วัดประจำปีเกิด เสริมสิริมงคลตลอดปี 2567

เมื่อเข้าสู่วาระ ส่งท้ายปีเก่า ย่างเข้าสู่ปีใหม่ ชาวพุทธมักจะนิยมเข้าวัดไปไหว้พระ สักการะต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเสริมศิริมงคลให้ตนเอง มีฤกษ์ มีชัย มีแต่สิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิต

เชียงใหม่นิวส์ จึงได้รวบรวมพระธาตุประจำปีเกิดของทั้ง 12 นักษัตรในประเทศไทย มาฝากเจ้า…

1. ปีชวด (ปีหนู) : พระธาตุศรีจอมทอง ณ วัดพระธาตุศรีจอมทอง วรวิหาร ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม

เป็นสถานที่ประดิษฐานของ “พระทักษิณโมลีธาตุ” พระธาตุส่วนที่เชื่อกันว่าเป็นพระเศียรเบื้องขวาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

2. ปีฉลู (ปีวัว) : พระธาตุลำปางหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง

ปูชนียสถานแห่งนี้ เริ่มสร้างและสร้างเสร็จในปีฉลู ฐานเป็นบัวลูกแก้ว ส่วนองค์เป็นทรงกลมแบบล้านนาภายนอกบุด้วยทองจังโก้ ยอดฉัตรทำด้วยทองคำ มีลายสลักเป็นลวดลายประจำยามแบบต่าง ๆ ลักษณะเจดีย์แบบนี้ได้ส่งอิทธิพลต่อพระธาตุหริภุญไชย และพระบรมธาตุศรีจอมทอง ภายในองค์พระเจดีย์บรรจุพระเกศา พระอัฐิธาตุจากพระนลาฎข้างขวา พระศอด้านหน้าและด้านหลัง ที่รั้วทองเหลืองรอบพระองค์พระธาตุมีรูกระสุนปืนที่หนานทิพย์ช้างยิงท้าวมหายศปรากฏอยู่

3. ปีขาล (ปีเสือ) : พระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ถนนช่อแฮ ต.ช่อแฮ อ.เมืองแพร่ จ.แพร่

เป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองของเมืองแพร่มาแต่โบราณ ภายในเจดีย์ บรรจุพระเกศาและพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

4. ปีเถาะ (กระต่าย) : วัดพระธาตุแช่แห้ง ต.ม่วงติ๊ด กิ่งอำเภอภูเพียง จ.น่าน

องค์พระธาตุตั้งอยู่บริเวณเนินเขา เป็นสีทองสุกเปล่งปลั่ง สามารถมองเห็นได้แต่ไกล ตัวพระธาตุตั้งอยู่บนเชิงเนินปูนด้วยอิฐ ลาดขึ้นไปยังยอดเนิน มีบันไดนาคขนาบทั้งสองข้าง พระองค์เจดีย์เป็นแบบล้านนาไทย ฐานเป็นสี่เหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไปจนสูง ใช้แผ่นทองเหลืองบุรอบฐานแล้วลงรักปิดทอง

5. ปีมะโรง (งูใหญ่) : วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ถ.สามล้าน ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ภายในมีพระสิงห์ หรือ พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปโบราณ สมัยเชียงแสน ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ประดิษฐานอยู่ในวิหารลายคำ เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ชาวเมืองจะอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้แห่ไปตามถนนรอบเมือง เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมสรงน้ำโดยทั่วถึงกัน

6. ปีมะเส็ง (ปีงูเล็ก) : พระศรีมหาโพธิ์พุทธคยา วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจดีย์เจ็ดยอด) ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่

เป็นวัดพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ สร้างด้วยศิลาแลง ประดับลวดลายปูนปั้น เป็นเจดีย์พุทธคยา แบบอินเดีย เป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก

