ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 24 วิถีร่วมสมัย สไตล์ล้านนา
ตลอดเส้นทางทั่วสารทิศในเชียงใหม่ ค้นพบว่า เมืองเชียงใหม่ เป็นเมืองที่ล้อมรอบไปด้วยวัฒนธรรมที่ดีงาม เปี่ยมไปด้วยองค์ความความรู้ ภูมิปัญญาของบรรพชนล้านนาที่มีคุณค่า ถึงแม้วิถีชีวิตของชาวล้านนาในปัจจุบัน จะมีวัฒนธรรมสมัยใหม่หลากหลายรูปแบบเข้ามาแทนที่ ไม่เหมือนวิถีชีวิตในอดีตอีกต่อไป แต่ลูกหลานชาวล้านนา ยังสามารถนำเอกลักษณ์ดั้งเดิม และงานศิลปะที่รุ่นบรรพบุรุษได้สร้างไว้ มาผสมผสานกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ให้เกิดความลงตัวได้ วัฒนธรรมร่วมสมัยเกิดจากการผสมผสานระหว่างองค์ความรู้ วัฒนธรรมโบราณ กับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ ก่อเกิดงานศิลปะยุคใหม่เป็นความร่วมสมัยที่เข้ากับบริบทของสังคม เพื่อให้วัฒนธรรมที่สืบสานกันมาอย่างยาวนาน ยังคงอยู่รอดท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนไปทุกวัน ยังคงอยู่เป็นอัตลักษณ์สำคัญของล้านนา ไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา สิ่งใหม่ ใจเปิดรับ สิ่งเก่า เรารักษา
ล้านนาเป็นดินแดนแห่งวัฒนธรรม ดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปวัฒนธรรม ส่งต่อมาตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน อันเป็นภูมิปัญญาของคนล้านนา มีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นที่โดดเด่น และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปะ จิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม หัตถกรรม ประเพณี และวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญเป็นอย่างมากของชาวล้านนา
“สล่า” หรือ “ช่าง” แห่งล้านนา ถือเป็นวิชาชีพที่มีมาตั้งแต่โบราณ ช่างที่ทำงานฝีมือหลายแขนงของล้านนา สิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญ และคุณค่าของช่างในสังคมล้านนาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นอีกหนึ่งสมบัติล้ำค่าที่เหล่าบรรพบุรุษได้ร่วมสร้างสรรค์ สั่งสม และสืบทอดมารุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาด้านต่าง ๆ หรือ องค์ความรู้จากสล่าที่สะสมมาจากประสบการณ์ และความพากเพียร ล้วนเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การสืบทอด และรักษาให้องค์ความรู้ภูมิปัญญาของช่างล้านนาดำรงอยู่อย่างยั่งยืน เพราะงานช่างล้านนาไม่ได้เป็นเพียงแค่อาชีพของคนในท้องถิ่น แต่ยังถือเป็นพลังสำคัญที่จะสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันดั้งเดิมที่อยู่บนความภาคภูมิใจของชาวล้านนามาหลายศตวรรษ

ชุดสารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการผลักดัน และส่งเสียงออกไปให้คนทั้งในท้องถิ่น ผู้คนทั่วประเทศ และชาวต่างชาติ ได้รับรู้ และเกิดความสนใจ เข้ามาสัมผัส ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสาน ส่งต่อวัฒนธรรมล้ำค่านี้ ให้ได้แพร่หลายออกไปมากขึ้น แผ่ขยายกิ่งก้าน เติบโตไปมากกว่าที่เคยเป็นมา สารคดีที่ได้พาทุกท่านมาสัมผัสกับเรื่องราวของชาวล้านนา ผ่านทางศิลปะ และวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของชาวล้านนาในอดีต ที่ยังคงได้รับการสืบทอดผ่านเส้นทางตามประวัติศาสตร์ มาจวบจนปัจจุบัน พาไปรู้จักกับ “สล่าล้านนา” ช่างฝีมือผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมล้านนาโบราณ ที่ยังยึดถือรูปแบบการสร้างงานด้วยวิธีดั้งเดิม และเมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยน ค่านิยมความเชื่อไม่เหมือนเดิม ศิลปวัฒนธรรมเริ่มมีการปรับตัว เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับคนยุคสมัยใหม่ได้ เพื่อให้เส้นทางแห่งวัฒนธรรม ยังคงได้ไปต่อ ไม่สิ้นตำนานของคำว่า วัฒนธรรมล้านนา

