“หลวงปู่ครูบาอินตา” พระมหาสังฆเถระ อาวุโสเป็นลำดับที่ 2 ในแผ่นดินล้านนา

เมื่อเอ่ยถึงพระเกจิเถระ ผู้มีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดในพุทธศาสนา ของตำบลเหมืองง่า และเป็นแบบอย่างให้พระสงฆ์เจริญรอยตาม คงหนีไม่พ้นชื่อของ หลวงปู่ครูบาอินตา หรือ พระครูถาวรศีลคุณ หลวงปู่ครูบาอินตา อดีตเจ้าอาวาสวัดวังทอง ต.เหมืองง่า อ.เมือง จ.ลำพูน เป็นพระมหาสังฆเถระที่มีอายุพรรษา อาวุโสเป็นลำดับที่ 2 ในแผ่นดินล้านนา รองจากหลวงปู่ครูบาดวงดี และอาวุโสสูงสุด ในจังหวัดลำพูน อายุ 101 ปี 80 พรรษา

ครูบาอินตา เกิดวันเสาร์ แรม 10 ค่ำเดือน 2 ตรงกับวันที่ 12 มกราคม 2453 ปีจอ (ปีเส็ด) ซึ่งอยู่ในช่วง แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ครูบาอินตา เกิดที่ บ้านเหมืองง่า ม.2 ต.เหมืองง่า อ.เมือง จ.ลำพูน โยมพ่อชื่อนายตา โยมแม่ชื่อนางบัวแก้ว นามสกุล ธนาขันธรรม ท่านเป็นหลานท่านเจ้าคุณพระญาณมงคล (ครูบาปวน อภิชโย) อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำพูน รูปที่ 4 อดีตเจ้าคณะแขวงลี้ อดีตเจ้า
อาวาสวัดเหมืองง่า อยู่ในครอบครัวชาวนา ซึ่งในขณะนั้นเป็นอาชีพที่มีฐานะยากจน มีพี่น้องร่วมบิดา มารดา 5 คน พระเดชพระคุณเป็นคนสุดท้อง และมีน้องบิดาเดียวกัน แต่ต่างมารดาอีก 5 คน

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

เมื่อครั้งที่ครูบาเป็นเด็กชาย อินตา ธนาขันธรรม อายุ 7 ขวบ (พ.ศ. 2460) โยมพ่อแม่นำมาฝากกับครูบาปวน อภิชโย ขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะ แขวงชั้นเอกราชทินนามที่พระครูมหาศีลวงค์ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงเมืองลำพูนเจ้าอาวาสเหมืองง่า ครูบาฯ ได้เป็นเด็กวัดและได้เรียนหนังสือครั้งแรก กับครูบาปวน และได้เรียนหนังสือพื้นเมือง (ภาษาล้านนา) ในสมัยนั้น ที่โรงเรียนวัดเหมืองง่า ซึ่งเป็นโรงเรียนแรก ในตำบลเหมืองง่า ในจบชั้นประถมปีที่ 4 พ.ศ. 2464 ระหว่างเป็นเด็กวัดและบวชเป็นสามเณรอยู่นั้น ครูบาฯ ได้เรียนคาถาและวิทยาคมจากครูบาปวน เล่ากันว่าเป็นผู้ที่ถือของคลังและวิทยาคมเป็นอย่างมาก พ่อเจ้าเหนือหัวพลตรีมหาอำมาตย์โท เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงเมืองนครลำพูน ถึงกับมีความเลื่อมใสเป็นพิเศษ ซึ่งพระสงฆ์ที่เจ้าหลวง ทรงให้ความเคารพนับถือเป็นพิเศษมีอยู่ 4 รูป ด้วยกันคือ
1. ครูบาธรรมชัย ธัมมัมชโย วัดประตูป่า ต.ประตูป่า อ.เมือง ลำพูน
2. ครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ ลำพูน
3. พระญาณมงคล (ครูบาปวน อภิชโย) วัดเหมืองง่า ต.เหมืองง่า อ.เมืองลำพูน
4. ครูบาติกขะปัญโญ วัดวังทอง อ.เมือง ลำพูน

ครูบาติกขะรูปนี้ ถูกบังคับให้สละสมณเพศ หลังจากหลวงจักรคำฯ ถึงแก่พิราลัย และครูบายังได้เรียนคาถาวิทยาคม ยังได้สืบทอดวิถีการสะเดาะเคราะห์ และได้ไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ครูบาศรีวิชัย ได้ 3 ปี ได้กราบลาครูบาศรีวิชัยเดินทางกลับวัดเหมืองง่า เพื่อที่จะเข้าพิธีญัตติจตุถกรรมวาจา เป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2474 ในครั้งนั้น ครูบาปวน รักษาการเจ้าคณะนครลำพูน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาสุดใจ ญาณวุฒิ วัดพระธาตุหริภุญชัย เป็นพระกรรมวาจารย์ พระครูสมุห์จรูญ วัดพระธาตุหริภุญชัย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานามว่า “ธนักขันโธ”

