ภูมิปัญญาอันทรงค่า “กลองล้านนา” ร่วมปลุกพลังแห่งความศรัทธา ให้กลับมาดังขึ้นอีกครั้ง

ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 21 กลองล้านนา (สล่ากลอง)

“…กลองล้านนามาด้วยความศรัทธา ทำไมคนสมัยก่อนถึงศรัทธา ทำไมคนปัจจุบันถึงไม่เห็นค่า
คุณค่าของกลองมีเยอะ อยู่ที่ว่าใครมองเห็น มองไม่เห็น พยายามช่วยกันฟื้นฟูตรงนี้
แล้วมันก็จะไม่หายไปจากแผ่นดินล้านนาเหมือนกัน… ”
— อานนท์ ไชยรัตน์

กลองล้านนา เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่มาตั้งแต่โบราณกาล เมื่อก่อนเคยถูกตีอย่างอึกทึกครึกโครมตามตำราพิชัยสงคราม และเคยถูกวางเงียบสงบในยามบ้านเมืองมีความผาสุก มาในปัจจุบันบ้านเมืองไร้ซึ่งสงคราม กลองล้านนาได้มีความสำคัญที่เปลี่ยนไป ปรับเปลี่ยนบทบาทการใช้ต่างจากที่เคยเป็นมา แต่ถึงแม้ทุกวันนี้กลองล้านนาจะมีบทบาทที่เปลี่ยนไป แต่คุณค่าของกลองนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ความเชื่อ และความศรัทธา ต้นกำเนิดภูมิปัญญาล้ำค่า “กลองล้านนา”

“…กลองล้านนามาด้วยความศรัทธา เพราะฉะนั้นกลองจะถูกโยงกับความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และเป็นส่วนนึงในการใช้ในประเพณี พิธีกรรม กลองปู่จามีไว้ทำอะไร ก็มีไว้บูชา ประกอบในประเพณีพิธีกรรม เมื่อเป็นการบูชา ถ้าไม่มีศรัทธา ก็จะไม่มีการสักการะบูชา เพราะฉะนั้นมันก็จะเริ่มมาจากศรัทธา ถ้ามีศรัทธา ก็จะเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างกลองแต่ละอย่าง กลองศึกใช้อะไร ใช้สำหรับในการปลุกขวัญกำลังใจให้กับนักรบ ให้มีความฮึกเหิม ในการรบทัพจับศึก” — อานนท์ ไชยรัตน์ –

เมื่อพูดถึงเครื่องดนตรีทางภาคเหนือ หลากหลายคนจะคิดถึงเครื่องดนตรีล้านนาที่เป็นอัตลักษณ์ อย่าง สะล้อ ซอ ซึง แต่นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งเครื่องดนตรีที่มีชื่อเสียง และโด่งดังเป็นอย่างมากของภาคเหนือ นั่นก็คือ กลองล้านนา เป็นวัฒนธรรมด้านดนตรีชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นทรงกลม ที่ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง และหุ้มด้วยหนังสัตว์ เมื่อตี หรือเคาะ จะมีเสียงดังอันไพเราะ และเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเสียงก็จะแตกต่างตามคุณลักษณะของวัสดุที่ทำ และขนาดของกลองนั้น ๆ

กลองล้านนา มีหลากหลายประเภทด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น กลองบูชา(กลองปู่จา) กลองสะบัดชัย กลองชัยมงคล กลองมองเซิง กลองปู่เจ่ กลองตะหลดปด กลองตึ่งโนงกลองแซะ กลองเสิ้งหม้อง กลองหลวง กลองแอว ซึ่งองค์ความรู้กลองล้านนานั้นมีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนาน เพราะกลองมีบทบาทหน้าที่ในสังคมล้านนาตั้งแต่อดีตยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะด้านราชการสงคราม การปกครอง การเป็นอาณัตสัญญาในกิจกรรม รวมไปถึงการสื่อสารในพิธีกรรม การบอกสัญญาณวันโกน วันพระ ในอดีตยังไม่มีระบบการสื่อสารที่ทันสมัย จึงอาศัยกลองเป็นสื่อในกิจกรรมต่าง ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างกลองกับชุมชนล้านนาในงานบุญประเพณี กลองจึงถือเป็นเครื่องดนตรีประจำพุทธศาสนาในล้านนา นอกจากนี้กลองยังมีหน้าที่ในการให้ความรื่นเริงบันเทิง และประกอบร่วมกับการแสดงศิลปะ วัฒนธรรมต่าง ๆ  อย่างเช่น การฟ้อนดาบ การฟ้อนเจิง การฟ้อนหอก การฟ้อนลาย การฟ้อนผางประทีป แม้แต่การฟ้อนเล็บ ที่เป็นศิลปวัฒนธรรมโดดเด่นของล้านนา ก็ยังมีกลองล้านนาเป็นองค์ประกอบสำคัญของการแสดง