รำลึกภูมิปัญญาอันทรงค่า ภายใต้จิตวิญญาณแห่งล้านนา
อาณาจักรล้านนา ดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากในด้านศิลปวัฒนธรรม ดินแดนแห่งความศรัทธา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านพระพุทธศาสนาที่ได้หยั่งรากฝังลึก หล่อหลอมก่อให้เกิดศิลปะ และวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม สืบเนื่องตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
วัฒนธรรมที่สารคดีชุดร้อยเรื่องเมืองล้านนาได้นำเสนอนั้น บางวัฒนธรรมก็ยังคงมีความแน่นแฟ้น เป็นปึกแผ่น ยังสามารถดำรงอยู่คู่เมืองล้านนาแห่งนี้ต่อไปได้ บางวัฒนธรรมก็จัดอยู่ในประเภทวัฒนธรรมที่สูญหายไปแล้ว และใกล้จะสูญหาย เหลือเพียงหนึ่งเดียวให้เราได้เข้าไปสัมผัส และร่วมสืบสานสิ่งล้ำค่านี้ไว้

สล่าหล่อพระล้านนา หนึ่งเดียวในเชียงใหม่ที่ยังคงเหลืออยู่ การหล่อพระโบราณแบบแท้ ๆ สล่าอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง สล่าหล่อพระ ผู้สร้างงานศิลปะชั้นครู ทำนุบำรุง และสืบสานพระพุทธศาสนา ใช้มือทำทุกขั้นตอน ใช้องค์ความรู้ที่สืบทอดจากบรรพบุรุษกว่าร้อยปี และใส่จิตวิญญาณของความเป็นสล่าลงไป เพื่อสร้างสรรค์งานที่เป็นดั่งจุดรวมความศรัทธาของชาวล้านนา ในวันนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้การหล่อพระล้านนาแบบโบราณนั้นเริ่มเลือนหายไป เหลือเพียงแต่บ้านช่างหล่อที่ยังคงดำรงรักษาความโบราณนี้ไว้

“…ถ้าหมดรุ่นลุงอี๊ดไปคิดว่าบ้านช่างหล่อก็คงเหลือแต่ชื่อ
คงจะเป็นรุ่นสุดท้าย แทบจะสูญหายไป ลูกหลานเราก็จะไม่สืบต่อแล้ว…”
— ลุงอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง –
การจักสานฝาลายอำบ้านร้อยจันทร์ ชุมชนบ้านร้อยจันทร์ ต.หนองควาย อ.หางดง จ. เชียงใหม่ เป็นเส้นทางวัฒนธรรมหนึ่งเดียว ที่ยังคงสืบสานภูมิปัญญาการจักสานฝาไว้อยู่ จากผู้ร่วมสืบสานเป็นหลายสิบหลังคาเรือน แต่ในปัจจุบันเหลือผู้สืบทอดอยู่เพียงหลังเดียว พ่อมา นามธุวงค์ ปัจจุบันนี้การจักสานฝาลายอำ ได้หมดไปจากล้านนาแล้ว เหลือเพียงแค่การจักสานฝาลายสอง ฝาลายสาม ที่ทุกวันนี้ก็มีเพียงแค่บ้านพ่อมาที่ยังจักสานอยู่ ถ้าหมดรุ่นพ่อมาไป เส้นทางบ้านร้อยจันทร์แห่งนี้ คงปิดตำนานภูมิปัญญาการจักสานฝาลายอำ สถาปัตยกรรมล้านนาแบบดั้งเดิมไปตลอดกาล

“…เมื่อก่อนมี 50 – 60 หลังเลยที่ทำ ตอนนี้วางมือกันหมดแล้ว เหลือแค่นี้แหละ
บ้านเราไม่มีคนสอน ก็คงจะหมด คงไม่มีใครทำต่อ… ”
— พ่อมา นามธุวงค์ –
“ส่ง” ต่อ “สาน” ต่อ ลมหายใจแห่งวัฒนธรรม
มรดกทางวัฒนธรรมของล้านนา มีอยู่หลากหลายด้าน และหลากหลายประเภทด้วยกัน เป็นสิ่งที่แทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของชาวล้านนา ไม่ว่าจะด้านภาษาท้องถิ่น อย่าง อักษรล้านนา ที่จะปรากฏตามป้ายต่าง ๆ ทั้งสถาบันการศึกษา ศาสนสถาน หรือที่สำคัญต่าง ๆ งานหัตถศิลป์เครื่องเงิน เครื่องทองเหลือง งานปั้น งานแกะสลัก งานปิดทอง เครื่องเขิน งานจักสาน อย่างจักสานตะกร้าป่าบง งานฝีมือด้านการทอผ้า อัตลักษณ์ที่โดดเด่นประจำท้องถิ่น อย่าง ผ้าฝ้ายเชิงดอย หรือด้านการฟ้อน อย่างการฟ้อนเจิง ศิลปะการต่อสู้ของคนในอดีต และดนตรีล้านนาดั้งเดิม เสียงบรรเลงที่อยู่คู่ชาวล้านนามาอย่างยาว วัฒนธรรมที่กล่าวไปนั้นล้วนเป็นวัฒนธรรมที่ใกล้สูญหายทั้งสิ้น สารคดีร้อยเรื่องเมืองล้านนา จึงได้มีการนำเสนอถึงความสวยงาม และคุณค่าของวัฒนธรรมที่กล่าวไป เพราะ จำเป็นที่จะต้องส่งต่อคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เป็นพลังสำคัญในการสืบสาน และส่งต่อวัฒนธรรมล้ำค่า ให้ได้เดินไปต่อในวันข้างหน้า

