คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วางแผนลดนักดื่มหน้าใหม่

วันนี้ (1 ส.ค. 65) ที่โรงแรมแคนทารี ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ นางนฤมล ขันตีกุล รองนายแพทย์สาธารสุขจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ จัดทำแผนปฏิบัติการด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด พ.ศ. 2565 – 2570 เพื่อใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระดับชาติ ระยะที่ 2 รวมถึงเพื่อให้มีการกำกับ ติดตามผลการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยบูรณาการจัดทำแผนฯร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 (ภาคเหนือตอนบน) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ที่โรงแรมแคนทารี ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่

นางนฤมล ขันตีกุล รองนายแพทย์สาธารสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันประชากรโลกมีอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตลงด้วยโรคไม่ติดเชื้อมากที่สุด ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนั้นปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังส่งผลกระทบต่อสังคมในหลายด้าน ทั้งด้านของสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นสาเหตุสำคัญของการบาดเจ็บ และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ดังนั้นการควบคุมและลดผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคไม่ติดเชื้อและอุบัติเหตุลงได้ ภาครัฐจึงได้มีนโยบายเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเป็นกลไกสำคัญ ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นมา ว่าด้วยการจำกัด การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางกายภาพ จํากัดควบคุมโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกด้วย

การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด ระยะ พ.ศ. 2565-2570 ครั้งนี้ เป็นการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับจังหวัดให้สอดคล้องกับแผนระดับชาติ ซึ่งมีเป้าประสงค์ในการควบคุมและลดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชน ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่และควบคุมจำนวนผู้บริโภค ลดความเสี่ยงจากการบริโภคทั้งมิติของปริมาณ รูปแบบการดื่ม และพฤติกรรมหลังการบริโภค รวมทั้งจำกัดและลดความรุนแรงของปัญหาที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยใช้แนวทาง 7 ประการคือ การควบคุมการเข้าถึง การควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่ม การคัดกรองและบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากสุรา การควบคุมการโฆษณาฯ การขึ้นราคาผ่านระบบภาษี การประชาสัมพันธ์รณรงค์สร้างค่านิยมเพื่อลดการดื่ม รวมทั้งให้การสนับสนุนการบริหารจัดการที่ดีของประเทศ โดยมีเป้าหมายตัวชี้วัด ให้ปริมาณการบริโภคต่อประชากรผู้ใหญ่ คน:ลิตรของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ลดลงร้อยละ 5 ต่อปี จากเดิม 6.86 ลิตรต่อคนต่อปี (สุราผสมประมาณ 37 ขวด) ลดลงเหลือ 5.3 ลิตร ต่อคนต่อปี ภายในปี พ.ศ. 2570

ร่วมแสดงความคิดเห็น