นามสกุลพระราชทาน ของเชื้อสายเจ้าล้านนา

หลังจากที่พระเจ้ากาวิละ ราชบุตรของเจ้าฟ้าชายแก้ว ซึ่งเป็นหลานของพระยาสุลวะฤาชัยสงคราม ได้ร่วมกับทัพของพระเจ้าตากสินมหาราชขับไล่พม่าออกจากแผ่นดินล้านนาแล้ว จึงได้รับการสถาปนาแต่งตั้งเป็น พระยาวชิรปราการ และให้ย้ายจากเมืองลำปาง ไปเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ตั้งเจ้าคำสม น้องชายคนที่ 2 ครองนครลำปาง พร้อมกับตั้งเจ้าธรรมลังกา น้องชายคนที่ 3 เป็นอุปราชเมืองเชียงใหม่ ตั้งเจ้าดวงทิพย์ น้องชายคนที่ 4 เป็นอุปราชเมืองลำปาง ตั้งเจ้าหมูหล้า น้องชายคนที่ 5 เป็นเจ้าราชวงศ์ลำปางและตั้งเจ้าคำฝั้น น้องชายคนที่ 6 เป็นเจ้าบุรีรัตน์เชียงใหม่ ต่อมาได้เป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 1 นับเป็นต้นสายสกุล ณ ลำพูน

เมืองลำพูน มีเจ้าหลวงปกครองมาทั้งสิ้น 10 พระองค์ จนถึงสมัยเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้าย ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล “ณ ลำพูน” ให้เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2456 ณ พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร พระบรมมหาราชวัง

เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เป็นราชบุตรของเจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าหลวงลำพูน องค์ที่ 9 กับเจ้าแม่รถแก้ว มีพี่น้องรวม 5 คน ได้แก่ เจ้าหญิงมุกดา เจ้าชายตุ้ย เจ้าจักรคำ เจ้าหญิงแก้วมาเมืองและเจ้าหญิงหล้า เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ สมรสกับชายาและหม่อม รวม 6 คน คือ เจ้าแม่ขานแก้ว เจ้าแม่แขกแก้ว เจ้าหญิงส่วนบุญ เจ้ายอดเรือน หม่อมคำแยง และหม่อมแว่นแก้ว มีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น 8 คน

นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลให้กับ เชื้อสายเจ้าเมืองลำพูน ได้แก่ นามสกุล “ตุงคนาคร” แด่เจ้าราชภาติกวงศ์ (เจ้าน้อยดวงทิพย์) เป็นราชบุตรเจ้าน้อยอินถา เจ้าแม่เปาคำ ซึ่งเป็นต้นสกุลตุงคนาคร มีบุตรธิดากับเจ้าแม่เกี๋ยงคำ 4 คน คือ เจ้าน้อยดาด เจ้าน้อยเทพ เจ้าหนานชื่น และเจ้าแม่ประภาวดี

ยังมีนามสกุลของเจ้านายเมืองลำพูน ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวเดียวกัน คือ นามสกุล “ธนัญชยานนท์” แด่เจ้าราชวงศ์ (หนานไชยเทพ หรือบุญเป็ง) ราชบุตรของเจ้าขัติ เจ้าเมืองตากกับแม่เจ้าบัวเที่ยง

เจ้าขัติ (พระยาวิชิตชลธี) เป็นราชบุตรของพระเจ้าบุญมา เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 2 ในช่วงเวลานั้นหัวเมืองล้านนามีเมืองในปกครองทางทิศใต้ได้แก่ เมืองเถิน เมืองตาก เดิมเป็นหัวเมืองใหญ่อยู่บริเวณชายแดนพม่า เจ้านายฝ่ายเหนือล้านนาเกรงว่าพวกพม่าจะกลับเข้ามายึดครอง จึงได้ส่ง เจ้าขัติ ไปปกครอง ซึ่งต่อมาหนานไชยเทพ หรือบุญเป็ง ราชบุตรได้เป็นเจ้าราชวงศ์เมืองลำพูน สมรสกับเจ้าแม่คำแสน มีบุตรธิดารวม 5 คน คือ เจ้าน้อยธนัญไชย (เจ้าน้อยตุ้ย) เจ้าน้อยจักรแก้ว เจ้าน้อยไชยวงศ์ (เจ้าอุตรการโกศล) เจ้าแม่ไฮคำ และเจ้าแม่จอมนวล

ส่วนนามสกุล “ลังกาพินธุ์” สืบเชื้อสายมาจากเจ้าหลวงเหมพินธุไพจิตร เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 8 และนามสกุล “วงศ์ดาราวรรณ” สืบเชื้อสายมาจาก เจ้าหลวงดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 7 ถือได้ว่าเป็นนามสกุลของเชื้อเจ้าในลำพูนอีกนามสกุลหนึ่ง

นามสกุลพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานนามสกุลแก่เจ้านายฝ่ายเหนือ ที่กระทำคุณงามความดีแก่บ้านเมือง เพื่อให้มีเกียรติและเป็นศรีแก่สกุลวงศ์ ได้แก่
ณ ลำพูน เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ (น้อยจักรคำ)
ธนัญชยานนท์ เจ้าราชวงศ์ (บุญเป็ง)
ตุงคนาคร เจ้าราชภาติกวงศ์ (น้อยดวงทิพย์)
ประกาศเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2456

ร่วมแสดงความคิดเห็น