คุณค่าอักษรล้านนา อักษรล้านนา อักษรที่ซ่อนเรื่องราว ความเชื่อ และวิถีชีวิตของเหล่าบรรพบุรุษในอดีต อยู่คู่กับชาวล้านนามากว่า 700 ปี กำเนิดจากการปรับปรุงอักษรที่มีอยู่แล้ว เพื่อใช้เกี่ยวกับพิธีกรรม หรือบันทึกเกี่ยวกับทางพระพุทธศาสนา อักษรล้านนาจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ หลังจากนั้นเกิดการพัฒนาของภาษา เริ่มดัดแปลงมาใช้เขียนเป็นภาษาเมือง อักษรล้านนา เคยเป็นมรดกทางด้านภาษาอันล้ำค่า ที่ชาวล้านนาใช้สื่อสารผ่านการพูด การเขียน ใช้บันทึกองค์ความรู้ แต่ในปัจจุบันกลายมาเป็นตั๋วเมืองที่แสดงสัญลักษณ์ อัตลักษณ์ของความเป็นล้านนา

“…คำเมืองถ้าคนเมืองไม่พูด แล้วใครจะพูด
หนังสือตัวเมือง ถ้าคนเมืองไม่เรียน ไม่เขียน ไม่อ่านแล้วใครจะเป็นคนทำ… ”
— อาจารย์ เกริก อัครชิโนเรศ–
สล่าเงิน ชุมชนวัดศรีสุพรรณ ชุมชนที่เป็นแหล่งสะสมภูมิปัญญาเครื่องเงินเก่าแก่ ที่อยู่คู่ชาวล้านนามานานกว่า 700 ปี ในปัจจุบันมีเพียง 2 ชุมชนเท่านั้น ที่ยังคงสืบสานงานหัตถศิลป์ล้ำค่านี้ คือ ชุมชนวัวลายหมื่นสาร กับวัวลายศรีสุพรรณ นำทัพโดยพ่อครูดิเรก สิทธิการ ศิลปินแห่งชาติ ปี 2565 สาขา ทัศนศิลป์ และสล่าที่มีความรู้ มีทักษะในการทำเครื่องเงิน ร่วมกันสร้างตำนานทางด้านงานหัตถศิลป์ให้เป็นที่เลื่องลือทั่วประเทศไทย และต่างประเทศ

“…ขอให้ลูกหลาน สืบทอดงานนี้ต่อไป อย่าไปทิ้ง อย่าไปลืมมัน ทำ
สิ่งที่มันดีที่สุดในชีวิต ชีวิตสั้นแต่ศิลปะยืนยาว…มันจะอยู่ไปอีกนาน…”
— พ่อครูดิเรก สิทธิการ —
สล่าไม้บ้านถวาย บ้านถวาย ชุมชนที่อยู่มายาวนานกว่า 100 ปี ตั้งอยู่ในอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนที่ทุกคนร่วมใจกันสร้างสรรค์งานหัตถกรรมจากไม้ ยกระดับไม้แกะสลักให้เป็นงานศิลปหัตถกรรมระดับชาติ ในอดีตบ้านถวายมีความครึกครื้นเป็นอย่างมาก มีความนิยมทั้งใน และต่างประเทศ ทำรายได้หลักร้อยล้าน สูงสุดถึงหลักพันล้าน แต่หลังจากเกิดโรคระบาดโควิด 19 มาจนถึงทุกวันนี้ บ้านถวายกลับเงียบเหงา ไร้ซึ่งนักท่องเที่ยว มีเพียงสล่าสูงอายุที่ยังคงแกะสลักด้วยความตั้งมั่น ด้วยความหวังที่วันหนึ่งจะมีผู้คนหันกลับมาสนใจ และให้ความสำคัญงานหัตถกรรมนี้อีกครั้ง

“…อีกไม่เกิน 10 ปี ทุกอย่างจะหายไป การสืบทอดภูมิปัญญาในด้านแกะสลักมันหายไปแล้ว
มาสัมผัสด้วยตัวเอง ท่านจะรู้คุณค่าของงาน คำว่าภูมิปัญญามันมีค่า… ”
— สวัสดิ์ พันธุศาสตร์ –
สล่าคัวตอง นำเสนอถึงงานคัวตอง หรือ งานเครื่องทองเหลือง สัญลักษณ์ของความรุ่งเรือง และความยิ่งใหญ่ในงานหัตถกรรมล้านนา ในอดีตชาวล้านนานิยมนำมาใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งตามวัดวาอาราม บ้านเรือน หรือตามช่วงเทศกาลต่าง ๆ เพื่อความสวยงาม และยังนำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องแต่งกาย งานคัวตองยังคงมีความสำคัญต่อจิตใจของผู้คน และชาวเมืองที่พบเห็น เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นตัวตนของชาวล้านนาเมืองเก่าได้อย่างสมบูรณ์มากที่สุด ควรให้ความสำคัญกับงานฝีมือล้านนาดั้งเดิมที่อาจจะสูญหายไปในไม่ช้า

