ้อนเล็บที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรมล้านนาจะยังคงยิ่งใหญ่ แต่ก็ยังต้องการคนรุ่นใหม่มาสืบต่อ ให้สิ่งล้ำค่านี้ยังคงอยู่ยันรุ่นลูกรุ่นหลาน ช่างฟ้อนทุกคนล้วนย่างก้าวด้วยหัวใจ กรีดกรายนิ้ว และฟ้อนท่วงท่า ด้วยจิตวิญญาณ ด้วยปณิธานที่วาดหวังให้ศิลปะการแสดงฟ้อนเล็บล้านนา คงอยู่คู่แผ่นดินไทยต่อไป นิรันดร์กาล

“…ลูกหลานเขาบอกว่า แก่แล้ว หยุดนะ มันหยุดไม่ได้ เพราะว่ามันใจรัก
ทิศทางเราสานไว้แล้ว นอกจากลูกหลานที่จะสานต่อ ขอให้อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม สืบต่อไป…”
— แม่ครู ศุภรัตน์ เกตุบุญเรือง —

ร่วมแสดงความคิดเห็น