ในช่วงต้นฤดูฝน จะมีสารพัด “เห็ด” ผลผลิตจากป่า ให้ผู้คนได้ลิ้มรส และสร้างรายได้จากการเก็บมาขาย โดยเฉพาะ “เห็ดเผาะหรือเห็ดถอบ” ซึ่งถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ทุกปี สืบเนื่องจากราคาจำหน่าย
สูงเฉลี่ยลิตรละ 250- 600 บาท ช่วงผลผลิตออกมาระยะแรก ๆ จะแพง กว่าปลายฤดู ด้วยคุณลักษณะที่เป็นลูกกลม ผิวสีขาวนวลออกครีม ๆ ระยะที่ยังเป็นผลอ่อนอยู่นั้นจะมีสีขาว ถูกห่อหุ้มด้วยสปอร์ พอเริ่มแก่จะมีเปลือกหนา มีสีน้ำตาลไปจนถึงดำ ดอกเห็ดแก่จัดจะแตกกลายเป็นรูปดาว พบมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมบริโภคผลอ่อน ไม่แก่จัด
สรรพคุณของเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบนั้น ทางโภชนาการพบเป็นพืชสมุนไพร มีสารออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย สารพิษ ช่วยยับยั้ง และต้านเซลล์มะเร็ง กระตุ้นการหลั่งเอ็นไซม์ เป็นยารักษาโรค ช่วยฟื้นฟูแผลเปื่อยจากโรคเบาหวาน ช่วยบรรเทาอาการคัน สมานแผล แก้อาการอักเสบ มีวิตามินซี และเกลือแร่ ให้พลังงานและบำรุงผิวให้สดใส
อาจกล่าวได้ว่า คุณสมบัติสารพัดประโยชน์จากพืชสมุนไพรที่ครบ เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยบำรุงเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกาย โดยที่ความร้อน ในการปรุงสุก ทำสารพัดเมนูต้ม แกง ยำ ไม่ลดทอนคุณประโยชน์จากสารต่าง ๆ ที่มีในเห็ดได้เลย จึงกลายเป็น เห็ดยอดนิยม ทั้งในไทยและหลาย ๆ ประเทศ เช่น อินเดีย เนปาล แอฟริกา ใช้เห็ดเผาะ เป็นยารักษาโรคเบาหวาน
ภาควิชาชีววิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายงานผลสำรวจเห็ดเผาะในไทยพบ 3 ชนิด คือ เห็ดเผาะหนัง, เห็ดเผาะฝ้าย และเห็ดเผาะสิรินธร โดยทั่วไปพบได้ทั่วโลก แต่ 3 ชนิดนั้น ค้นพบในไทย ในป่าเต็งรัง ป่าสนเขา มักเจริญเติบโตร่วมกับไม่ยืนต้นหลากชนิด
สำหรับความเชื่อที่ว่า การเผาป่าจะทำให้เห็ดเผาะออกดอกมากนั้น มีงานวิจัยรองรับจากผู้เชี่ยวชาญด้านวนศาสร์ ทั้งในไทยและต่างประเทศระบุชัดว่า ไฟป่าไม่ได้ช่วยให้เกิดเห็ด แต่การพบเห็ดภายหลัง อาจเป็นเพราะเศษซากหญ้าพืชที่ปกคลุมดินถูกเผาทำลาย ทำให้มองเห็นเห็ดเผาะได้ง่าย
ปัจจุบัน นวัตกรรมทางพืชศาสตร์ สามารถเพาะเห็ดเผาะจากอาหารเลี้ยงเชื้อได้ แต่ความนิยมบริโภค เห็ดเผาะจากป่ายังมีมากกว่า ในอนาคต กระแสต่อต้าน รณรงค์ลดการสนับสนุน บริโภค ผลผลิตจากการบุกรุก ทำลายป่า อาจจะ
ช่วยสนับสนุน ความนิยมในการบริโภคเห็ดเผาะจากการเพาะเลี้ยงได้บ้าง แม้เห็ดเผาะจากป่า ซึ่งเป็นผลผลิตธรรมชาติจะได้รับความนิยมมากกว่า