“…แต่ละคนไม่เหมือนกัน ให้นั่งทำไม่เหมือนกันสักชิ้น
จิตวิญญาณของสล่าที่ตอกลงไป งานคัวตอง Handmade งานศิลปะที่หาดูได้ยาก… ”
— นิวัติ เขียวมั่ง –
สล่าปั้น ชุมชนบ้านเหมืองกุง ชุมชนที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน และมีการถ่ายทอดการทำเครื่องปั้นดินเผา มาตั้งแต่บรรพบุรุษ กว่า 200 ปี เป็นหมู่บ้านที่รวมยอดสล่าเครื่องปั้นดินเผา ที่มีการใช้วิธีปั้นแบบดั้งเดิม ในวันนี้เราแทบจะหาดูจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว บ้านเหมืองกุง ที่มีการเชื่อมโยงสีสันวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของคนล้านนา จากอดีตสู่ปัจจุบัน

“…คนปั้นเริ่มสูงอายุ เริ่มสูญหายไปตามกาลเวลา
อยากให้วัฒนธรรมที่มีอยู่ 200 กว่าปี ยังคงอยู่คู่กับบ้านเหมืองกุงของเรา… ”
— วชิระ สีจันทร์ –
สล่าปิดทอง พระพุทธศาสนา บ่อเกิดแห่งความเชื่อ ความศรัทธา สร้างค่านิยมทางวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ พระพุทธศาสนาในล้านนาจึงมีความโดดเด่นในการผสมผสานความศรัทธา และความเชื่อ งานลงรักปิดทอง ถือเป็นอีกหนึ่งความงดงามที่อยู่คู่กับศาสนามาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล เป็นงานแสดงถึงภูมิปัญญา และความรู้ด้านศิลปะของเหล่าสล่าปิดทอง ตราบใดที่เรายังเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็ต้องร่วมสืบสานงานศิลปกรรมชั้นสูงนี้ ร่วมส่งเสริมช่างหัตถศิลป์ให้มีการดำรงอยู่คู่แผ่นดินล้านนาตลอดไป

“…มีความซื่อสัตย์ และมีใจรักในศาสนา ถ้าเรามีจิตตั้งมั่น มันก็มีความสุขในการทำ
มันไม่ใช่แค่รุ่นเราที่ทำ มันตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ กี่ร้อยกี่พันปีเขาก็ทำดีมา เราทำให้ดีที่สุด ก็โอเคแล้ว… ”
— ภานุชิต พรหมเมือง –
เครื่องเขิน ชุมชนนันทาราม หนึ่งในเส้นทางวัฒนธรรมที่สำคัญ เป็นชุมชนที่รักษามรดกทางวัฒนธรรมล้ำค่า ด้านเครื่องเขินของชาวล้านนาเอาไว้ ในอดีตมีความเจริญรุ่งเรือง และเป็นที่นิยมอย่างมาก แต่ในปัจจุบัน กาลเวลาเปลี่ยน ความนิยมก็เปลี่ยนตาม จากสิ่งล้ำค่า กลายเป็นสิ่งใกล้สูญหาย อดีตมีผู้คนทำเครื่องเขินเป็นจำนวนมาก แต่ทุกวันนี้กลับเหลือเพียงสามหลังคาเรือน เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า คุณค่า และความสำคัญของเครื่องเขินไม่เหมือนในอดีตอีกต่อไป

“…ให้ครูภูมิปัญญาได้มีกำลังใจที่จะถ่ายทอดให้กับคนในปัจจุบัน นำไปสืบทอด
ทำให้เป็นกระแส ทำให้เครื่องเขินยังหายใจคู่เคียงกับคำว่าล้านนาต่อไป…”
– ดร.สราวุธ รูปิน —
จักสานบ้านป่าบง ไม้ไผ่ที่ถูกนำมาตอก สานร้อยเรียงกัน จนเกิดเป็นรูปทรงต่าง ๆ นิยมนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ดำรงชีพของชาวล้านนาใน ในวันนี้เมื่อการจักสาน ถูกแทนที่ด้วยวัตถุดิบที่คงทนยิ่งกว่า ไม่ว่าจะพลาสติก อะลูมิเนียม หรืออย่างโลหะ ที่ผ่านกระบวนการทำด้วยเทคโนโลยี มีความสะดวกสบายมากกว่า ใช้เวลาในการทำที่น้อยกว่า แต่ขาดซึ่งจิตวิญญาณ และความประณีตในการทำ ความน่ากังวลใจที่เหล่าสล่าจักสานกำลังเผชิญ คือ เครื่องจักสาน ได้รับความนิยมลดน้อยลง และสล่าผู้สืบสานภูมิปัญญาล้ำค่านี้เริ่มแก่เฒ่า และจากเราไปตามกาลเวลา แต่ความล้ำค่าของความดั้งเดิมด้านการจักสานจะต้องรักษาให้ยังคงอยู่คู่ล้านนา