ในที่นี้จะขอกล่าวถึง กลองสะบัดชัย ที่เป็นทั้งเครื่องดนตรี และการแสดงพื้นบ้านล้านนาอย่างหนึ่ง กลองสะบัดชัยมีที่มาจาก กลองชัยมงคล ในช่วงเวลาศึกสงคราม มักถูกใช้ตีเพื่อเป็นสัญญานในการออกรบ ซึ่งในปัจจุบันเรามักจะพบเห็นในขบวนแห่ หรืองานแสดงศิลปะพื้นบ้านโดยทั่วไป ลีลาในการตีมีลักษณะโลดโผน เร้าใจ มีการใช้อวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อย่าง ศอก เข่า ศีรษะ มาร่วมประกอบในการตีด้วย การแสดงกลองสะบัดชัย จึงกลายเป็นการแสดงที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้คนที่ได้รับชม จากอดีตที่มีบทบาทเกี่ยวพันกับฝ่ายอาณาจักรกษัตริย์ หรือเจ้าเมือง และกองทัพเพียงอย่างเดียว แต่มาภายหลังคุณค่าของกลองได้รับการยกระดับให้เป็นของสูง และเปลี่ยนไปอยู่เคียงคู่กับ “ศาสนจักร” ซึ่งมีบทบาทคู่กับ “อาณาจักร” มาโดยตลอด เมื่อเข้าไปอยู่ในศาสนสถาน หน้าที่ใหม่ที่เพิ่มขึ้น คือการตีเพื่อเป็น “พุทธบูชา” จนกลองล้านนา มีชื่อขึ้นมาเพิ่มอีกหนึ่งชื่อ คือ กลองบูชา (กลองปู่จา)

เห็นคุณค่า แล้วจะเกิดแรงศรัทธา เรียนรู้รากเหง้ากลองล้านนา ภูมิปัญญาแห่งความภาคภูมิใจ

กลองล้านนา เป็นกลองที่มีหลากหลายประเภท หลากหลายการใช้งาน แต่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรม ถ้าพูดถึงท่วงท่าในการตี แต่เดิมจะมีท่วงท่า ลีลา แบบมีชั้นเชิงของเหล่าบุรุษ เพราะเรื่องของการตีกลองจะเป็นเรื่องของผู้ชายเพียงเท่านั้น การออกลวดลายหน้ากลอง ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถในเรื่องของชั้นเชิงการต่อสู้ของตนในขณะที่มีจังหวะการตีควบคุมอยู่ การออกอาวุธขณะที่ตีกลอง แต่ในปัจจุบันนี้ วัฒนธรรมกลองล้านนา มีความเปิดกว้างมากขึ้น การตีกลองไม่ใช่เรื่องของผู้ชาย เพียงเพศเดียวอีกต่อไป

ศิลปะการตีเริ่มมีการสร้างมาตรฐาน จึงมีการบรรจุวิชาการตีกลองเข้าสู่หลักสูตรการเรียน การสอน ในส่วนของกลองล้านนา มีการแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

ประเภทที่หนึ่ง จะเป็นกลองสองหน้าขนาดใหญ่ มีกลองขนาดเล็กประกอบเรียกว่า “กลองปู่จา” ลักษณะการตีมีจังหวะทั้งช้า และเร็ว บางจังหวะมีฉาบ และฆ้องประกอบด้วย หรือในบางจังหวะ ก็จะมีคนตีไม้ด้วยไม้เรียวประกอบเพียงอย่างเดียว

