แผนแก้น้ำท่วม ภัยแล้งเชียงใหม่ เตรียมก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำรับมือเพียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมติดตามความก้าวหน้าและเร่งรัดการดำเนินงานสายงานก่อสร้าง ซึ่งมีนายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง เป็นประธานการประชุม โดยมีคณะผู้บริหารพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ขนาดใหญ่ พร้อมผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกพื้นที่เข้าร่วมนั้น พบว่าแผนงานในพื้นที่เชียงใหม่ ในความรับผิดชอบสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 1 ได้เตรียมจัดสร้างอ่างเก็บน้ำแม่หอย อ.จอมทอง ปีงบประมาณ 2565-2568 เป็นแผนในโครงการอินทนนท์โมเดล อยู่ระหว่างขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ (พื้นที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วาง) เมื่อสร้างแล้วเสร็จจะมีความจุน้ำ 9.50 ล้านลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 5,300 ไร่ สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ลงสำรวจสภาพพื้นที่ เพื่อออกแบบผังบริเวณอาคาร ที่ทำการบ้านพัก และอื่น ๆ ของโครงการแล้ว

และยังมีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ 3 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่ปอน อ่างเก็บน้ำแม่ป่าไผ่ และอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด เมื่อแล้วเสร็จจะมีความจุกักเก็บรวม 25.749 ล้านลบ.ม. พื้นที่รับผลประโยชน์รวม 13,442 ไร่ มีแผนก่อสร้างในปีงบประมาณ 2565-2568 กรมชลประทานว่าจ้าง กิจการร่วมค้าดับเบิ้ลยูเอฟโอ สำรวจและออกแบบ กำหนดแล้วเสร็จภายใน 330 วัน เริ่มปฏิบัติงาน 15 ต.ค. 2562 ครบกำหนดอายุสัญญา 8 ก.ย. 2563 นี้ เฉพาะอ่างเก็บน้ำแม่ปอน อ.จอมทอง มีความจุที่ระดับกักเก็บ 3.8 ล้านลบ.ม. พื้นที่รับผลประโยชน์ 3,200 ไร่

โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ขาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.น้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง มีการชี้แจงผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 บ้านแม่ขนิลใต้ ต.น้ำแพร่ อ.หางดง เนื่องจากเป็นอีกพื้นที่น้ำท่วมของโครงการ มีพื้นที่ครอบคลุม อ.หางดง อ.สันป่าตอง และ อ.แม่วาง ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2567-2571 เมื่อสร้างแล้วเสร็จจะมีความจุ 74.84 ล้าน ลบ.ม. สามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรรวม 68,370 ไร่

นอกจากนั้นยังมีโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ซึ่งชาวบ้านกว่า 7 หมู่บ้าน ใน ต.โหล่งขอด ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำป่าไหลหลาก-น้ำท่วม และภัยแล้งมานานกว่า 20 ปีเรียกร้อง ได้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ลงสำรวจตรวจสอบสภาพภูมิประเทศ เพื่อออกแบบถนนเข้าหัวงาน มีแผนก่อสร้างในปีงบประมาณ 2566-2568 เมื่อสร้างแล้วเสร็จจะมีความจุน้ำที่ระดับเก็บกัก 20.192 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 6,738 ไร่ เช่นเดียวกับ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ห้วยบ่งสามโค้ง (ห้วยข้าวปวง) ที่นายสมบัติ สำราญศรี ผู้ใหญ่บ้าน บ้านสบสอย หมู่ที่ 7 ต.แม่สอย อ.จอมทอง พร้อมตัวแทนชาวบ้าน เกษตรกรที่ประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ ยื่นหนังสือเรียกร้อง ทวงถามความก้าวหน้าของโครงการ ซึ่งมีการชี้แจงรายละเอียด ขั้นตอนดำเนินงานต่อชุมชนในพื้นที่ไปแล้ว

รวมถึงความก้าวหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ใน อ.แม่ริม ตามที่นายกฤษณ์ กาญจนกุญชร อธิบดีกรมราชเลขานุการในพระองค์ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมกิจการพิเศษ มีหนังสือให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาจากแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และการเกษตร ซึ่งมีแผนงานก่อสร้างในปีงบประมาณ 2566-2568 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีปริมาณความจุน้ำที่ระดับเก็บกัก 2.899 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์กว่า 2,800 ไร่ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่นาวาง อ.แม่อาย มีแผนก่อสร้างในปี 2563-2566 เมื่อแล้วเสร็จจะมีปริมาณความจุน้ำเก็บกัก 10.446 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์กว่า 18,000 ไร่

 

 

