ปภ. แจ้ง 23 จังหวัด เฝ้าระวังระวังสถานการณ์น้ำ 11-13 กันยายน 2565

ปภ. แจ้ง 23 จังหวัด เฝ้าระวังระวังสถานการณ์น้ำหลาก น้ำท่วมขัง และน้ำล้นตลิ่ง ช่วงวันที่ 11-13 กันยายน 2565

11 ก.ย.65 เวลา 22.10 น. กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) ได้ติดตามสถานการณ์ปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง น้ำท่า และปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ประกอบกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ 37/2565 ลงวันที่ 11 กันยายน 2565 แจ้งว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบน ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2565 ดังนี้

1.พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลาก น้ำท่วมขัง
ภาคเหนือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองฯ ปาย ปางมะผ้า ขุนยวม แม่สะเรียง สบเมย
แม่ลาน้อย) เชียงราย (อำเภอเวียงป่าเป้า แม่ฟ้าหลวง แม่สาย แม่สรวย แม่จัน) เชียงใหม่ (อำเภอเชียงดาว ฝาง ไชยปราการ จอมทอง แม่แจ่ม ฮอด อมก๋อย ดอยสะเก็ด) น่าน (อำเภอบ่อเกลือ แม่จริม สันติสุข) ลำปาง (อำเภอเมืองฯ เกาะคา แจ้ห่ม) ลำพูน (อําเภอลี้ แม่ทา ป่าซาง) พะเยา (อำเภอเมืองฯ เชียงคำ ปง จุน ภูซาง ดอกคำใต้) แพร่ (อำเภอวังชิ้น สอง ลอง ร้องกวาง) อุตรดิตถ์ (อำเภอน้ำปาด ฟากท่า บ้านโคก ท่าปลา) พิษณุโลก (อำเภอนครไทย ชาติตระการ) เพชรบูรณ์ (อำเภอเมืองฯ หล่มสัก วิเชียรบุรี) ตาก (อำเภอท่าสองยาง พบพระ อุ้มผาง แม่สอด) และนครสวรรค์ (อำเภอไพศาลี ตากฟ้า ท่าตะโก ตาคลี หนองบัว)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย (อำเภอวังสะพุง) ชัยภูมิ (อำเภอเมืองฯ ภูเขียว เกษตรสมบูรณ์ จัตุรัส บำเหน็จณรงค์ เทพสถิต บ้านเขว้า) นครราชสีมา (อำเภอโนนไทย เมืองนครราชสีมา โนนสูง)
ภาคกลาง จังหวัดสระแก้ว (อำเภอเมืองฯ โคกสูง อรัญประเทศ) ระยอง (อำเภอแกลง) จันทบุรี (อำเภอท่าใหม่ มะขาม) และตราด (อำเภอเขาสมิง บ่อไร่)

2.พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขาของแม่น้ำสาย แม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก
แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำนครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำระยอง แม่น้ำจันทบุรี และแม่น้ำตราด

พื้นที่เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 10 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมาและแม่มอก จังหวัดลำปาง บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ อ่างเก็บน้ำทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น อ่างเก็บน้ำลำตะคองและมูลบน จังหวัดนครราชสีมา อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางมีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) จึงได้แจ้งให้ 23 จังหวัด ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า รวมถึงติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซมแนวคันกั้นน้ำบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำพร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำ และจัดการจราจรทางน้ำให้เหมาะสม พร้อมทั้งให้จัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัยและชุดปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที หากมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ ให้จังหวัดดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ สถานการณ์ภัย และข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เตรียมความพร้อมมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น หากได้รับความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784”

ร่วมแสดงความคิดเห็น