ประเภทที่สอง เป็นกลองสองหน้า มีกลองขนาดเล็กประกอบ ติดคานหาม ซึ่งเป็นกลองที่จำลองแบบมาจากประเภทแรก เวลาตี ผู้ตีจะใช้มือข้างหนึ่งถือไม้เรียวฟาด อีกข้างหนึ่งถือไม้ตีกลองตี

ประเภทสุดท้าย กลองสองหน้า มีคานหาม ไม่มีกลองเล็ก มีฉาบฆ้องประกอบจังหวะ และมักมีนาคไม้แกะสลักประดับ ซึ่งประเภทนี้ถือเป็นที่นิยมแพร่หลายในปัจจุบัน

กลองสะบัดชัยทั้งสามประเภท ในปัจจุบันนี้ได้มีการส่งเสริม อนุรักษ์ให้คงอยู่คู่ล้านนา ฟื้นฟูกระแสให้ได้รับความนิยมอยู่ตลอด มีการสอนเรื่องการตี และสร้างให้มีบทบาทในศาสนสถานมากยิ่งขึ้น มีการนำเข้าสู่ขบวนแห่ประเพณีต่าง ๆ เพื่อให้กลองล้านนา ที่ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของล้านนา ไม่สูญหายไปตามกาลเวลา

ลักษณะการตีกลองต่าง ๆ ก็จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปเช่นกัน อย่าง การตีกลองปู่จา การตีแบบบูชา เพื่อเป็นพุทธบูชา และเพื่อเตือนให้พุทธศาสนิกชนได้ทราบล่วงหน้าว่า ในวันรุ่งขึ้นจะเป็นวันธรรมสวนะ หรือตีป่าวอินทร์ป่าวพรหม โดยจะตีกลองในวันโกน เรียกว่า ตีกลองรับ ส่วนการตีกลองในวันพระ จะเรียกว่า ตีกลองส่ง

การตีกลองสะบัดชัย ใช้สำหรับบอกเหตุนัดหมาย เฉลิมฉลองงานบุญงานกุศล รับแขกบ้านแขกเมือง รับขบวนแห่ ขบวนกฐิน ขบวนผ้าป่า หรือก่อน-หลังฟังเทศน์ฟังธรรม หรือการตีกลองหน้าเดียว เพื่อบอกเหตุร้ายแรง หรือเจ้าอาวาสมรณภาพ แสดงถึงบทบาทของกลองล้านนาที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา

หรือนอกเหนือจากกลองปู่จา และกลองสะบัดชัย ก็จะมี กลองหลวง หรือ กลองห้ามมาร ใช้ตีเป็นสัญญาณวันพระ 8 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ กลองแอว หรือ กลองตึ่ง โนง ซึ่งเป็นการเรียกตามลักษณะเลียนเสียงตีกลอง และฆ้อง ใช้ตีประสมวงกลองแอว หรือประกอบประเพณีสำคัญของทางล้านนา กลองปูเจ่ กลองก้นยาว ใช้สะพายตีและเล่นประสมวงกลองปูเจ่ กลองสิ้นหม้อง เป็นกลองก้นยาวขึ้นหนังหน้าเดียวแบบของภาคกลาง สามารถใช้สะพายบ่าได้ ใช้แขวนแห่ต่าง ๆ หรือจะเป็นกลองตะหลดปด เป็นกลองสองหน้าขนาดเล็ก เล่นประกอบการฟ้อนเล็บ หรือฟ้อนเมือง

