เปิดแผน ททท. ปี‘67 กระตุ้นเที่ยวเหนือคึกคัก

ท่ามกลางความท้าทายและอุปสรรคต่างๆ ต่อธุรกิจการท่องเที่ยวในเชียงใหม่และภาคเหนือ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำเป็นที่ต้องมีแผนการเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวให้คึกคัก ตลอดปีหน้าฟ้าใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้

วันที่ 5 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ กาดจริงใจมาร์เก็ต ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมงานแถลงแผนปฏิบัติการด้านการตลาดการท่องเที่ยว ททท. สำนักงานเชียงใหม่ ประจำปี 2567 โดยได้รับเกียรติจาก คุณณัฐพรรณ ตรีเดชา ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสินค้าท่องเที่ยว ททท. , คุณภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ ททท. และ คุณสุลัดดา ศรุติลาวัลย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท.สำนักงานเชียงใหม่

โดยในปัจจุบัน เทรนด์การท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยม ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ , การท่องเที่ยวเชิงอาหาร , การท่องเที่ยวเชิงความยั่งยืน เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรกับโลก , การท่องเที่ยวเชิงรำลึกถึงอดีตและความหลัง , การตามรอยร้านกาแฟ และการเที่ยวสายมูเตลู เป็นต้น

ซึ่งสอดรับกับจุดเด่นของการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือของประเทศไทย ทั้ง วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่สวยงาม งานเทศกาลต่างๆ สินค้าหัตถกรรมท้องถิ่นที่เลื่องชื่อ รวมทั้งการเป็นแหล่งปลูกชา กาแฟ โกโก้ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

แต่ในขณะเดียวกัน ยังคงมีอุปสรรคที่จะส่งผลต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น ปัญหามลพิษทางอากาศ จากหมอกควัน PM 2.5 รวมทั้งจำนวนเที่ยวบินไม่เพียงพอที่จะรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว เนื่องจากการยกเลิกเที่ยวบินในบางจังหวัด ซึ่งทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาลดลง

โดยในปี พ.ศ. 2567 ที่จะถึงนี้ ทาง ททท.ภาคเหนือได้วางเป้าหมาย ที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ให้เทียบเท่ากับช่วงปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่การท่องเที่ยวเฟื่องฟูที่สุดก่อนการระบาดของโรคโควิด – 19 ในปีถัดมา 

โดยเน้นตลาดนักท่องเที่ยวจากในประเทศ เนื่องจากมีอัตราสัดส่วนเดินทางเข้ามามากกว่านักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอยู่ที่ร้อยละ 85 ต่อ ร้อยละ 15  ซึ่งคาดการณ์ว่า จะมีนักท่องเที่ยวจากในประเทศเดินทางเข้ามาในพื้นที่สูงถึง 11 ล้านคน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย นักท่องเที่ยวรายละ 4,000 บาทต่อทริป  และสร้างรายได้ทั้งหมด 110,000 ล้านบาท

สำหรับทาง ททท.ภาคเหนือ ได้กำหนดธีมการท่องเที่ยวในปี 2567 เป็นธีม “มาเหนือ” พร้อมชูแนวคิดการท่องเที่ยวแบบรำลึกอดีต หรือ Nostalgia พร้อมกับสอดแทรกความเป็นสมัยใหม่ ให้ดูทันสมัยมากขึ้น ตอกย้ำความเป็น Soft power ของภาคเหนือ

เช่น Lifestyle แคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวตลอดการเดินทาง เน้นอาหาร แฟชั่น สุขภาพ สินค้าหัตถกรรมและศิลปะท้องถิ่น , Faithival การผสานความเชื่อเข้ากับงานเทศกาล เพื่อสร่งเสริมเทศกาลและกิจกรรมต่างๆที่จะจัดขึ้นช่วงโลว์ซีซั่น ให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ได้ตลอดทั้งปี อาทิกิจกรรมการไหว้พระธาตุ และงานเทศกาลช่วงเข้าพรรษา 

รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าสู่ท้องถิ่นมากขึ้น หลังจากที่ช่วงการระบาดของโรคโควิด – 19 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวในเมืองรองมากขึ้น

สำหรับ ททท.จังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดตัวแคมเปญ CHIANG MAI THE GREATEST CHANGE รองรับความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน โดยใช้ 4 กลไกในการขับเคลื่อน ได้แก่ Partnership 360° ทุกคนมีส่วน , Accelerate Access to digital world , Sub-culture movement กลุ่มวัฒนธรรมย่อยของนักท่องเที่ยว , Sustainably Now ซึ่งไม่ใช่เป็นแค่เทรนด์ แต่ยังเป็นทางรอดเรื่องการท่องเที่ยวในยุคนี้

– Amazing Chiang Mai Retreats โครงการเรือธงของ ททท.ในปีหน้า ที่จะผลักดดันการเป็น Relaxation Paradise เพื่อรับการท่องเที่ยวแบบ Wellness 

– Amazing Chiangmai Workation รับชาวต่างชาติกลุ่ม digital nomad ให้ท่องเที่ยวและอาศัยในเชียงใหม่มากขึ้น

– Vijitr Viang Ping แคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่จะชูจุดเด่นของอาหาร แฟชั่นภาคเหนือ เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานและอาศัยในพื้นที่

– Amazing Chiangmai Roadtrip ตอบรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางด้วยรถยนต์ หรือ Raod Trip ซึ่งมีกิจกรรมที่โดดเด่นต่างๆ เช่น ตามรอยแหล่งท่องเที่ยวดูดาว แหล่งกาแฟและชา การตั้งแคมป์ ทริปตามรอยสถานที่ถ่ายทำละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมและแคมเปญต่างๆ ซึ่งชูความเป็น Soft Power เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อาทิ อรรถรสของกิ๋นคนเมือง , Chiang Mai Retreat , เชียงใหม่ เมืองแห่งเทศกาล , อภิรมย์เชียงใหม่ตามรอยหนัง  , ยลเสน่ห์ภูษาเวียงพิงค์ เพื่อผลักดันการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมสิ่งทอท้องถิ่น และโครงการ 12 เดือน 12 เทศกาล ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี

คาดว่าในปี พ.ศ. 2567 นี้ จะเป็นอีกปีที่การท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจภาคเหนือกลับมาเติบโตอีกครั้ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น