“ป่าเปียก ลดเชื้อเพลิง สร้างรายได้”

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ขับเคลื่อนโครงการ “ป่าเปียก ลดเชื้อเพลิง สร้างรายได้”

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักถึงคุณค่าอเนก อนันต์ของน้ำ ทรงคํานึงว่าทุกสรรพสิ่งในสภาพแวดล้อมของมนุษย์นั้น จะเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้หากรู้จักนําไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ เฉกเช่นเดียวกับพระราชดําริป่าเปียก เพื่อป้องกันไฟไหม้ป่านั้น จึงเป็นมรรควิธี ที่ทรงคิดค้นขึ้นจากหลักการที่แสนง่ายแต่ได้ประโยชน์มหาศาล กล่าวคือ ยามที่เกิดไฟไหม้ป่าขึ้นคราใด ผู้คนส่วนใหญ่ก็มักจะคํานึงถึงการแก้ปัญหา ด้วยการระดมสรรพกําลังกันดับไฟป่าให้มอด ดับอย่างรวดเร็ว แต่แนวทางใน การป้องกันไฟป่าในระยะยาวนั้น ยังดูเลือนรางในการวางระบบอย่างจริงจัง พระราชดําริป่าเปียก จึงเป็นพระราชดําริหนึ่งที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงแนะนําให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดําริ ทําการศึกษาทดลองจนได้รับผลสําเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยวิธีการสร้าง “ป่าเปียก” นั้น 

ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 จึงมีดำริให้หน่วยขึ้นตรง กองทัพภาคที่ 3 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด ทั้ง 17 จังหวัด ร่วมบูรณาการกับส่วนราชการ ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชน ในการจัดทำโครงการ “ป่าเปียก ลดเชื้อเพลิง สร้างรายได้” การลดการเผา สร้างรายได้ โดยการนำเอาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ก่อให้เกิดปัญหา นำมาพัฒนาใช้ประโยชน์แทนการเผาทิ้ง โดยเริ่มต้นการทดลองที่ จังหวัดเชียงใหม่ หรือ “เชียงใหม่โมเดล” ซึ่งอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน วิธีการโดยสรุป คือ เกษตรกรงดการเผา แต่นำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มาจำหน่ายให้ศูนย์รับซื้อฯ ซึ่งจะแปรรูปเป็น อาหารสัตว์ (โคนม/โคเนื้อ), ผลิตกล่องอาหารลดโลกร้อน, ผลิตไม้สับ (Wood Chips), ผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง/Wood Pellet รวมทั้งส่งเข้าโรงงานไฟฟ้าชุมชน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและจำหน่าย โดยประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งจะมีรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าทุกปีตามใบอนุญาต สำหรับรายได้ดังกล่าวจะได้นำมาเป็นกองทุนในการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งนั่นก็คือกลไกในการขับเคลื่อน โดยได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 2 ปี รวมทั้งให้ขยายผลจากความสำเร็จและความเป็นไปได้ของ “เชียงใหม่โมเดล” เป็นโครงการป่าเปียก ลดเชื้อเพลิง สร้างรายได้ ซึ่งเป็นโครงการที่จะแก้ปัญหาได้ในทุกมิติและยั่งยืน โดยขับเคลื่อนการดำเนินการ ทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่เรียกว่า “ภาคเหนือโมเดล” ตามรูปแบบของบันได 3 ขั้น ดังนี้
ขั้นที่ 1 พัฒนาต้นแบบของ “เชียงใหม่โมเดล”
ขั้นที่ 2 ขยายผลความสำเร็จใน 6 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, น่าน, ลำพูน, ลำปาง และกำแพงเพชร
ขั้นที่ 3 ขยายผลความสำเร็จใน 17 จังหวัด เป็น “ภาคเหนือโมเดล”
กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนช่วยกันฟื้นฟูและรักษาระบบนิเวศ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูป่าไม้ ต้นน้ำน้ำลำธาร เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับแผ่นดิน สร้างความสมดุลให้กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันเป็นการน้อมนำแนวทางตามพระราชดำริ อีกทั้งเป็นการป้องกันการเกิดไฟป่า หมอกควัน และอุ่นละอองในอากาศ รวมทั้งการสร้างรายได้อีกด้วย


คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3
22 มิถุนายน 2565

ร่วมแสดงความคิดเห็น