เคาะวันเลือกตั้งท้องถิ่น มท.1 หารือ กกต.วันนี้ ก่อนประกาศแจ้ง นายก อปท.ยุติหน้าที่

กองการเลือกตั้งท้องถิ่น แจ้งว่า ตามที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อสังคม เกี่ยวกับวันเลือกตั้งท้องถิ่นตั้งแต่สิ้นปี
2563 จนถึงต้นปี 2564 โดยมีเนื้อหาระบุถึงคณะที่ปรึกษาด้านการเมือง ได้ยกร่างนำเสนอต่อ พล.อ.อนุพงษ์
เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อนำเสนอรายละเอียดกำหนดการเลือกตั้งองค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น ( อปท.) ต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในร่างพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น
และสมาชิกสภา อปท. โดยกำหนดให้เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ. ) 76 แห่ง พร้อมสมาชิก
ในวันอาทิตย์ที่ 13 ธ.ค. 2563 เทศบาล 2,443 แห่ง และ อบต. 5,329 แห่ง ในวันที่ 28 ก.พ. 2564
ส่วนสภาฯ กทม.และนายก เมืองพัทยา จัดเลือกตั้ง 25 เม.ย. 2564 นั้น ไม่ได้เป็นรายละเอียดที่มาจาก
กองการเลือกเลือกตั้งท้องถิ่นแต่อย่างใด


อย่างไรก็ตาม รมว.มหาดไทย และ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า
ในวันนี้ ( 1 ต.ค. 2563 ) คณะผู้บริหาร มหาดไทย พร้อม กกต. จะร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับการเตรียมเลือกตั้งท้องถิ่น
เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว รมว.มหาดไทย จะนำเสนอต่อที่ประชุม ครม. ในวันอังคารที่ 6 ต.ค.นี้ เมื่อมีมติตามที่เสนอไป
ว่าจะให้มีการเลือกตั้งรูปแบบใด กกต. ก็จะไปกำหนดวันเลือกตั้งต่อไป เมื่อมีการประกาศวันเลือกตั้งแล้ว
ผู้บริหารท้องถิ่น ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที ให้ปลัดหรือรองปลัด ของ อปท. นั้น ๆ ดูแลรับผิดชอบภารกิจหน้าที่แทน
ทางด้าน กกต. ระบุว่า ไม่ว่าจะเลือกตั้งรูปแบบใด พร้อมจัดการเลือกตั้ง ไม่หนักใจ เพราะได้เตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนพื้นที่ใดที่มีกระแส การแข่งขันเข้มข้น ก็มีคณะทำงานดูแลในส่วนนี้ร่วมกับท้องที่อยู่แล้ว

สำหรับสนามเลือกตั้ง จ.เชียงใหม่ ทีมข่าวสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนในหลายๆอำเภอ พบว่า ส่วนหนึ่ง ติดตามความคืบหน้าการเลือกตั้งท้องถิ่นมาตลอด เพราะมองว่า สำคัญ จำเป็นต่อความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนในพื้นที่และเห็นว่า น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวแทน ผู้บริหารท้องถิ่น หลายแห่งด้วย เนื่องจากไม่มีผลงาน ชุมชน ท้องถิ่น
ไม่เจริญเท่าที่ควร ในขณะที่ประชาชนบางส่วน ไม่สนใจ ไม่ติดตาม เพราะเห็นว่า เลือกใครเข้ามา ความเป็นอยู่
สภาพชุมชน บ้านเมืองก็เหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ด้านกลุ่มการเมืองท้องถิ่น ในพื้นที่เมืองเชียงใหม่ แสดงความคิดเห็นว่า สนามเลือกตั้ง อปท. ในปีนี้และปีหน้า
จะเป็นการพิสูจน์วิถีการเมือง รูปแบบใหม่ ที่หาเสียงเชิงนโยบาย กับรูปแบบเก่า ที่ต้องแลกเปลี่ยนด้วยผลประโยชน์นั้น ชาวบ้านจะพิจารณาเลือกรูปแบบใด

“จากการลงพื้นที่ยอมรับว่า ชุดรักษาการ ยังมีความได้เปรียบด้านคะแนนเสียง เนื่องจากใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย
จากอำนาจ หน้าที่ ซึ่งคงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของชาวบ้านว่า ที่เป็นอยู่คุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือไม่ ท้องถิ่นเจริญขึ้นเพียงใด ถ้ายอมรับกับแบบเดิม ๆ ก็ต้องทำใจ เนื่องจากกระแสในสื่อสังคมเสียงดีแต่ไม่มีคะแนน จะแตกต่างจาก
ชาวบ้านที่หัวคะแนน ดูแลใกล้ชิด ส่วนกำหนดการวันเลือกตั้ง ที่มีการชี้แจงผ่านหน่วยงานจัดการเลือกตั้ง
ก็น่าจะชัดเจน ไม่เปลี่ยนแปลง โดย 13 ธ.ค. นี้น่าจะเลือกตั้ง อบจ. ก่อน อปท. อื่น ๆ “

ร่วมแสดงความคิดเห็น