“…จะทำต่อไป จนทำไม่ได้ จนวินาทีสุดท้าย เกิดกับจักสาน ตายกับจักสาน
สัญญา จะอยู่ตรงนี้ จะอยู่กับสิ่งนี้ จะอยู่อนุรักษ์จักสานป่าบงนี่แหละ…”
— อำนวย แก้วสมุทร์ –
ร่มบ่อสร้าง ชีวิตและสีสัน หนึ่งใน Soft power ของเชียงใหม่ ตำบล ต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแหล่งศิลปหัตถกรรมอันเลื่องชื่อ ภูมิปัญญากว่า 200 ปี งานหัตถกรรมที่แสดงออกซึ่งสัญลักษณ์ของความเป็นพื้นเมือง และความสร้างสรรค์ของเหล่านักปราชญ์ล้านนา ความสวยงามด้านศิลปะ ที่ทุกคนให้การยอมรับมาจนถึงทุกวันนี้ ตลอด 200 ปีที่ผ่านมา ร่มบ่อสร้างก็ยังคงเป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่มาเยือน แต่ความน่ากังวลที่เกิดขึ้น คือ สล่าผู้ทำร่มบ่อสร้าง ในทุกวันนี้มีเพียงผู้เฒ่า ผู้แก่ที่ยังคงยืนหยัดทำอยู่ แต่ไร้ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ที่จะสนใจในการสืบทอดองค์ความรู้นี้

“…ร่มบ่อสร้างยังต้องการพลังจากเด็กเจนใหม่ มาช่วยต่อยอด
เป็นสิ่งที่เราพยายามทำมากว่า 30 ปี มาช่วยคนรุ่นเก่า ต่อยอดลมหายใจของงานหัตถกรรม…”
— กัณณิกา บัวจีน –
การฟ้อนเจิง ศิลปะการต่อสู้ และทักษะป้องกันตัว เป็นนาฏกรรมที่สะท้อนรูปแบบศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตอย่างหนึ่งของชาวภาคเหนือที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษมาจนถึงปัจจุบันนี้ ในอดีต เจิง มีความสำคัญในยามสงคราม เป็นศิลปะโบราณ การต่อสู้ การป้องกันตัวของบรรพบุรุษล้านนา แต่ปัจจุบันนี้ ไร้ซึ่งสงคราม ฟ้อนเจิงจึงถูกลดบทบาทลงไปมาก แต่ก็พยายามปรับตัวเพื่อการคงอยู่ซึ่งศิลปวัฒนธรรม จากยุทธการ กลายมาเป็น นาฏยกรรม ท่ารำที่สะท้อนอัตลักษณ์ของล้านนา

“…วิชาความรู้ ถ้าเราอม มันจะหาย ถ้าคาย มันจะอยู่ต่อไป
เพราะฉะนั้น ขอฝากทุกคนช่วยกัน…”
— ศรัณ สุวรรณโชติ –
ดนตรีล้านนาดั้งเดิม ดนตรีพื้นเมือง ถือเป็นวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของล้านนามาช้านาน ตั้งแต่ครั้งโบราณกาล เป็นสิ่งสำคัญของประเพณี งานพิธีต่าง ๆ และทางศาสนาของล้านนา เป็นสิ่งจรรโลงใจประชาชน แต่ในยุคปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบการใช้ชีวิต การเสพสื่อของเยาวชนรุ่นใหม่ บริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป การให้ความสำคัญทางด้านดนตรีล้านนาดั้งเดิมก็ลดน้อยลงไป เยาวชนรุ่นใหม่เริ่มสนใจในดนตรีตามยุคสมัย และมองข้ามสิ่งใกล้ตัวอย่างดนตรีล้านนา สุนทรียะทางดนตรีที่เคยบรรเลงคู่ล้านนามาอย่างยาวนาน