ดั่งเพชรเม็ดงามล้ำค่า นักปราชญ์แห่งล้านนา

กลองล้านนา กลองศึกที่เคยสร้างความฮึกเหิมให้กับเหล่านักรบ จนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมล้านนาให้เราทุกคนได้เห็น ได้สัมผัสอยู่ในทุกวันนี้ แต่กลองบางชนิดก็ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เป็นที่นิยมเท่าที่ควร อาทิเช่น กลองตึ่งโนง หรือ กลองแอว ซึ่งถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงว่าวันข้างหน้าอาจจะถูกหลงลืม บางศาสนสถานก็จะมีเพียงแค่กลองที่ตั้งไว้ หรือ ถูกเก็บไว้ ไม่ได้นำเอาออกมาใช้ประกอบในพิธีกรรมเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ในยุคสมัยปัจจุบันนี้มีการพัฒนาในเรื่องของเทคโนโลยี ที่ให้ความสะดวกสบายมากกว่า จึงเริ่มมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ความดั้งเดิม

พ่อครูอานนท์ ไชยรัตน์ ครูภูมิปัญญาไทย ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านกลอง จึงถือเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมกลองล้านนา ให้ยังคงอยู่กับดินแดนล้านนา พ่อครูอานนท์ ไม่ได้สอนเพียงแค่การตีกลอง แต่จะสอนให้เข้าใจในเรื่องราวแก่นแท้ของคุณค่ากลองล้านนา วิถีชีวิตของพ่อครูอานนท์ คือ การตื่นแต่เช้าทุกวันเพื่อบำรุงรักษากลอง และส่งต่อวิชาความรู้เกี่ยวกับกลองล้านนาให้กับคนที่สนใจ และเด็กรุ่นใหม่ ที่วันนี้ถือเป็นความหวังใหม่ที่จะสืบทอดต่อความภาคภูมิใจนี้

“…ในช่วงหลังนี้มันก็จะมีซีดี มีไฟล์ มีเทคโนโลยีมาแทนที่ คนเราก็เลยหันไปวิ่งตามกระแสเทคโนโลยี แล้วถามว่าอรรถรสนี่มันสนุกไหม มันก็สนุกเสียงดนตรีที่ถูกคัดกรองมาอย่างดี ฟังมันก็เพราะ ลำโพงดีมันก็สนุก แต่ความเป็นจิตวิญญาณมันหายไป มันก็กลายเป็นว่าเรามีการใช้เทคโนโลยีมาแทนที่ กลองก็เลยหายไป เหลือแต่คนแก่ เด็ก ๆ บ้านเราไม่ค่อยสนใจ เพราะฉะนั้นกลองนี้ ถ้าคนแก่รุ่นนี้หมดไป จะทำยังไง…”  — อานนท์ ไชยรัตน์ –

ศูนย์การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา “สลีปิงจัยแก้วกว้าง”

พ่อครูอานนท์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของกลองล้านนา และไม่ต้องการให้วัฒนธรรมล้ำค่านี้เลือนหายไป จึงได้มีการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้สลีปิงจัยแก้วกว้าง เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ ในการส่งต่อองค์ความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ พ่อครูบอกกับเราว่า ในทุกวันนี้ก็ชวนเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน บอกต่อ ให้เด็กเข้ามาเรียนรู้ ที่นี่จะมีการเชื่อมโยงกัน ทั้งวัด บ้าน โรงเรียน เครือข่าย หน่วยงาน องค์กร เชื่อมโยงทุกอย่างทางวัฒนธรรม เพื่อให้เป็นอีกพลังหนึ่งที่อยู่ในสังคม เกิดการเรียนรู้ศิลปะ วัฒนธรรมไม่ว่าแขนงไหน ไม่ใช่การเรียนรู้เพียงแค่ใช้ให้เป็น เล่นให้ได้ แต่ขาดการทำความเข้าใจความเป็นมาของรากเหง้าของวัฒนธรรม ถ้าเป็นแบบนั้นก็ไม่สามารถต่อยอดให้เกิดคุณค่าได้อย่างยืนยาว ในปัจจุบันนี้ที่ศูนย์การเรียนรู้มีนักเรียนหลากหลายวัยเข้ามาเรียนรู้ และทุกคนก็มุ่งมั่นในการสืบต่อวัฒนธรรมการตีกลองล้านนา ด้วยความภาคภูมิใจ เด็ก ๆ ทุกคน ล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จะสืบทอดต่อ โตไป ก็จะไม่หลงลืมวัฒนธรรมนี้ ถือเป็นความอิ่มอกอิ่มใจ ที่เด็กรุ่นใหม่ยังไม่ลืมคุณค่าของภูมิปัญญาล้านนา

