(มีคลิป) พบเต่าปูลูหลังติดตามสำรวจมานานกว่า 7 เดือน

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต พบเต่าปูลูน ลำห้วยป่าแดง หลังติดตามสำรวจมานานกว่า 7 เดือน เพื่อศึกษาแหล่งที่อยู่ และวิจัย ระบบนิเวศน์ ลักษณะทางกายภาพ องค์ความรู้ท้องถิ่นเกี่ยวกับปูลู และแนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูโดยชุมชน

เต่าปูลูหรือเต่าปากนกแก้ว (Platysternon megacephalum) เป็นสัตว์ที่มีสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทีมสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้สำรวจเต่าปูลู ภายใต้โครงการศึกษาแนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนลุ่มน้ำอิงตอนปลาย พื้นที่เป้าหมายปีแรก 10 ชุมชน เพื่อสำรวจพิกัดแหล่งที่อยู่อาศัย ระบบนิเวศน์ ลักษณะทางกายภาพ องค์ความรู้ท้องถิ่นเกี่ยวกับปูลู และแนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูโดยชุมชน โดยการสำรวจพื้นที่ สัมภาษณ์ชุมชน โดยนำกระบวนการวิจัยชาวบ้านหรืองานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมมาใช้ร่วมกับเชิงวิทยาศาสตร์โดยการตรวจหา EDNA จากตัวอย่างน้ำ จากการสำรวจของทีมงานสมาคมฯ ทั้ง 10 ชุมชน ได้แก่ บ.ม่วงชุม บุญเรือง ห้วยซ้อ งามเมือง ป่าบง ห้วยสัก คะแนง ทุ่งศรีเกิด ห้วยไคร้ และบ้านชมภู ทั้ง 10 ลำห้วยพบว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลู เคยมีชุกชุมในอดีต

แต่ปัจจุบันลดลง และค่อนข้างหายาก ภัยคุกคามเกิดจากการบุกรุกพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ สารเคมีการเกษตร ป่าต้นน้ำแห้งขอด ปูปลาสัตว์น้ำขนาดเล็กหายไปจากห่วงโซ่อาหาร ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ การล่าส่งขายเป็นยาบำรุง ชาวบ้านทั้ง 10 ชุมชนต่างให้ข้อมูลเป็นเสียงเดียวกันว่ามีชาวบ้านกลุ่มคนชาติพันธุ์จะมาล่าเป็นทีมโดยใช้ตะขอเหล็กขูดตามท้องห้วย จับช่วงน้ำหลากเพื่อนำไปขายได้ทีละเป็นกระสอบ แต่คนท้องถิ่นไม่นิยมจับกินเพราะตัวเล็ก เจอไม่บ่อย อีกอย่างมีความเชื่อเรื่องเต่าที่อายุยืนเลยไม่ค่อยกล้ากิน

เต่าปูลูอาศัยอยู่ต้นธารน้ำสาขา หรือป่าต้นน้ำ ที่มีหิน ผา น้ำตก กิน ปลา กุ้ง หอยเป็นอาหาร มีความเชื่องช้า การพบเจอตัวเต่าปูลูค่อนข้างยาก มักเจอตอนออกล่ากลางคืน นับว่าเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่นั้นๆ ที่ยังอุดมสมบูรณ์อยู่เมื่อเจอเต่าปูลู

นายอินทร์คำ สอนแก้ว ชาวบ้านป่าบงน้ำล้อม ต.ยางฮอม อ.ขุนตาล จ.เชียงราย กล่าวว่า การจะหาเต่าปูลูพบเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะเป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางคืน และอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำในป่าลึก เมื่อหลายปีก่อนพบเห็นได้ง่าย แต่ปัจจุบันยากมาก เพราะเหลือน้อยและเป็นสัตว์อนุรักษ์ สาเหตุที่เหลือน้อยเพราะส่วนหนึ่งเป็นสัตว์ที่เคลื่อนไหวช้า ทำให้หนีศัตรูไม่ทัน ส่วนมากจะอาศัยการพรางตัวกับก้อนหิน ปัจจุบันชาวบ้านไม่จับแล้วเพราะต้องการอนุรักษ์เอาไว้

นายเกรียงไกร แจ้งสว่าง เจ้าหน้าที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า การพบเต่าปูลูเป็นครั้งแรกหลังจากสำรวจมา 7 เดือน ภายใต้โครงการศึกษาแนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนลุ่มน้ำอิงตอนปลาย โดยพบที่ละห้วยป่าแดง 1 ใน 86 ลำห้วยสาขาแม่น้ำอิงตอนปลาย น้ำหนักชั่งได้ 0.95 กิโลกรัม ลำตัวกว้าง 13 ซม. ยาว 17 ซม. หัวรูปสามเหลี่ยม กว้าง 6 ซม. ยาว 7 ซม. หนา 4.5 ซม. หางยาว 20 ซม. รวมความยาวจากหัวถึงปลายหาง 44 ซม. เท้าหน้ามี 5เล็บ เท้าหลังมี 4 เล็บ ท้ายโคนหางกับขาหลังมีปุ่มคล้ายหนาม ปากมีจงอยคล้ายปากนกแก้ว ไม่สามารถหดหัว หาง และเท้าเข้ากระดองได้ ปีที่ 2 จะสำรวจให้ครบทั้ง 86 ลำห้วยและหาทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อไป นอกจากเต่าปูลู ทีมเรายังสำรวจพบ เต่าเหลือง เต่านา เต่าบัว เต่าจัก ตะพาบ ตะพาบใต้หวัน เต่าบก อีก6ชนิด ซึ่งการพบเต่าปูลูในครั้งนี้เป็นตัวชี้วัดว่าระบบนเวศของป่ามีความอุดมสมบุูรณ์ เพราะเต่าชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำสะอาด และมีสัตว์น้ำที่เป็นอาหารจำนวนมาก

ร่วมแสดงความคิดเห็น