เห็ดเผาะนั้นจะมีสังคมอยู่ร่วมกับรากพืช สร้างโครงสร้างที่เรียกว่า สเคอโรเตียม เป็นเส้นใยอัดแน่น คล้ายเมล็ดผัก ทนทานต่อความแห้งแล้ง รวมถึงการปรับตัวทนต่อสภาพไฟป่า หากพื้นที่ใดเกิดไฟไหม้ซ้ำซาก อาจมีผลต่อระบบนิเวศน์ธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ ความอุดมสมบูรณ์ในดิน อาจจะมีผลให้พืช รวมถึงเห็ดถูกทำลายไป
การเผาป่า ไม่ใช่วิธีการทำให้เกิดเห็ดเผาะ (เห็ดถอบ) ความร่วมมือ ร่วมใจกันอนุรักษ์ ฟื้นฟูผืนป่า จะช่วยรักษา แหล่งอาหาร ปกป้องพื้นที่ต้นกำเนิดของเห็ดเผาะ (เห็ดถอบ) ให้คงอยู่เป็นผลผลิตจากป่าที่สร้างพืชสมุนไพร สร้างรายได้
และเป็นวัตถุดิบ ในสำรับ อาหารหลากรูปแบบทั้งต้ม ยำ ผัด นึ่ง แกง ตามความชอบของแต่ละคนตลอดไป อย่างยั่งยืน
เครือข่ายอนุรักษ์ป่าภาคเหนือ และกรมป่าไม้ มองว่า ปัญหาการใช้พื้นที่ป่ากับการเผาเตรียมพื้นที่ เป็นสิ่งแยกออกจากกันได้ยาก การจะแก้ไขปัญหาไฟป่าได้ดีที่สุดคือกลุ่มที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า มีทั้งกลุ่มชาวบ้านที่ทำกินอยู่เดิม
สืบทอดกันรุ่นสู่รุ่น และกลุ่มบุกรุกพื้นที่ เพื่อขายให้นายทุน รวมถึงกลุ่มทุนรุกพื้นที่ เพื่อประโยชน์เฉพาะตน กลุ่มที่ทำกินอยู่เดิมจะรู้ว่าป่าคือชีวิต จะไม่ทำลายโดยการโค่น หรือกานต้นไม้ จะทำแนวกันไฟก่อนเผา และเผาอย่างมีหลักการให้ไหม้เฉพาะพื้นที่ทำประโยชน์
พื้นที่ป่าที่ถูกไฟไหม้ปีนี้ทั่วประเทศ 36.07 ล้านไร่ เป็นพื้นที่นอกเขตป่า 18.69 ล้านไร่ ในเขตป่าสงวน 9.68 ล้านไร่ และที่ถูกเผากว่า 6.14 ล้านไร่ อยู่ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ มีทั้งสามารถฟื้นสภาพได้ตามธรรมชาติ และที่
ต้องปลูกป่าฟื้นฟู
“เมื่อเกิดการเผาป่า แต่ละปี มักจะมองกลุ่มผู้คนที่อยู่ใกล้ป่า พึ่งพาป่าเป็นจำเลยสังคมเสมอมา ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้าน ส่วนใหญ่ตระหนักและรับรู้ดีว่า ถ้าป่าถูกทำลาย ชีวิตก็ถูกทำลายเช่นกัน กรณีการเผาป่า ทำไร่เลื่อนลอย หรือแม้แต่เพื่อให้เห็ดเผาะเกิด เป็นความคิดเดิม ๆ โจทย์ใหญ่คือ ทำอย่างไร ไฟไหม้ป่าจะลดน้อยลง พร้อม ๆ กับความตื่นตัวที่เพิ่มความเข้มข้นขึ้น ทุก ๆ ปี ยิ่งตื่นตัวกันมากไฟป่าก็เพิ่มตามไปด้วย และชาวบ้าน ในพื้นที่เกิดไฟก็จะถูกว่า มีส่วนร่วม ทั้งๆที่ ปัญหาความซับซ้อนมีมากกว่าที่รับรู้ ปีนี้ผู้คนส่วนหนึ่งไม่สนับสนุนการซื้อเห็ดเผาะ การนำของป่ามาขาย จิตสำนึกในวิถีใหม่ๆ ต้องอาศัยเวลา และความร่วมมือของทุก ๆ ฝ่ายร่วมกัน”

ร่วมแสดงความคิดเห็น