ส่อง Soft Power เชียงใหม่ มีอะไรบ้างที่สามารถขายได้ในระดับโลก

ทันทีที่รัฐบาลประกาศนโยบาย Soft Power ทำให้ทุกภาคส่วนออกมาเคบื่อนไหวสอดรับกับนโยบายดังกล่าวทันที ยิ่งวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และคณะ ได้เดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมงานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี 2566 

.

ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเพื่อยกระดับประเพณีท้องถิ่นสู่สากล สอดคล้องกับการผลักดันจังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นเมืองเทศกาลนานาชาติ ส่งออก Soft Power ไปทั่วโลก ทำให้หน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ต่างระดมความคิด ในการค้นหา Soft Power ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ไปสร้างชื่อเสียงในระดับประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้กลับเข้าสู่ท้องถิ่นอย่างมหาศาล

.

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ระหว่างการจัดงาน Chiang Mai Design Week 2023 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดงานเสวนาเรื่อง Soft Power Connext at Chiang Mai Design Week 2023 เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด ข้อมูลเกี่ยวกับ Soft Power ในเชียงใหม่

.

สำหรับเชียงใหม่ ถือเป็นอีกพื้นที่ ที่มีองค์ประกอบและวัตถุดิบจำนวนมาก ที่สามารถนำมาใช้ในการสร้าง Soft Power  โดยเฉพาะวัฒนธรรม ประเพณีล้านนาที่สวยงาม ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยว่า ปัจจุบัน เชียงใหม่ถือเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวมากกว่าร้อยละ 80 เดินทางกลับมาเที่ยวซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากนักท่องเที่ยวประทับใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น 

.

โดยปัจจุบัน การท่องเที่ยวฯ ได้ผลักดันแคมเปญ “เสน่ห์วันวานเมืองเหนือ” เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในพื้นที่ และกระตุ้นการใช้จ่ายด้วยสินค้างานศิลปะและหัตถกรรมของชุมชน นอกจากนี้ ได้มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในต่างประเทศเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น กิจกรรม Work Shop การทำร่มบ่อสร้าง รวมถึงการทำ MOU กับมิชลินไกด์ เพื่อประชาสัมพันธ์ร้านอาหารพื้นเมืองเป็นที่รู้จักในต่างแดนมากขึ้น

.

ขณะที่หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ มองว่า อาหารภาคเหนือ สินค้าหัตถกรรม เครื่องสำอาง และสินค้าเพื่อสุขภาพ ถือเป็น Soft Power อย่างหนึ่งของเชียงใหม่ ที่สามารถส่งออกได้ โดยปัจจุบัน ได้มีการขับเคลื่อนโครงการศูนย์นวัตกรรมอาหาร Chiang mai gastronomy ยกระดับสุขภาพวิถีล้านนา เพื่อพัฒนาร้านอาหารคุณภาพที่ดี ช่วยดึงดูดการท่องเที่ยวได้

.

รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรม Cafe Hopping ซึ่งปัจจุบันเชียงใหม่ เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในฐานะจุดหมายปลายทางของผู้ที่ชื่นชอบการตามรอยร้านกาแฟ นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมา ได้มีการทำ MOU กับฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา ในการนำสินค้าจากเชียงใหม่ไปประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศ และนำผู้ประกอบการไปศึกษาดูงาน

.

ด้าน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) เปิดเผยว่า ดนตรี ศิลปะ และภูมิปัญญาท้อวถิ่น นอกจากจะเสริมสุนทรียภาพของเมืองแล้ว ยังสามารถนำมาใช้เป็น Soft Power ของเชียงใหม่ได้ด้วย เนื่องจากมีชาวต่างชาติจำนวนหนึ่ง เลือกที่จะใช้ชีวิตในจังหวัดเชียงใหม่ในฐานะคนท้องถิ่น เพราะความหลงใหลในสุนทรียภาพของเมือง

.

โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้รับมอบหมายนโยบายจากรัฐบาลในการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) ในทุกจังหวัด และรับผิดชอบนโยบายผลักดัน Soft Power ในกลุ่ม เทศกาล ดนตรี อุตสาหกรรมคอนเทนท์ เป็นหลัก

.

จะเห็นได้ว่า เชียงใหม่ ถือเป็นเมืองที่มากไปด้วยรากเหง้าและองค์ประกอบสำคัญ ที่สามารถนำไปต่อยอดเป็น Soft Power ได้ ดังนั้น การค้นหาตัวตนและอัตลักษณ์ของตัวเอง จึงเป็นสิ่งสำคัญ ก่อนที่เราจะออกไปสู่โลกกว้าง และนำตัวตนของเราไปสู่ระดับนานาชาติ 

ร่วมแสดงความคิดเห็น