“…อยากเห็นเหมือนกันว่าในอนาคตจะเป็นยังไง เราต้องช่วยกัน เอามารวมกันให้ได้
ต้องเอาให้มันยังคงอยู่ ใหม่ก็เอา เก่าก็บ่ละ…”
— ภานุทัต อภิชนาธง –
รักษ์ประเพณี รักษ์วัฒนธรรม ร่วมรักษา สืบทอดมรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่า
ศิลปะ วัฒนธรรมของล้านนานั้นมีอยู่มากมาย วัฒนธรรมบางอย่างในทุกวันนี้ก็ยังคงมีความแน่นแฟ้น เป็นปึกแผ่น ยังคงดำรงอยู่ได้ถึงแม้กระแสโลกจะแปรเปลี่ยน เป็นวัฒนธรรมที่ยังคงมีบทบาทสำคัญในประเพณี หรือเทศกาลต่าง ๆ ของล้านนา มีการสืบทอดรุ่นต่อรุ่น ถือเป็นวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่คู่ล้านนา เพียงแต่ต้องการพื้นที่ให้คนได้รู้จักถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเหล่านี้มากขึ้น
ผ้าเขียนเทียน ม้งดอยปุย ศูนย์วิสาหกิจชุมชนดาวม่าง บ้านแม่สาน้อย ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ มีหนึ่งในวัฒนธรรมโดดเด่น ก็คือ งานหัตถกรรมผ้าเขียนเทียน เป็นภูมิปัญญาล้ำค่า ที่ส่งต่อจากบรรพบุรุษมาอย่างยาวนาน ดาวม่างมีความหมายมาจากคำว่า ดาว ที่แปลว่าผ้า ม่าง ที่แปลว่ากัญชง แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการทอผ้าด้วยเส้นใยของกัญชง ผ้าเขียนเทียน ไม่ใช่เพียงสินค้า แต่คือวัฒนธรรมที่ฝังรากแน่น เป็นความภาคภูมิใจของชนเผ่าม้ง จากอดีตสู่ปัจจุบัน

“…เราภูมิใจที่เกิดเป็นคนม้ง อนาคตไม่รู้ แต่ปัจจุบันสูญหายไม่ได้
ถ้าผ้าเขียนขี้ผึ้ง กับกัญชงหายไป เอกลักษณ์ของม้งก็คงไม่มี…”
— ธัญพร ถนอมวรกุล –
ช่างทอผ้าฝ้ายเชิงดอย ภูมิปัญญาด้านการย้อมผ้าด้วยหินโมคคัลลาน เอกลักษณ์หัตถกรรมล้านนา ที่สืบทอดมานานกว่า 50 ปี กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าฝ้ายเชิงดอย ตำบล สบเตี๊ยะ อำเภอ จอมทอง จังหวัด เชียงใหม่ คือ ชุมชนที่มีภูมิปัญญาโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ด้วยการใช้หินเป็นวัตถุดิบในการย้อมผ้า เป็นวิธีการทางธรรมชาติ ที่ก่อเกิดรายได้ และการพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืนให้คนในชุมชนมาอย่างยาวนาน ซึ่งทางชุมชนเองก็เคยเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย จนสามารถปรับตัว และเกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืน อยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้

“…เรารักษาภูมิปัญญา แล้วความสุขมันก็จะเกิดขึ้นในอกในใจเรา
ความภาคภูมิใจเหล่านี้ หามาด้วยเงินทองไม่ได้ คุณค่าคือการลงมือทำ …”
— ทัญกานร์ ยานะโส –
ผ้าซิ่นตีนจก ศูนย์หัตถกรรมผ้าตีนจกแม่แจ่ม ตำบล ช่างเคิ่ง อำเภอ แม่แจ่ม จังหวัด เชียงใหม่ เป็นแหล่งสะสมภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของชาวบ้านมาอย่างยาวนาน เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตตั้งแต่เกิด จนล่วงลับไป หัตถกรรมผ้าทอมือที่มีเอกลักษณ์ มีความละเอียด ประณีต สามารถใช้ได้ทั้งสองด้านในผืนเดียว มีลวดลายโบราณที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 16 ลาย และก็ยังมีลายโบราณ และลายประยุกต์อื่น ๆ มากสูงสุดถึง 100 ลาย

“…เราภูมิใจ ทุกวันนี้เราไปไหน เขาก็รู้จัก ว่าเราอยู่แม่แจ่ม มีผ้าซิ่นของแม่แจ่ม
ใหม่ก็เอา เก่าก็บ่ละ คือ ของใหม่ ของทันสมัย เราก็เอา แต่ของเก่า เราก็ยังคงรักษาอยู่…”
— ชุติมันต์ กรรณิกา –
โคมผัดล้านนา งานหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวล้านนา เรามักจะเห็นความงดงาม แสงที่สะท้อนผ่านตัวโคมในช่วงเทศกาลสำคัญ อย่าง ลอยกระทง หรือเห็นโคมที่แขวนประดับไว้ตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของดินแดนล้านนา ชุมชนท่าศาลา จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นต้นกำเนิดของภูมิปัญญาล้ำค่านี้ มีการทำโคมหลากหลายชนิด ทุกขั้นตอนล้วนสร้างสรรค์ด้วยมือ ด้วยหัวใจ และจิตวิญญาณของความเป็นสล่าที่ยังยึดมั่นในการรักษามรดก การปรับเปลี่ยนพัฒนาลวดลาย โดยไม่ยึดติดกับความเป็นล้านนายุคเก่า ทำให้โคมล้านนาเป็นงานศิลปะที่ยืนยาว สืบทอดความงดงามอย่างเป็นอมตะมาจนถึงทุกวันนี้