ครูบาติกขะ อดีตเจ้าอาวาสวัดวังทอง ซึ่งเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนให้ความนับถือศรัทธาเป็นพิเศษ หลังจากเจ้าจักรคำฯ ถึงแก่พิราลัย พ.ศ. 2584 พระครูบาติกขะเป็นพระผู้ที่เข้มงวด ในเรื่องการปฏิบัติและเป็นผู้ที่ถือของขลัง ในครั้งนั้นได้มีชาวบ้าน ไปแจ้งพ่อแคว่น (กำนัน) ว่าครูบาติกขะได้ฆ่าวัวของชาวบ้าน ว่ามากินหญ้าหน้าวัด เพราะวัวของ ชาวบ้านได้มาทำความเสียหายแก่วัดวังทอง ครูบาติกขะได้ถือก้อนหินเท่าลูกกำปั้น ปาถูกกะโหลกหัวของวัวเสียชีวิต กำนันในสมัยนั้นได้มาสอบสวนหาสาเหตุท่านไม่ยอมพูด กำนันได้ใช้กำลังชกต่อยครูบาติกขะ ท่านไม่ได้ตอบโต้ แต่พอตอนกลางคืนกำลังพักผ่อน ได้ล้มพับลงกับที่แล้วมีเลือดไหลออกปาก จมูก จนเสียชีวิตกับที่สร้างความแปลกใจให้แก่ลูกบ้าน ครอบครัว เป็นอย่างยิ่ง ทำให้

ทุกคนสงสัยว่า ครูบาติกขะเป็นผู้ที่ให้กำนันเสียชีวิต เพราะเชื่อในวิทยาคมของครูบาติกขะ ซึ่งชาวล้านนาเรียกพิธีนี้ว่า “การตู้ของใส่ของ” สาเหตุอย่างถึงที่ ครูบาติกขะถูกบังคับให้สละสมณเพศ เพราะว่าครูบาติกขะเป็นผู้ไม่เกรงกลัวอำนาจการปกครอง ทำให้คณะกรรมการและคณะสงฆ์ยำเกรง จนทำให้คณะสงฆ์ชั้นปกครองไม่สามารถทำงานได้สะดวกเพราะเกรง ในวิทยาคมของครูบาติกขะ ชื่อเสียงของหลวงปู่ครูบาอินตา ท่านเป็นหนึ่งในผู้ปลุกเสกเหรียญกู่ช้างอันโด่งดังของ จ.ลำพูน รวมถึงคาถา มหาเสน่ห์ มหานิยม พุทธคุณดีด้านเมตตามหาเสน่ห์ มหานิยมโชคลาภ แคล้วคลาด ค้าขายร่ำรวย ด้านคงกระพันนั้น นอกจากนั้นในอดีต หลวงปู่ครูบาอินตา เป็นผู้หนึ่งที่ “มรณภาพแล้วฟื้น”

มีเรื่องเล่าว่า เวลาจำวัดท่านจะจำวัดที่ระเบียงกุฏิท่าน ท่านจะไม่เข้านอนภายในแม้จะฝนตก แดดออก หรืออากาศหนาวเย็นเพียงใดก็ตามกุฏิท่านจะเต็มไปด้วยข้าวสาร และข้าวสุก ที่ท่านโปรยให้บรรดานกต่าง ๆ ภายในวัดได้อาศัยจิกกิน ซึ่งแสดงถึงความเมตตาของท่านอีกทั้ง ท่านไม่ถือยศศักดิ์ ลูกศิษย์ลูกหาเข้าพบได้ตลอด หากท่านไม่ติดกิจนิมนต์ไปนอกวัด และใครไปหาท่าน ๆ มักบอกคาถา จ่ายมบาล ป้องกันเคาระห์อันตรายต่าง ๆ ท่านบอกว่า จ่ายมบาลให้มาตอนมรณภาพแล้วฟื้น คาถาว่าดังนี้ครับ “สัตถาเทวะ มะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ มะอะอุ มะอะอุ พุทโธเน้อ ธัมโมเน้อ สังโฆเน้อ” หลวงปู่ครูบาอินตา ได้ละสังขารลงเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2552 เมื่อเวลา 06.15 น. ด้วยอาการโรคชรา ด้วยอายุ 101 ปี พรรษา 80

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น