ส่องค้าปลีกเชียงใหม่ หลังยุค “กาดสวนแก้ว”

วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ เชียงใหม่จะสูญเสียห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่อยู่คู่เมืองกว่า 30 ปี อย่างอุทยานการค้ากาดสวนแก้ว หลังประกาศปิดตัวชั่วคราวล่วงหน้าตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน ส่งผลให้ชาวเมืองต่างพากันไปช็อปปิ้งและรำลึกความหลังกันอย่างหนาแน่นตลอดปลายเดือนที่แล้ว

กาดสวนแก้ว ไม่ใช่ทุนท้องถิ่นอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นทุนต่างถิ่นจากระยอง ที่เข้ามาทำธุรกิจศูนย์การค้าในเชียงใหม่ช่วงทศวรรษ 2530 การมาของอุทยานการค้าแห่งนี้ กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจค้าปลีกเชียงใหม่ เพราะการเปิดตัวกาดสวนแก้วในปี พ.ศ. 2535 ส่งแรงสั่นสะเทือนไปยังนายทุนท้องถิ่นอย่าง กลุ่ม “ตันตราภัณฑ์” ที่เป็นเจ้าตลาดค้าปลีกในจังหวัด รวมไปถึงภาคเหนือของไทย ณ ขณะนั้น โดยมีสาขาห้างสรรพสินค้ากระจายอยู่ทั่วเมืองทั้ง ตันตราภัณฑ์ท่าแพ ตันตราภัณฑ์ช้างเผือก และตันตราภัณฑ์แอร์พอร์ต เป็นต้น

โดยการมาของกาดสวนแก้วยังมาพร้อมกับกลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่จากกรุงเทพ อย่าง “เซ็นทรัล” ที่ประเดิมเปิดห้างสรรพสินค้าของตนเองสาขาแรกนอกเมืองหลวงที่กาดสวนแก้วอีกด้วย เมื่อทุนท้องถิ่นไม่สามารถต้านทานทุนต่างถิ่นที่มีความพร้อมมากกว่า ตันตราภัณฑ์จึงปิดฉากธุรกิจห้างสรรพสินค้าของตนเอง ก่อนผันตัวไปต่อยอด “ริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต” ที่กำลังไปได้ดีจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งการขายห้างสรรพสินค้าสาขาแอร์พอร์ตแก่กลุ่มเซ็นทรัลในปี พ.ศ. 2539 จนกลายเป็นเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต ในปัจจุบัน

ตลอดระยะเวลา 3 ทศวรรษของกาดสวนแก้ว ธุรกิจค้าปลีกเชียงใหม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด ทั้งการเกิดขึ้นและดับสูญของห้างสรรพสินค้า Modern Trade จากต่างประเทศ ในช่วงทศวรรษ 2540 – 2550 อย่าง โอชอง คาร์ฟูร์ จากฝรั่งเศส เทสโก้ จากอังกฤษ และการไหลบ่าของศูนย์การค้าขนาดใหญ่จากเมืองหลวง และต่างประเทศ ในช่วงทศวรรษ 2550 อาทิ ศูนย์การค้าพรอมเมนาดา เชียงใหม่ , เซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ และเมญ่า ไลฟ์สไตล์ ช็อปปิ้งมอลล์ เป็นต้น

การปิดตัวของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ถึงสองแห่งในระยะเวลาไม่ถึงสองเดือน ทั้ง พรอมเมนาดา และกาดสวนแก้ว นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ในจังหวัดแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการแข่งขันที่ดุเดือดของธุรกิจค้าปลีกในพื้นที่อีกด้วย

การปิดตัวของห้างสรรพสินค้าทั้งสอง ถือเป็นการรีเซ็ทธุรกิจค้าปลีกเชียงใหม่ในรอบ 3 ทศวรรษ เนื่องจากเหตุการณ์นี้ทำให้เชียงใหม่เหลือศูนย์การค้าที่มีขนาดใหญ่แค่ 3 แห่ง ทางหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจมองว่า หลังจากนี้จะเกิดการปรับฐานลูกค้าใหม่ในตลาดค้าปลีกของจังหวัด โดยศูนย์การค้าขนาดใหญ่จะยังคงมีส่วนแบ่งหลักจากนายทุนส่วนกลาง เช่น CPN หลังคู่แข่ง 2 รายอย่างพรอมเมนาดา และกาดสวนแก้ว ถอนตัวออกไป ในขณะที่ธุรกิจค้าส่งในเชียงใหม่ ก็เรียกได้ว่าถูกครองตลาดอย่างเบ็ดเสร็จไปเรียบร้อยจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่เข้ารุกตลาดนี้ด้วย แมคโคร โลตัสเอ็กซ์เพรส เซเว่นอีเลฟเว่น แบบไร้คู่แข่ง

ดูเหมือนว่าธุรกิจห้างขนาดใหญ่ไปจนถึงร้านสะดวกซื้อจะถูกครอบครองโดยนายทุนจากส่วนกลางไปแล้ว แต่ใช่ว่าจะไม่มีแสงสว่างสำหรับทุนท้องถิ่นรวมทั้งนักธุรกิจรายใหม่ ที่ต้องการเข้ามาแข่งขันในธุรกิจนี้ การเกิดขึ้นของศูนย์การค้าประเภทคอมมิวนิตี้มอลล์ ชี้ให้เห็นถึง “ช่องว่าง” ในตลาดค้าปลีกเชียงใหม่ ที่สามารถไปต่อได้อยู่

ความจริงแล้ว ธุรกิจคอมมิวนิตี้มอลล์ ไม่ได้พึ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ แต่เริ่มขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 2540 – 2550 โดยมี “มีโชคพลาซ่า” และ “นิ่มซิตี้เดลี่” กลุ่มนายทุนท้องถิ่นที่บุกเบิกตลาดนี้ ตามมาด้วยกาดฝรั่ง เชียงใหม่ 89 เป็นต้น ด้วยธุรกิจดังกล่าวสามารถตอบสนองลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงที่อาศัยอยู่ในแหล่งชุมชน หมู่บ้านจัดสรร และไม่มีความจำเป็นที่ต้องเดินทางไปยังห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ทำให้คอมมิวนิตี้มอลล์เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2565 กลับมีคอมมิวนิตี้มอลล์ที่กำลังจะเปิดตัวถึง 5 แห่ง ตัวอย่างเช่น กรีนพาร์ค และ เดอะ กาดฝรั่ง แม่ริม เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่นยังไปต่อได้ รวมทั้งเชียงใหม่ยังคงมีลูกค้าที่มีกำลังซื้ออยู่

หลังการปิดตัวของกาดสวนแก้ว สถานการณ์ค้าปลีกเชียงใหม่ยังคงน่าจับตามอง กลุ่มทุนท้องถิ่นจะสามารถแย่งชิงความเป็นเจ้าตลาดอีกครั้งอย่างที่กลุ่มแจ่มฟ้าในลำพูนทำสำเร็จได้หรือไม่ รวมไปถึงห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในเชียงใหม่ จะมีผู้เล่นรายไหนถอนตัวอีก หรือใครจะเป็นทุนรายใหม่ที่เข้ามาในอนาคต รวมถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจในขณะนี้ ทั้งการเปิดประเทศ วิกฤตเงินเฟ้อ ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย – ยูเครน เป็นต้น

เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จของธุรกิจ

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ , The Urbanis , Thai PBS News , มติชนสุดสัปดาห์ , Biz Prompt , BrandAge , ผู้จัดการ 360

ร่วมแสดงความคิดเห็น