7. ปีมะเมีย (ปีม้า) : วัดพระบรมธาตุ ต.เกาะตะเภา อ.บ้านตาก จ.ตาก

เป็นวัดเก่าแก่ ตัวอุโบสถมีประตูเป็นไม้แกะสลักสวยงาม หน้าต่างแกะสลักเป็นพุทธประวัติปิดทอง หัวบันไดเป็นนาค วิหารของวัดเป็นวิหารเก่า มีเพดานสูงสองชั้น จึงทำให้อากาศถ่ายเทได้สบาย เหมาะแก่การนั่งเจริญสติภาวนา วิหารแห่งนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง นอกจากนี้ภายในวัดยังมีวิหารไม้เก่าแก่ที่มีลายแกะสลักไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม จึงนับเป็นวัดที่มีคุณค่าทางโบราณคดี และหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างมาก

8. ปีมะแม (ปีแพะ) : วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ถ.ศรีวิชัย ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ตั้งอยู่บนดอยสุเทพ พระบรมธาตุ ได้ถูกบรรจุไว้ใต้พระธาตุเจดีย์ พระบรมธาตุได้แผ่ความเป็นมงคลอันเป็นที่มาของความอุดมสมบูรณ์ทั่วบ้างเมือง ทำให้มีการกราบไหว้บูชาและบูรณะพระธาตุดอยสุเทพมาโดยตลอด

9. ปีวอก (ปีลิง) : วัดพระธาตุพนม บ้านธาตุพนม ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม

เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ของภาคอีสาน สร้างขึ้นแต่สมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ประมาณ พ.ศ. 8 โดยเจ้าเมือง 5 องค์คือ พระยาสุวรรณภิงคารนะ พระยาคำแดง พระยาอินทปัตถะนคร พระยาจุลนีพรหมทัต และพระยานันทเสน เพื่อบรรจุพระอุงรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า ประดิษฐานบนเนิน “ภูกำพร้า”

10. ปีระกา (ปีไก่) : พระบรมธาตุหริภุญชัย วัดพระธาตุหริภุญชัย อ. เมือง จ.ลำพูน

เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เป็นปูชนียสถานสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในภาคเหนือ และเป็นมิ่งขวัญของชาวลำพูน เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมธาตุ ซึ่งแต่เดิมถูกเก็บรักษาไว้ในกระบอกไม้รวก และใส่ไว้ในโกศแก้วอีกชั้นหนึ่ง ต่อมากษัตริย์ผู้ครองนครลำพูนทุกพระองค์ ก็ได้บูรณะและพัฒนาขึ้นตามลำดับ โดยเปลี่ยนจากโกศแก้วเป็นโกศทอง และเปลี่ยนเป็นมณฑป จนในที่สุดเป็นเจดีย์และได้ขยายขนาดของเจดีย์ ให้ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

11. ปีจอ (ปีสุนัข) : พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี วัดเกตการาม บ้านวัดเกต ถ.เจริญราษฎร์ ต.วัดเกต อ.เมือง จ.เชียงใหม่

แรกเริ่มเดิมที คนที่เกิดปีนี้จะต้องไปสักการะที่ พระธาตุอินทร์แขวน อ.สะเทิม เขตรัฐมอญ ประเทศพม่า แต่ด้วยการที่อยู่นอกประเทศ จึงสามารถบูชา พระเจดีย์ที่วัดเกตการาม เชียงใหม่ แทนได้ วัดนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง

12. ปีกุน (ปีหมู) : วัดพระธาตุดอยตุง ต.ห้วยไคร้ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

องค์พระบรมธาตุเจดีย์ มีอยู่ 2 องค์ โดยมีเรื่องเล่าว่าได้มีการนำพระบรมธาตุมาบรรจุที่ดอยตุงถึง 3 ครั้ง แต่ละครั้ง ก็จะมีการก่อเจดีย์ขึ้นด้วย แต่มีเพียง 2 องค์เท่านั้นที่ได้รับการบูรณะและอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพระเจดีย์ทั้ง 2 องค์นี้เป็นที่ ประดิษฐานของพระบรมธาตุส่วนไหปลาร้า และพระธาตุย่อย ส่วนสาเหตุที่ดอยตุงเป็นพระธาตุประจำปีกุน เนื่องมาจาก ปู่เจ้าลาวจกและพระยามังราย ต้นวงศ์กษัตริย์ เชียงใหม่ต่างก็ประสูติในปีกุน นั่นเอง

ร่วมแสดงความคิดเห็น