ในส่วนโครงการอ่างเก็บน้ำที่แม่นาวาง อ.แม่อาย มีแผนก่อสร้างปีงบประมาณ 2563-2566 เมื่อแล้วเสร็จจะมีปริมาณความจุน้ำ 10.446 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 18,000 ไร่ ที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว อาทิ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่สะลวมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านสหกรณ์แปลง 5 หมู่ที่ 11 ต.ป่าตุ้ม อ.พร้าว มีความจุน้ำที่ระดับเก็บกัก 16.24 ล้าน ลบ.ม. สามารถชะลอการไหลของน้ำ ป้องกันน้ำป่าไหลหลาก และกักเก็บน้ำในฤดูฝน เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตร พื้นที่ชลประทานประมาณ 10,000 ไร่

 

โครงการก่อสร้างฝายบ้านใหม่ปางเติม เป็นโครงการก่อสร้างฝายในลุ่มลำน้ำวาง ซึ่งดำเนินการก่อสร้างโดยสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 1 สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรได้กว่า 4,000 ไร่ ในเขต ต.บ้านกาด อ.แม่วาง โครงการฝายดอยน้อยพร้อมระบบส่งน้ำ ซึ่งส่งมอบให้โครงการชลประทานเชียงใหม่นำไปจัดสรรน้ำและบำรุงรักษาต่อไปมีลักษณะเป็นบานโค้ง ขนาด 12.5 ม. สูง 7 ม. จำนวน 6 ช่องบาน มีฝายสันแข็งยาว 15 ม. ทั้งฝั่งขวาและฝั่งซ้าย อาคารยาวรวม 125 ม. ระยะเวลาการก่อสร้างพร้อมระบบส่งน้ำรวม 5 ปี ช่วง 2557-2562 พื้นที่รับผลประโยชน์ 4,000 ไร่ ส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่ชลประทานได้ถึง 3,200 ไร่

 

กรณีแผนการดำเนินการตรวจสอบและส่งมอบพื้นที่อนุรักษ์ ตามที่กรมชลประทาน มีนโยบายส่งมอบคืนพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำที่ไม่ได้ใช้ในกิจการชลประทาน คืนให้กับกรมอุทยาน และกรมป่าไม้ เพื่อนำไปกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ หรือเขตอนุรักษ์อื่น ๆ ประโยชน์ในการคุ้มครอง ดูแลรักษาพื้นที่อนุรักษ์ การศึกษาวิจัยทางวิชาการ หรือกิจการต่าง ๆ ของหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ ก็ทยอยส่งคืนหลายแห่ง เช่น พื้นที่ในเขตอุทยานฯ ศรีลานนา เขตป่าแม่งัด

 

อย่างไรก็ตามในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมด้วยระบบโครงการชลประทาน ทั้งรูปแบบการสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝายชะลอน้ำ เช่น กรณีปรับปรุงซ่อมแซมระบบผันน้ำจากฝายแม่ตื่นมาเติมอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งจ้อ ในพื้นที่ อ.ดอยหล่อ เบื้องต้นทุ่มงบ 3 ล้านบาท ขุดลอกหน้าฝายพร้อมซ่อมแซมท่อส่งน้ำที่ชำรุด พร้อมวางแผนของบอีก 70 ล้านบาท ปรับปรุงฝายทั้งระบบพร้อมระบบส่งน้ำโดยท่อเหล็ก คาดได้งบก่อสร้างในปี 2565

โครงการชลประทานเชียงใหม่ อธิบายว่า การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน จะดำเนินการปรับปรุงฝายแม่ตื่น ด้วยการปรับปรุงอาคารทางระบายฝั่งขวาและปรับปรุงช่องระบายทรายให้มีขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมติดตั้งบานระบายตะกอนและเครื่องกว้านบานระบาย พร้อมก่อสร้างอาคารรับท่อ และอาคารป้องกันตลิ่งบริเวณที่แนวทางผันน้ำหลุดออกจากตลิ่งด้วย หากแล้วเสร็จ จะเพิ่มศักยภาพในการเก็บกักน้ำและการจัดการน้ำในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาความเสี่ยงจากอุทกภัยและภัยแล้งได้เป็นอย่างดี

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงฝายก่อคาพร้อมระบบส่งน้ำ (ชื่อเดิมฝายแม่สะป๊วด) ต.ทาสบชัย อ.แม่ทา จ.ลำพูน ก่อสร้างเมื่อปี 2534 และถ่ายโอนให้อยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลทาสบชัย เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2546 ลักษณะฝายมีขนาดสูง 1.75 ม. กว้าง 17 ม. สร้างกั้นลำน้ำแม่สะป๊วด ซึ่งเป็นลำน้ำสายย่อยของลำน้ำสาขาน้ำแม่ทา มีพื้นที่รับประโยชน์ 700 ไร่ ระบบส่งน้ำฝั่งขวา ความยาวประมาณ 1,800 ม. เหตุการณ์อุทกภัยในลำน้ำแม่สะป๊วด เมื่อปี 2561 ประกอบกับมีอายุใช้งานมานาน ส่งผลให้ฝายดังกล่าวชำรุดเกิดความเสียหาย โครงการที่มีการถ่ายโอนภารกิจจะประสานไปยัง อปท. หาแนวทางในการดำเนินการซ่อมแซมต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น