การปกครองเมืองหริภุญชัย ในสมัย “เจ้าแม่จามเทวี”

หากจะกล่าวถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองหริภุญไชยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เป็นเรื่องราวที่ปรากฏในเอกสาร ทั้งที่เป็นจารึก ตำนานต่างๆและพงศาวดาร เช่นตำนานมูลศาสนา , พงศาวดารเมืองหริภุญชัยและชินกาลมาลีปกรณ์ ข้อความส่วนใหญ่ของตำนานดังกล่าวข้างต้นจะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาและแทรกเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างเมืองหริภุญไชยเอาไว้ด้วย ซึ่งกล่าวไว้ว่า พระฤาษีวาสุเทพและพระสุกกทันตฤาษี เป็นผู้สร้างเมืองหริภุญไชย ซึ่งมีรูปสัณฐานคล้ายเปลือกสังข์ใหญ่ทะเล ด้านยาวและด้านกว้างโดยรอบ 1,550 วา จากนั้นได้อัญเชิญพระนางจามเทวี ราชธิดาของพระเจ้ากรุงละโว้ ให้ขึ้นมาปกครองเมืองหริภุญไชย ในขณะนั้นพระนางทรงอภิเษกสมรสแล้วและทรงครรภ์ได้สามเดือน ในการเสด็จขึ้นมาครองเมืองหริภุญไชยของพระนางจามเทวีได้นำคณะสงฆ์ นักปราชญ์ ช่างศิลปวิทยาการหมู่ละ 500 คนขึ้นมาด้วย และกล่าวได้ว่าพระนางจามเทวี ได้เป็นผู้นำเอาพุทธศาสนาขึ้นมาประดิษฐานและเผยแพร่เป็นครั้งแรกในดินแดนแห่งนี้ ระยะเวลาที่พระนางจามเทวีขึ้นมาปกครองเมืองหริภุญไชยตามตำนานระบุศักราชเอาไว้อยู่ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 13 นอกจากนี้ในตำนานยังได้กล่าวรายละเอียดในการเดินทางเอาไว้ว่า พระนางพร้อมด้วยบริวารหมู่ใหญ่ลงเรือมาตามลำน้ำปิง 7 เดือน เมื่อเสด็จมาถึงชุมชนรัมมคาม (ปัจจุบันคือบ้านกู่ละมัก) พระนางฯได้หยุดเผยแพร่พระศาสนาแล้วให้คนไปบอกข่าวสารแก่พระฤาษีวาสุเทพและพระสุกกทันตฤาษี จากนั้นพระฤาษีทั้งสองพร้อมทั้งชาวเมืองได้อัญเชิญพระนางฯ ขึ้นนั่งบนกองทองคำแล้วอภิเษกเป็นเจ้าผู้ครองเมืองหริภุญไชย อาศัยเหตุที่พระนางฯนั่งบนกองทองคำ นครแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “หริภุญไชย” เมื่อพระนางจามเทวีถึงเมืองหริภุญไชยได้ 7 วันจึงได้ประสูติโอรสสององค์คือ เจ้ามหันยศ และเจ้าอนันตยศ หลังจากพระนางครองราชย์ได้ 7 ปีก็ ได้อภิเษกเจ้ามหันตยศให้ขึ้นครองราชย์ที่เมืองหริภุญไชยสืบต่อมา ส่วนเจ้าอนันตยศไปสร้างเมืองขึ้นใหม่ที่บริเวณเชิงเขาเขลางค์บรรพตชื่อเมือง เขลางค์นคร เจ้ามหันตยศครองราชย์ที่เมืองหริภุญชัยได้ 80 ปี จากนั้นราชวงศ์จามเทวีก็ได้ครองราชย์สืบต่อมาโดยตลอด

เรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างเมืองหริภุญไชย จากตำนานดังกล่าวนั้น หากวิเคราะห์ในเชิงการศึกษาจะเห็นว่า เมืองหริภุญไชยมีความสัมพันธ์กับหัวเมืองทางภาคกลาง คือเมืองละโว้ การยอมรับและอัญเชิญพระนางจามเทวีให้ขึ้นไปครองราชสมบัติ อาจจะเป็นเพราะว่าหัวทางภาคเหนือขาดบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นกษัตริย์และอีกประการหนึ่งแสดงให้เห็นว่า เมืองละโว้มีความเจริญรุ่งเรืองและมีอิทธิพลทางการเมืองจนเป็นที่ยอมรับของชาวเมืองหริภุญไชย พระนางจามเทวีไม่ได้เสด็จขึ้นมาเพียงพระองค์เดียวหากแต่ได้นำคณะสงฆ์และนักปราชญ์ราชบัณฑิตขึ้นมาด้วยจำนวนหนึ่ง ซึ่งนักวิชาการได้วิเคราะห์ว่า น่าจะมีผลในด้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมขึ้นในเมืองหริภุญไชย อันมีผลให้บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว ในสมัยของพระนางจามเทวีจัดได้ว่าเป็นระยะเวลาแห่งการสร้างบ้านแปงเมือง มีการขยายบ้านเมืองออกไปอย่างกว้างขวาง ดังเช่นที่กล่าวในตำนานว่า เจ้าอนันตยศได้ไปสร้างเมืองเขลางค์ขึ้นเป็นเมืองคู่กับเมืองหริภุญไชย แสดงให้เห็นว่าหริภุญไชยไม่ใช่เป็นชื่อเมืองอย่างเดียว หากยังหมายถึงชื่อของแคว้นๆหนึ่ง โดยมีเมืองหริภุญไชยเป็นศูนย์กลางในสมัยต่อมาหลักฐานในชินกาลมาลีปกรณ์ ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองหริภุญไชยกับเมืองสุธรรมนครและเมืองหงสาวดี กล่าวคือ เมื่อพระเจ้ากัมพลครองราชสมบัติได้เกิดเหตุอหิวาตกโรคขึ้นที่เมืองหริภุญไชย ชาวเมืองได้อพยพหนีไปอยู่ที่เมืองสุธรรมนครและเมืองหงสาวดีเป็นเวลาหลายปี นอกจากนี้เมืองหริภุญไชยยังมีความสัมพันธ์กับเมืองมอญ ซึ่งปรากฏหลักฐานคือ ศิลาจารึกที่ใช้ภาษามอญจำนวน 7 หลักที่ลำพูน ตัวอักษรมอญที่ใช้ในจารึกใกล้เคียงกับอักษรมอญที่เมืองพุกาม ในประเทศพม่ามีอายุระหว่าง พ.ศ.1628 – 1656

ประวัติศาสตร์ของเมืองหริภุญไชย ภายหลังรัชสมัยพระนางจามเทวี ตามที่ปรากฏในเอกสารตำนานและศิลาจารึกรวมทั้งหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุสถาน ส่วนใหญ่จะกล่าวถึงกิจกรรมทางศาสนา เช่นการสร้างวัด การบูรณะเจดีย์ การปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ การสร้างพระพุทธรูป การที่จารึกมีภาษาบาลี ปนอยู่ด้วยแสดงให้เห็นว่า พุทธศาสนาที่แพร่หลายอยู่ที่เมืองหริภุญไชย ในสมัยนั้นน่าจะเป็นพุทธศาสนาหินยานนิการเถรวาท พระมหากษัตริย์ที่ทรงเอาใจใส่และทำนุบำรุงศาสนาตามที่ได้ระบุไว้ในตำนานคือ พระเจ้าอาทิตยราช พระองค์ได้สร้างพระธาตุเจดีย์หลวงบรรจุพระบรมธาตุขึ้นกลางเมืองหริภุญไชย ส่วนพระอัครมเหสีของพระองค์ พระนางปทุมวดีเทวี ก็ทรงสร้างสถูปชื่อสุวรรณเจดีย์

เมืองหริภุญไชย อาจจะรวมไปถึงแคว้นหริภุญไชย มีความเจริญมากแห่งหนึ่งในบริเวณภาคเหนือตอนบน และมีความสัมพันธ์กับหัวเมืองอื่นๆ มาตลอด จนมีการยอมรับศิลปวัฒนธรรมจากแหล่งอื่นเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมที่เป็นของตนเอง ในขณะเดียวกันบริเวณภาคเหนือตอนบนยังมีเมืองที่เป็นอิสระที่มีชาวพื้นเมืองอาศัยมาแต่เดิม และได้พัฒนาขึ้นมาจนมีความเจริญทัดเทียมกับเมืองหริภุญไชย พระมหากษัตริย์ที่ครองเมืองหริภุญไชยสืบต่อจากพระนางจามเทวีมีมาหลายชั่วคนจนถึงกษัตริย์องค์สุดท้ายคือ พญายีบา ก็ถูกพระเจ้ามังรายกษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงรายในแคว้นโยนก ยกมาตีหริภุญไชยในปี พ.ศ.1836 ตั้งแต่นั้นมาเมืองหริภุญไชยก็ถูกรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับแคว้นโยนกและกลายเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นล้านนาที่มีพญามังรายเป็นปฐมกษัตริย์และมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ นับเป็นการสิ้นสุดของเมืองหริภุญไชยที่มีอายุยืนยาวถึง 630 ปี

ร่วมแสดงความคิดเห็น