ปลาร้าเป็นเครื่องปรุงรส ไม่ใช่เครื่องดื่ม เตือนกินเค็ม ไตวาย

กรมอนามัย ย้ำ ปลาร้าเป็นเครื่องปรุงรส ไม่ใช่เครื่องดื่ม เตือนกินเค็มมาก เสี่ยงไตวาย

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ย้ำ ปลาร้าเป็นเครื่องปรุงที่มีรสเค็มไม่ควรนำมาดื่ม เตือนประชาชนกินอาหารโซเดียมสูงมากเกินไป ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง และโรคไตวายเรื้อรังได้

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมนามัย กล่าวว่า จากกรณีที่มียูทูบเบอร์ นำน้ำปลาร้ามายกซดเหมือนเครื่องดื่มนั้น ห่วงเกิดพฤติกรรมเลียนแบบเพราะความเข้าใจผิดคิดว่า สามารถนำมาดื่มเป็นเครื่องดื่มได้ แต่เนื่องจากปลาร้าเป็นเครื่องปรุงที่มีโซเดียมสูง จึงไม่ควรนำมาดื่ม เพราะกระบวนการทำน้ำปลาร้าผ่านการหมักด้วยเกลือ รำข้าว และถูกแต่งเติมส่วนผสมเพื่อเพิ่มรสชาติ เช่น กะปิ หรือเพิ่มปริมาณด้วยการใส่น้ำเกลือต้ม อีกทั้ง ผู้จำหน่ายปลาร้ามักจะดัดแปลงเป็นสูตรเฉพาะร้าน ให้ได้กลิ่น รส ตามความต้องการเพิ่ม ดังนั้น การกินปลาร้ามากเกินไปเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ร่างกายเสี่ยงได้รับโซเดียมปริมาณสูง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง และโรคไตวายเรื้อรังได้ นอกจากนี้ ข้อมูลปริมาณโซเดียมของเกลือและผงชูรส ของปลาร้าแต่ละชนิดทั้งจากโรงงาน วิสาหกิจ และตลาด พบว่า มีปริมาณโซเดียมอยู่ในระดับที่สูงทั้งหมด และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนไทยบริโภคโซเดียมในปริมาณที่สูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดให้บริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา หรือ 5 กรัม หรือเฉลี่ยไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร

“สำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกินเค็มควรฝึกตั้งแต่เด็ก โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น การกินอาหารแปรรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ อาหารหมักดอง แช่อิ่ม อาหารกระป๋อง ทั้งนี้ ยังมีผลการศึกษาทางการแพทย์ที่แสดงให้เห็นว่า การลดบริโภคเกลือลงเหลือเพียง 3 กรัมต่อวัน จะช่วยลดความดันโลหิต และป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ควรลดเหลือเพียง 3 ส่วน 4 ช้อนชาต่อวัน หรือไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัม เพื่อให้ไตมีสุขภาพดี ป้องกันการเกิดโรคไตวายเรื้อรัง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น