การก่อสร้างศาสนสถานของวัด “ศรัทธา” หรือ “การบิดเบือนประวัติศาสตร์”

ในอดีตที่ผ่านมา ตามวัดต่าง ๆ ได้มีการก่อสร้างศาสนสถานได้แก่ อุโบสถ วิหาร เจดีย์ กุฏิ ขึ้นเพื่อใช้ปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา ส่วนใหญ่สร้างขึ้น เนื่องจากศาสนสถานเหล่านี้ มีความชำรุดทรุดโทรม หรือไม่อาจใช้งานในการปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาได้ต่อไป ขณะเดียวศาสนสถานต่าง ๆ ของวัดยังบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ความเป็นมาของสถาปัตยกรรมล้านนา ที่อยู่คู่วัดมาเนิ่นนาน

กระทั่งในปัจจุบัน กระแสการศาสนสถานได้ขยายวงกว้างออกไป โดยไม่ได้คำนึงถึงคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ซึ่งบ่งบอกความเป็นมาของกลุ่มชนในหมู่บ้านนั้น ว่ากันว่าสถาปัตยกรรมของศาสนสถานภายในวัดนั้น สามารถเชื่อมโยงได้กับรากเหง้าเผ่าพันธุ์ของคนในชุมชน เช่น ชุมชนยองก็จะนิยมสร้างโบสถ์ วิหาร เป็นศิลปกรรมของชาติพันธุ์ยอง ชุมชนลื้อก็จะนิยมสร้างโบสถ์ วิหาร เป็นศิลปกรรมของชาติพันธุ์ลื้อ ชุมชนเงี้ยวก็จะนิยมสร้างโบสถ์ วิหาร เป็นศิลปกรรมตามแบบของคนเงี้ยว

ปัจจุบันสิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ การรื้อทิ้งของศาสนสถานที่ชำรุดเพียงเล็กน้อย ซึ่งยังสามารถใช้งานต่อได้ แล้วสร้างขึ้นใหม่นั้น โดยเฉพาะการทุบทำลายของเก่าแล้วสร้างใหม่ให้แตกต่างจากเดิม อาจเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่า มีวัดหลายวัดได้ทำการรื้อของเก่าแล้วสร้างของใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม เพียงเพื่อมุ่งหวังให้มีงานเฉลิมฉลอง โดยขาดสำนึกของการอนุรักษ์มรดกอันทรงคุณค่า ที่จะบอกลูกหลานถึงความเป็นมาของรากเหง้าตนเอง

การสร้างศาสนสถานเพื่อความสวยงามอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ หากแต่ทั้งเจ้าอาวาสศรัทธา ญาติโยมผู้บริจาคทรัพย์ปัจจัย รวมถึงคนในชุมชนต้องตระหนักและรู้เท่าทัน เพราะสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่จะคงอยู่ประจานถึงความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ของผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายไปอีกนานหลายปี หากปล่อยไว้ไม่ทำการแก้ไขคืนมาให้ใกล้เคียง ตามแบบศิลปกรรมดั่งเดิม ยิ่งวันเวลาผ่านไปสถาปัตยกรรมเหล่านี้ ก็จะกลืนกินทางความคิดของผู้คน และถูกยอมรับอย่างเลี่ยงไม่ได้

การละเลยของผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย รวมถึงการไม่มีส่วนร่วมทางความคิดเห็นของคนในชุมชน จะยิ่งสร้างการบิดเบือนทางประวัติศาสตร์ ซึ่งหากปล่อยให้คนที่เกี่ยวข้องเพียงไม่กี่คนตัดสินใจ การก่อสร้างศาสนสถานที่เกิดจากแรงศรัทธานับเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและไม่บิดเบือนประวัติศาสตร์ รวมถึงบิดเบือนสถาปัตยกรรมเก่าแก่นั้นด้วย เช่น การรื้อแนวกำแพงวัด ที่ยังสามารถใช้งานต่อไปได้อีกหลายสิบปี เพราะได้รับเงินบริจาคจากหน่วยงานราชการ ที่ต้องการเร่งกระจายเงินก่อนจะสิ้นวาระการดำรงตำแหน่ง

หากไม่มีโครงการบูรณะศาสนสถานก็จะไม่ได้รับเงินจำนวนนี้ การรื้อกำแพงวัดของเก่าแล้วสร้างใหม่ที่ผิดเพี้ยนทางศิลปกรรมนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องเร่งเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งความจริงแล้วจะต้องเข้ามาตรวจสอบก่อนที่วัดจะทำการก่อสร้างศาสนสถานเสียด้วยซ้ำ

ฉะนั้นการละเลยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงถือเป็นความผิดพลาดที่ร่วมกันบิดเบือนประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรม เพราะวัดไม่ใช่บ้าน จะได้สร้างโน่น สร้างนี่ตามความพอใจของเจ้าอาวาส วัดถือเป็นสมบัติหน้าหมู่ที่คนในชุมชนมีสิทธิเสรีภาพในการเข้าไปใช้ปฏิบัติธรรม พระสงฆ์เป็นเพียงผู้อาศัยวัด มีหน้าที่ปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมถึงมีหน้าที่ในการบูรณะซ่อมแซมศาสนสถานตามสมควร

ทุกวันนี้ วัดถูกละเลยจากศรัทธาประชาชนอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากวัดไม่ได้ทำหน้าที่ของวัด พระสงฆ์ที่อาศัยอยู่ในวัดก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ ในอดีตวัดเคยเป็นศูนย์กลางของชุมชน ทำหน้าที่ในการเผยแพร่พุทธศาสนา โดยมีพระสงฆ์องค์เจ้าเป็นผู้ขับเคลื่อน ทว่าปัจจุบันวัดเป็นเพียงสถานที่ใช้จัดประชุมเงินกองทุนหมู่บ้าน, ใช้ประชุมกลุ่ม SME ฯลฯ ภาพของความสามัคคีของคนในหมู่บ้านจึงหายไป เห็นได้ชัดจากอดีตมีกลุ่มหนุ่มสาวและกลุ่มยุวพุทธจะเข้าไปทำกิจกรรมภายในวัด เช่น การซ้อมตีกลองยาวหรือการซ้อมฟ้อนเล็บก็เริ่มต้นมาจากในวัด

ปัจจุบันภาพดังกล่าวได้จางหายไปจากความทรงจำ ศรัทธาของคนในชุมชนที่เคยเหนียวแน่น ก็ห่างหายจากวัดไปตามกาลเวลา เดี๋ยวนี้พระสงฆ์ไม่ต้องออกไปบิณฑบาตร นั่งอยู่กับวัดเฉย ๆ พอถึงวันเกิดใครก็จะนำข้าวปลาอาหารมาถวายให้พระเอง ท้ายที่สุดพระคงมีสภาพไม่ต่างอะไรกับผู้ที่เข้าไปอาศัยหากินอยู่ภายในวัด ซ้ำร้ายการบูรณะศาสนสถานโดยขาดความตระหนักรู้ จะยิ่งสร้างความบอบซ้ำและบิดเบือนประวัติศาสตร์ ศรัทธาสาธุชนก็ห่างออกจากวัด กลายเป็นเรื่องแค่น้ำผึ้งหยดเดียวแท้ ๆ

บทความโดย จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น