กลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายพญาคำ ประกอบพิธีเลี้ยงผีเหมืองฝายฯ

ฤกษ์ “เสาร์ห้า” กลุ่มผู้ใช้น้ำเหมืองฝายพญาคำ ประกอบพิธีเลี้ยงผีเหมืองฝายฯ บวงสรวง ขอขมาขอพร จ้าวพ่อพญาคำ เรืองฤทธิ์ “พ่อหนานประเสริฐ” แจง เนื่องจากความไม่พร้อมหลายๆ ประการ จำเป็นต้องเลื่อนจาก แรม 9 ค่ำ เดือน 9 มาเป็นวันนี้ เลี้ยงปีละครั้งเพื่อให้คนมาเลี้ยงเจริญงอกงามไพบูลย์ อยู่เย็นเป็นสุขทุกๆ คน ตลอดปี

วันที่ 5 ก.ค. 2568 เวลา 09.09 น. ณ บริเวณลานหน้าหอจ้าวพ่อพญาคำ เรืองฤทธิ์ ริมฝายและปากเหมืองพญาคำ กลุ่มผู้ใช้น้ำจากเหมืองฝายพญาคำ นำโดย นายวิโรจน์ ลาปัน รองนายกเทศมนตรีตำบลยางเนิ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ นายเรืองวิทย์ ว่องไว ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายพญาคำ พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ปลัดอำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และเกษตรกร ประชาชน ผู้ใช้น้ำจากเหมืองฝายพญาคำ ร่วมกันประกอบพิธีเลี้ยงเหมืองฝายพญาคำ บวงสรวงจ้าวพ่อพญาคำ เรืองฤทธิ์ โดยมี พ่อหนานประเสริฐ ทองขัน รองประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอสารภี มัคนายกวัดมงคลวนาราม(ป่าแดด) อ.สารภี เป็นเจ้าผู้ประกอบพิธี

พ่อหนานประเสริฐ ทองขัน รองประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอสารภี มัคนายกวัดมงคลวนาราม(ป่าแดด) อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เจ้าพิธี เลี้ยงเหมืองฝายพญาคำ จ้าวพ่อพญาคำ เรืองฤทธิ์ เผยว่า โดยปกติปฏิบัติการเลี้ยงเหมืองฝาย บวงสรวงจ้าวพ่อพญาคำ เรืองฤทธิ์ จะเลี้ยงในวันแรม 9 ค่ำ เดือน 9 (เหนือ) ในปีนี้ด้วยความไม่พร้อมของหลายๆ คน จึงมีการเลื่อนมาเลื่อนมา กระทั่งวันนี้ เดือน 10 ออก ซึ่งเป็นวันเสาร์ห้า และหากถึงวันเข้าพรรษา ก็จะเลี้ยงไม่ได้แล้ว วันนี้มีการขอขมาฝายเหมืองก่อน บอกธรณีอยู่เหนือน้ำที่ค้ำแผ่นดินก่อน แล้วจึงมาบอกกล่าวขอขมา ขอพร จ้าวพ่อพญาคำ เรืองฤทธิ์

“น้ำพญาคำจะไหลไปถึงอำเภอเมืองลำพูน โดยหล่อเลี้ยงเกษตรกรตั้งแต่อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอสารภี ซึ่งมีมาแต่เดิมนานแล้ว ซึ่งเดี๋ยวน้ำก็เปลี่ยนแปลงหายไป (นาเปลี่ยนเป็นบ้านจัดสรร) ฝายแต่เดิมเป็นฝายไม้จะกลายเป็นฝายน้ำล้น บุญคุณมากมายกับผู้คน คุณน้ำ (บุญคุณแม่น้ำ) คุณเหมือง คุณไฟ แต่คุณแม่น้ำนั้นสำคัญ ก็จะต้องไหว้ขอขมาแม่น้ำปิง ต่อด้วยการบวงสรวงไหว้จ้าวพ่อพญาคำ ซึ่งเป็นผู้พิทักษ์ดูแลอยู่ที่นี่ คนมาเลี้ยงทั้งหลายจะได้เจริญงอกงามไพบูลย์ อยู่เย็นเป็นสุขทุกๆ คน ตลอดปี” พ่อหนานประเสริฐฯ กล่าว

พิธีเลี้ยงผีเหมืองฝายพญาคำ บวงสรวงขอขมาขอพรจ้าวพ่อพญาคำ มีมาแต่เดิมนานมากแล้ว พ่อหนานประเสริฐฯ เป็นอีกรุ่นที่มาสืบสานสืบต่อ ซึ่งมารับสานต่อตั้งแต่ไม่มีหอจ้าวพ่อพญาคำ ก็มาเลี้ยงแม่น้ำเลี้ยงเหมืองฝาย ต่อมามีหอจ้าวพ่อพญาคำ มีการอาราธนาพระพุทธรูปมาประดิษฐาน มีการสร้าง(ปั้น)รูปหล่อพญาคำไว้ในหอ ก็มีการสักการะกราบไหว้บูชา หนึ่งปีมีการเลี้ยงเพียงครั้งเดียว จากคนในพื้นที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ คนในพื้นที่ อ.เมืองลำพูน ซึ่งรับรู้รับทราบก็จะมาช่วยกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น