“…บูชาโคม เพื่อส่องสว่างนำทางไปสู่ความสำเร็จ เราภูมิใจ เราทำด้วยมือของเรา
เป็นใบเดียวในโลก ทำด้วยใจรัก ทุกใบต้องทำด้วยใจรัก แล้วมันก็จะอยู่กับเรา…”
— พ่อครูจำนงค์ เสมพิพัฒน์ –
ตุงล้านนา งานศิลปหัตถกรรม แฝงไปด้วยความเชื่อที่ฝังรากลึกอยู่ในวิถีชีวิต และความศรัทธาของชาวล้านนา ตั้งแต่เกิดจนตาย ชาวล้านนาจะนำตุงมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ และใช้เป็นเครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็นงานมงคล หรืองานอวมงคล ในปัจจุบันนี้ ตุง ยังคงอยู่ในชีวิตประจำวันของคนล้านนาสมัยใหม่ แม้รูปแบบการนำมาใช้อาจแตกต่างออกไปจากอดีตบ้างเล็กน้อย ตามยุคสมัย และบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่คุณค่า และความหมายของ ตุง ก็ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

“…เรามีวัฒนธรรม มีประเพณีอันดีงาม ที่จะทำให้เขามารู้ มาเห็น ถ้าไม่ช่วยกันรักษา
ไม่ช่วยกันดำรงสืบ อนาคตข้างหน้า มันจะค่อย ๆ กลืนหายไปทีละนิด ๆ… ”
— พลเทพ บุญหมื่น –
การฟ้อนเล็บ ความอ่อนช้อย ความงดงาม ความสามัคคี เป็นเสน่ห์ที่ส่งออกมาจากสตรีล้านนาผ่านการฟ้อนเล็บ ศิลปะที่เป็นอัตลักษณ์แห่งล้านนา มีชมรมฟ้อนเล็บเชียงใหม่ ที่เป็นแหล่งรวมตัวกันของเหล่าสตรีทุกวัยที่มีใจรักในการฟ้อนเล็บ มาด้วยใจ และกายที่ต้องการสืบสานวัฒนธรรม แม้ว่าทุกวันนี้การฟ้อนเล็บที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรมล้านนาจะยังคงยิ่งใหญ่ แต่ก็ยังต้องการคนรุ่นใหม่มาสืบต่อ ให้สิ่งล้ำค่านี้ยังคงอยู่ยันรุ่นลูกรุ่นหลาน

“…ทิศทางเราสานไว้แล้ว นอกจากลูกหลานที่จะสานต่อ
ขอให้อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม สืบต่อไป…”
— แม่ครู ศุภรัตน์ เกตุบุญเรือง —
เครื่องดนตรีล้านนา ดนตรีที่ดี เกิดจากเครื่องดนตรีที่ดี เครื่องดนตรีที่ดี เกิดจากนักทำเครื่องดนตรีที่มีความสามารถ เสียงดนตรีล้านนาที่บรรเลงอย่างมีเอกลักษณ์ เบื้องหลังของดนตรีที่ไพเราะนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ผู้เล่น แต่สล่าผู้ประดิษฐ์เครื่องดนตรีล้านนาก็มีความสำคัญ ในการออกแบบงานเสียง ผลิตด้วยวิธีดั้งเดิม ใช้มือทุกกระบวนการทำ ทำให้เครื่องดนตรีล้านนา เป็นอีกหนึ่งเครื่องดนตรีที่มีความโดดเด่น และ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีเสน่ห์ไม่แพ้เครื่องดนตรีสมัยใหม่ การทำให้เครื่องดนตรีล้านนามีความยั่งยืน คือการส่งเสริมให้ดนตรีล้านนาเป็นที่นิยมมากขึ้น ให้นักดนตรีได้มีพื้นที่ และเวทีในการแสดงความสามารถ หากดนตรีล้านนายังมีผู้ฟังมากขึ้น การทำเครื่องดนตรีล้านนาก็จะยิ่งเติบโต จนมีคนรุ่นใหม่มาเรียนรู้สืบทอดต่อไป