“…การก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ ก็เพื่อที่จะสืบสานเรื่องของ ศิลปะ และภูมิปัญญาพื้นบ้านของล้านนาเรา มันได้ทั้งหมด ได้ทั้งวัฒนธรรม เรื่องของศิลปะ จริยธรรม ภูมิปัญญา ประเพณีต่าง ๆ โดยรวบรวมเด็ก ๆ ในชุมชนมาฝึก เพราะฉะนั้นกลองล้านนา จะมีนัยยะ มีประวัติ รากความเป็นมา มีประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นการถ่ายทอดทั้งหลาย ต้องมีกระบวนการในการถ่ายทอด บอกเล่า ถ่ายทอด ให้เห็นคุณค่า แล้วเกิดแรงศรัทธา…” — อานนท์ ไชยรัตน์ –

ร่วมอนุรักษ์ภูมิปัญญา ให้เสียงกลองตีดังกว่าที่เคยเป็นมา ไม่สิ้นหายไปจากแผ่นดินล้านนาของเรา

“…เรามีความเป็นตัวตนของเรา เรามีรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่ดีงาม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของบ้าน ของเมืองเรา ก็คือการขายวัฒนธรรม กลองล้านนา เราไม่ควรทิ้ง ส่งต่อ ถ่ายทอด นี่ก็เชื่อว่ากลองล้านนาจะมีลูกหลานที่เข้าใจ แล้วก็ช่วยกันรักษา สืบสาน ถ้าเราสามารถพัฒนาอย่างเข้าใจ สร้างสรรค์อย่างเข้าใจ โดยการเคารพที่มา เคารพซึ่งบริบทของรากเหง้า บริบทวัฒนธรรมตัวตนของเรา ก็จะทำให้เราขับเคลื่อน แล้วก็พัฒนาสร้างสรรค์เข้ากับดนตรีระดับโลกได้ ครูช่างกลองทั้งหลายก็พยายามที่จะช่วยกันฟื้นฟูขึ้นมา มันต้องมีการเชื่อมโยงหน่วยงานก็ต้องให้ความสำคัญด้วย ช่วยกันฟื้นฟูตรงนี้ แล้วมันก็จะไม่หายไปจากแผ่นดินล้านนา…”– อานนท์ ไชยรัตน์ –

พ่อครูได้ย้ำกับเราว่า หากมองเป็นเรื่องธุรกิจ การสอนกลองล้านนาแค่เปลือกนอกก็ไม่ใช่เรื่องผิด ใคร ๆ ก็สามารถสอนได้ แต่ควรสอนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยไม่ลืมรากเหง้าที่สืบทอดกันมา เพราะนี่คือแก่นแท้ของการถ่ายทอดองค์ความรู้ สิ่งที่จะทำให้กลองล้านนาสามารถตีกังวานให้ไกลโดยไม่สิ้นเสียง คือการปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่รู้จักคุณค่าของกลองล้านนาตั้งแต่รากเหง้า เพิ่มพื้นที่ให้มีการแสดงออก ส่งเสริม ส่งต่อองค์ความรู้ไปยังสถาบันการศึกษา ตราบใดที่เสียงของหัวใจของผู้สืบสานยังดังกึกก้อง เสียงกลองล้านนาก็จะถูกตีดังขึ้นกว่าที่เคยดัง  ดังไกลไปกว่าที่เป็นอยู่ และดังยาวนานกว่าที่เคยเป็น

“…ตอนนี้ถ้าไม่ช่วยกันรักษามรดกทางวัฒนธรรม มันจะหมดกับคนเป็นรุ่นรุ่นไป
เมื่อโลกรู้คุณค่าของเรา เสาะหาตัวตนของเรา แต่เรากลับวิ่งหนีตัวตน แล้วจะรู้ได้ไงว่าเรามีคุณค่า…”
— อานนท์ ไชยรัตน์

ร่วมแสดงความคิดเห็น