“…ยุคนี้ยังไม่เห็นเทคโนโลยีอะไรที่จะทำให้มันง่ายขึ้นมากกว่านี้ ก็ยังหวังในใจลึก ๆ
ว่าจะมีคนสืบให้ ก็อยากให้เด็กรุ่นหลัง มาสนใจ สืบสานในการทำเครื่องดนตรีที่มีคุณภาพ…”
— กำจร เทโวขัติ์ –
กลองล้านนา ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่มาตั้งแต่โบราณกาล เมื่อก่อนเคยถูกตีอย่างอึกทึกครึกโครมตามตำราพิชัยสงคราม และเคยถูกวางเงียบสงบในยามบ้านเมืองมีความผาสุก มาในปัจจุบันบ้านเมืองไร้ซึ่งสงคราม กลองล้านนาได้มีความสำคัญที่เปลี่ยนไป ปรับเปลี่ยนบทบาทการใช้ต่างจากที่เคยเป็นมา แต่ถึงแม้ทุกวันนี้กลองล้านนาจะมีบทบาทที่เปลี่ยนไป แต่คุณค่าของกลองนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง กลองยังคงเป็นเอกลักษณ์ที่เชิดชูความเป็นล้านนา แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ กลองตึ่งโนง ที่ถูกละเลย จนอาจจะสูญหายไปในอนาคต

“…คุณค่าของกลองมีเยอะ อยู่ที่ว่าใครมองเห็น มองไม่เห็น พยายามช่วยกันฟื้นฟูตรงนี้
แล้วมันก็จะไม่หายไปจากแผ่นดินล้านนาเหมือนกัน… ”
— อานนท์ ไชยรัตน์ —
ดนตรีล้านนาร่วมสมัย ท่ามกลางยุคสมัยที่แปรเปลี่ยน ดนตรีล้านนาย่อมมีการปรับเปลี่ยนตาม จากเสียงดนตรีที่มีความเป็นล้านนาดั้งเดิม เริ่มแผ่เสียงของความเป็นดนตรีล้านนาร่วมสมัย เสียงดนตรีที่เกิดจากการนำเครื่องดนตรีสากล และเครื่องดนตรีล้านนาดั้งเดิม มาบรรเลงร่วมด้วยกัน ในวันนี้ดนตรีล้านนาร่วมสมัย ถือเป็นสิ่งที่พึ่งเริ่มต้น จำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือ ความเข้าใจ และความรักในดนตรี ทั้งตัวผู้เล่น และผู้ฟัง เพื่อการพัฒนาดนตรีร่วมสมัยอย่างยั่งยืน สามารถเข้าไปอยู่ในใจของผู้ฟังได้หลากหลายขึ้น และกลายมาเป็น Soft power ของเมืองล้านนาได้ในที่สุด

“…สุดท้ายมันจะกลายเป็น Soft power ใหม่ก็เอา เก่าก็บ่ละ
อะไรที่เข้ามาใหม่ ๆ ก็รับไว้ เก่าก็บ่ละ สิ่งเก่า ๆ ก็อย่าไปทิ้งมัน…”
— ภูริทัต อรุณการ —
นำความดั้งเดิมทางวัฒนธรรม ร่วมเดินทางไปพร้อมกับความร่วมสมัย บนถนนสายเดียวกัน
วัฒนธรรมต่าง ๆ ที่ก่อเกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินล้านนาแห่งนี้ เป็นสิ่งที่อยู่บนความภาคภูมิใจของชาวล้านนามาอย่างยาวนานกว่าหลายศตวรรษ สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเก่งกาจของเหล่านักปราชญ์ล้านนา บรรพชนที่ช่วยกันคิดค้นสิ่งล้ำค่า ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของความเป็นล้านนา ยากที่จะหาชม หาดูได้จากที่ไหน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่โลกค้นหา ผู้คนต้องการค้นหาตัวตนของเรา เราก็จะควรที่จะภาคภูมิใจในสิ่งที่มีอยู่ แม้ความเป็นจริงไม่มีสิ่งใดคงอยู่ตลอดไป แต่ลูกหลานผู้สืบเชื้อสายล้านนาสมัยใหม่ สามารถช่วยต่ออายุขัยของมรดกล้ำค่านี้ให้อยู่นานที่สุดได้ โดยการช่วยกันสืบสาน หรือบอกเล่า เพื่อเกิดการส่งต่อ การปรับตัว ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ ให้วัฒนธรรมได้เกิดความร่วมสมัย แต่ยังคงอยู่บนพื้นฐานของความดั้งเดิม เพื่อให้ตอบโจทย์กับบริบททางสังคมที่แปรเปลี่ยนไป

ในวันนี้เหล่าสล่ายังคงตั้งมั่นที่จะถ่ายทอดความเชื่อ องค์ความรู้จากวิถีเดิมที่เคยเป็นมา ให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างรากฐานให้แข็งแรง และมั่นคง เกิดการต่อยอดที่ยั่งยืน สืบสานศิลปวัฒนธรรมล้านนาให้ยังคงมีชีวิตชีวา ต่อให้แม้สิ้นยุคของสล่าไปแล้ว แต่องค์ความรู้ และผลงานแห่งภูมิปัญญาโบราณ ก็จะยังเป็นอมตะนิจนิรันดร์
ร่วมแสดงความคิดเห็น